คุยกับภาวินี สุขสว่าง กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายลักษณะครอบครัวแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่ม รศ.ดร.มาตาลักษณ์)
1️⃣คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
ภาวินี : “อาจารย์ผู้บรรยายคือ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ค่ะ”
“สำหรับคะแนนที่สอบได้ ตอนกลางภาค คือ 40 คะแนน และคะแนนสอบปลายภาคคือ 57 คะแนน คะแนนรวมของวิชานี้ คือ 97 คะแนนค่ะ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
ภาวินี : “ตอนที่เรียนวิชานี้คิดว่า วิชากฎหมายครอบครัวเป็นวิชาที่ค่อนข้างสนุก และน่าเรียนอีกวิชาหนึ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเป็นการเรียนบทกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในครอบครัวหรือเครือญาติ และในหลายประเด็นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและอ่อนไหว โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก การได้ศึกษาเจตนารมณ์ในการร่างกฎหมายที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมในยุคนั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่เราจะทำการวิเคราะห์ตัวบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป ว่ามีความสอดคล้องเหมาะสมในการบังคับใช้ หรือควรมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร”
“ความรู้สึกก่อนเรียนในตอนนั้น จำได้ว่า เราพอจะรู้กฎหมายครอบครัวมาบ้างแบบผิวเผิน ในช่วงการเตรียมตัวสอบเข้าเรียนในคณะนี้ ยกตัวอย่างเช่น พวกเกณฑ์อายุในการหมั้นหรือการสมรส ที่ทุกคนเคยท่องกันมา (หัวเราะ) ด้วยความที่ไม่เคยศึกษาลงลึกไปมากกว่านี้ ทำให้เกิดความสงสัยว่า เนื้อหาวิชาที่เรียนจะมีเนื้อหามากน้อยขนาดไหน มีความยากง่ายอย่างไร ตัวบทจะมีความซับซ้อนมากหรือไม่ และด้วยความที่ไม่เคยเรียนกับท่านอาจารย์มาตาลักษณ์มาก่อน ก็ทำให้เกิดความกลัวว่าวิชานี้อาจจะเป็นวิชายากสำหรับเราอีกวิชาหนึ่ง โดยอ้างอิงจากคำเล่าลือของรุ่นพี่ (หัวเราะ)”
“แต่เมื่อได้เรียนไปแล้ว ความรู้สึกหลังเรียนก็เปลี่ยนไป แน่นอนว่าวิชานี้เป็นวิชาที่มีมาตราและเนื้อหาค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ยาก หรือน่ากลัวอย่างที่เราคิดเอาไว้ในตอนแรก ด้วยความที่ท่านอาจารย์มาตาลักษณ์จะมีวิธีการสอนแบบโค้ชชิ่ง ทำให้เราได้รู้จักสังเกตและตั้งคำถาม การได้ศึกษาไปถึงเจตนารมณ์ของตัวบทกฎหมาย ที่สะท้อนบริบทสังคมไทยในยุคนั้น การนำหลักกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาวิเคราะห์ และถกเถียงกันด้วยเหตุผล ถึงความเหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมายนั้นในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การพยายามค้นหาคำตอบ ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ถึงที่มาที่ไป รวมถึงเจตนารมณ์ของบทกฎหมายว่าออกมาเพื่อมุ่งคุ้มครองสิ่งใดด้วย การเรียนแบบนี้เป็นการกระตุ้นให้เราพยายามนำข้อเท็จจริงรอบตัวเรามาตั้งคำถาม และพยายามนำหลักกฎหมายที่ได้ร่ำเรียนปรับเข้ากับข้อเท็จจริงนั้น ทำให้เป็นการช่วยให้เราจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ โดยมีความเข้าใจเป็นพื้นฐานได้โดยปริยาย จึงทำให้วิชาครอบครัวสำหรับต้าเป็นวิชาที่สนุกมาก ๆ อีกวิชาหนึ่งค่ะ”
?????
