คุยกับชนกเนตร กรเพชรพงศ์ กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่ม ศ.(พิเศษ)ไพโรจน์, อ.สมชัย, อ.สรวิศ, รศ.ดร.สมเกียรติ, อ.กิตติภพ)
1️⃣คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
ชนกเนตร : “อาจารย์ผู้บรรยายคือ อาจารย์ไพโรจน์ อาจารย์สมชัย อาจารย์สรวิศ รศ.ดร.สมเกียรติ และอาจารย์กิตติภพ”
“สำหรับคะแนนสอบกลางภาคได้คะแนน 20 คะแนน และคะแนนสอบปลายภาคได้คะแนน 79 คะแนน รวมคะแนนวิชานี้คือ 99 คะแนนค่ะ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
ชนกเนตร : “ก่อนเรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้ต้องยากและอาศัยความจำล้วน ๆ แต่เนื่องจากว่าตัวเองมีความฝันที่อยากจะทำอาชีพทางสายทนายจึงต้องคิดว่าตัวเองต้องตั้งใจในวิชานี้มาก ๆ แต่หลังจากได้เริ่มเรียนแล้วก็พบว่าวิชานี้นั้นไม่ได้อาศัยแค่ความจำเพียงอย่างเดียวแต่ต้องอาศัยความเข้าใจ และต้องพยายามมองวิชานี้ให้เป็นภาพรวมในหัว มองทุกอย่างให้เป็นภาพต่าง ๆ จะทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ประกอบกับส่วนตัวได้มีโอกาสที่จะได้เข้าไปดูกระบวนการพิจารณาในศาลเนื่องจากได้ตามคุณอาไปศาลตลอดจึงทำให้เรานั้นได้เห็นภาพในหัวมากยิ่งขึ้น และเมื่อได้เรียนก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพในวิชานี้มากขึ้นไปอีกจึงทำให้วิชานี้นั้นสนุกขึ้นค่ะ”
?????
2️⃣คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
ชนกเนตร : “สำหรับเทคนิคในการเรียนวิชานี้นั้น ต้องพยายามใช้ความเข้าใจอย่าใช้แต่ความจำ ถ้ามีโอกาสที่สามารถเข้าไปดูกระบวนการพิจารณาในศาลได้นั้นแนะนำให้ไปเพราะจะทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าไม่มีโอกาสอยากแนะนำให้ พยายามทำสรุปเป็นแผนภาพมาตรากระบวนการพิจารณาในแต่ละเรื่องที่เรียนจะทำให้เราเห็นภาพและเข้าใจมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวเทคนิคการอ่านวิชานี้ก่อนอื่นจะอ่านทุกมาตราในเรื่องนั้นจนครบเพื่อทำให้เรามองเห็นภาพรวมของเรื่องนั้น ๆ จากนั้นจะค่อย ๆ อ่านหนังสือเพื่อเก็บเนื้อหาไปทีละเรื่อง จะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาและมองได้อย่างเป็นระบบเชื่อมกัน ส่วนการอ่านหนังสือส่วนตัวเมื่ออ่านจะไฮไลท์โดยแบ่ง3สี เป็นสีที่ไฮไลท์ข้อความสำคัญมาก ๆ สีไฮไลท์หัวข้อ และอีกสีไฮไลท์เนื้อหา ซึ่งไม่รู้ว่ามันได้ผลสำหรับคนอื่นหรือเปล่า แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าพอเวลาย้อนกลับมาอ่านมันทำให้การอ่านและสรุปของเราเป็นระบบจากสีที่ไฮไลท์ และจากนั้นก็จะกลับกลับมาสรุปทำความเข้าใจและจดหลักการและฎีกาที่สำคัญ ๆ เอาไว้ข้าง ๆ ตัวบทนั้น เพื่อที่จะทำให้เวลาเราย้อนกลับมาอ่านมาตรานั้นจะทำให้เราเข้าใจหลักมากยิ่งขึ้น พอเมื่อเนื้อหาแม่นและเข้าใจหลักแล้วก็จะเริ่มลงมือทำข้อสอบโดยตอนสอบได้ฝึกทำข้อสอบเยอะมาก ๆ ทำให้เรารู้ว่าอาจารย์จะออกข้อสอบแนวไหนหรือตรงจุดไหนที่ควรระวังหรือจุดไหนที่ยังไม่แม่นอีกด้วยค่ะ”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
ชนกเนตร : “ในส่วนระบบศาล แนะนำเล่ม คำอธิบายระบบศาล และพระธรรมนูญศาลยุติรรม ของศาสตราจารย์พิเศษไพโรจน์ วายุภาพ”
“ในส่วนวิธีพิจารณาความแพ่ง แนะนำ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาค1บททั่วไป ของศาสตราจารย์พิเศษไพโรจน์ วายุภาพ สัมมนากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเล่ม1 และสัมมนากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเล่ม 2 ของ อาจารย์สมชัย ฑีฆาอุตมากรค่ะ”
“ส่วนของ เล่มศาสตราจารย์พิเศษไพโรจน์ กับส่วนหนังสือสัมมนาของอาจารย์สมชัยเล่ม 1 นั้นจะมีเนื้อหาที่ซ้ำกันบางส่วน และมีบางส่วนที่หนังสืออีกเล่มไม่มีค่ะจึงอ่าน2เล่มควบคู่กันไปจะครบเนื้อหาทุกเรื่องที่อาจารย์สอนค่ะ”
?????
