คุยณัฏฐกิตติ์ หงส์ชู กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายลักษณะครอบครัวแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่ม ผศ.ดร.เอมผกา)
1️⃣คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
ณัฏฐกิตติ์ : “อาจารย์ผู้บรรยายคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ”
“สำหรับคะแนนที่ผมสอบได้กลางภาค คือ 18 คะแนน คะแนนรายงาน 18 คะแนน คะแนนเก็บ 18 คะแนน และคะแนนสอบปลายภาคคือ 38 คะแนน คะแนนรวม 92 คะแนน”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
ณัฏฐกิตติ์ : “ก่อนเริ่มเรียนวิชานี้ผมเข้าใจว่ากฎหมายครอบครัวคงจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเกิดมาทุกคนต่างก็มีครอบครัวอยู่แล้วใช่ไหมล่ะครับ (หัวเราะ) แต่หลังจากที่ได้มาเรียนจริง ๆ ก็พบว่า วิชานี้ ท้าทายความสามารถผู้เรียนมากกว่าที่คิด ด้วยกฎหมายครอบครัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ประกอบด้วยหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันครอบครัวมากกว่าที่จินตนาการไว้หรือที่เคยมีประสบการณ์ถึง อาทิ การริเร่มก่อตั้งสถาบันครอบครัวเช่นหมั้น สมรส ชีวิตคู่สามี-ภริยา เช่นความสัมพันธ์ ทรัพย์สินของสามีภริยา การสิ้นสุดชีวิตสมรส หรือหย่า บิดามารดาบุตร ตลอดจนการรับบุตรบุญธรรม ทำให้วิชากฎหมายลักษณะครอบครัวมีหัวข้อให้ศึกษาทำความเข้าใจมาก ประกอบกับจำนวนมาตราที่ต้องทำความเข้าใจ ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย”
“หลังจากได้ศึกษาวิชานี้แล้ว ผมพบว่า ถึงแม้จะมีหลักกฎหมายจำนวนมากให้ศึกษา แต่ทุกหลักกฎหมายล้วนมีที่มาจากเรื่องราวของครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ทำให้การทำความเข้าใจหลักกฎหมายครอบครัวไม่ต้องอาศัยจินตนาการมากเหมือนกฎหมายบางลักษณะ หากทำความเข้าใจหลักการของกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังแต่ละมาตรา จัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบ เชื่อมโยงแต่ละหลักกฎหมายเข้าหากันได้ ก็จะเข้าใจกฎหมายครอบครัวทั้งระบบได้ไม่ยาก และจะสนุกไปกับมัน เหมือนอย่างที่ผมรู้สึกหลังจากเรียนไปสักระยะ”
?????
2️⃣คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
ณัฏฐกิตติ์ :“เนื่องจากในการเรียนการสอน อาจารย์ผู้บรรยาย อัดวีดีโอเป็นไฟล์ลงในกลุ่ม Facebook ผมจึงใช้วิธีการเข้าไปฟังไฟล์การเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ จากนั้น ใช้วิธีการอ่านคำบรรยายประกอบในทุก ๆ เรื่องที่ผู้บรรยายสอน เพื่อเปิดมุมมองให้กับตนเอง และทำให้เห็นภาพชัดขึ้นในแต่ละประเด็นกฎหมาย ในบางครั้งอาจารย์จะมีการไลฟ์สดให้เข้าไปถามคำถามที่สงสัยได้ ผมก็จะอาศัยโอกาสนั้นในการฟังคำถามของเพื่อน ๆ เพื่อทบทวนความรู้ตัวเอง และเก็บตกประเด็นอื่นที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการเรียนเพิ่มเติมด้วย”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
ณัฏฐกิตติ์ : “อันที่จริง กลุ่ม อ.เอมผกา สามารถใช้หนังสือประกอบการบรรยายของ ศ.ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริ หรือ ของ ศ.พิเศษ ประสพสุข บุญเดช ก็ได้ เพราะต่างก็ดีเหมือนกัน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมใช้เล่มคำอธิบายกฎหมายครอบครัว โดยศาสตราจารย์พิเศษ ประสพสุข บุญเดช จัดพิมพ์โดย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เนื่องจากแนวทางการเขียนตำราของอาจารย์ประสพสุข ใช้ภาษาที่เข้าใจได้ไม่ยาก กระชับ มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาแสดงตัวอย่างการปรับใช้กฎหมายที่หลากหลายและทันสมัย นอกจากนี้ยังมีความเห็นส่วนตัวของท่านสอดแทรกลงไปในการอธิบายเนื้อหาแต่ละประเด็น ทำให้เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเรียนกฎหมายครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง มากไปกว่านี้ ตำราเรียนดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้ในชั้นของการเรียนเนติบัณฑิตได้อีกด้วย”
?????
3️⃣คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ณัฏฐกิตติ์ : “วิชานี้ไม่มีการสัมมนาครับ”
?????
