1️⃣ คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
มูฮัมหมัดซาลีม : “วิชากฎหมายอาญา ภาคความผิดในเซคนี้ มีอาจารย์ผู้บรรยาย 4 ท่านด้วยกัน คือ ท่านศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ รองศาสตราจารย์ ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี และอาจารย์สัมมนา คือ อาจารย์เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร ครับ”
“คะแนนที่ได้ คือ 86 คะแนน โดยช่วงกลางภาค ได้ 32 เต็ม 40 คะแนน และช่วงปลายภาค ได้ 56 เต็ม 60 คะแนน ครับ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
มูฮัมหมัดซาลีม : “สำหรับผม วิชานี้เป็นวิชาที่สนุกมากครับ เพราะวิชากฎหมายอาญา เราล้วนเจอบ่อยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ และกฎหมายอาญาเองเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมอยู่แล้ว เราจึงคุ้นชินกับมัน ซึ่งก่อนเรียนผมสนใจในรายวิชานี้เป็นอย่างมาก เลยตื่นเต้นกับการเรียน”
“เมื่อได้เรียนผมรู้สึกชอบมาก ๆ เพราะอาจารย์ได้สอนและยกกรณีศึกษาประกอบที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน โดยให้วิเคราะห์ว่าแบบนี้ ผลจะเกิดทางกฎหมายอย่างไร ได้รู้ว่าในมุมมองของทางวิชาการ ประเด็นความเห็นในแต่ละเรื่อง ผมรู้สึกชอบมาก ตอนที่ได้ลองทำการบ้านสัมมนาของอาจารย์รณกรณ์ ที่ให้วิเคราะห์ในเหตุการณ์ตัวอย่าง ว่าหากเราเป็นทนายฝ่ายโจทก์ และเป็นทนายฝ่ายจำเลย จะแก้ปัญหาและจะช่วยเหลือในเรื่องนั้น ๆ อย่างไร”
“หลังจากเรียนมันเพิ่มความสนุกเข้าไปอีก เพราะเรายิ่งได้รู้ลึกลงไป สามารถแยกแยะความผิดได้ รู้ว่าสิ่งนี้จะผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ และส่วนตัวผมมักจะหาอ่านข่าว และดูว่าหากมันผิดกฎหมายอาญา จะผิดอย่างไรได้บ้าง จะเอาผิดข้อหาอะไรได้บ้าง และลงโทษอย่างไรครับ”
?????
2️⃣ คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
มูฮัมหมัดซาลีม : “เทคนิคในการเรียนและการทำความเข้าใจของผม เริ่มแรก ผมจะอ่านหนังสือก่อนเข้าฟังบรรยายของเรื่องที่จะบรรยายในวันนั้น ๆ ซึ่งในช่วงแรกที่เรียนในห้อง ผมจะเข้าฟังบรรยาย พยายามจับใจความสำคัญที่เรียนให้ได้ และจะกลับมาฟังไฟล์เสียงอีกครั้ง ในเรื่องที่ฟังไม่ทัน หรือที่ยังไม่เข้าใจ เพื่อไม่ให้หลุดประเด็นไป รวมถึงการสรุปเนื้อหาและถกเถียงกับเพื่อนในเรื่องที่เรียนไป ซึ่งในการถกเถียงกับเพื่อน ทำให้เจอมุมมองใหม่ ๆ อยู่เสมอ และพยายามจดคำถาม แล้วนำไปถามอาจารย์ผู้บรรยาย”
“สิ่งที่สำคัญสำหรับผมในวิชานี้ คือ เราสามารถแยกองค์ประกอบของกฎหมายอย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำ การกระทำ กรรมของการกระทำ และผลของการกระทำ โดยทำเป็นแผนผังแยกองค์ประกอบอย่างชัดเจน และหลังจากนั้นก็จะเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยของมาตรานั้น ๆ ลงไป”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
มูฮัมหมัดซาลีม : “หนังสือที่ใช้สำหรับเซคชั่นนี้ คือ หนึ่ง คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิดและลหุโทษ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นหนังสือประกอบการบรรยายหลักครับ”
“สอง ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับอ้างอิง โดย ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เล่มนี้ใช้อ่านประกอบ ซึ่งในหนังสือมีเนื้อหาละเอียด มีรายละเอียดฎีกาของมาตราต่าง ๆ ที่เล่มคำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิดและลหุโทษไม่ได้ลงลึกไว้ ซึ่งผมมักจะอ่านประกอบกันเสมอครับ”
“สาม กฎหมายอาญาเปรียบเทียบ พร้อมคำถามและแนวคำตอบ ใช้เปรียบเทียบกฎหมายที่ใกล้เคียงกัน เช่น ลักทรัพย์ กับ วิ่งราวทรัพย์เหมือนหรือต่างกันอย่างไร หรือกรรโชก กับ ชิงทรัพย์ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร โดยในหนังสือได้อธิบายและได้แยกเป็นตารางเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการดีมากสำหรับการเรียนในกฎหมายอาญาภาคความผิดนี้ครับ”
“สี่ คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คณพล จันทน์หอม ผมมักมาเก็บแผนผังสรุปจากหนังสือของท่านอาจารย์คณพล จันทร์หอม โดยเฉพาะเรื่องเจ้าพนักงานครับ”
?????
