1️⃣ คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
ณัฐนันท์ : “อาจารย์ผู้บรรยายมี 3 คน คือ ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุลค่ะ”
“คะแนนที่สอบได้ แบ่งเป็นส่วนของกลางภาค 37 คะแนน และปลายภาค 49 คะแนน รวมเป็น 86 คะแนน จาก 100 คะแนนค่ะ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
ณัฐนันท์ : “เนื้อหาวิชานี้สนุกและมีความท้าทายมากค่ะ คล้าย ๆ กับการเล่นเกมส์ โดยมีข้อเท็จจริงเป็นปัญหาและใช้ตัวบทกฎหมายเป็นกุญแจในการแก้ไขปมปัญหานั้น ๆ ซึ่งความรู้สึกก่อนที่จะได้เรียนวิชานี้ ในตอนแรกคือกังวลมาก พอได้เห็นชื่อวิชาก็จินตนาการไปเองว่าคงยากมากๆ แต่หลังจากได้เรียนกับอาจารย์แต่ละท่าน กลับรู้สึกว่าเป็นวิชาที่สนุกมากค่ะ”
?????
2️⃣ คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
ณัฐนันท์ : “เทคนิคการเรียนที่คิดว่าสำคัญมาก คือการเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ค่ะ อาจารย์แต่ละคนมีแนวทางในการสอนที่แตกต่างกัน ถ้าเราลองเรียนลองคิดตามที่อาจารย์สอน โดยไม่ปิดกั้นความคิดของตัวเอง ประเด็นไหนที่อาจารย์เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ก็จะพยายามอธิบายความคิดเห็นของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุดค่ะ การฝึกฝนการคิดในห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เราสามารถเขียนอธิบายเหตุผลในตอนสอบได้ดีค่ะ”
“ส่วนตัวชอบการเรียนในห้องมากกว่าการอ่านหนังสือ ซึ่งข้อดีของการเข้าฟังบรรยายนั้นจะทำให้เรารู้ว่าอาจารย์เน้นเนื้อหาส่วนไหนเป็นพิเศษ เหมือนเป็นการเก็งข้อสอบไปในตัวค่ะ เวลาช่วงใกล้สอบก็จะอ่านส่วนนั้นเป็นพิเศษ ทำให้ไม่รู้สึกหลงทางและรู้ว่าควรโฟกัสตรงไหนค่ะ”
“โดยปกติก่อนเรียนจะดูเค้าโครงคร่าว ๆ เพื่อให้พอเข้าใจว่าเนื้อหาในวิชานี้เกี่ยวกับอะไรบ้าง ซึ่งคิดว่าวิธีนี้มีส่วนช่วยในการเรียนมากค่ะ เพราะจะทำให้รู้ว่าตอนนี้เราเรียนอยู่ในส่วนไหนของวิชานี้ ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมมากขึ้นและ จัดระบบความคิดได้ดีค่ะ อาจารย์จะเน้นย้ำเสมอว่าการเรียนกฎหมายต้องมองเป็นระบบ มองภาพกว้าง มีการเชื่อมโยงกัน พยายามหาความแตกต่างความเหมือนของแต่บทบัญญัติ และต้องมองให้รู้ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยค่ะ”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
ณัฐนันท์ : “หนังสือที่อยากแนะนำ คือ คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิดและลหุโทษ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐค่ะ”
?????
3️⃣ คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ณัฐนันท์ : “วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์เพียรรัตน์ ลีลาพงศธรค่ะ ส่วนตัวคิดว่าการสัมมนาช่วยในการเรียนมาก เนื่องจากเนื้อหาสัมมนาจะเป็นการสรุปและการทบทวนเนื้อหาจากคาบบรรยาย จะมีการพูดในประเด็นต่าง ๆ ที่มักจะนำมาออกข้อสอบ มีการสอนการไล่ระดับความคิดและวิธีการเขียนตอบข้อสอบ ซึ่งวิธีการการเขียนตอบข้อสอบก็สำคัญ ไม่แพ้กับการเรียนเนื้อหาในห้องเรียนเลยค่ะ”
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ณัฐนันท์ : “ช่วงแรกไม่ได้ส่งเลยค่ะ เพราะไม่สามารถเขียนคำตอบออกมาได้ ไม่รู้จะเริ่มตอบจากตรงไหน แต่พอได้เรียนกับอาจารย์เรื่อย ๆ ก็พอจะจับทางได้ว่า ต้องเขียนในรูปแบบไหน ช่วงหลัง ๆ ก็ได้เขียนส่งทุกครั้งค่ะ ซึ่งการส่งแต่ละครั้งจะมีพี่ TA ที่มาช่วยตรวจให้ เมื่อได้อ่านคำแนะนำจากพี่ TA ก็จะลองเขียนใหม่ตามคำแนะนำที่ได้มา ในเขียนตอบการบ้านครั้งถัดไป ก็จะเขียนโดยอ้างอิงแนวทาง ๆ นั้น และพัฒนาการเขียนจากคำแนะนำของพี่ TA เรื่อย ๆ ค่ะ คิดว่าการส่งการบ้านสัมมนาจำเป็นค่ะ อย่างน้อยควรจะส่งสักครั้งนึง เพื่อจะได้รู้ข้อผิดพลาดของตัวเองค่ะ”
?????
