1️⃣คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
กานต์ชนก : “มีอาจารย์ผู้บรรยาย 2 ท่านคือ อาจารย์กําชัย จงจักรพันธ์ และ อาจารย์ธนภูมิ จันทร์สว่างค่ะ”
“คะแนนกลางภาคได้ 37 เต็ม 40 ปลายภาค 54 เต็ม 60 รวม 91 เต็ม 100 ค่ะ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
กานต์ชนก : “วิชานี้เนื้อหาสนุกมาก ๆ ค่ะ นิติกรรมเป็นพื้นฐานของหลายเรื่องที่ต้องเรียนต่อไปในชั้นปีอื่น ๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ค่อนข้างใกล้ตัว เข้าถึงง่าย ทำให้ระหว่างเรียนจะเห็นภาพการนำกฎหมายไปใช้งานได้ชัดค่ะ”
“ตอนแรกรู้สึกว่านิติกรรมคงเป็นวิชาที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรค่ะ ในคาบแรกของเซคชั่นนี้จะมีการลองทำข้อสอบก่อนเรียน ตอนทำก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ คิดว่าหากใช้คุณธรรมในการตอบก็คงได้คำตอบที่ถูกต้อง แต่พอเริ่มเรียนไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าคำตอบที่เคยตอบไม่ใช่สิ่งที่ถูก หลักกฎหมายในวิชานิติกรรมไม่ได้อาศัยคุณธรรมหรือสามัญสำนึกเพียงอยากเดียว ในบางครั้งคำตอบอาจขัดกับความรู้สึกแต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์และความเป็นธรรมสูงสุดต่อทุกฝ่าย มุ่งให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม ความรู้สึกหลังเรียนจึงต่างไปจากตอนแรก สิ่งที่สำคัญของวิชานี้คือการทำความเข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงของหลักกฎหมายและสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ผู้บรรยายคอยย้ำอยู่เสมอค่ะ”
?????
2️⃣คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
กานต์ชนก : “มีวิธีการเรียนโดยเข้าฟังบรรยายตามตารางเรียนและจดเลคเชอร์ในห้องค่ะ ในเซคชั่นนี้จะมีเอกสารแจกซึ่งแบ่งหัวข้อค่อนข้างชัดเจนและมีลำดับหัวข้อตามการบรรยายในห้อง เทคนิคสำหรับการจดเลคเชอร์คือเมื่อได้เอกสารมาให้อ่านหัวข้อผ่าน ๆ ก่อนเพื่อเตรียมตัวว่าวันนี้จะต้องเรียนเรื่องใดบ้าง เวลาอาจารย์สอนก็โฟกัสไปตามหัวข้อ จะทำให้ลำดับความคิดเป็นระบบมากขึ้น ทุกอย่างที่จดลงไปต้องเป็นสิ่งที่เราฟังและทำความเข้าใจจนชัดเจนแล้ว ในบางครั้งเวลาอาจารย์สอนเนื้อหาหรือยกตัวอย่างประกอบ องค์ประกอบของมาตราต่าง ๆ และข้อเท็จจริงในตัวอย่างอาจมีความซับซ้อนก็พยายามจดเป็นภาษาของเราเองที่มาอ่านซ้ำแล้วเข้าใจได้ ถ้ามีตรงไหนที่ไม่เข้าใจหรือจุดไหนที่เราสนใจเป็นพิเศษอาจไฮไลต์ไว้เพื่อถามอาจารย์หรือมาหาคำตอบเพิ่มเติมในเอกสารนอกห้องเรียนหรือหนังสือที่อาจารย์แนะนำ”
“ตอนทบทวนจะอ่านเลคเชอร์ที่จดมา จะไม่ได้ฟังไฟล์เสียงและไม่ได้อ่านหนังสืออื่นนอกจากเลคเชอร์ ไม่ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือหลักในการเรียนแต่จะเปิดเวลาต้องการหาคำตอบเพิ่มเติม ซึ่งวิธีนี้อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน โดยส่วนตัวเชื่อว่าแต่ละคนมีวิธีการเรียนที่ถูกจริตกับตัวเองแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องหาวิธีนั้นให้เจอค่ะ”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
กานต์ชนก : “เล่มแรกคือคำอธิบายนิติกรรมสัญญา ของศาสตราจารย์ ดร.ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ ใช้อ่านประกอบการบรรยายได้แต่อาจมีบางจุดที่มีความเห็นหรือการแบ่งหัวข้อศึกษาแตกต่างกันค่ะ อีกเล่มคือคำอธิบายป.พ.พ. ระยะเวลาและอายุความ ของศาตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ เป็นหนังสือที่อาจารย์กำชัยแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมมาก ๆ ใช้ศึกษาเพิ่มเติมจากเนื้อหาในห้องค่ะ”
?????
