คุยกับธนวินท์ วงศ์ศรีสุชน กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญาแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่ม ผศ.ดร.กรศุทธิ์ อ.กิตติภพ)
1️⃣คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
ธนวินท์ : “อาจารย์ผู้บรรยายคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง”
“สำหรับคะแนนที่ผมสอบได้กลางภาค คือ 30 คะแนน และคะแนนสอบปลายภาคคือ 67 คะแนน คะแนนรวมของวิชานี้ คือ 97 คะแนน”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
ธนวินท์ : “ตอนเรียนคิดว่าวิชานี้เป็นวิชาที่น่าสนใจมาก ๆ ครับ ต้องบอกก่อนครับว่าผมค่อนข้างที่จะสนใจในกฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์อยู่แล้ว และวิชานิติกรรมก็เป็นวิชาที่เป็นฐานในการต่อยอดสู่วิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลักษณะหนี้ หรือวิชาสัญญาทางพาณิชย์ และตัวเนื้อหาของรายวิชาก็ค่อนข้างสนุกและน่าค้นหา ทำให้เวลาเรียนก็ค่อนข้างสนุก”
“สำหรับความรู้สึกตอนก่อนเรียน ตอนแรกก็มีแอบกลัวอยู่นิดหน่อยครับ เนื่องจากการเรียนกลุ่มบรรยายนี้จะมีเอกลักษณ์เป็นพิเศษในเรื่องของการศึกษาความเห็นต่าง ๆ ของนักกฎหมายที่มีการใช้ ตีความกฎหมายในแต่ละเรื่องแตกต่างกัน ซึ่งทำให้เราลังเลอยู่บ้างว่าเราจะทำได้ดีมั้ย มันจะหนักไปมั้ย แต่ผมได้มีโอกาสเรียนวิชา น.100 กับ อาจารย์กรศุทธิ์ มาแล้วเลยรู้สึกคุ้นชินอยู่บ้างครับ พอได้มาเรียนจริง ๆ รู้สึกว่าชื่นชอบการเรียนวิชานี้มาก ๆ ครับ เนื่องจากเวลาอาจารย์สอนจะมีการบรรยายแนวคิด ทฤษฎี และเจตนารมณ์ของกฎหมายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะพลาดไปไม่ได้เลยก็คือเรื่องของความเห็นนั่นเองครับ โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกว่าการศึกษาความเห็นของนักกฎหมายหลาย ๆ ท่านเป็นผลดีมาก ๆ ครับ เพราะนอกจากจะทำให้เราได้รู้ว่าการแก้ปัญหาในทางกฎหมายนั้นไม่ได้มีเพียงแค่วิธีการเดียวแล้วยังช่วยให้เราได้เปิดรับมุมมองใหม่ๆในการศึกษากฎหมายอีกด้วยครับ เราก็จะกลายเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นพร้อมที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ”
?????
2️⃣คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
ธนวินท์ : “ขอตอบรวมกันเลยนะครับ สำหรับการเรียนวิชานี้ในกลุ่มบรรยายของ อาจารย์กรศุทธิ์ ผมก็จะคอยฟังบรรยายอย่างสม่ำเสมอครับ เวลาเรียนอาจารย์ก็จะแนะนำอยู่แล้วครับว่าสำหรับการสอนของอาจารย์จะไม่ได้สอนตามหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้นการอ่านหนังสือทำความเข้าใจเองจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยากครับ สิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจก็คือการเข้าฟังบรรยายและอ่านชีทประกอบครับ ซึ่งเวลาอาจารย์บรรยายปกติ อาจารย์ก็จะบรรยายตามเอกสารที่อาจารย์แจกอยู่แล้วครับ แต่เวลาเรียนอาจารย์ก็จะมีการพูดเนื้อหาอื่น ๆ นอกจากเอกสารด้วยครับซึ่งผมก็จดเพิ่มเติมครับ พอฟังบรรยายเสร็จผมก็จะใช้เวลาทบทวนเนื้อหา และเวลาผมมีอะไรไม่เข้าใจหรือสงสัยผมก็จะใช้วิธีพิมพ์คำถามถามอาจารย์ เวลาเรียน หรือบางครั้งก็เขียนอีเมลไปสอบถามครับ”
?????
