1️⃣ คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
ภาวินี : “อาจารย์ผู้บรรยายมี 3 ท่านค่ะ คือ ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท และ อ.ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิค่ะ”
“ส่วนคะแนนที่สอบได้ตอนกลางภาค คือ 37 เต็ม 40 ปลายภาคได้ 56 เต็ม 60 รวมเป็น 93 เต็ม 100 ค่ะ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
ภาวินี : “วิชากฎหมายอาญาภาคความผิด เป็นวิชาที่ต่อยอดมาจากวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ทำให้การเริ่มต้นเรียนวิชานี้ เราจึงต้องทบทวนเนื้อหาและความเข้าใจในวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปให้ได้ในระดับนึง เนื่องจาก องค์ประกอบความผิดต่าง ๆ ล้วนจำต้องใช้ความเข้าใจในส่วนของข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก องค์ประกอบภายใน รวมถึงรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีความลึกซึ้งขึ้น เนื่องจากความผิดบางประการต้องการเจตนาพิเศษ หรือองค์ประกอบเพิ่มเติมอื่น ๆ ด้วย ส่วนตัวจึงคิดว่า มีความยากและเยอะในส่วนของเนื้อหามากกว่า แต่มีความท้าทายมากกว่าภาคทั่วไป เพราะทำให้เราเห็นภาพรวมของกฎหมายอาญาในชีวิตประจำวันมากขึ้น”
“ก่อนเรียนวิชานี้รู้สึกกังวลเล็กน้อยค่ะ เนื่องจากตอนเรียนวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไป ได้มีโอกาสลองดูเนื้อหาในส่วนของภาคความผิดบ้าง และพบว่า มีตัวบทเยอะมาก ๆ ทำให้เรากังวลว่าเราจะสามารถจดจำและทำความเข้าใจได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะเราไม่ใช่สายวางหลักมาตราเป๊ะ ๆ ขนาดนั้นด้วยค่ะ แต่เมื่อได้เรียนวิชานี้จริง ๆ กลับพบว่าเราไม่จำเป็นต้องจำตัวบทเป๊ะขนาดนั้นค่ะ แต่ท่านอาจารย์ทั้งสามจะเน้นไปที่การทำความเข้าใจในความผิดอาญาแต่ละหมวด ส่วนของการเขียนเน้นการนำองค์ประกอบสำคัญของความผิดมาปรับเข้ากับข้อเท็จจริงประกอบกับเหตุผลเสียมากกว่า ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น เพราะเราสามารถทำความเข้าใจในเนื้อหารายวิชาไปพร้อม ๆ กับการเรียนในห้องได้ ไม่ต้องท่องตัวบทเพื่อนำไปทำความเข้าใจอีกครั้ง การเรียงลำดับความรู้ในรายวิชานี้ของเราจึงมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นค่ะ”
?????
2️⃣ คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
ภาวินี : “ส่วนตัวเน้นการเข้าฟังบรรยายในทุก ๆ ครั้ง และจดเลกเชอร์ในห้องเป็นหลักค่ะ หลังจากนั้นจะตามฟังเทปซ้ำอีกครั้งเพื่อทบทวนเนื้อหาที่พลาด ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้น เนื่องจากการฟังบรรยายในห้องเพียงครั้งเดียวเราอาจมีหลุดบางช่วงทำให้เก็บรายละเอียดเนื้อหาได้ไม่ครบ หลังจากนั้นจะทยอยอ่านหนังสือทบทวนและทำความเข้าใจค่ะ และทำสรุปเนื้อหาทั้งหมดเพื่อตกผลึกเนื้อหาที่เราเข้าใจซ้ำอีกครั้งค่ะ”
“อีกทางหนึ่งในการทำความเข้าใจของเรา คือการหาตัวอย่างของการกระทำที่เป็นความผิดมาอ่านประกอบเพื่อนำความรู้ที่มีมาเทียบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นค่ะ เช่นตัวอย่าง case study ที่อาจารย์เลกเชอร์ในห้อง หรือตัวอย่างประกอบในหนังสือต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยให้เราเห็นภาพมากขึ้นด้วยค่ะ”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
ภาวินี : “สำหรับในเนื้อหาส่วนแรกของท่านอาจารย์สุรศักดิ์ จะเป็นส่วนความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ค่ะ ซึ่งท่านมีหนังสือที่ท่านเขียนคือเล่ม คำอธิบายความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ค่ะ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเนื้อหาในเล่มมีความละเอียดและมีตัวอย่างประกอบที่เข้าใจง่ายมาก ๆ ส่วนในเนื้อหาของพาร์ทท่านอาจารย์ดิศรณ์และท่านอาจารย์ปกป้อง จะใช้หนังสือ กฎหมายอาญา ภาคความผิด เล่ม 1 และ 2 ของท่านอาจารย์เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ แต่ส่วนตัวในพาร์ทนี้จะเน้นการฟังบรรยายในห้อง และชีทของอาจารย์ ประกอบกับ หนังสือคำถามและแนวคำตอบ กฎหมายอาญา เล่มสีชมพูของของท่านอาจารย์ เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์และท่านอาจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อ่านประกอบค่ะ”
?????
