1️⃣ คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
กษิดิศ : “มีอาจารย์ผู้บรรยาย 3 ท่านคือ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท และ อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิครับ”
“คะแนนกลางภาค 2 ข้อได้ 17 กับ 18 ส่วนปลายภาค 3 ข้อได้ 20 20 18 รวมทั้งหมด 93 คะแนนครับ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
กษิดิศ : “คิดว่าวิชานี้เป็นหนึ่งในวิชาที่มีเนื้อหาสนุกและน่าค้นหาที่สุดวิชาหนึ่งเลยครับ เพราะเป็นวิชาที่เรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอยู่พอสมควร เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการกระทำว่าการกระทำแบบไหนไม่ควรทำและหากทำจะมีความผิดและต้องรับโทษ เลยทำให้ตื่นเต้นเวลาได้รู้จักความผิดฐานต่าง ๆ ซึ่งบางฐานก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน อีกทั้งยังเป็นเกราะป้องกันตัวไม่ให้ไปทำผิดกับใครหรือเอาผิดกับคนที่มาทำผิดกับเราได้อีกด้วยครับ”
“ในตอนแรกก็รู้สึกกังวลครับ เพราะว่าต้องเรียนภาคความผิดทั้งภาค ซึ่งมีฐานความผิดมากมายเลยกลัวว่าจะจำองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ไหว และคิดว่าจะเป็นวิชาที่ต้องท่องจำเยอะ แต่หลังจากเรียนแล้วก็รู้ว่าไม่จำเป็นต้องจำอะไรมากเลยครับ แค่ฟังอาจารย์อธิบายให้เข้าใจถึงหลักการในแต่ละฐานความผิดก็เพียงพอแล้ว เมื่อเข้าใจหลักการก็จะเริ่มจำองค์ประกอบความผิดได้เองโดยอัตโนมัติ เลยทำให้รู้สึกว่าเป็นวิชาที่หากตั้งใจก็สามารถทำคะแนนให้ออกมาดีได้ไม่ยากเลยครับ”
?????
2️⃣ คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
กษิดิศ : “วิธีการเรียนก็ปกติเลยครับ เข้าฟังบรรยายให้ครบทุกครั้งและตั้งใจฟังแบบพยายามฟังทุกคำพูด ต้องมีสมาธิมากๆ พยายามอย่าวอกแวกหรือใจลอยไปคิดเรื่องอื่น เมื่อฟังเข้าใจแล้วก็จดลงไปบนเอกสารโดยแปลเป็นภาษาของเรา ซึ่งจะทำให้ได้ฟัง ได้คิดตาม และได้เขียนไปในตัวครับ ส่วนตัวแล้วใช้วิธีนี้จะทำให้เข้าใจได้ง่ายและลืมยากครับ เมื่อฟังบรรยายเสร็จและกลับหอพักก็พยายามกลับมาทบทวนภายในวันนั้นเลย หรือถ้าไม่ได้จริงๆก็มาทบทวนในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ โดยการทบทวนจะเป็นการอ่านเอกสารประกอบการเรียนที่มีการจดของเราอยู่ในนั้นด้วย เมื่ออ่านแล้วก็มาทำสรุปเป็นภาษาของเราทั้งหมด เพื่อนำมาอ่านทบทวนอีกทีช่วงใกล้สอบได้ง่ายๆโดยไม่ต้องเปิดเอกสารประกอบการเรียนครับ เมื่อทำสรุปเสร็จแล้วก็อ่านหนังสือเพิ่มเติมบ้าง เพื่อเป็นการเก็บประเด็นต่าง ๆ ที่อาจารย์อาจไม่ได้พูดถึงหรือเราลืมจดไป แต่โดยส่วนตัวแล้วได้อ่านหนังสือไปน้อยมาก ๆ อ่านแค่สรุปของตัวเองซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีและคิดว่าจะแก้ไขต่อไปเพื่อให้คะแนนดียิ่งขึ้นไปอีกครับ”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
กษิดิศ : “เล่มแรกคือคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ของ ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในตำรายอดนิยมของวิชานี้อยู่แล้วครับ ส่วนตัวไม่ค่อยได้อ่านจึงแนะนำอะไรได้ไม่มาก แต่ก็มีอีกเล่มหนี่งที่ผมอ่านและได้ใช้ประโยชน์บ่อย ๆ คือประมวลกฎหมายอาญา ฉบับอ้างอิง ของท่านอาจารย์ทวีเกียรติเหมือนกันครับ ซึ่งเป็นประมวลที่ได้รวบรวมคำพิพากษาฎีกาที่สำคัญ และหลักสำคัญของแต่ละมาตราไว้ ทำให้เมื่อเกิดข้อสงสัยก็สามารถมาเปิดประมวลเล่มนี้ดูในแต่ละมาตราได้เลย จึงเป็นหนังสือที่เหมาะกับการอ่านเพิ่มเติมเฉพาะจุด ในส่วนที่เรายังไม่ค่อยเคลียร์ได้ดีเลยครับ”
?????
