มาลินี นุตภิบาล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์รังสิต รหัส 61 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.110 กฎหมายอาญา-ภาคทั่วไป กลุ่ม 2 บรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล และอาจารย์คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร สัมมนาโดยอาจารย์เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร โดยได้คะแนนสอบ 85 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับมาลินีเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
มาลินี : “ถ้าเทียบกับวิชาน.100 ที่เรียนพร้อมกันที่เป็นหลักการ คิดว่าอาญาทำความเข้าใจง่ายค่ะ ก็เป็นระบบดี มีองค์ประกอบทุกอย่างเลย และก็ปรับบทง่ายด้วย ส่วนที่ยากก็คือจะเป็นเนื้อหาส่วนที่ต้องจำ ก็คือจะเป็นองค์ประกอบ ลำดับที่เราจะต้องปรับไปอ่ะค่ะ ถ้าเราพลาดหรือลืมประเด็นใดไปเราก็คะแนนก็จะหายไปเลยค่ะ”
“ก่อนมาเรียน คิดว่ากฎหมายอาญาก็คือทำผิดก็บอกแค่ฐานความผิดอย่างงี้ค่ะ แล้วก็ดูตัวบทกฎหมายก็สามารถตอบได้แล้วค่ะ แต่พอมาเรียนปุ๊ปก็มีลำดับในการไล่โครงสร้างหนึ่ง โครงสร้างสอง โครงสร้างสาม เป็นเหตุยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษ และลดโทษอย่างนี้ค่ะ และก็มีองค์ประกอบต่าง ๆ ให้เราพิจารณาค่ะ มีการกระทำหรือไม่ มีเจตนาหรือไม่ หรือว่ามีเหตุยกเว้นอื่น ๆ ที่สามารถที่จะลดโทษหรือยกเว้นโทษได้นะคะ ในส่วนนี้ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมี”
คำถาม (2) : ใช้เทคนิคอย่างไร ในการเรียน และการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
มาลินี : “เรื่องการเข้าเรียนสำคัญมากแต่ว่าก่อนที่จะเข้าจะต้องอ่านหนังสือไปก่อนเพื่อที่จะให้ภาพรวมการเรียนอะไร แล้วทีนี้พอเข้าไปเรียนในคาบก็จะเข้าใจอาจารย์สอนเรื่องอะไรและเราจะได้ทำความเข้าใจได้รวดเร็วขึ้นค่ะ แล้วก็สำหรับอาจารย์มาตาลักษณ์จะสอนแบบโคชชิ่งนะคะ ก็คือ อาจารย์จะสอนเป็นหลักและทำให้เราคิดต่อยอดไป ถ้าเป็นแบบนี้พลิกแพลงโจทย์จะเป็นอย่างไรอย่างนี้นะคะ สำหรับหนูตั้งใจจดเล็กเชอร์มากค่ะ เพราะว่าทุกคำพูดที่อาจารย์พูดนั้นสามารถนำไปออกเป็นข้อสอบได้ เพราะว่าบางทีอาจารย์อาจจะพูดหรือเพื่อนอาจจะไม่สนใจก็ได้ คืออาจารย์บอกว่าอาจารย์ชอบคนเขียนแบบนี้นะ อะไรอย่างนี้นะคะ หนูก็จะเก็บทริกแบบนี้มาเพื่อเอาไว้ทำข้อสอบต่อ หรือว่าวันไหนติดธุระหรือว่าทำกิจกรรมก็จะกลับมาถอดเทปทุกครั้ง ส่วนตัวหนูถอดเทปในทุกครั้งที่อาจารย์สอนจะได้จับประเด็นและจดเล็กเชอร์ให้ละเอียดด้วย”
“อาจารย์มาตาลักษณ์ท่านจะชอบให้พูดเกริ่นนำการกระทำคืออะไร ทำไมต้องไล่ลำดับว่าการกระทำคืออะไร การกระทำเกิดจากการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยสำนึกโดยรู้สำนักไหม เจตนาคืออะไร เหตุผลหรือตามลำดับ หรืออาจารย์ท่านอาจารย์ทวีเกียรติท่านก็จะชอบให้ขึ้นว่ามีการกระทำก่อน และก็มีองค์ประกอบภายนอก แล้วค่อยไปปรับบทความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลอะไร ตามด้วยองค์ประกอบภายใน ประมาณนี้”