3️⃣ คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ภาวินี : “สำหรับเซคชั่นที่เรียนจะมีการสัมมนาโดยท่านอาจารย์ดิศรณ์ค่ะ อาจารย์มีความเป็นกันเองกับนักศึกษาในคลาสมาก ๆ ค่ะ ท่านมักจะทำให้บรรยากาศในห้องเรียนรู้สึกผ่อนคลายอยู่เสมอ ทำให้เมื่อต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาก็จะรู้สึกสนุกค่ะ ไม่เครียดเกินไป อาจารย์มักจะนำตัวอย่างที่น่าสนใจมาประกอบและทำแผนภาพต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างยิ่งในการเรียนค่ะ เนื่องจากประเด็นที่อาจารย์คัดมาสัมมนา มักจะเป็นประเด็นสำคัญซึ่งมีข้อถกเถียงและมุมมองการตีความได้หลายด้าน เมื่อมีการนำประเด็นเหล่านั้นมาสัมมนา จึงช่วยไขข้อสงสัยต่าง ๆ ของเราได้ค่ะ”
“คิดว่าการสัมมนาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการเรียนเลยค่ะ เพราะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากในการเข้าฟังบรรยายในห้องเราไม่สามารถเก็บเนื้อหาได้ทั้งหมดอยู่แล้ว ซึ่งคลาสสัมมนาจะเป็นการนำประเด็นสำคัญต่าง ๆ จากคลาสบรรยายในห้อง รวมถึงรายละเอียด ความเห็นต่าง ๆ ของอาจารย์ผู้บรรยาย มาสรุปให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาการเขียนของเราด้วยค่ะ เนื่องจากอาจารย์จะแนะนำเราเสมอว่าเราควรเขียนตอบอย่างไร ประเด็นที่นักศึกษาพลาดบ่อย ทำให้เราได้แนวทางในส่วนนี้ไปด้วยค่ะ
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ภาวินี : “ส่วนตัวแทบไม่ได้ส่งการบ้านสัมมนาในวิชานี้เลยค่ะ เนื่องจากช่วงนั้นมีการทำกิจกรรมหลายอย่าง ทำให้เราไม่ได้ฝึกเขียนตอบบ่อย ๆ ในช่วงการสัมมนา ซึ่งไม่ควรเลียนแบบเลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะส่วนตัวคิดว่าการทำการบ้านสัมมนามีความจะเป็นและสำคัญ เนื่องจากเป็นการช่วยให้เราได้เรียบเรียงความเข้าใจที่มีออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้นและช่วยให้เราพัฒนาการเขียนและการใช้เหตุผล อีกทั้งช่วยให้เราสามารถทบทวนความรู้พร้อมกับจำรายละเอียดของตัวบทต่าง ๆ ไปด้วยในตัวค่ะ จึงคิดว่าถ้ามีโอกาสก็ควรเขียนสัมมนาส่งค่ะ”
?????