3️⃣คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
กานต์ชนก : “มีการสัมมนาโดยอาจารย์ธนภูมิ จันทร์สว่างค่ะ คิดว่ามีส่วนช่วยมาก ๆ ค่ะ เพราะการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายสำหรับนักศึกษาปี1เป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่มาก ๆ การสัมมนาจะช่วยจัดลำดับความคิดในการเขียนตอบ ให้เทคนิคในการวางเค้าโครงคำตอบ เมื่อเจอข้อสอบจริงก็จะไม่ตื่นข้อสอบเกินไป แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าการเข้าสัมมนาเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าเราจะสอบผ่านหรือไม่ เพราะการสัมมนาไม่ใช่การสอนเนื้อหาเพิ่ม ถ้ามีการฝึกทำโจทย์ด้วยตัวเองจนชินมือแล้วก็เพียงพอ แต่ส่วนตัวก็เข้าสัมมนาทุกครั้งเพราะการสัมมนามีส่วนช่วยให้การฝึกฝนนั้นเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นและมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำตลอด”
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
กานต์ชนก : “ได้เขียนส่งทุกครั้งค่ะ สำหรับบริบทที่เป็นนักศึกษาปี1คิดว่ามีความจำเป็นมาก ๆ ค่ะ การมีอาจารย์และพี่ ๆ TA คอยตรวจงานให้จะทำให้เราเห็นข้อบกพร่องในการเขียนตอบของตัวเองและแก้ไขได้ถูกจุด เป็นสิ่งที่ช่วยให้ตอนสอบสามารถเขียนตอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ”
?????
4️⃣คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
กานต์ชนก : “อาจารย์สอนสดผ่านwebexและมีกลุ่มไลน์ไว้คอยสื่อสารกันค่ะ โดยจะมีการบันทึกเทปย้อนหลังสำหรับคนที่ไม่สามารถเรียนสดได้ด้วย”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
กานต์ชนก : “มีความแตกต่างกันหลายอย่างมากค่ะ ตอนเรียนในห้องจะรู้สึกมีแรงกระตุ้นในการเรียนมากกว่า มีเพื่อน ๆ อยู่ด้วย เวลาไปมหา’ลัยก็จะเป็นบรรยากาศของการเรียนรู้จริง ๆ แต่ตอนเรียนออนไลน์จะรู้สึกเหมือนปิดเทอมแล้วอยู่ตลอด ต้องพยายามลุกขึ้นมาเรียนด้วยตัวเอง แต่ก็มีข้อดีที่เห็นได้ชัดคือครึ่งแรกที่เรียนในห้อง บรรยากาศในห้องจะค่อนข้างเงียบ ปฏิสัมพันธ์ในห้องจะเป็นลักษณะที่อาจารย์สุ่มเรียกตอบคำถามมากกว่า แต่ครึ่งหลังที่เรียนออนไลน์ อาจเพราะมีความเคยชินกันแล้วและการเรียนออนไลน์ก็ไม่ใช่การเจอหน้ากันโดยตรงทำให้บรรยากาศห้องเรียนค่อนข้างผ่อนคลาย นักศึกษากล้าถามคำถามอาจารย์มากขึ้น”