3️⃣คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ธนวินท์ : “สำหรับการเรียนกลุ่มบรรยายนี้ก็จะมีการสัมมนาด้วยครับ อาจารย์ผู้สัมมนา คือ อาจารย์กิตติภพ วังคํา สำหรับการสัมนาก็จะอยู่ในรูปแบบของการทบทวนเนื้อหาและการฝึกฝนทำข้อสอบเก่าครับ ผมคิดว่าการเรียนสัมมนาในวิชานี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ครับ หลังจากที่เราจะได้ศึกษาทำความเข้าใจเนื้อหาจากการเรียนในคาบบรรยายหลักมาแล้ว การฝึกทำโจทย์ก็จะวัดความเข้าใจเราได้เป็นอย่างดีและช่วยให้เราเห็นภาพเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้นครับ และเนื่องจากข้อสอบของกลุ่มบรรยายนี้จะไม่ได้ใช้วิธีการปรับบทตามองค์ประกอบของแต่ละมาตราเหมือนกับการตอบข้อสอบโดยทั่วไป แต่จะมุ่งเน้นไปที่การวัดความรู้ ความเข้าใจในทฤษฎีและเจตนารมณ์ของกฎหมายมากยิ่งกว่า ดังนั้นเวลาการเข้าสัมมนา อาจารย์สัมนาก็จะคอยชี้แนะแนวทางในการเขียนให้เราไปพร้อมกับการสอนทำข้อสอบนั่นเองครับ เวลาเรียนสัมมนาเสร็จอาจารย์ก็จะให้การบ้านมาทำซึ่งก็จะช่วยให้เราเขียนตอบได้คล่องขึ้นครับ”
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ธนวินท์ : “ปกติแล้วในช่วงปี 1 ผมจะทำการบ้านสัมมนาส่งอยู่สม่ำเสมอเลยครับ อาจจะเป็นเพราะตารางเรียนยังค่อนข้างว่างครับ วิชากฎหมายที่เรียนยังไม่ได้เยอะมาก หรืออาจจะเป็นเพราะกลัวว่าจะทำข้อสอบไม่ได้ก็ไม่รู้นะครับ (หัวเราะ) ผมคิดว่าการทำการบ้านสัมนาค่อนข้างจำเป็นเลยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเขียนตอบข้อสอบที่เรามีเวลาในการทำข้อสอบค่อนจำกัด การทำการบ้านจะช่วยให้เราจับประเด็นและรู้แนวทางการเขียนตอบได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นครับ”
?????
4️⃣คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
ธนวินท์ : “อาจารย์ทั้งสองท่านใช้การเรียนผ่าน Facebook live ครับ เวลาเรียนก็ใช้เวลาเหมือนกับที่เรียนในห้องปกติเลยครับ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ธนวินท์ : “ผมคิดว่าในแง่ของเนื้อหาการเรียนแทบจะไม่ได้มีความแตกต่างกันเลยอาจารย์ก็จะบรรยายปกติเหมือนกับการเรียนในห้องเลยครับ แต่สิ่งที่แตกต่างกันมากคือสภาพแวดล้อมในการเรียนมากกว่า การเรียนในห้องเวลาเรียนเราได้เห็นหน้าเพื่อนๆ ได้เห็นอาจารย์ ทำให้เรามีแรงกระตุ้นในการเรียนครับ แต่พอมาเรียนแบบออนไลน์ก็จะมีปัญหาในเรื่องของความน่าเบื่อมากยิ่งขึ้น ปัญหาทางเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณอินเทอร์เน็ต ความพร้อมของอุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้พลังและระยะเวลาในการเรียนมากขึ้นอาจจะมีเหม่อลอยบ้าง ในแง่ของการถามคำถาม เวลาเราเรียนในห้องเสร็จแล้วเราอยากถามคำถามอาจารย์ก็สามารถถามได้เลยแต่เวลาเรียนออนไลน์ก็อาจจะต้องใช้วิธีการเขียนสอบถามในภายหลังครับ ส่วนการส่งการบ้านก็จะใช้วิธีส่งทางออนไลน์ผมคิดว่าค่อนข้างสะดวกครับเพราะเราไม่ต้องไปส่งที่ตึกคณะ และเวลาได้รับคอมเมนต์เราก็สามารถเปิดดูจากโทรศัพท์ได้เลย”
“สำหรับปัญหาที่พบก็จะมีเวลาเรียนสัญญาณไม่ค่อยดีครับก็จะมีฟังไม่ทันบางหรือกระตุกบ้าง แต่ก็คิดว่าไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไหร่ครับเพราะอาจารย์จะมีการบันทึกการบรรยายไว้ให้เรียนทบทวนอยู่แล้ว ปัญหาที่รู้สึกว่าแก้ไขได้ยากจริง ๆ คงจะเป็นการเรียนที่ไม่ได้มีสีสันสักเท่าไหร่ครับ พอเรียนที่บ้านก็ทำให้เราต้องนั่งเรียนอยู่คนเดียวไม่ได้เห็นหน้าเพื่อน ๆ หรือไม่ได้เห็นอาจารย์ตัวเป็น ๆ ทำให้เราเรียนแล้วไม่ค่อยมีแรงกระตุ้นเหมือนกับการเรียนในห้องปกติ”
