คุยกับจิรภัทร ชนะสิทธิ์ กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่ม ศ.ดร.วรเจตน์, ผศ.ดร.ฐากูร)
1️⃣ คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย / คะแนนสอบ และเนื้อหาวิชา
(1.1) อาจารย์ผู้บรรยายคืออาจารย์ท่านใดบ้าง และคะแนนที่สอบได้
จิรภัทร : “ท่านอาจารย์ผู้บรรยายมีสองท่านครับ คือ ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา ที่จริงแล้วตามตารางบรรยายในกลุ่มนี้มีรองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ วรัญญูเป็นผู้บรรยายด้วย แต่ปีที่ผมเรียนท่านติดภารกิจจึงไม่ได้มาบรรยายครับ”
“คะแนนที่สอบได้ แบ่งเป็นคะแนนสอบกลางภาค 39 คะแนน และคะแนนสอบปลายภาค 52 คะแนน รวมเป็น 91 คะแนนครับ”
(1.2) ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
จิรภัทร : “ผมคิดว่าวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่ค่อนข้างผูกโยงกับการเมืองการปกครองมาก ประกอบกับอาจารย์ผู้บรรยายในกลุ่มนี้ทั้งสองท่าน บรรยายเนื้อหาโดยยกตัวอย่างเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นจริงมาอธิบายประกอบกับหลักการและทฤษฎี ทำให้ผมเห็นภาพ เข้าใจง่าย และรู้สึกไม่น่าเบื่อกับเนื้อหา โดยเฉพาะส่วนของอาจารย์วรเจตน์ที่ท่านได้บรรยายหัวข้อที่เป็นที่สนใจในสังคม เช่น เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้นครับ”
“ความเข้าใจในตอนแรกของผม คิดว่าวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญน่าจะแค่เรียนบทบัญญัติแต่ละมาตราในรัฐธรรมนูญ เลยคิดไปเองว่าน่าจะค่อนข้างน่าเบื่อครับ แต่พอมาเรียนจริง ๆ แล้ว การเรียนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเป็นเพียงส่วนน้อยมาก เนื้อส่วนใหญ่จะเป็นหลักการและทฤษฎีมากกว่า ซึ่งหลังเรียนผมรู้สึกได้อะไรจากวิชานี้เยอะมาก โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นหลักคิดในการติดตามข่าวสารบ้านเมืองครับ”
?????
2️⃣ คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
2.1 ใช้เทคนิคอย่างไรในการเรียนและการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
จิรภัทร : “สำหรับผมเทคนิคในการเรียน คือ การเข้าฟังบรรยายทุกครั้ง ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ขาดและไม่เข้าฟังบรรยายสายครับ ระหว่างเรียนก็จะพยายามจดเลคเชอร์เนื้อหาที่อาจารย์บรรยายให้ทัน ถ้าสงสัยก็จะรีบโน้ตไว้แล้วไปถามอาจารย์ในคาบทันทีครับ เพราะผมกลัวว่าถ้าทิ้งไว้นาน อาจจะลืมข้อสงสัยนั้นไป ซึ่งพอเวลากลับมาทบทวนก่อนสอบก็อาจเป็นปัญหาว่าเราจะเข้าใจเนื้อหาผิดไปได้ครับ”
“และเนื่องจากวิชานี้อาจารย์ผู้บรรยายทั้งสองท่านไม่ได้แจกเอกสารประกอบการสอน และไม่มีสไลด์เวลาบรรยายด้วย เวลาเรียนผมจึงเน้นจดเลคเชอร์ให้ละเอียดครับ แต่ก่อนสอบในส่วนของอาจารย์วรเจตน์ ท่านจะแจกเอกสารสรุปการบรรยายทั้งหมดในส่วนของท่านไว้ ผมก็จะใช้เอกสารนี้สำหรับทบทวนและสรุปความเข้าใจก่อนสอบครับ”
“ในส่วนของการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชานี้ ส่วนตัวผมคิดว่าการมองเนื้อหาให้เป็นรูปภาพจะทำให้เข้าใจวิชานี้ได้ง่ายขึ้นนะครับ เพราะในเนื้อหาหลายส่วนเป็นเรื่องที่ถูกจัดระบบไว้เป็นโครงสร้าง เช่น เรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตย หรือการแบ่งแยกอำนาจ ฯลฯ ถ้าเราวาดรูปแล้วมองให้เชื่อมโยงกันจะทำให้เข้าใจง่ายกว่าการจำแบบคำอธิบายยาว ๆ ครับ”
2.2 หนังสือแนะนำสำหรับการศึกษากลุ่มนี้
จิรภัทร : “หนังสือที่ผมคิดว่าเหมาะสำหรับวิชากฎหมายรัฐธรรมกลุ่มนี้ คือ หนังสือ “คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน” ของศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ครับ เพราะว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นการปูพื้นฐานกฎหมายมหาชนไว้ค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะหลักการพื้นฐานทางกฎหมายมหาชนที่เรียนในวิชารัฐธรรมนูญนี้ ก็มีคำอธิบายไว้ครบถ้วนในหนังสือเล่มนี้ครับ ส่วนอีกเล่มหนึ่ง ผมขอแนะนำหนังสือ “หลักพื้นฐานแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา ครับ เนื่องจากในส่วนที่อาจารย์ฐากูรบรรยาย เนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ครับ”
?????