4️⃣ คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
ภาวินี : “สำหรับส่วนแรกของท่านอาจารย์สุรสักดิ์ยังเป็นการเรียนการสอนในห้องตามปกติอยู่ค่ะ แต่ในส่วนของหลังกลางภาคซึ่งเป็นเนื้อหาของท่านอาจารย์ปกป้องและท่านอาจารย์ดิศรณ์จะเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบ Facebook Live ในกลุ่ม Facebook ของวิชานี้ค่ะ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ภาวินี : “การเรียนในห้องและการเรียนออนไลน์จะไม่ต่างกันในส่วนของเนื้อหาเท่าไรนักค่ะ เนื่องจากการลำดับเนื้อหาต่าง ๆ ยังเป็นไปตามเค้าโครงและมีรายละเอียดการบรรยายปกติเหมือนการเรียนในห้อง อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่เป็นตัวแปรในการเรียนอย่างสภาพแวดล้อม เป็นสิ่งที่ต่างกันมากค่ะ การเรียนการสอนในห้อง เป็นการบรรยายสดตามเวลา ทำให้เรามีแรงกระตุ้นในการตื่นมาเรียนมากกว่าการเรียนออนไลน์ อีกทั้งสถานที่ในการเรียนมีการจัดไว้เฉพาะ ทำให้ปัจจัยภายนอกที่เป็นอุปสรรครบกวนการเรียนการสอนมีน้อย เราจึงสามารถใช้สมาธิจดจ่อกับการเรียนได้ง่ายและมากกว่าการเรียนการสอนออนไลน์ค่ะ”
“สำหรับปัญหาที่เจออย่างแรกคือเสียงรบกวนค่ะ เนื่องจากช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้มหาวิทยาลัยปิด จึงต้องกลับไปเรียนที่บ้าน ซึ่งแถวบ้านอยู่ติดโรงพยาบาลมาก ๆ ซึ่งตอนนั้นจนถึงตอนนี้มีการก่อสร้างบริเวณโรงพยาบาลอยู่ค่ะ ในช่วงเช้าจึงมีเสียงรบกวนจากการก่อสร้างตลอดเวลาค่ะ เราจึงต้องเร่งเสียงการบรรยาย ทำให้เสียงตีกันบ่อยครั้งค่ะ”
“ปัญหาต่อมาที่เจอคือการสูญเสียสมาธิในการเรียนค่ะ เนื่องจากส่วนตัวมีความรู้สึกที่ผูกติดกับบ้านเป็นที่ที่ทำให้เราได้พักผ่อน และผ่อนคลาย ต่างกับที่เรียนที่เราจะแบ่งโซนการใช้ชีวิตอย่างชัดเจนด้วย เมื่อต้องกลับมาเรียนที่บ้านทำให้ cycle การใช้ชีวิตมีปัญหาในช่วงแรก ๆ อย่างมากค่ะ เราต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อแบ่งเวลาในการเรียนให้เป็นระบบมากขึ้น และต้องพยายามมากขึ้นในการกระตุ้นตัวเองให้มาเรียนค่ะ อีกทั้งมีความรู้สึกว่าการเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านคนเดียวทำให้เราไม่ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิด พูดคุยกับเพื่อน ๆ เหมือนปกติ การถกเถียงปัญหาในประเด็นต่าง ๆ จึงยากขึ้นไปอีกด้วยค่ะ”
“ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่พบคือระบบการเรียนออนไลน์บางครั้งก็ไม่เสถียรค่ะ เนื่องจากด้วยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เช่น การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต อุปกรณ์การเรียน ซึ่งของตัวนักศึกษาเองต้องซื้อหูฟังใหม่มาใช้เรียนเพราะอันเก่าไมค์เสีย จึงเป็นห่วงเรื่องภาระค่าใช้จ่ายจากการเรียนออนไลน์ของนักศึกษาท่านอื่นด้วยเช่นกันค่ะ เนื่องจากการเรียนออนไลน์ต้องใช้ปัจจัยต่าง ๆ มาประกอบหลายอย่างมาก จึงลำบากกว่าการเรียนคลาสปกติในห้องมาก ๆ เลยค่ะ”
“วิธีแก้ปัญหาของเราคือการจัดบรรยากาศการเรียนใหม่ด้วยตนเองค่ะ เช่น การเปลี่ยนมุมเรียน เราย้ายโต๊ะอ่านหนังสือออกจากห้องนอนเลยค่ะ จะได้ไม่รบกวนการนอน ไม่ใช่ค่ะ การเรียน (ขำ) และจัดโซนโต๊ะอ่านหนังสือใหม่ให้มีความเป็นระเบียบ และนำหนังสือต่าง ๆ มาไว้รอบ ๆ โต๊ะมากขึ้น เพราะคิดว่าจะช่วยให้เราหยิบหนังสือมาอ่านได้บ่อยขึ้นและลดอัตราการเสียสมาธิในการเรียนได้มากขึ้นค่ะ รวมถึงใช้ตัวช่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การจัดแพลนเนอร์การเรียน การนำเทียนหอมและต้นไม้มาตั้งไว้ที่มุมอ่านหนังสือซึ่งส่วนตัวทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นค่ะ”
“นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ช่วยลดความเครียดจากการเรียนออนไลน์คือให้เวลาตนเองพักผ่อนบ้างค่ะ เนื่องจากในช่วงแรก ๆ มักจะเกิดความเครียดจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เราต้องปรับตัวมากขึ้น จึงทวีความเครียดมากยิ่งขึ้นไปอีก เราจึงต้องแบ่งเวลาเรียนและเวลาพักให้ชัดเจน แต่สามารถยืดหยุ่นได้บ้าง เนื่องจากในบางครั้งขณะเรียน หรืออ่านหนังสือเราจะมีสมาธิหลุด จากความไม่พร้อมเรียนต่าง ๆ จึงแก้ปัญหาโดยการไปเล่นกับน้องแมวที่บ้าน หรือดูหนัง ฟังเพลงบ้าง เนื่องจากส่วนตัวรู้สึกว่า การจัดสรรเวลาให้มีเวลาพักด้วยจะช่วยให้เวลาชีวิตเราเป็นระบบมากขึ้น และปรับตัวกับการเรียนออนไลน์ได้ดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น และไม่เครียดเกินไปค่ะ”
?????