“วิธีแก้ปัญหาก็คือผมใช้วิธีการเปลี่ยนมุมเรียนครับ หรืออย่างบางคนก็มีออกไปเรียนข้างนอก ตามห้องสมุด ร้านกาแฟ ก็มีครับ หรือบางทีแถวบ้านมีการก่อสร้างก็มีเสียงรบกวนบ้างอันนี้ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆครับ นอกจากนี้ก็คือการเรียนออนไลน์ทำให้เราต้องนั่งจ้องอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย ทำให้ผมปวดตาและเมื่อยตัวมาก ๆ ครับก็มีประมาณอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ไม่ค่อยได้เข้าเรียนเลยเพราะเรารู้สึกว่าไม่ไหว ผมก็เลยใช้วิธีเรียนแล้วพักเยอะขึ้น หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ ออกกำลังกายบ้าง โทรคุยกับคนอื่นบ้าง เราจะได้ไม่เบื่อเกินไป แล้วค่อยมาตามเรียนทีหลัง แม้ว่าเราอาจจะช้ากว่าคนอื่นนิดหน่อยแต่ผมคิดว่าเป็นวิธีการที่ค่อนข้างดี ช่วยคลายเครียดให้กับเราด้วย และทำให้เรามีสมาธิมากขึ้นด้วย ซึ่งกว่าจะปรับตัวกับปัญหาทั้งหมดได้ก็ใช้เวลาระยะหนึ่งเลยครับ”
?????
5️⃣คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
ธนวินท์ : “สำหรับการเตรียมตัวสอบผมก็จะใช้วิธีการนำข้อสอบเก่ามาทำพร้อมกับเปิดเอกสารดูประกอบไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนปกติหรือการเรียนออนไลน์ผมก็จะใช้วิธีแบบนี้ครับ คือ ผมจะทำความเข้าใจเนื้อหาให้เสร็จก่อน จากนั้นจะนำข้อสอบมาเริ่มทำเลยโดยที่ยังไม่เริ่มจำเนื้อหาครับ เพราะผมจะจำไปพร้อมกับการฝึกเขียนตอบข้อสอบ พอเราเขียนเสร็จเราก็อาจจะนำไปส่งเป็นการบ้านสัมมนา หรือเปิดธงคำตอบเปรียบเทียบดูครับว่าเราเขียนได้ระดับไหน หรือบางทีก็อาจจะมีคอลติวกับเพื่อน ๆ บ้าง ก็ช่วยให้เราไม่รู้สึกว่าเราเรียนอยู่คนเดียวครับ พอช่วงใกล้สอบจริง ๆ ผมถึงจะเริ่มจำเนื้อหาต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นการเรียนออนไลน์ผมอาจจะไม่ได้เน้นไปที่การท่องจำขนาดนั้นครับเพราะเวลาสอบเราสามารถเปิดตัวบทเปิดหนังสือดูได้ ดังนั้นผมก็จะโฟกัสไปที่ความเข้าใจผ่านการฝึกฝนทำข้อสอบมากกว่าครับ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
ธนวินท์ : “อยากบอกน้อง ๆ ทุกคนว่าให้สู้ ๆ แม้ว่าเนื้อหามันอาจจะดูยากไปบ้าง แต่ถ้าเราเปิดใจรับมันพี่เชื่อว่าทุกคนจะทำได้ดีอย่างแน่นอน เราเองก็เป็นคนที่ค่อนข้างเครียดเรื่องคะแนนสอบพอสมควร บางครั้งเราก็ตั้งเป้าหมายไว้ แต่มันไม่เป็นไปตามที่เราหวังเสมอไป ดังนั้นเราไม่อยากให้ทุกคนตั้งเป้าว่าเราจะต้องสอบให้ได้ท็อป ต้องสอบให้ได้เต็ม การมีเป้าหมายถือว่าเป็นเรื่องดีนะ แต่ไม่อยากให้โฟกัสกับเรื่องคะแนนมากเกินไปเพราะบั่นทอนกำลังใจในการเรียนของเราเสียเปล่า อยากให้เราเรียนแล้วเรารู้สึกสนุกไปกับมัน เหมือนกับเวลาเราชอบอะไรบางอย่างแล้วเราอยากค้นหามัน เราอยากรู้จักมันมากยิ่งขึ้นแบบนี้มากกว่า เรื่องคะแนนมันเป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถไปควบคุมมันได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือตัวเราเอง ถ้าอะไรที่เราทำพลาดไป อยากให้ทุกคนรู้ว่ายังมีโอกาสให้เราได้แก้ตัวอยู่เสมอ เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ (ยิ้ม)”
?????
ภาพ ธนวินท์
เรียบเรียง KK