3️⃣ คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
กษิดิศ : “สัมมนาโดยอาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้บรรยายด้วยครับ คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยพอสมควร เพราะเป็นการที่อาจารย์มาช่วยทบทวนให้อีกแรงหนึ่งโดยเราไม่ต้องมาทบทวนเองคนเดียว และยังช่วยในเรื่องการเขียนตอบว่าควรเขียนแบบไหนจึงจะได้คะแนนดี อีกทั้งยังลองทำตัวอย่างข้อสอบด้วยกัน ทำให้สามารถพอรู้แนวทาง และเป็นการฝึกมือก่อนไปทำข้อสอบจริงได้ดีครับ”
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
กษิดิศ : “ในวิชานี้ไม่ได้เขียนส่งเลยครับ เนื่องจากในเทอม 1 ได้ลองเขียนส่งมาหมดทุกครั้งทุกวิชา เลยทำให้รู้วิธีการเขียนมาพอสมควร จึงใช้วิธีเขียนและตรวจสอบด้วยตัวเองตามที่ได้เรียนมาเลยครับ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าพอจะเขียนส่งก็ไม่มีเวลาและทำไม่ทันตลอด แต่ถ้ามีเวลาก็อยากจะเขียนส่งครับ จะได้รู้ความบกพร่องของตัวเองจากมุมมองของคนอื่น การเขียนการบ้านส่งจึงไม่ทำก็ได้หากชำนาญและมั่นใจในระดับหนึ่ง แต่หากเขียนส่งได้ก็จะเป็นการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นไปอีกครับ”
?????
4️⃣ คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
กษิดิศ : “อาจารย์บรรยายผ่าน Facebook Live ในกลุ่มปิดครับ จึงทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องของเทปย้อนหลัง และสามารถติดต่อและชี้แจงต่างๆได้ภายในกลุ่มเลยครับ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
กษิดิศ : “มีความแตกต่างกันมากเลยครับ ขนาดที่ว่าเป็นการเรียนรู้คนละรูปแบบกันเลย ทั้งในเรื่องของการสื่อสารโต้ตอบที่เรียนออนไลน์จะทำได้ยุ่งยากกว่า เรื่องของบรรยากาศในการเรียนรู้ ซึ่งหากเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านหรือหอก็จะไม่มีบรรยากาศในการเรียนรู้เพราะว่าเป็นที่สำหรับพักผ่อน ส่วนตัวแล้วจะทำให้ความรู้สึกในการกระตือรือร้นที่จะเรียนหายไปเยอะมาก ต้องพยายามฝืนตัวเองมาเรียน ต่างกับการเรียนสดที่จะรู้สึกกระตือรือร้นตลอด ไม่เคยไม่อยากมาเรียน และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือสภาพแวดล้อม หากอยู่ที่ห้องเรียนก็จะมีสภาพแวดล้อมที่ทุกคนตั้งใจเรียน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองก็ต้องตั้งใจเหมือนกัน แต่พออยู่บ้านแล้วมันไม่ใช่ ขณะที่เราเรียนเหนื่อย ๆ ทุกคนที่อยู่บ้านสบายกันหมด จึงยากที่จะมีแรงกระตุ้นให้ตั้งใจเรียน กลับรู้สึกว่าอยากให้การบรรยายจบไปเร็ว ๆ และไปอยู่แบบสบาย ๆ กับคนอื่น ส่วนตัวจึงคิดว่าเป็นการเรียนรู้ที่ต้องพึ่งวินัยของตัวเองสูงซึ่งยากกว่าการเรียนแบบปกติมาก”
“ปัญหาใหญ่ ๆ ก็เป็นเรื่องสภาพแวดล้อมและบรรยากาศตามที่กล่าวมาข้างต้นครับ ซึ่งก็ได้พยายามแก้ไขโดยการเปลี่ยนที่ในการเรียนเรื่อย ๆ ซึ่งดีกว่านั่งแช่อยู่แต่ในบ้าน นอกจากนี้ก็ไม่ค่อยเจอปัญหาอื่นแล้วครับ โชคดีที่มีอุปกรณ์พร้อมอยู่แล้ว และทางบ้านก็ให้ความร่วมมือในการให้ความเป็นส่วนตัวระหว่างการเรียนดี เลยไม่มีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนครับ”
?????