2️⃣คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
ภาวินี : “โดยหลักแล้วคือการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอค่ะ เวลาอาจารย์ตั้งคำถาม หรือเปิดประเด็นที่น่าสนใจ ก็พยายามคิดตามและให้เหตุผลกับคำถามที่อาจารย์ถามค่ะ ขณะเรียนให้พยายามมีสมาธิตั้งใจฟังในสิ่งที่อาจารย์สอนให้ได้ตลอด และจดประเด็นสำคัญทั้งตัวเนื้อหาและตัวอย่างประกอบที่อาจารย์สอนลงในเอกสารประกอบการเรียนให้ครบถ้วนที่สุดค่ะ สิ่งที่อยากแนะนำอีกอย่างหนึ่งคือการเตรียมตัวก่อนเรียนค่ะ ถ้าสามารถอ่านหนังสือในส่วนที่อาจารย์จะสอนมาล่วงหน้าได้ ก็จะดีมากค่ะ แต่ตัวต้าเองด้วยความที่มีกิจกรรม และเรียนหลายวิชาเลยไม่สามารถทำได้ทุกครั้ง แต่อย่างน้อยๆต้าจะต้องดูเอกสารประกอบการสอนมาก่อนว่าวันนี้เราจะเรียนเรื่องอะไร มีประเด็นหรือหัวข้อไหนที่สำคัญ ดูคร่าวๆประกอบกับตัวบทมาก่อนที่จะเรียนค่ะ จะทำให้เราสามารถเข้าใจเนื้อหาในห้องบรรยายได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ”
“ในส่วนของการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชานั้น โดยส่วนตัวจะทบทวนจากเอกสารประกอบการบรรยายและเนื้อหาที่จดตามคำบรรยายเป็นหลักค่ะ และสิ่งที่ต้าทำสม่ำเสมอในทุกวิชาคือ การเปิดตัวบทไปพร้อมกับการทบทวน และที่สำคัญคือการเขียนแยกองค์ประกอบของมาตรานั้นๆ พร้อมกับเขียนเนื้อหาและตัวอย่างสำคัญประกอบลงในประมวลกฎหมายของเรา ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ต้าคิดว่าเหมาะสมกับตัวเอง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนของต้าได้อย่างดีเยี่ยม เป็นตัวช่วยในการจดจำที่มาจากความเข้าใจเป็นพื้นฐาน นอกจากจะทำให้เราแม่นยำในเรื่ององค์ประกอบของกฎหมายแล้ว ยังทำให้เราไม่ลืมข้อสังเกต หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายบทนั้นๆด้วย ในส่วนที่ยังมีบางหัวข้อที่ยังทำความเข้าใจไม่ได้ดีพอ ต้าก็จะอ่านหนังสือเพิ่มเติมในหัวข้อที่คิดว่าตัวเองยังไม่เข้าใจในเรื่องนั้นๆเพิ่มเติมค่ะ”
“อีกเทคนิคที่สำคัญ คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนค่ะ ต้าคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยได้มาก เพราะจะทำให้เราได้จัดระบบความคิดของเรา และเป็นการเรียบเรียงสิ่งที่เรารู้เพื่อถ่ายทอดออกมาให้เพื่อนๆได้ฟัง ซึ่งจะทำให้เราเกิดความเข้าใจ และจดจำได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการพูดคุยกับเพื่อนนั้น จะทำให้เราได้เห็นมุมมองความคิดของเพื่อนในบางแง่มุมที่เราอาจจะตกหล่นไปด้วยค่ะ
“ส่วนอีกเทคนิคหนึ่งที่ต้าใช้ คือการพยายามนำข้อเท็จจริงรอบตัว ตัวอย่างความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิด ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม โดยการตามหาอ่านจากใน Pantip หรือจะเป็นเคสที่ website ที่สำนักงานทนายความเอามาลงก็ได้ค่ะ โดยการนำปัญหาความสัมพันธ์เหล่านั้นมาปัญกับหลักกฎหมายที่เราได้เรียนมา วิธีนี้จะทำให้เราเรียนวิชานี้สนุกขึ้นค่ะ ส่วนในกรณีที่เป็นปัญหาที่คิดไม่ตกก็อาจจะกลายเป็นคำถามที่น่าสนใจในชั้นเรียนต่อไปก็ได้ค่ะ”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
ภาวินี :“หนังสือที่ต้าใช้อ่านประกอบคำบรรยายคือหนังสือ คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ครอบครัว ของ ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริค่ะ แต่โดยส่วนตัวต้าอ่านจากเอกสารประกอบการบรรยาย ที่มีการจดเนื้อหาการบรรยายลงไปเป็นหลักค่ะ นอกจากนี้คือตัวบทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ค่ะ”
?????
