คุยกับฉัตรชัย รัตนานุพงศ์ กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่มรศ.ดร.กิตติศักดิ์, อ.ศุภวิช)
1️⃣คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
ฉัตรชัย : “ผมมีโอกาสได้เรียนในเซคของอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ สัมมนาโดยอาจารย์ศุภวิช สิริกาญจนครับ”
“คะแนนที่สอบได้กลางภาค 38 เต็ม 40คะเเนน ปลายภาค 56 เต็ม 60คะเเนน รวม94 จาก 100 คะเเนนครับ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
ฉัตรชัย : “ตอนเรียนคิดว่าเนื้อหาของวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญามีลักษณะที่ค่อนข้างกว้าง เป็นวิชาพื้นฐานที่ต้องใช้ในวิชาอื่น ต้องเข้าใจถึงความหมายของถ้อยคำเช่นคำว่านิติกรรม สัญญา คำเสนอ คำสนอง คำมั่น และหลักเหตุผลที่อยู่เบื้องหลักของตัวบทกฎหมาย ซึ่งก็ต้องมีการนำความรู้ในวิชาแพ่งภาคทั่วไปมาใช้ก่อนเรียนคิดว่าเป็นวิชาที่น่าจะมีความยากมากและเป็นนามธรรม หลังจากเรียน ผมคิดว่าการสอนของอาจารย์กิตติศักดิ์ทำให้วิชานี้เข้าใจได้ง่ายขึ้น มีความน่าสนใจมากขึ้นเพราะคำอธิบายของอาจารย์มีการใช้ถ้อยคำที่สละสลวย ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจและพัฒนาสกิลภาษา อาจารย์จะเน้นให้หาเหตุผลและฝึกให้คิดอย่างมีลำดับครับ”
?????
2️⃣คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
ฉัตรชัย : “เทคนิคในการเรียนและการทำความเข้าใจของผมนั้นเนื่องด้วยเซคนี้อาจารย์จะทดสอบความเข้าใจของนักศึกษาอยู่เป็นประจำ จึงเป็นการกระตุ้นให้ผมอ่านล่วงหน้าก่อนเรียนตามเนื้อหาซึ่งอาจารย์จะบอกท้ายคาบ ผมจะพยายามจับใจความสำคัญของแต่ละคาบที่อาจารย์สอนและจดในสิ่งที่ต้องการให้จำไปในสมุดบันทึกเพื่อให้สามารถจับสาระสำคัญได้จดคำถามหรือข้อสงสัยลงในหนังสือเเล้วนำไปถกกับเพื่อนว่ามีความเห็นอย่างไรจนกว่าได้ข้อสรุป ถ้าหากยังสงสัยก็จะถามอาจารย์เพื่อให้เข้าใจและจดไว้เพื่อทบทวนในช่วงสอบครับ อีกอย่างคือบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเรียนเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากครับ ต้องทำความเข้าใจก่อนจะเรียนที่ตัวบทนั้น ๆ จะเข้าในคำอธิบายมากขึ้น”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
ฉัตรชัย : “หนังสือแนะนำในวิชานิติกรรมกลุ่มอาจารย์กิตติศักดิ์ ผมอ่านเอกสารประกอบการสอนนิติกรรมและสัญญาของอาจารย์กิตติมศักดิ์ซึ่งอยู่ในเว็บไซต์คณะ หน้าประวัติของอาจารย์กิตติศักดิ์ เป็นหลักและหนังสือนิติกรรมและหนี้ของอาจารย์เสนีย์ ปราโมชประกอบความเข้าใจหรือศึกษาในประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมครับ”
(หมายเหตุ : สามารถเข้าถึงเอกสารประกอบการสอนของรศ.ดร.กิตติศักดิ์ได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/teacher/kittisak-prokati/)
?????
3️⃣คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ฉัตรชัย : “ในเซคมีการสัมมนา อาจารย์สัมมนาคืออาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน ครับ ผมคิดการสัมมนาเป็นการทบทวนความรู้ในประเด็นสาระสำคัญหรือในส่วนที่ออกข้อสอบบ่อย ๆ จึงเป็นส่วนช่วยในการเรียนอย่างมาก ครับ ช่วยให้มีความแม่นยำมากขึ้นในส่วนสาระสำคัญ อีกทั้งการที่อาจารย์นำข้อสอบเก่ามาอธิบายทำให้ผมเห็นสิ่งที่โจทย์ต้องการให้ตอบ ประเด็นที่หากทำเองก็อาจมองข้ามไป หรือต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจ ทำให้ไม่พลาดในประเด็นเหล่านี้เพราะเคยเจอมาเเล้วตอนสัมมนา ทั้งไม่หลงประเด็น ครับ”
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ฉัตรชัย : “ผมเขียนการบ้านสัมมนาส่งในส่วนข้อที่คิดว่าน่าสนใจหรือข้อที่ยังไม่เข้าใจ ครับ จริง ๆ ยิ่งทำมาก ๆ ก็ยิ่งดีครับ คิดว่ามีความจำเป็นในการเขียนสัมมนาส่งเพราะอย่างเเรกคือจะไม่ตื้นข้อสอบหรือลนลาน ทำให้เกิดความเคยชินในการเขียนเป็นภาษากฎหมาย มีผู้ช่วยอาจารย์ช่วยให้คำแนะนำในการเขียนทำให้ลำดำการเขียน ภาษา การบริหารจัดการเวลาดีขึ้น หรือบางส่วนที่เขียนไปคลาดเคลื่อนก็จะไม่ผิดในประเด็นนี้ซ้ำนี้อีกในเวลาสอบ”
?????