3️⃣ คำถาม (3) : การสัมมนา
3.1 วิชานี้มีการสัมมนาโดยอาจารย์ท่านใด และคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
3.2 ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งไหม และคิดว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
จิรภัทร : “ในปีที่ผมเรียนวิชารัฐธรรมนูญกลุ่มนี้ไม่มีการสัมมนาครับ”
?????
4️⃣ คำถาม (4) : การเรียนออนไลน์
4.1 อาจารย์ใช้รูปแบบใดในการสอนออนไลน์
จิรภัทร : “ในส่วนของศาสตรจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ บรรยายผ่านระบบ Webex ครับ ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา บรรยายผ่านระบบ Zoom ครับ”
4.2 การเรียนในช่วงเรียนในห้องและเรียนออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และเรียนออนไลน์เจอปัญหาอะไรบ้าง แก้ปัญหาอย่างไร
จิรภัทร : “สำหรับผมคิดว่าการเรียนในห้องมีความต่อเนื่องและสนุกกว่าครับ เพราะการได้เห็นท่าทางเวลาอาจารย์บรรยาย รวมถึงการตั้งคำถามในห้องเรียน ทำให้ผมเข้าใจเนื้อหาได้ดีกว่า แต่พอมาเป็นการเรียนออนไลน์ บางครั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตของอาจารย์หลุดไปบ้าง หรือของผมเองหลุดไปบ้างก็ทำให้บางครั้งรู้สึกเรียนไม่ต่อเนื่อง แต่ผมคิดว่าก็ไม่ได้เป็นปัญหาถึงขนาดไปกระทบต่อการทำความเข้าใจเนื้อหานะครับ โดยรวมมองว่าการเรียนในห้องดีกว่าและสนุกกว่า แต่การเรียนออนไลน์ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเรียนครับ”
“ปัญหาที่เจอหนักมากในตอนนั้นคือเรื่องเสียงรบกวนเวลาเรียนครับ เนื่องจากตอนนั้นผมกลับมาเรียนออนไลน์ที่บ้าน แล้วข้างบ้านมีการก่อสร้างเสียงดัง ซึ่งผมก็แก้ปัญหาโดยการกลับไปเรียนที่หอระยะหนึ่งครับ ส่วนอีกปัญหาหนึ่งเป็นเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร ทั้งของผมบ้าง หรือของอาจารย์ บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถแก้ไขได้ในเวลาสั้น ๆ จึงไม่ได้รู้สึกว่าเป็นปัญหาร้ายแรงครับ”
?????
5️⃣ คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้อง
5.1 ใช้เทคนิคอย่างไรบ้างในการเตรียมตัวสอบวิชานี้
จิรภัทร : “การเตรียมตัวสอบของผม เป็นไปตามที่ได้กล่าวมาแล้วครับว่าในส่วนเนื้อหาของอาจารย์วรเจตน์ ท่านจะมีเอกสารสรุปการบรรยายแจกให้ ผมก็ใช้เอกสารฉบับนี้สำหรับทบทวนเนื้อหาก่อนสอบครับ และพอเป็นการเรียนออนไลน์ อาจารย์จะออกข้อสอบเชิงวิเคราะห์หรือให้แสดงความคิดเห็นเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ผมจะทบทวนเนื้อหาโดยแบ่งเป็นสองส่วนครับ คือ ส่วนแรกผมจะใช้เวลากับการทำความเข้าใจเนื้อหา และส่วนที่สองผมจะกลับมาทบทวนเนื้อหาแล้วพิจารณาว่าส่วนไหนบ้างที่มีประเด็นให้วิเคราะห์หรือสามารถแสดงความเห็นได้ พอวิเคราะห์หรือมีความเห็นในเรื่องไหนก็จะจดบันทึกไว้ครับ”
“นอกจากนี้ เนื้อหาของวิชานี้ส่วนใหญ่มักมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง ก่อนสอบผมก็จะพยายามติดตามข่าวสารบ้านเมืองที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลาย ๆ เรื่องก็ปรากฏในข้อสอบครับ”
5.2 ฝากถึงน้อง ๆ ปีหนึ่งที่กำลังเรียนวิชานี้
จิรภัทร : “อย่างแรกอยากให้น้อง ๆ ตั้งใจเรียนวิชานี้ครับ เพราะการเรียนในกลุ่มนี้ นอกจากน้องจะได้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว อาจารย์ผู้บรรยายยังได้สอดแทรกประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลักการใช้การตีความกฎหมาย และโดยเฉพาะส่วนของอาจารย์วรเจตน์ เวลาท่านบรรยายท่านจะให้ข้อคิด คำสอน และสะท้อนมุมมองของท่านต่อเรื่องต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ จึงไม่อยากให้น้อง ๆ พลาดในส่วนนี้เลยครับ และอีกอย่างหนึ่งการเรียนวิชานี้จะทำให้น้องมีความรู้ความเข้าใจในการมองสถานการณ์บ้านเมืองอย่างมีหลักวิชา ซึ่งจะทำให้น้องสามารถวิพากษ์หรือแสดงทัศนะต่อเรื่องราวในบ้านเมืองได้อย่างแหลมคมมากขึ้น และสามารถนำไปอธิบายต่อบุคคลอื่นได้อย่างถูกต้องครับ”
“สุดท้ายนี้ พี่ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนที่เรียนวิชานี้นะครับ และขอให้ผลการเรียนออกมาเป็นที่น่าพอใจสำหรับน้องทุกคนครับ”
?????
ภาพ จิรภัทร
เรียบเรียง KK