“ปัญหาใหญ่ ๆ ที่เจอมี 2 อย่างค่ะ คือหนึ่ง สภาพแวดล้อม ช่วงปี 1 เทอม 2 ที่ต้องเรียนออนไลน์ได้กลับไปเรียนที่บ้านในอำเภอระโนด จังหวัดสงขลาค่ะ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อในการเรียนเลย ลองนึกภาพตามว่าเป็นบ้านในต่างจังหวัดที่มีหลายหลังคาเรือนอยู่ติดกัน แต่ละบ้านมีการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งเลี้ยงสัตว์ ทำเกษตร อยู่อาศัย ซึ่งมีเสียงรบกวนจากกิจกรรมนั้น ๆ บางวันนั่งเรียนอยู่บ้านตรงข้ามก็ใช้เครื่องตัดหญ้า เผาหญ้าเผาขยะ บางบ้านมีเด็กเล็กหลายคนก็ส่งเสียงดัง หรืออีกปัญหาที่เจอบ่อยที่สุดคือเสียงดังจากรถมอเตอร์ไซค์”
“สองอุปกรณ์ในการเรียน บ้านที่กลับไปเป็นบ้านใกล้ทะเลประกอบกับช่วงที่กลับไปเป็นช่วงพายุเข้าทำให้ไฟดับบ่อยมากค่ะ ส่งผลให้บางครั้งไม่สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการเรียนได้ และสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากเครือข่ายโทรศัพท์ก็ขัดข้องไม่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นเรื่องปกติในบางพื้นที่ของต่างจังหวัดอยู่แล้ว”
“วิธีแก้ปัญหา อย่างแรกคือสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ค่ะ เพราะทุกคนในชุมชนก็ดำเนินชีวิตแบบนั้นเป็นปกติอยู่แล้ว สิ่งที่ทำได้คือต้องพยายามใจเย็นและอยู่กับมันให้ได้ ทำใจว่าสภาพแวดล้อมที่บ้านคงไม่เอื้อในการเรียนอยู่แล้ว เป็นภาวะที่ทุกคนต้องเจอ ถ้าช่วงไหนที่เรียนสดไม่ได้ก็ค่อยมาตามดูบันทึกการบรรยายย้อนหลัง แม้ว่าจะขัดกับวิธีการเรียนที่พยายามเข้าเรียนสดทุกครั้งแต่ก็ต้องปรับตัวไปตามสภาพ จัดการกับความเครียดและความกังวลให้มีน้อยที่สุดค่ะ”
“แต่สอง เรื่องอุปกรณ์การเรียน เรื่องไฟดับเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ ส่วนเรื่องอินเทอร์เน็ตได้ติดต่อไปยังเครือข่ายโทรศัพท์แต่ก็ได้รับการบอกกล่าวว่าชุมสายสัญญาณไม่มีปัญหาอะไรเลยติดตั้ง wifi ที่บ้านค่ะ ประกอบกับในช่วงสอบคณะมีแนวทางสำหรับคนที่ประสบปัญหาระหว่างสอบเลยเบาใจไป ในวันที่สอบปลายภาควิชานี้ไฟดับก่อนสอบประมาณครึ่งชั่วโมงแต่โชคดีที่มีการแก้ไขทัน ประกอบกับได้เขียนตอบด้วยลายมือเลยสามารถสแกนส่งกับโทรศัพท์หรือไอแพดซึ่งชาร์จแบตไว้พร้อมแล้วได้”
?????