4️⃣คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
ฉัตรชัย : “อาจารย์ทั้งสองท่านใช้ WebEx ในการสอนออนไลน์ครับ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ฉัตรชัย : “การเรียนในห้องเรียนทำให้สามารถเพ่งจุดสนใจไปที่อาจารย์มีอรรถรสอย่างเต็มที่เหมือนการดูภาพยนตร์ในโรง การเรียนออนไลน์ทำให้การเพ่งและการเข้าถึงรสต้องใช้สมาธิมากยิ่งขึ้น ดั่งที่กล่าวมาในเซคนี้อาจารย์จะเรียกชื่อนักศึกษาให้ตอบคำถามทดสอบความเข้าใจอยู่บ่อยครั้งทำให้อาการอ่อนล้า เปลี่ยนเป็นความตื่นเต้นและไม่รู้สึกง่วงเลยครับ ทั้งการเรียนออนไลน์สามารถที่จะฟังการบรรยายย้อนหลังเพื่อทบทวนความรู้ในส่วนที่ผมยังไม่เข้าใจ”
“อาจารย์กิตติศักดิ์สอนโดยการบรรยายเนื้อหาเรียงลำดับตั้งเเต่ที่มาทางประวัติศาสตร์ หลักกฎหมายพื้นฐานของเรื่องที่สอน แล้วจึงยกตัวอย่างซึ่งอาจารย์เป็นผู้บรรยายหลายวิชาทำให้เมื่ออาจารย์ยกตัวอย่างประกอบจะยกในความรู้เบื้องต้นของวิชาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาประกอบด้วย ตัวอย่างดังกล่าวจะเข้าใจเห็นภาพดียิ่งขึ้นถ้ามีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ติดตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อทราบถึงประเด็นหรือหลักกฎหมายใดที่อาจารย์กล่าวถึง ทั้งยังช่วยให้จดจำบทกฎหมายได้เมื่อผ่านตาบ่อย ๆ”
“ปัญหาในการเรียนออนไลน์สำหรับผมก็คือในช่วงแรก ๆ ของการเรียนออนไลน์มักจะมีพฤติกรรมจับโทรศัพท์บ่อย ผมจึงพยายามฝืนไม่หยิบช่วงหนึ่งตอนเริ่มต้นคาบ หลังจากนั้นก็จะไม่เกิดอาการเช่นนี้อีก เเต่พอเวลาที่อาจารย์ให้พักก็เปิดเพลงผ่อนคลายครับ”
?????
5️⃣คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
ฉัตรชัย : “เนื่องจากลายมือผมค่อนข้างอ่านยากสามารถอ่านเลคเชอค์ของตัวเองได้เพียงบางส่วน ทุกครั้งที่ฟังบรรยายจะตั้งใจมาก ๆ ครับ ให้เข้าใจมากที่สุดและจดตอนนั้นเพื่อให้เนื้อหาผ่านมือ ตอนช่วงใกล้สอบจึงอ่านเนื้อหาในเอกสารบรรยายต่าง ๆ ทบทวนจนกว่าจะจำได้ ครับอ่านที่เลคเชอค์ตัวเองที่จดเท่าที่จะอ่านได้ จากนั้นก็เเลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นในช่วงก่อนสอบ ฝึกเขียนเพื่อให้ flow ครับ และแม้ว่าการสอบออนไลนั้นทำให้เปิดตัวบทกฎหมายได้เเต่ก็จะเป็นการดีหากไม่ต้องเปิดจึงทำความเข้าใจและจำเนื้อหาในตัวบทโดยการคัดตัวบท เพื่อให้สามารถใช้ภาษาในตัวบทและปรับหลักกฎหมายได้อย่างครบถ้วนครับ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
ฉัตรชัย : “ผมก็ขอฝากว่าการศึกษาในวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญานี้สิ่งที่สำคัญคือการลำดับความคิดให้ดี ให้เหตุผลที่มีน้ำหนักที่อิงกับหลักกฎหมายได้ครับ อีกอย่างการเข้าคาบเรียนให้ครบทั้งคาบสัมมนาและคาบการบรรยายหลัก และฝึกเขียน สามอย่างนี้สำคัญมากจริง ๆ สู้ ๆ ครับ”
?????
ภาพ ฉัตรชัย
เรียบเรียง KK