4️⃣ คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
มูณัฐนันท์ : “มีทั้งการเรียนออนไลน์ใน Webex และการบันทึกวีดิโอลงใน Facebook กลุ่มปิดของวิชาอาญาภาคความผิดค่ะ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ณัฐนันท์ : “ทั้งการเรียนในห้องและเรียนออนไลน์มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันค่ะ ถ้าเรียนในห้อง จะสามารถโฟกัสและมีสมาธิกับสิ่งที่เรียนได้นานกว่า แต่การเรียนออนไลน์ นักศึกษาจะกล้าถามคำถามกล้าคุยกับอาจารย์ในประเด็นที่เรียนมากขึ้น อาจจะเพราะสามารถถามคำถามได้ง่ายกว่าการเรียนในห้องเรียนที่มีนักศึกษาจำนวนมาก เมื่อมีการถามคำถามกันมากขึ้นทำให้เกิดการโต้เถียงกันในประเด็นที่เรียน ซึ่งส่วนตัวทำให้รู้สึกว่าการเรียนสนุกขึ้น และได้รับประเด็นและความคิดใหม่ ๆ จากเพื่อนในชั้นเรียน”
“ปัญหาที่พบเจอในการเรียนออนไลน์ คือรู้สึกเบื่อ ไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งที่เรียนได้นาน และเกิดความหละหลวมกับตัวเองในสิ่งที่ต้องแต่ละวัน เนื่องจากเวลาอยู่บ้าน จะรู้สึกขี้เกียจได้ง่ายมาก วิธีแก้ปัญหาคือ กำหนด Routine ของตัวเองในแต่ละวันไว้ก่อนที่จะเริ่มต้นวัน ว่าเวลานี้ควรทำอะไร และพยายามทำตามแพลนที่เราวางไว้ให้ได้มากที่สุด พอตื่นเช้ามา ก็จะรู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป เหมือนกับการเล่นเกมส์ที่ต้องทำตามเป้าหมายของวันนี้ให้ครบ ก่อนถึงเวลาเรียน จะอาบน้ำและแต่งตัวเป็นชุดปกติเหมือนตอนไปเรียนที่มหาวิทยาลัย และจะเข้าเรียนในเวลาปกติตามตารางเรียน เวลาเรียนจะนั่งเรียนที่โต๊ะเรียน จะพยายามไม่นั่งเรียนบนเตียง เพื่อไม่ให้รู้สึกง่วง วิธีนี้ส่วนตัวรู้สึกว่าช่วยในการเรียนให้มีสมาธิมากขึ้นค่ะ และในช่วงที่เรียนจากวิดีโอที่อาจารย์บันทึกไว้ จะจับเวลาไว้ว่าเรียนกี่นาทีและพักกี่นาที เนื่องจากเราสามารถกดหยุดวิดีโอได้ ส่วนตัวจะเรียนประมาน 25 นาทีและพัก 5 นาที ทำแบบนี้เรื่อย ๆ จนกว่าจะเรียนครบตามที่อาจารย์บันทึกไว้ ส่วนในช่วงที่เรียนออนไลน์ เนื่องจากไม่สามารถกดหยุดวิดีโอได้ ก็จะพยายามบังคับตัวเองไม่ให้วอกแวก ปิดการแจ้งเตือนสิ่งที่จะทำให้เราเสียสมาธิได้ ถ้าสมาธิหลุดจริง ๆ ก็จะจดไว้ว่าหลุดในช่วงเวลาไหน แล้วค่อยกลับมาย้อนเทปฟัง”
?????
5️⃣ คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
ณัฐนันท์ : “เทคนิคคือสนุกกับสิ่งที่เรียน พยายามเรียนในห้องให้เข้าใจมากที่สุด พยายามคิดตามอาจารย์ จดจ่อกับสิ่งที่อาจารย์สอน ถ้าสงสัยเรื่องไหนก็จะพยายามหาคำตอบเรื่องนั้นให้ได้เร็วที่สุด พยายามทำความเข้าใจและเนื้อหาอยู่เรื่อย ๆ ไม่ค้างเอาไว้มาอ่านหนัก ๆ ช่วงสอบ ก่อนไปสอบพยายามนอนเยอะ ๆ จะได้ไม่เบลอ และสามารถเขียนถ่ายทอดสิ่งที่เราเรียนให้ได้มากที่สุด”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
ณัฐนันท์ : “ขอให้น้องสู้ ๆ กับการเรียนวิชานี้นะคะ ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถน้อง ๆ แน่นอน (ยิ้ม) ถ้าเหนื่อย ท้อกับการอ่านหนังสือก็พัก ไปทำสิ่งที่เราชอบ แล้วค่อยมาลุยต่อ ทุ่มเทกับการสอบให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ให้ลองคิดว่าอ่านหนังสือยังไงหรือเตรียมตัวสอบยังไงที่เราทำแล้วเราจะไม่รู้สึกผิดทีหลัง ถ้าเรามั่นใจว่าเราเตรียมตัวมาดีแล้ว ไม่ว่าผลสอบจะออกมายังไงก็ไม่สำคัญ เพราะเราทำเต็มที่แล้ว ถ้าสมมุติเกิดพลาดขึ้นมา ก็ลองทำดูใหม่ แต่พี่เชื่อว่าถ้าน้อง ๆ ถ้าตั้งใจทำจริง ๆ แล้ว เป้าหมายที่น้อง ๆ หวังอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอนค่ะ (ยิ้ม)”
?????
ภาพ ณัฐนันท์
เรียบเรียง KK