5️⃣ คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
ภาวินี : “ในช่วงใกล้การสอบจะเน้นไปที่การอ่านสรุปที่ตนเองทำประกอบกับเลคเชอร์ที่จดในคลาสในการทบทวนความรู้ และเน้นการทำโจทย์ค่ะ เนื่องจากวิชากฎหมายอาญาภาคความผิดเป็นวิชาที่มีรายละเอียดยิบย่อยเยอะ และมีข้อเท็จจริงที่หลากหลาย ทำให้การทำโจทย์ข้อสอบเก่า และฝึกฝนพัฒนาการเขียนเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะช่วยให้เราสามารถจดจำรายละเอียดเนื้อหาได้ และเข้าใจเนื้อหาที่เรียนได้มากขึ้น อีกทั้งช่วยให้เรามีลำดับความคิด การเรียบเรียงการเขียนที่ดีอีกด้วยค่ะ”
“อีกทางหนึ่งคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การจับกลุ่มติวกับเพื่อนค่ะ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเทคนิคนี้ช่วยให้เรามีความเข้าใจในเนื้อหาได้ดีขึ้น รวมถึงได้รับมุมมองที่หลากหลายขึ้นค่ะ เนื่องจากในบางครั้ง ความเข้าใจในเนื้อหาของเราอาจมีตกหล่น หรือ พลาดไปบ้าง แต่ละคนก็มีพาร์ทที่ถนัดไม่เหมือนกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันจะทำให้เราได้ทบทวนความรู้ เติมเต็มความเข้าใจ และพัฒนาความคิดเห็นของเราไปด้วยในคราวเดียวกันค่ะ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
ภาวินี : “เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ปีหนึ่งทุกคนที่กำลังเรียนวิชานี้ค่ะ วิชากฎหมายอาญาภาคความผิดเป็นวิชาที่เนื้อหามีรายละเอียดเยอะ และมีความซับซ้อน แต่อยากให้น้อง ๆ เปิดใจ และค่อย ๆ ทำความเข้าใจค่ะ และไม่อยากให้ยึดติดกับผลการเรียนมาก เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนหนึ่งที่ผิดหวังกับผลการเรียนตัวเองอยู่บ้าง เมื่อไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือเป้าหมายที่ตนคาดไว้ แต่การกดดันตัวเองจะยิ่งทำให้เราไม่สามารถได้รับความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะไม่กดดันตนเอง ส่วนตัวก็เคยประสบปัญหานี้เช่นกันค่ะ จึงอยากให้รู้สึกว่าเมื่อเราพบเจอกับความเครียด หรือประสบปัญหาต่าง ๆ ยังมีคนรอบข้าง และคณาจารย์ที่คอยดูแลและให้คำปรึกษาเราอยู่เสมอ การผ่อนคลายและพักผ่อนบ้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกับการเรียนค่ะ จึงอยากให้ทุกคนแบ่งเวลาในแต่ละวันอยู่เสมอ และอย่าลืมที่จะ flexible แล้วทุก ๆ อย่างไม่ว่าจะยินดีหรือผิดหวังจะกลายเป็นประสบการณ์ที่เรานำมาสอนตัวเองและคอยย้ำเตือนให้พัฒนาตัวเองได้เสมอค่ะ”
?????
ภาพ ภาวินี
เรียบเรียง KK