3️⃣ คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
มูฮัมหมัดซาลีม : “ในเซคนี้ สัมมนาโดยอาจารย์เพียรรัตน์ ลีลาพงศธร ครับ โดยอาจารย์เพียรรัตน์ จะทบทวนและให้จับจุดประเด็นหรือสาระสำคัญที่ท่านอาจารย์ผู้บรรยายได้บรรยายมา และนอกจากนี้จะมีการฝึกให้ทำข้อสอบเก่า โดยอาจารย์จะสอนทริคในการจับประเด็นในข้อสอบ การโยงมาตราที่เกี่ยวข้อง และข้อกฎหมายที่ใกล้เคียง ที่อาจจะทำให้สับสน รวมถึงมาตราที่ออกข้อสอบบ่อย ซึ่งในการสัมมนาจึงเป็นส่วนช่วยสำคัญในการเรียนที่เราอาจมองข้ามไปในการฟังบรรยาย ในการทำการบ้านสัมมนานี้เอง จะเป็นจุดสำคัญไม่ได้เราพลาดในประเด็นสำคัญในข้อสอบครับ”
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
มูฮัมหมัดซาลีม : “ครับ ผมได้ส่งการบ้านสัมมนา ซึ่งผมคิดว่ามันจำเป็นมาก ๆ ครับเพราะว่าในการบ้านสัมมนา มีทั้งข้อสอบกึ่งบรรยายกึ่งอุทาหรณ์ และข้อสอบอุทาหรณ์ ซึ่งการเขียนส่งการบ้านสัมมนานั้น จะช่วยทำให้เราสามารถพัฒนาทักษะการเขียนตอบข้อสอบ ซึ่งหลังจากได้รับคำแนะนำหลังการทำส่งการบ้านสัมมนา ผมก็ได้ลองทำข้อสอบเก่า หลาย ๆ ข้อ ซึ่งทำให้เกิดความคุ้นชินกับการใช้ศัพท์กฎหมาย การบรรยายในรายละเอียด และเพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการเขียนตอบข้อสอบอีกด้วยครับ”
“ผมจำได้ว่า หลังจากที่ผมได้ฝึกเขียนเยอะ ๆ ทำให้ผมแม่นยำในการตอบข้อสอบมากขึ้น ผมจำรายละเอียดได้เยอะมาก และเขียนได้คล่องแคล่วมาก ๆ ครับ ลื่นไหลเลยครับตอนสอบ และผมจำได้ว่าในการสอบครั้งนั้น มันทำให้ผมมีเวลาเหลือเยอะมากที่จะตรวจสอบความถูกต้องในการสอบครับ”
?????
4️⃣ คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
มูฮัมหมัดซาลีม : “ในการเรียนออนไลน์ มีทั้งบันทึกการบรรยาย การสอนออนไลน์ใน Webex และการไลฟ์สอนใน Facebook ครับ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
มูฮัมหมัดซาลีม : “ด้วยสภาพแวดล้อม การเรียนในห้องเรียนนั้น เอื้ออำนวยต่อการเรียน และได้เห็นอาจารย์ผู้บรรยาย ทำให้เรามีสมาธิ จดจ่อกับสิ่งที่อาจารย์ได้สอนอย่างมาก ซึ่งผมจำได้เลยว่าตอนเรียนกับท่านอาจารย์รณกรณ์ อาจารย์มักจะสุ่มถามนักศึกษา ทำให้เราตื่นเต้นกับการเรียนมาก ๆ เพราะกลัวว่าจะตอบคำถามไม่ได้ ทำให้นักศึกษาตั้งใจเรียน พยายามจดสาระสำคัญที่อาจารย์ได้สอนลงไปครับ”
“ในส่วนการเรียนออนไลน์นั้น ส่วนตัวผมได้เรียนที่บ้าน ซึ่งสังคมที่บ้านไม่ค่อยเอื้ออำนวย คือ บ้านติดถนน และไม่ได้เก็บเสียง ทำให้เวลาเรียน ผมมักได้ยินเสียงรถยนต์แล่นเป็นประจำ เสียงนก เสียงแมว เป็นประจำ ทำให้ในการเรียนของผมมักไม่ค่อยมีสมาธิสักเท่าไหร่ ผมจึงเปลี่ยนวิธีการเรียน คือ ผมจะแกะเทปแทน แล้วค่อยมาอ่านสรุปทำความเข้าใจอีกทีนึงครับ”
?????