5️⃣คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
กานต์ชนก : “แม้จะเป็นการสอบแบบเปิดเอกสารได้ไปโดยปริยายแต่ก็ไม่ได้ทำให้การเตรียมตัวต่างจากการสอบในห้องเลยค่ะ ส่วนตัวแล้วในระหว่างสอบไม่ได้มีเวลามากพอในการเปิดหนังสือ อย่างมากที่สุดก็เปิดตัวบทเพื่อเช็คองค์ประกอบของมาตราต่าง ๆ เท่านั้น วิธีเตรียมตัวมีอยู่ 2 อย่างค่ะ อย่างแรกอ่านเลคเชอร์ในห้องประกอบกับการอ่านตัวบท เลคเชอร์เป็นสิ่งที่เราเข้าใจมาแล้วก็จะอ่านได้ง่ายกว่าอ่านหนังสืออย่างอื่นค่ะ”
“สอง ทำการบ้านสัมมนาส่ง ทำข้อสอบเก่าซึ่งแจกในเว็บไซต์หรือลองทำโจทย์เพิ่มเติม โดยจับเวลาในการเขียนไปด้วย หากมีเวลาไม่มากอย่างน้อยก็ฝึกวางประเด็น วางเค้าโครงในการตอบให้อยู่ภายใน 5 ถึง 10 นาทีค่ะ”
“มีอีกสิ่งนึงที่ต้องฝึกฝนเพิ่มคือการเตรียมและสแกนกระดาษคำตอบส่งค่ะ คณะจะประกาศวิธีในการส่งและเปิดระบบให้เราได้ฝึก ควรอ่านวิธีและเงื่อนไขในการส่งให้ละเอียด เตรียมกระดาษคำตอบโดยเขียนหัวข้อตามที่คณะกำหนด ลองสแกนและส่งในระบบให้เคยชิน และศึกษาแนวทางติดต่อคณะเมื่อเกิดปัญหาระหว่างสอบไว้ให้เรียบร้อย”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
กานต์ชนก : “วิชานิติกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญของหลาย ๆ เรื่อง อาจจะมีความซับซ้อนและขัดกับความรู้สึกอยู่บ้างแต่อยากให้เปิดใจและเรียนด้วยความสนุก มีคนเคยบอกว่าให้เรียนกฎหมายให้เหมือนกับการเล่นเกม เราต้องเข้าใจกติกาให้ชัดเจน พอได้ลงไปเล่น ไปแก้โจทย์ เราก็จะสนุกกับมัน”
“อีกอย่างที่อยากฝากคือคะแนนสอบไม่ใช่ตัวชี้วัดทุกอย่าง ในการสอบครั้งนึงมีปัจจัยประกอบเยอะมากทั้งการเรียนในห้อง การอ่านหนังสือ สภาพร่างกายและจิตใจของเรา ความตื่นเต้นแพนิคที่เกิดระหว่างสอบ หรืออุปสรรคอะไรก็ตามที่อยู่เหนือการควบคุมทำให้เราไม่สามารถทำคะแนนได้ตามเป้า อย่าเครียดกับมันจนเกินไป เวลาสอบไม่กี่ชั่วโมงมันน้อยมาก ๆ ถ้าเทียบกับเวลาเรียนทั้งเทอมและเวลาที่เราจะเอาความรู้ที่ได้ไปใช้จริง คะแนนสอบสำคัญเพราะมันจะวัดความรู้ของเราภายใต้ข้อจำกัดของความกดดันและเวลาแต่มันไม่ได้สำคัญที่สุด วันนี้เราอาจจะได้คะแนนเยอะ มาเล่าให้ทุกคนฟังได้ว่าเรียนยังไงถึงจะได้คะแนนแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเก่งไปทุกเรื่อง เราก็เคยผิดหวังที่ทำไม่ได้ตามเป้าและคิดว่าในอนาคตก็คงเกิดเหตุการณ์แบบนั้นได้อีก ซึ่งมันก็ไม่เป็นไรเพราะความผิดพลาดเป็นสิ่งปกติที่ต้องเจอ ตราบใดที่เรามีความสุขกับการเรียน ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ ใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ได้และเตรียมตัวอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นก็เท่ากับบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว”
?????
ภาพ กานต์ชนก
เรียบเรียง KK