“ถ้าโฟกัสอยู่กับสิ่งที่อาจารย์บอกมันจะส่งผลมาก เพราะว่าหนูเรียนกับอาจารย์สามคน แล้วแต่ละคนการเขียนไม่เหมือนกันเลยก็ต้องแยก เวลาทำข้อสอบหนูก็ต้องแยกว่าอาจารย์มาตาลักษณ์ชอบแบบนี้นะ อาจารย์ทวีเกียรติต้องการเรียงลำดับแบบนี้ อาจารย์คงสัจจาต้องตอบปฏิเสธมาตั้งแต่มาตรา…มาก่อนแล้วก็ค่อยบอกว่ามาตรานี้คืออะไร อย่างนี้ค่ะ”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
มาลินี : “ตอนต้นหนูคิดว่าช่วยได้มากเลยค่ะ ที่เข้ามาตอนปี 1 ยังเขียนตอบอะไรไม่เป็นเลยค่ะ ยังจับหลักอะไรไม่ได้เลย แล้วทีนี้มีสอบมิดเทอมด้วยทำให้แบบเวลาก็ผ่านไปรวดเร็วมากทำให้เราแบบจับอะไรไม่ได้เลย จะยิ่งกังวลก็เครียด วิชาสัมมนาจะช่วยเราเยอะมากเนื้อหาที่เราเคยเรียนมาแล้ว บางเนื้อหาเราก็ไม่รู้มาก่อนหรือว่ามันอาจจะมีอะไรที่มันแอดวานซ์ไปอีก ที่อาจารย์พาคิดต่อยอด อะไรอย่างนี้ แล้วก็จะมีประเด็นอื่น ๆ ที่อาจารย์ในคาบไม่สอนด้วยแต่ว่าอาจารย์สัมมนาก็มาเพิ่มเติมให้ ตอนนั้นสัมมนารวมกันทั้งสองกลุ่ม บางทีเราเรียน Sec นี้ แต่อีก Sec หนึ่งเค้าสอนอีกอย่างค่ะ มีความเห็นทางวิชาการ”
“อาจารย์เพียรรัตน์จะพาทำข้อสอบด้วย ข้อสอบเก่าจะทำให้เรารู้ว่าอาจารย์จะชอบออกประเด็นไหน อะไรอย่างนี้น่ะค่ะ บางจุดก็แบบไม่รู้เลย และอาจารย์ก็หาข้อสอบที่แปลก ๆ มาให้เราทำ ถ้าเราไปทำเอง ไม่เข้าคาบสัมมนาจะไม่รู้ถึงจุดนี้เลย และถ้าอาจารย์เอาไปออกข้อสอบเราก็จะพลาดคะแนนไปอย่างนี้ แบบว่าเรื่องหลักดินแดน ความเห็นเยอะมากอาจารย์มาตาลักษณ์คิดแบบนี้ อาจารย์ทวีเกียรติคิดแบบนี้นะ อะไรอย่างนี้ค่ะ”
(สัมมนาร่วมกันสองเซคมีปัญหาไหม เพราะความเห็นอาจต่างกัน?) “ไม่ได้สับสนค่ะ เป็นเรื่องดีด้วย เราเรียน Sec อาจารย์ทวีเกียรติก็อาจจะไม่พูดเรื่องความเห็นต่างเลย แต่ว่าถ้าเรามาเรียนสัมมนาจะเห็นได้ว่าองค์ความรู้อีก Sec หนึ่งจะเป็นอย่างไร ทำให้เรามีความรู้หลากหลายขึ้น มองในมุมอีกหลากหลายมุมไม่ใช่มองแค่มุมเดียวว่าทำให้เราเปิดกว้างทางด้านความคิดเห็น”
คำถาม (4) : การเตรียมตัวสอบวิชานี้ทำอย่างไรบ้าง
มาลินี : “เตรียมตัวสอบก็คืออันดับแรก ก็คือเข้าฟังบรรยายทุกครั้ง เข้าสัมมนาทุกครั้ง และส่งข้อสอบแล้วก็จดเล็กเชอร์ เล็กเชอร์แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อ่านก่อนสอบ แล้วก็ส่วนที่สรุปรวบยอดเอาไว้อ่านห้องสอบ แล้วก็ฝึกทำโจทย์แล้วก็คิดต่อยอดแบบถ้านี้ไม่รู้มันจะตอบแบบนี้ ถ้านาย ก. รู้จะตอบแบบอะไรแบบนี้ก็จะต้องคิดพลิกแพลงไปจะเอาข้อสอบไปออกได้ค่ะ”
“สำหรับเทคนิคที่ใช้ทำโจทย์ทุกข้อเลยค่ะ อาญา ก็คือ จะเก็งธงคำตอบข้อนี้ตอบอย่างนี้แล้วก็ฝึกเขียนทุกข้อเลยค่ะ ตั้งแต่ภาคบัณฑิต ภาคปกติแล้วก็ภาคแก้ตัวคะ และหนูก็ทำทุกข้อเลยค่ะ”