5️⃣ คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
มูฮัมหมัดซาลีม : “ส่วนตัวผมใช้วิธีการอ่านเลคเชอร์ที่อาจารย์สอนประกอบกับการอ่านหนังสือ และพยายามอ่านหลาย ๆ ครั้ง และจะทำสรุปทำความเข้าใจในแต่ละเรื่อง โดยการทำสรุปแต่ละครั้ง จะทำให้เราได้เห็นว่าตนเองได้ตกผลึกในเรื่องนั้น ๆ แล้วหรือไม่”
“หลังจากทำสรุปเรียบร้อย ก็จะมาอ่านที่ตนเองทำสรุป แล้วจะทำข้อสอบเก่า ๆ เพื่อทดสอบว่าตนเองทำได้มากแค่ไหนอย่างไร ซึ่งยิ่งทำมาก จะเห็นจุดบกพร่องว่าเรื่องไหนยังทำไม่ได้ ยังไม่แม่น และพัฒนาทักษะการจับประเด็นข้อสอบ ไปได้ในขณะเดียวกัน หลังจากนั้น ก็จะหาธงคำตอบปีก่อน ๆ ซึ่งข้อไหนไม่มีคำตอบ หรือหาคำตอบไม่ได้ ก็จะถามอาจารย์ หรือไม่ก็ถกเถียงกับเพื่อนภายในกลุ่มครับ”
“อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับผม คือ การถกเถียงกับเพื่อน เพราะหลังจากการอ่านหนังสือในแต่ละครั้ง พอมีคำถาม ก็จะนำคำถามมาถกเถียงเพื่อให้ได้ข้อสรุป ข้อไหนที่หาข้อสรุปไม่ได้ ก็จะไปถามอาจารย์ผู้บรรยาย และด้วยความที่เพื่อน ๆ มักจะมีคำถามใหม่ ๆ อยู่ตลอด ทำให้เราเจอจุดบกพร่องของตนเองบ่อย ๆ และก่อนสอบ ในช่วงเรียนออนไลน์ ผมมักจะเข้าร่วมกลุ่มโทรไลน์กับเพื่อน เพื่อถกเถียงในเรื่องประเด็นต่าง ๆ อยู่เสมอครับ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
มูฮัมหมัดซาลีม : “โดยส่วนตัวนะครับ อยากแนะนำเรื่องการเข้าฟังบรรยาย เพราะผมมองว่า การอ่านหนังสืออย่างเดียว มันอาจจะพลาดเนื้อหาบางส่วนได้ การเข้าฟังบรรยายจะทำให้เราเห็นถึงรูปแบบและสไตล์การสอนของอาจารย์ เราจะเห็นว่าสิ่งไหนที่อาจารย์เน้นย้ำ สิ่งไหนที่อาจารย์เจาะลึก หรือการใช้คำในการตอบข้อสอบ วิธีการตอบข้อสอบ การไล่เรียงลำดับข้อเหมือนหรือแตกต่างของกฎหมาย และแนวความเห็นทางวิชาการ และหลังจากการฟังบรรยาย พอกลับมาอ่านหนังสือ เราจะเห็นภาพรวม และจุดสำคัญที่อาจารย์ได้สอน ซึ่งเพิ่มความเข้าใจของเราได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปีที่แล้ว ในช่วงเรียนออนไลน์ ส่วนตัวผมใช้วิธีแกะเทปครับ”
“และอยากแนะนำให้ส่งสัมมนาด้วยนะครับ เพราะว่าการส่งสัมมนา จะได้รู้เทคนิดการตอบข้อสอบแล้ว การไล่เรียงตอบข้อสอบ ซึ่งมันจะลดความผิดพลาดและเพิ่มความแม่นยำในการสอบอีกด้วย ผมจำได้ว่า ปีที่แล้วมีข้อสัมมนาที่อาจารย์รณกรณ์เป็นคนตรวจเองด้วย ทำให้ในการส่งสัมมนาครั้งนั้น นอกจากผมจะได้รู้ทริคในการทำข้อสอบแล้ว ยังสามารถจับจุดว่าอาจารย์ต้องการให้ตอบรูปแบบไหน ควรตอบอย่างไร และเรายังสามารถฝากคำถามไว้สำหรับเรื่องที่ไม่เข้าใจ โดยเป็นการถามอาจารย์เองโดยตรง”
“อีกกรณีหนึ่ง คือ การฝึกเขียนข้อสอบโดยเอาข้อสอบเก่า ๆ มาเขียน เราเคยสังเกตไหมครับว่า บางครั้งเรากับเพื่อนก็อ่านเท่า ๆ กัน หรือบางทีอ่านมากกว่า แต่คะแนนของเราก็ยังคงไม่ดีเหมือนเดิม ซึ่งตรงการเขียนข้อสอบนี้เอง เป็นจุดต่างคะแนนที่สำคัญ ซึ่งการฝึกเขียนข้อสอบบ่อย ๆ จะทำให้เราพัฒนาทักษะในการเขียนตอบ และเรายังสามารถสังเกตตนเองได้อีกว่า เราพัฒนาตนเองถึงระดับไหนเพียงใด จะสามารถรู้ว่าตรงไหนที่เรายังเขียนไม่ค่อยได้ ซึ่งเป็นจุดอ่อน จุดไหนที่ควรอ่านเพิ่มเติม และยังสามารถเพิ่มความเร็วและแม่นยำในการสอบได้อีกด้วยครับ”
?????
ภาพ มูฮัมหมัดซาลีม
เรียบเรียง KK