3️⃣คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ภาวินี : “วิชานี้มีการสัมมนาโดยท่านอาจารย์มาตาลักษณ์เองเลยค่ะ ต้ามองว่าการสัมมนาเหมือนเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เราสามารถ สรุปรวบยอดความคิดในสิ่งที่เราเรียนไปได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในการสัมมนา อาจารย์จะนำ Power Point ตัวบทกฎหมายที่มีการแยกองค์ประกอบแล้วในแต่ละมาตรา ข้อสังเกต หรือการเปรียบเทียบและสรุปเนื้อหาสำคัญของหัวข้อนั้นๆ รวมถึงมีสไลด์ชุดรวมคำถามเพื่อเป็นการทดสอบความรู้ของเราว่าสิ่งที่เราได้เรียนไปเรามีความเข้าใจมากน้อยขนาดไหน นำมาทบทวนให้กับเราอีกด้วย นอกจากนี้ในชั่วโมงสัมมนาก่อนช่วงการสอบ จะมีการนำข้อสอบเก่ามาให้นักศึกษาได้ลองทำและมีการจำลองการทำข้อสอบเสมือนจริงตามเวลาที่กำหนดอีกด้วย ตอนที่เรียนในห้อง ส่วนตัวจึงเห็นว่าการสัมมนาจึงเป็นตัวช่วยในการเรียนอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้เราได้มีความคุ้นเคยกับการสอบ ได้สังเคราะห์ความรู้ที่เราได้เรียนมา ได้เห็นประเด็นบางอย่างที่เราอาจละเลยไป จึงนับเป็นประโยชน์อย่างมาก”
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ภาวินี : “เขียนส่งค่ะ แต่ถ้าให้เทียบกับช่วงปีหนึ่งที่มีเวลาว่างมากกว่านี้ (หัวเราะ) ก็คงถือว่าเขียนส่งไปไม่มากค่ะสำหรับวิชานี้ แต่โดยส่วนตัวมองว่าหากเรามีเวลามากพอก็ควรจะเขียนส่งไปค่ะ ต้าว่าการฝึกเขียนตอบมีความจำเป็นมากโดยเฉพาะน้องๆปีหนึ่ง หรือสำหรับบางคนที่ยังรู้สึกว่าตัวเองยังเขียนตอบได้ไม่ดีพอ ก็ยิ่งต้องควรฝึกเขียนเรื่อยๆค่ะ เพื่อให้เราสามรถค้นหาแนวเขียนตอบของตัวเองเจอ รู้จักการจับประเด็น เขียนอย่างเป็นลำดับให้ผู้ตรวจสามารถอ่านเข้าใจได้ง่ายค่ะ การเขียนส่งการบ้านก็ไม่ใช่ว่าเขียนแบบส่งๆไปนะคะ (หัวเราะ) วัตถุประสงค์ของการเขียนตอบคือต้องการให้เราได้พัฒนาการเขียนตอบของตนเอง และเคยชินกับการปรับตัวบทกฎหมายกับข้อเท็จจริง ดังนั้น เมื่อเราได้รับการบ้านกลับคืนมา เราก็ควรจะนำข้อแนะนำที่พี่ TA เขียนมาให้ นำมาปรับปรุงการเขียนของเราจนกว่าจะดีขึ้นค่ะ เพราะถ้าแค่เขียนส่งไป ไม่มีการปรับปรุงการเขียน ต่อให้ส่งไปเป็นร้อยฉบับ ผลลัพธ์ก็จะออกมาเป็นแบบเดิมค่ะ”
?????
4️⃣คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
ภาวินี : “ต้องเกริ่นก่อนว่าช่วงก่อนกลางภาคเป็นการเรียน และการสอบในห้องเรียนปกติค่ะ แต่พอมี Covid-19 ก็มีการปรับไปเรียนออนไลน์ ซึ่งในช่วงแรกมีความพยายามที่จะมีการเรียนการการสอนผ่าน WebEx แต่เกิดปัญหาทางเทคนิคมากมายทำให้การเรียนการสอนไม่ราบลื่น จึงมีการเรียนการสอนผ่าน Facebook live แทนค่ะ แต่ในหลายครั้งก็ประสบปัญหาทางเทคนิคอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทำให้สุดท้ายแล้วเปลี่ยนมาเป็นการบันทึกวีดีโอล่วงหน้าแทนค่ะ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ภาวินี : “โดยส่วนตัวต้าเป็นคนชอบเรียนในห้องเรียนมากกว่าค่ะ เนื่องจากมองว่าเป็นการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเรียนออนไลน์ ต้ามองว่าบรรยากาศในห้องเรียนทำให้เรามีสมาธิ และมีแรงจูงใจในการเรียนมากกว่าการเรียนออนไลน์ที่บ้านค่ะ การได้เห็นเพื่อนๆนั่งเรียนด้วยกันหลายๆคน การที่เราสามารถสบตากับอาจารย์ผู้สอน ได้ตั้งคำถามในชั้นเรียน หรือการมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน ล้วนเป็นเสน่ห์ของการเรียนในห้องที่ยังคงคิดถึงค่ะ”
“หากเปรียบเทียบกันการเรียนออนไลน์ ก็มีความแตกต่างกับการเรียนในห้องหลายอย่างอยู่นะคะ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในการเรียนที่ค่อนข้างเงียบเหงา อาจารย์ผู้สอนไม่สามารถมองเห็นหน้าหรือสบตานักศึกษาได้ ทำให้ในบางครั้งประสบปัญหาที่ว่าอาจารย์อาจจะสอนเร็วเกินไป และท่านไม่ทราบ เนื่องจากมีอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารกับอาจารย์ในขณะเรียนแบบ Live เพราะมีการดีเลย์ในการโต้ตอบ เนื่องจากสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี มีกระตุกบ้าง เสียงขาดหายบ้าง ทำให้การเรียนออนไลน์ในช่วงแรกๆค่อนข้างยากลำบาก จึงมีการแก้ไขปัญหาโดยเปลี่ยนมาเป็นการอัดวีดีโอแทนการสอนสด ซึ่งก็มีทั้งข้อดีคือและข้อเสียค่ะ ข้อดีคือภาพและเสียงมีความชัดเจน นักศึกษาสามารถกลับมาดูย้อนหลังได้ แต่ข้อเสียคือในการเรียนลักษณะนี้คือ เราจะไม่สามารถถามคำถามในทันทีขณะเรียนได้ แต่เราก็สามารถจดคำถามนั้น เพื่อพิมพ์ไปสอบถามอาจารย์ผ่านอีเมลภายหลังได้เช่นกันจึงไม่นับว่าเป็นปัญหามาก”
“ปัญหาส่วนตัวที่ต้าเจอขณะเรียนออนไลน์ คือ ความรู้สึกหมดไฟ มีความรู้สึกว่าประสิทธิภาพในการเรียนของเราลดลง การเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ทำให้ดวงตาอ่อนล้า ปวดหัว ปวดหลัง และรู้สึกว่าต้องใช้พลังในการจดจ่อกับการเรียนเป็น 2 เท่าจากปกติที่เรียนในห้องเรียน เพราะรู้สึกว่าตัวเองวอกแวกง่ายมาก หลายครั้งก็ไม่มีกระจิตกระใจที่จะเรียน ต้าแก้ปัญหานี้โดยการพยายามหากิจกรรมที่เป็นผ่อนคลายทำ เช่น ระบายสีผ้าใบ ทำอาหาร ออกกำลังกาย คือทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่แค่การนั่งๆนอนๆ จัดโต๊ะหนังสือให้น่าเรียน ทำให้มีแสงสว่างเข้ามาเพียงพอ หาซื้อเบาะรองนั่งนุ่มๆ และผนักพิงแก้ปวดหลังดีๆสักอัน (หัวเราะ) ก่อนเรียนก็ล้างหน้าล้างตา กินกาแฟ หรือน้ำหวาน ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเราพร้อมเรียนมากที่สุด ในเมื่อเรากลับไปเรียนในห้องไม่ได้ เราก็ต้องทำตัวเราให้พร้อมเรียน ทำบรรยากาศรอบตัวเราให้น่าเรียน ถ้าเหนื่อยก็พัก อย่าอุดอู้อยู่แต่บนที่นอนหรือโซฟา เพราะจะยิ่งทำให้เราหมดกำลังกายและกำลังใจในการเรียนค่ะ”
?????