5️⃣ คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
กษิดิศ : “แม้โดยสภาพการสอบจะสามารถเปิดหนังสือได้ แต่การเตรียมตัวก็ไม่ได้ต่างไปจากการสอบปกติเลยครับ ซึ่งจะเตรียมตัวโดยอ่านสรุปที่ได้ทำไว้หลังจากเรียนจบทุกครั้ง ทำให้ใช้เวลาในการทบทวนไม่มาก จึงมีเวลาเหลือในการลองทำข้อสอบเก่าครับ ซึ่งการลองทำข้อสอบก็เป็นเหมือนการทบทวนความรู้ไปในตัว และเป็นการเตรียมความพร้อมว่า ถ้าหากเป็นข้อสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้เราควรจะวางโครงสร้างอย่างไร เขียนตอบอย่างไร ทำให้เมื่อทำข้อสอบจะสามารถเขียนตอบได้เป็นลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน และลดเวลาในการคิดได้มากขึ้นครับ พอทำข้อสอบจนมั่นใจแล้วก็จะมาจำองค์ประกอบในแต่ละมาตรา แม้โดยสภาพจะเปิดดูตัวบทได้ แต่หากจำองค์ประกอบและเลขมาตราได้คร่าว ๆ ก็จะทำให้สามารถเขียนตอบได้เร็วขึ้น ไม่ต้องมาเสียเวลาเปิดหนังสือเปิดตัวบท ทำให้สามารถทำได้ทันเวลาและมีเวลาในการตรวจความเรียบร้อยได้มากขึ้นครับ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
กษิดิศ : “วิชานี้เป็นวิชาที่สำคัญสำหรับคนที่ต้องการไปศึกษาต่อในชั้นเนติบัณฑิตและคนที่ต้องการทำงานในสายราชการครับ หากเปิดใจดูจะพบว่าเป็นวิชาที่น่าสนใจ ได้เรียนรู้ในสิ่งใกล้ตัวที่ไม่เคยได้รู้มาก่อน เมื่อเราสามารถสนุกกับมันได้ก็จะเกิดความตั้งใจได้เอง และถ้าเราตั้งใจในวิชานี้ก็เชื่อว่าการทำให้คะแนนออกมาดีไม่ใช่เรื่องยากครับ หรือใครที่ไม่สามารถสนุกกับวิชานี้ได้จริง ๆ ก็ไม่ต้องกลัวนะครับ ถ้าเราทำเต็มที่จริง ๆ ผมก็เชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ตามเป้าหมายของตัวเอง ขอให้พยายามอย่างเต็มที่ ไม่ต้องกดดันตัวเองจนเกินไป ที่สำคัญคืออย่าหักโหมนะครับ พักผ่อนเยอะ ๆ เลย ขอให้ทุกคนผ่านวิชานี้ไปได้ด้วยดีครับ”
?????
ภาพ กษิดิศ
เรียบเรียง KK