คุยกับภวินท์ กอบสิริโชคดิล กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่ม ศ.ดร.วรเจตน์, ผศ.ดร.ฐากูร)
คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
ภวินท์ : “อาจารย์ผู้บรรยายมี 2 ท่าน คือ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ ผศ.ดร.ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนาครับ”
“คะแนนกลางภาคได้ 19 กับ 18 คะแนน ส่วนคะแนนสอบปลายภาคได้ 17 17 และ 20 คะแนน รวมทั้งหมดเป็น 91 คะแนนครับ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
ภวินท์ : “ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาของวิชานี้น่าสนุกมาก ๆ ครับ เพราะวิชากฎหมายส่วนใหญ่ก็จะมีแต่เนื้อหาที่เป็นกฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น แต่วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นนอกจากจะเรียนเนื้อหากฎหมายแล้ว ยังจะต้องเรียนเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองทั้งของไทยและของต่างประเทศ เพื่อที่จะทำความเข้าใจที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญได้ดียิ่งขึ้นไปอีกครับ”
“สำหรับความรู้สึกก่อนเรียนนั้นเต็มไปด้วยความสงสัยใคร่รู้ทั้งนั้นเลยครับ ต้องบอกเลยว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ผมซื้อมาอ่านตั้งแต่สมัยมัธยม เพราะในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยความสงสัยผมจึงซื้อรัฐธรรมนูญมาอ่านครับว่าข้างในมีเนื้อหาเป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนครับว่าผมอ่านไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจในการเข้ามาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ของผมด้วย และวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญก็เป็นหนึ่งในวิชาที่ผมตั้งตาคอยอยากจะเรียนที่สุดวิชาหนึ่งเลยครับ หลังจากได้เรียนแล้วทำให้รู้ว่าไม่ผิดหวังเลยที่อยากเรียนวิชานี้มาตลอด อาจารย์ทั้งสองท่านสอนสนุกและละเอียดมาก เป็นวิชา 8 โมงเช้าวิชาเดียวเลยครับที่เรียนแล้วไม่รู้สึกง่วง”
?????
คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
ภวินท์ : “โดยส่วนตัวผมไม่มีเทคนิคการเรียนอะไรเป็นพิเศษเลยครับ ที่ผมทำมีเพียงแค่การเข้าฟังบรรยายอย่างสม่ำเสมอ จดเลคเชอร์ตามที่อาจารย์สอน และอ่านหนังสือเพิ่มเติมอีกครับ และในบางครั้งการติวกับเพื่อนก็เป็นการทบทวนความรู้ที่ได้เรียนไปแล้วได้อย่างดีเลยทีเดียวครับ แต่ถ้าถามว่าผมเป็นคนที่นำติวให้เพื่อนหรือเปล่า ตอบเลยว่าไม่ครับ (หัวเราะ) ว่ากันตามตรงผมรู้สึกเสียใจแทนมิตรสหายท่านนั้นที่เป็นคนนำติวให้เพื่อน ๆ หลายสิบชีวิต เขาสมควรได้คะแนนมากกว่าผม”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
ภวินท์ : “แนะนำให้อ่านหนังสือของอาจารย์ฐากูรครับ อาจารย์ฐากูรบรรยายเหมือนหนังสือที่อาจารย์เขียนไว้เลยครับ ทำให้ถ้าจดตามในห้องเรียนไม่ทันก็สามารถมาอ่านหนังสือทบทวนได้ ส่วนของอาจารย์วรเจตน์นั้นแนะนำให้รอเอกสารสรุปการบรรยายที่อาจารย์จะแจกหลังจากบรรยายในส่วนของอาจารย์ท่านจบครับ เอกสารที่อาจารย์แจกมาให้นั้นมีเนื้อหาละเอียด สามารถใช้อ่านสอบได้เลยครับ และในบางครั้งอาจารย์วรเจตน์จะแนะนำหนังสือที่อ่านประกอบได้มาให้ในระหว่างเรียน สามารถไปยืมมาอ่านตามที่อาจารย์แนะนำได้เลยครับ”
?????
คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
ภวินท์ : “สำหรับวิชานี้นั้นไม่มีการสัมมนาครับ”
?????
คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
ภวินท์ : “อาจารย์ฐากูรใช้โปรแกรม Zoom ในการบรรยาย ส่วนอาจารย์วรเจตน์ใช้โปรแกรม Webex ในการบรรยายครับ ใช้เวลาบรรยายเหมือนในห้องเรียนปกติเลยครับ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
ภวินท์ : “ปกติแล้วผมเป็นนักศึกษาที่ต้องเดินทางไปกลับ บ้าน-มหาวิทยาลัย ตลอดเลยครับ ไม่ได้อยู่หอพักแถวมหาวิทยาลัย วิชาที่มีการเรียนตอนเช้า โดยเฉพาะคาบที่เริ่มตอน 8 โมงค่อนข้างเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับนักศึกษาที่เดินทางไปกลับครับ ทั้งต้องตื่นเช้ากว่าใครเพื่อน การจราจรติดขัด สภาพอากาศ สารพัดปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางมาเรียนที่มหาวิทยาลัย ทำให้หลายครั้งก็เข้าฟังบรรยายไม่ทัน หรือเข้าเรียนทันก็จะรู้สึกง่วงตลอดเวลาทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง แต่โชคดีที่วิชานี้เป็นวิชาที่ผมชอบอยู่แล้วเลยทำให้อยากติดตามการสอนตลอด ช่วยลดความง่วงลงไปได้มากเลยครับ ตอนครึ่งเทอมแรกที่เรียนในห้องจึงมีความสุขมาก ๆ ที่ได้เรียนวิชานี้ แต่หลังจากต้องเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ผมก็ดีใจนะครับที่ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปมหาวิทยาลัยเหมือนทุกวันแล้ว ตัวเองจะได้ตื่นเช้ามาเรียนอย่างสดชื่นแน่นอน แต่เปล่าเลยครับ สุดท้ายผมก็พบว่าจะเรียนที่บ้านหรือที่มหาวิทยาลัยผมก็ง่วงอยู่ดี แล้วการเรียนที่บ้านทำให้ไม่เจอเพื่อน ๆ ไม่ได้มีกิจวัตรที่ต้องขยับเขยื้อนร่างกาย แล้วต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนตลอดทั้งวัน ทำให้สำหรับผมนั้นการเรียนออนไลน์เหนื่อยเสียยิ่งกว่าการตื่นเช้าไปเรียนตอน 8 โมงอีกครับ ผมขอสารภาพไว้ ณ ที่นี้เลยครับว่ามีบางครั้งผมกดเข้าฟังบรรยาย วางแทบเลตไว้ที่หัวนอน แล้วหลับต่อครับ (หัวเราะ) ผู้อ่านไม่ควรทำตามอย่างยิ่งเลยครับ สุดท้ายแล้วผมก็ต้องอ่านหนังสือเพิ่มเติมในส่วนที่ผมขาดหายไปครับ”
“สำหรับปัญหาที่พบนั้นส่วนมากเป็นเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ตครับ ในบางครั้งอยู่ ๆ การบรรยายของอาจารย์ก็ขาดตอนไป ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตของผมหรือของอาจารย์กันแน่ ผมก็ต้องแก้ปัญหาโดยการสอบถามเพื่อนว่าในช่วงนั้นอาจารย์บรรยายว่าอย่างไร หรือถ้าเพื่อนไม่ทราบเหมือนกันก็จะอ่านหนังสือเพิ่มเอาเองครับ”
?????
คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
ภวินท์ : “เพราะการสอบออนไลน์สามารถเปิดเอกสารดูได้จึงต้องใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ครับ ผมจะอ่านเนื้อหาทุกอย่างให้จบอย่างเข้าใจก่อนแล้วจะทำสรุปเป็นหัวข้อย่อยใส่กระดาษไว้ เมื่อโจทย์ถามอะไรมาก็จะเช็คกับสรุปย่อยอันนั้นว่าเกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องอะไร จะช่วยให้สามารถคิดโครงคำตอบได้ดียิ่งขึ้นครับ นอกจากนี้ยังมีการนำข้อสอบเก่ามาอ่านดูพร้อมกับคิดโครงคำตอบไปในหัวครับ และการติวกับเพื่อนหรือถกเถียงกับเพื่อนก็ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาก่อนสอบได้ดีเลยครับ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
ภวินท์ : “อยากจะฝากถึงน้อง ๆ ว่านอกจากการเรียนแล้วการพักผ่อนก็สำคัญไม่แพ้กัน อย่าลืมว่าถ้าร่างกายเราไม่พร้อม ไม่ว่าจะอ่านหนังสือมาหนักแค่ไหนก็ทำข้อสอบไม่ได้นะครับ รักษาสุขภาพให้มาก ๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีโรคระบาด และการสอบออนไลน์เราจะได้เปรียบมากถ้าสามารถพิมพ์สัมผัสได้ เวลาว่างก็ลองหัดพิมพ์ให้ถูกต้องดูนะครับเพราะจะช่วยทั้งเรื่องความเร็วในการพิมพ์และการสะกดที่ถูกต้องได้ ทำให้ตอนพิมพ์ตอบข้อสอบพี่สามารถพิมพ์ตอบได้อย่างรวดเร็วมาก ไม่ว่าข้อสอบจะมีประเด็นเยอะแค่ไหนก็ทำให้เสร็จภายในเวลาได้และสะดวกกว่าการเขียนอย่างมากจริง ๆ ส่วนใครที่ไม่มีอุปกรณ์สำหรับพิมพ์ก็พยายามฝึกเขียนตอบและเตรียมกระดาษคำตอบไว้ให้เรียบร้อยก่อนสอบจะได้ไม่เสียเวลา สุดท้ายนี้อยากให้ทุกคนตั้งใจให้เต็มที่ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรจะได้ไม่เสียใจทีหลัง ที่สำคัญอย่ากดดันตัวเองจนเกินไป ขอให้ทุกคนสู้ ๆ ครับ”
?????
ภาพ ภวินท์
เรียบเรียง KK