4️⃣คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
ณัฏฐกิตติ์ : “อาจารย์ใช้วิธีการอัดไฟล์วีดีโอการบรรยายไว้ล่วงหน้า เวลาเรียนก็ใช้แล้วแต่ผู้เรียนสะดวกครับ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ณัฏฐกิตติ์ : “การเรียนในห้องเรียน จะทำให้เราสามารถจดจ่อกับการเรียนได้ดีมากกว่าการเรียนแบบออนไลน์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญเลยครับ บางครั้งบรรยากาศภายในบ้านก็ไม่เอื้อต่อการเรียนการสอนจริง ๆ ทว่าในเรื่องของเนื้อหา คิดว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญถึงขนาดนั้นครับ เพราะอาจารย์ผู้บรรยายก็บรรยายเนื้อหาตามที่ได้เตรียมการเรียนการสอนไว้เหมือนหนึ่งว่าได้ทำการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบปกติครับ”
“สำหรับปัญหาที่พบก็จะมีเวลาที่มีข้อสงสัยต่าง ๆ จากการบรรยาย หากเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียน ก็จะสามารถหันไปถามเพื่อนข้าง ๆ ได้อยู่บ้าง แต่เมื่อมาเรียนออนไลน์แล้ว ก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ นอกจากนี้ เมื่อจบการบรรยายในห้องเรียน ก็จะเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาสามารถไปถามข้อสงสัยจากอาจารย์ผู้บรรยายได้ แต่หลังจากมีการเรียนออนไลน์แล้ว สิ่งนี้ก็ไม่สามารถทำได้อีก”
“อาจารย์แต่ละท่านจะมีช่องทางการติดต่อนักศึกษาที่แตกต่างกันออกไป สำหรับ Section อ.เอมผกานี้ สามารถส่งข้อความไปถามท่านได้โดยตรง หรือจะเข้าไปถามคำถามในขณะที่อาจารย์ไลฟ์สดเปิดให้ถามคำถามก็ได้เช่นกัน ส่วนตัวผมใช้วิธีการส่งข้อความไปทาง inbox message ของ Facebook อาจารย์ เมื่อมีข้อสงสัยที่เกิดขึ้นจากการเข้าฟังบรรยาย หรือ ข้อสงสัยที่เกิดจากการอ่านคำบรรยายกฎหมายลักษณะครอบครัว โดยจะเลือกส่งเฉพาะคำถามที่ไม่สามารถสืบค้นได้ด้วยตัวเอง และเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเวลาส่วนตัวของผู้บรรยาย ผมมักจะส่งข้อความไปในเวลาราชการ คือไม่เกิน 16.00 น.”
“นอกจากนี้ ผมมองว่า การที่ไปสืบค้นหาคำตอบให้กับข้อสงสัยของตนเองก่อนไปถามอาจารย์ ยังช่วยส่งเสริมทักษะการค้นคว้าได้เป็นอย่างดี ทำให้ตลอดระยะเวลาที่เรียนออนไลน์ ผมได้รับความรู้มากมายจากหลายทรรศนะผ่านการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ทั้งยังช่วยในการทำข้อสอบแบบออนไลน์ที่จะวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักศึกษาเพิ่มมากขึ้นจากข้อสอบในรูปแบบปกติ”
?????
5️⃣คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
ณัฏฐกิตติ์ : “สำหรับผมแล้วการเตรียมตัวสอบอย่างแรกเลยก็คือการเข้าเรียน เนื่องด้วยการเข้าเรียน จะทำให้เราทราบได้ว่า อาจารย์ผู้บรรยายเน้นเนื้อหาในส่วนไหน มีคำพิพากษาฎีกาฉบับใดบ้างที่ควรไปอ่านทำความเข้าใจเพิ่มเติม อย่างที่สองคือการอ่านคำบรรยาย ซึ่งจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการทำความเข้าใจประเด็นทางกฎหมายหนึ่ง ๆ ให้ละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น อย่างที่สามคือการทำข้อสอบเก่า เพื่อฝึกฝนให้เราสามารถปรับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รู้จุดบกพร่องของตนเอง ทำให้สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีก่อนจะถึงวันสอบจริง อย่างสุดท้ายคือการหาวิธีการตอบข้อสอบที่เหมาะสมกับตัวเอง อย่างเช่นผมที่เลือกวิธีการพิมพ์ เพราะ ส่วนตัวเป็นคนพิมพ์เร็ว และวิธีการพิมพ์ก็ไม่ทำให้เราเสียเวลาในการถ่ายรูปกระดาษคำตอบ แปลงไฟล์ และไม่เกิดปัญหาประเภทหมึกปากกาหมดระหว่างสอบ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
ณัฏฐกิตติ์ : “อยากบอกน้อง ๆ ทุกคนว่ากฎหมายครอบครัวไม่ยากครับ ขอให้เข้าเรียนอย่างมีความสุข อ่านหนังสืออย่างจริงจัง ทำข้อสอบเก่าอย่างสม่ำเสมอ เท่านี้ คะแนนดี ๆ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องฝันกลางวันแล้วครับ”
?????
ภาพ ณัฏฐกิตติ์
เรียบเรียง KK