3️⃣คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ชนกเนตร : “ได้สัมมนากับอาจารย์อาจารย์กิตติภพ ส่วนตัวแล้วชอบวิชาสัมมนาเป็นอย่างมากเพราะว่าอาจารย์ได้สรุปเนื้อหาวิชาทุกอย่างที่เน้นและฎีกาที่สำคัญสำหรับการสอบข้อสอบทำให้เราเข้าใจวิชานี้ได้ดีเป็นอย่างมาก อีกทั้งอาจารย์กิตติภพนั้นได้ทำสไลด์ภาพรวมกระบวนการพิจารณาทำให้มองเห็นภาพของกระบวนการพิจารณาชัดเจนยิ่งขึ้น และอาจารย์ยังได้ให้ฝึกทำข้อสอบพร้อมเทคนิคการเขียนตอบอีกด้วย จึงถือว่าวิชาสัมมนามีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการเรียนวิชานี้ค่ะ”
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ชนกเนตร : “ปกติตอนช่วงปี 1 จะส่งการบ้านสัมมนาตลอดค่ะเพื่อที่จะรู้แนวและเทคนิคการเขียนตอบข้อสอบให้ดี แต่เนื่องจากวิชาเรียนปี2ค่อนข้างหนักและเยอะมาก จึงได้เขียนส่งการบ้านสัมมนาแค่ตอนเรียนระบบศาลซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะว่าเราจะได้รับคอมเม้นจากพี่ ๆ TA ว่าเรายังบกพร่องการเขียนหรือไม่เข้าใจในประเด็นตรงส่วนไหน พี่ ๆ จะช่วยแนะนำและปรับปรุงให้ค่ะ ส่วนตัวคิดว่าถ้ามีเวลาก็ควรจะเขียนสัมนาส่งเพื่อเป็นการซ้อมเขียนก่อนทำข้อสอบจริงค่ะ แต่ถ้าไม่มีเวลาแนะนำให้ทำข้อสอบแล้วเขียนเลขมาตราและไปถามธงคำตอบจากเอาเพื่อน ๆ ค่ะ”
?????
4️⃣คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
ชนกเนตร : “อาจารย์ส่วนใหญ่ทุกคนจะใช้ WebEx แต่ส่วนของอาจารย์ กิตติภพจะใช้เป็น Facebook liveค่ะ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ชนกเนตร : “สำหรับส่วนตัวคิดว่าไม่ค่อยแตกต่างกันค่ะจะแตกต่างกันแค่ตรงสภาพแวดล้อมในการเรียน การเรียนในห้องจะทำให้เราเจอเพื่อน ๆ มากกว่า สำหรับปัญหาในการเรียนออนไลน์น่าจะเป็นเรื่อง ความกระตุกจากสัญญาณอินเทอร์เน็ตทำให้อาจจะฟังแล้วกระตุกบ้างเป็นบางครั้ง จึงต้องอาจจะทำให้ต้องไปย้อนฟังคลิปตรงส่วนนั้นใหม่ค่ะ การแก้ปัญหาก็อาจจะเปลี่ยนที่เรียนหนังสือบ้างอาจจะออกไปเรียนข้างนอกให้เจอผู้คนเยอะขึ้นจะได้ไม่เหงาและมีแรงกระตุ้นค่ะ”
?????
5️⃣คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
ชนกเนตร : “สำหรับการเตรียมตัวสอบนั้นจะเน้นในการเข้าฟังบรรยายทุกคาบ และอ่านหนังสือประกอบเป็นหลักเพื่อเพิ่มความเข้าในใจเนื้อหาตรงจุดที่เรายังไม่แม่นและจะจดสรุปหลักเนื้อหาและจดฎีกาสำคัญ ๆ ไว้ในมาตรานั้น ๆ ตลอด ทำให้เวลาเราย้อนกลับมาอ่านตรงตัวมาตราจะทำให้เราเข้าใจตัวบทมาตรามากยิ่งขึ้น ส่วนไหนที่ยังไม่เข้าใจก็จะอีเมลไปถามอาจารย์ตลอดค่ะ แล้วก่อนส่วนที่สำคัญอีกอย่างนึงที่ขาดไม่ได้คือการทำข้อสอบย้อนหลังค่ะ ยิ่งทำข้อสอบเยอะจะทำให้รู้แนวและรู้จุดที่ตัวเองยังผิดพลาดทำให้เราสามารถไปแก้ไขและไปอ่านเนื้อเพิ่มเติมจุดที่เรายังไม่แม่นได้ค่ะ ส่วนการเขียนนั้นเวลาเขียนตอบข้อสอบแนะนำสแกนดูว่ามีประเด็นตรงไหนที่อาจารย์ต้องการให้เราตอบบ้างโดยเฉพาะการเก็บประเด็นเล็ก ๆ หรือสิ่งเล็ก ๆ ที่อาจาร์ยซ่อนจะทำให้การเขียนตอบข้อสอบวิชานี้ได้คะแนนดีขึ้นกว่าเดิมค่ะ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
ชนกเนตร : “อยากบอกน้อง ๆ ว่า สู้ ๆ นะคะ รู้ว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ค่อนข้างยากและหนัก แต่ว่าไม่มีอะไรยากเกินถ้าเราพยายามและตั้งใจจริง ๆ พี่ไม่อยากให้น้อง ๆ ตั้งกำแพงกับวิชานี้ ให้เราเปิดใจจะทำให้เราเรียนวิชานี้ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น แล้วก็อย่ากดดันตัวเองหรือเครียดมากเกินไปจะทำให้เราเครียดกับวิชานี้ แค่พยายามทำให้ดีที่สุดก็พอค่ะ”
?????
ภาพ ชนกเนตร
เรียบเรียง KK