5️⃣คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
ภาวินี : “ในการเตรียมตัวสอบวิชานี้ ในช่วงใกล้สอบ เราจะต้องลองประเมินตนเองคร่าว ๆ โดยดูว่า ตัวของเราเข้าใจเนื้อหาวิชานี้อย่างครอบคลุมและครบถ้วนแล้วหรือยัง พวกประเด็นหรือคำถามต่าง ๆ ในเอกสารประกอบการสอน หรือสิ่งที่อาจารย์ตั้งเป็นคำถามในชั้นเรียน เราสามารถให้เหตุผลในคำถามเหล่านั้นได้หมดแล้วหรือยัง นอกจากนี้ความแม่นยำในองค์ประกอบของตัวบทกฎหมาย รวมไปถึงความเข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎหมายของเรามีมากน้อยแค่ไหนกัน การตอบคำถามเหล่านี้ได้ย่อมเป็นการประเมินความพร้อมพร้อมในการสอบคร่าว ๆ ของเราได้”
“วิธีการเตรียมตัวสอบของต้า คือ การอ่านทบทวนบทเรียนตามแบบวิธีที่กล่าวไปข้างต้นในเรื่องเทคนิคการเรียน เมื่อเราอ่านเอกสารประกอบการสอนหรือหนังสือจนเราเข้าใจเรื่องที่เราเรียนอย่างดีแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ การทำข้อสอบเก่าย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 10 ปีย้อนหลัง ลองเอาข้อสอบเก่ามาทำ สังเกตประเด็นที่โจทย์ถาม ดูว่าเราสามารถตอบคำถามในประเด็นนั้น ๆ ได้หรือไม่ โดยการเขียนคำตอบคร่าว ๆ เอาไว้ และให้เหตุผลในการตอบด้วย แล้วค่อยนำคำตอบของเราไปเทียบกับธงคำตอบอีกทีหนึ่ง ว่าเราขาดตกบกพร่องในประเด็นไหนไปหรือไม่ ส่วนประเด็นไหนที่เรายังตอบไม่ได้ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรายังศึกษามาไม่ดีพอ จึงควรกลับไปทบทวนเรื่องนั้น ๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ก่อนวันสอบสองวัน ต้าจะทดลองฝึกเขียนแบบจับเวลาเท่ากับเวลาสอบจริง เพื่อซ้อมมือในการเขียนปรับบทให้ครอบคลุมทุกประเด็นภายในกำหนดเวลา จะได้ไม่ตื่นสนามสอบในวันสอบจริงมากเกินไป”
“แต่ด้วยความที่การสอบปลายภาคครั้งนี้เป็นการสอบออนไลน์ ซึ่งเราสามารถเปิดตัวบท และหนังสือได้ ทำให้เป็นการแบ่งเบาภาระในการจำเนื้อความในตัวบทไปส่วนหนึ่ง จึงมีเวลาไปอ่านทบทวนเพิ่มเติมในส่วนของการอธิบายองค์ประกอบและเนื้อหามากยิ่งขึ้น ซึ่งการเตรียมตัวในส่วนของเนื้อหาของต้าก็ไม่ต่างจากการสอบในห้องแต่อย่างใด เนื่องจากเราเลือกใช้วิธีการเขียนตอบแล้วค่อยแสกนส่ง ตั้งใจว่าเราจะต้องไม่เปิดหนังสือให้เป็นภาระ เพราะการเห็นประเด็นในโจทย์แล้วเปิดหนังสือหรือเอกสารเป็นร้อยหน้าเพื่อการเขียนตอบ เป็นการกระทำที่เสียเวลาอย่างมาก และทำให้การเขียนของเราสะดุดไม่สามารถเรียบเรียงการเขียนได้ดีเท่าที่ควร อีกทั้งจะทำให้ความรู้เรากระจัดกระจาย เกิดความสับสน ต้าจึงเลือกที่จะจดสรุปหัวข้อต่าง ๆ เอาไว้ดูแทนการเปิดหนังสือหลายร้อยหน้า เพราะเราเชื่อมั่นว่าเราได้เตรียมตัวในการสอบของมาอย่างดีพร้อมแล้ว”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
ภาวินี : “ถึงน้อง ๆ ที่อาจจะกลัวการเรียนในเซคชั่นนี้ เหมือนพี่เมื่อก่อน พี่อยากจะให้น้อง ๆ ลองเปิดใจก่อน เพราะอุปสรรคในการเรียนที่ใหญ่ที่สุด อาจจะมาจากการที่ผู้เรียนไม่ยอมเปิดใจ เมื่อไม่เปิดใจเราก็อาจจะเกิดการอคติ เมื่อเราไม่ชอบหรือไม่อยากเรียน ความพยายามในการแสวงหาความรู้ของเราก็จะลดลงไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็จะเป็นผลเสียกับตัวน้อง ๆ เอง พี่อยากให้น้อง ๆ ได้ลองเรียนดูก่อน อย่าไปคิดว่ามันอยาก ให้คิดว่าตัวเองทำได้ถ้าพี่สอบได้ 97 คะแนนได้ พวกเราก็ต้องทำได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดพี่ไม่อยากให้น้อง ๆ ยึดถือคะแนนเป็นที่ตั้ง เพราะการได้คะแนนสูง ๆ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าคุณจะเป็นคนที่เก่งที่สุดเสมอไป พี่มองว่าเพื่อนหลายคนก็มีความรู้และเก่งไม่แพ้กันเลย หรือบางคนในบางเรื่องกลับรู้มากกว่าเสียอีก”
“ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ เรียนอย่างไรให้เราได้รับความรู้ และสามารถเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรียนอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าใจบทเรียนได้ดี พี่อยากให้น้อง ๆ ลองพยายามทำความเข้าใจ สิ่งที่อาจารย์สอน รวมถึงคำถามที่อาจารย์ถามเพื่อให้เราคบคิด พยายามดูองค์ประกอบของมาตรานั้น ๆ อย่างละเอียด ฝึกเขียนตอบ ทบทวน พยายามตั้งคำถามในสิ่งที่เรียน พยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ ลองมองความสัมพันธ์ของคนรอบตัวเรา คุยกับเพื่อนเยอะ ๆ หลังจากที่เรียน การเรียนวิชานี้ก็จะสนุกขึ้น ผลสุดท้ายแล้วความตั้งใจของเรา ก็อาจจะออกมาในรูปแบบคะแนนที่ซึ่งเป็นผลพลอยได้ พี่อยากให้พวกเราลองค้นหาวิธีเรียนที่เหมาะสมกับตัวเองดู ถ้าเหนื่อยก็พักบ้าง ขอให้ทุกคนสู้ ๆ นะคะ พี่เป็นกำลังใจให้ค่ะ”
?????
ภาพ ภาวินี
เรียบเรียง KK