“ก็เคยทำข้อสอบกับเพื่อนด้วย เพราะว่าบางทีที่อ่านข้อสอบมาอาจจะไม่ถูกแต่เพื่อนบอกว่าถูก ก็ช่วยกันคิดแบบว่าข้อนี้จะตอบอะไร หรือว่าในบางประเด็นก็คือเราจะไม่รู้แต่ว่าเพื่อนรู้อะไรอย่างนี้ และก่อนที่จะสอบหนูจะติวให้เพื่อนด้วยเหมือนกับการทบทวนความรู้แล้วก็แบบว่าทำให้เราเข้าใจในเนื้อหานั้นจริง ๆ นะ ก็คือว่าถ้าเราเข้าใจในเนื้อหานั้นจริง ๆ เราจะจำเนื้อหาที่เราเรียนมาได้ แล้วทีนี่ก็จะมีคำถามที่เพื่อนมาถามเราซึ่งบางครั้งก็เป็นคำถามที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แบบนี้จึงทำให้เราไม่รู้ในเรื่องแบบนี้ก็จะไปปรับปรุงแก้ไขต่อไปค่ะ”
คำถาม (5) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไร และคิดว่าทำไมเราถึงได้คะแนนเยอะขนาดนี้
มาลินี : “ได้ของอาจารย์มาตาลักษณ์จะเป็นเรื่องของการป้องกันโดยชอบเป็นประเด็นหลัก ๆ จะได้ 18 แล้วก็เรื่องบันดาลโทสะของอาจารย์ทวีเกียรติได้ 20 และก็เรื่องผู้ใช้หักธงไปเลยก็ได้ 12 แล้วก็เรื่องหลักดินแดนของอาจารย์คงสัจจาได้ 20 ค่ะ และก็เรื่องบันดาลโทสะของอาจารย์เพียรรัตน์ก็จะได้ 15 ค่ะ”
“ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะได้ประมาณ 75 ค่ะ อะไรอย่างนี้ เพราะว่าหักตอบหักธง ประเด็นหลัก ๆ ไป สองข้อเลยค่ะ เดินออกห้องสอบมาก็ไม่คิดว่าจะได้คะแนนเยอะมากกว่านี้”
“ที่ได้คะแนนเยอะคิดว่า เพราะว่าหนูทำข้อสอบ หนูฝึกเขียนตลอดเลยแล้วก็ทำข้อสอบ คือ บางคนอาจจะไม่ทำเลย สำหรับหนูหนูทำทุกข้อเลยค่ะ จะได้รู้ว่าอาจารย์ชอบออกข้อสอบแบบไหน สิ่งสำคัญที่อาจารย์เน้นคืออะไรอย่างไรอย่างนี้ เพราะว่าบางจุดนั้นไม่เคยออกข้อสอบเลย อย่างนี้ค่ะ เราก็ต้องไปโฟกัสประเด็นที่อาจารย์ชอบออกข้อสอบด้วยอย่างนี้ การฝึกเขียนทำให้เราคล่องและ flow ไปด้วย เพราะว่าถ้าในห้องสอบถ้าเราตื่นเต้นก็คือตอนที่จะเข้าห้องสอบก็คือว่าเราตื่นเต้นมากแต่ว่าพอไปทำข้อสอบปุ๊ปพอเราตื่นเต้นแต่มือเราจะไปแล้ว เพราะว่าเราฝึกเขียนมา อันนี้แล้วและเราก็จะรู้ Step ว่าเราจะตอบว่าอะไรจะให้เหตุผลว่าอะไร ตามโครงสร้างเลย เพราะว่าถ้าเราทำข้อสอบเคยฝึกมาเยอะ ๆ จะรู้ว่าเราจะวางระบบอย่างไร”
คำถาม (6) : เนื่องจากหลักสูตรเก่าจะเรียนวิชานี้ในชั้นปีที่สอง จึงอยากถามว่าคิดว่าวิชานี้เนื้อหายากเกินไปสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ไหม
มาลินี : “คิดว่าไม่ค่ะ เพราะว่าเป็นวิชาพื้นฐานที่ไม่ต้องอาศัยการเรียนวิชาอื่น ๆ มาก่อน ซึ่งเป็นวิชาที่มีการจัดเรียงเนื้อหาเป็นระบบ ทำให้เห็นภาพชัดเจน ง่ายต่อการเข้าใจ แต่เข้ามาเรียนปีหนึ่งแรก ๆ อาจจะขาดทักษะในการจับประเด็น แต่วิชานี้ทำความเข้าใจง่าย เรื่องการจับประเด็นก็ฝึกกันได้ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ”
คำถาม (7) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
มาลินี : “การสอบมิดเทอมนั้นทำให้เรากระตือรือร้นในการอ่านหนังสือแบบว่าเราจะต้องอ่านตลอด ๆ นะ เพราะว่าแบบอีกแป๊บเดียวก็จะสอบมิดเทอมแล้วอะไรอย่างนี้ และคะแนนออกมาปุ๊บถ้าไม่โอเคเราก็จะได้ปรับปรุงว่าเราพลาดไปที่จุดไหน เราจะได้แก้ที่จุดไหน และมันทำให้เรามีกำลังใจมีพลังในการไปเข้าเรียนด้วย เพราะว่าเราต้องทำข้อสอบให้ได้อะไรอย่างนี้ค่ะ”
คำถาม (8) : คิดว่าปัญหาของคนที่สอบวิชานี้ไม่ผ่านเกิดจากอะไร
มาลินี : “อันดับแรกก็คือน่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการเวลาไม่ดี ก็คือพึ่งเข้ามาใหม่ตอนปีหนึ่งก็คือไม่รู้ว่าเราจะต้องแบ่งเวลาอ่านหนังสืออย่างไร ทำกิจกรรมอย่างไร หรือว่าจะเล่นอย่างไร คือแบบว่าเขาอาจจะแบ่งเวลาไม่ดี บางคนก็อาจจะเล่นมากเกินไปก็อาจจะไม่แบ่งเวลาในการอ่านหนังสืออะไรอย่างนี้ แล้วก็เรื่องสมาธิการอ่านหนังสือหนูก็คิดว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญว่า ถ้าหากเราแบ่งเวลาไม่ดีแล้วเราอ่านหนังสือไม่ทันมันก็จะรนไปทั้งระบบเลย ทำให้เวลาก่อนที่จะเข้าห้องสอบมันก็จะรวนเหมือนกัน ทำให้เราเสียสติไปพอเข้าห้องสอบไปอ่านโจทย์ปุ๊ปมันก็รู้สึกว่ามันช็อคมันก็แบบว่าทำให้เราไปไม่เป็นเลย”
คำถาม (9) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
มาลินี : “ก็จะแนะนำให้เข้าเรียนทุกครั้งแล้วก็แนะนำว่าให้เข้าสัมมนาด้วย เพราะว่าจะได้รู้ว่าตัวเองยังไม่รู้ตรงไหน ทวนตรงไหน แล้วก็อ่านหนังสือควรอ่านล่วงหน้าไม่ควรมาอ่านท้าย ๆ เทอม เพราะว่าจะทำให้เรารนและมีเนื้อหาที่เราไม่เข้าใจ แล้วเราก็ไม่รู้จะไปถามใครเพราะว่าช่วงนั้นอาจารย์ก็ไม่สอนแล้ว ซึ่งหนูคิดว่าควรอ่านหนังสือและควรเข้าเรียนไม่เข้าใจตรงไหนเราก็สามารถถามอาจารย์ได้ และเรื่องทำโจทย์ก็คือหนูก็คิดว่าต้องทำโจทย์ค่ะ เพราะว่าถ้าเราเรียนก็เหมือนกับเรางมเข็มในมหาสมุทรซึ่งมหาสมุทรก็คือเหมือนเนื้อหา แต่ว่า ๆ ถ้าเราทำโจทย์ก็จะรู้ว่าเข็มซึ่งเปรียบเสมือนประเด็นหลักเนี่ยมันคืออะไรเราจะสามารถหาหัวข้อมันได้ แล้วก็ระวังเรื่องสุขภาพด้วยค่ะ อย่าอ่านหนังสือหักโหมมากเกินไป เพราะว่าเหมือนว่าเราอ่านหนังสือเตรียมสอบเรียบร้อยแล้วรักษาสุขภาพไม่ดีพอเข้าห้องสอบไป เราสุขภาพไม่ได้ก็ทำให้เราเข้าห้องสอบไม่ได้คือจบทุกอย่างก็จะพังไปหมดเลย”
คำถามสุดท้าย : คิดว่าวิชากฎหมายอาญา-ภาคทั่วไปมีความสำคัญอย่างไร
มาลินี : “สำหรับหนูคิดว่าสำคัญมาก เพราะว่าเป็นหลักพื้นฐานในการทำความเข้าใจและเป็นหลักในการไปศึกษาต่อยอดในวิชาอื่น เช่น อาญาภาคความผิด นิติเวช หรืออาชญาวิทยา หรือว่าวิอาญา หรือว่าแม้แต่ในหลักสายแพ่งก็มีเรื่องละเมิดที่มีอาญาเข้าไปเกี่ยวข้องหนูคิกว่าเป็นหลักที่สำคัญมาก ๆ แล้วก็จะสามารถเอาความรู้นี้ไปต่อยอดถึงการเรียนเนติบัณฑิตหรือว่าการสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือว่าอัยการหรือว่าในการทำงานด้วย”
ครั้งหน้าเราจะพาคุณไปพูดคุยกับนักศึกษาผู้ซึ่งสอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมายแต่ละกลุ่ม
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK