คุยกับกรกฏ สุขอร่าม กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา แบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่ม รศ.ดร.ภูมินทร์, อ.จุมพล)
?????
1️⃣คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย และเนื้อหาวิชา
กรกฏ : “ในส่วนของอาจารย์ผู้บรรยาย คือ รศ.ดร.ภูมินทร์ และอ.จุมพล ตอนที่เรียนก็คิดว่าเนื้อหาของวิชานี้นั้นมีความน่าสนใจมากเลยครับ เพราะผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใกล้ตัวที่สามารถที่จะนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชากฎหมายในปีการศึกษาถัด ๆ ไปอีกด้วย”
“ความรู้สึกตอนก่อนเรียนนั้นก็มีความกลัวอยู่พอประมาณครับ ด้วยความที่ว่าเราเพิ่งจะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ด้วย จึงยังไม่ได้คุ้นชินกับการตอบข้อเขียนหรือระบบการเรียนแบบมหาวิทยาลัยเท่าไหร่ อีกทั้งผมเองนั้นยังเป็นคนที่มีปัญหาเรื่องจำตัวบทอีกด้วย ซึ่งตอนแรกก็ได้ยินมาว่าวิชานี้ด้วยความเป็นวิชาเทอมสองแล้ว ก็จะมีการที่ต้องเรียนเนื้อหาที่มากขึ้น อีกทั้งยังต้องท่องจำตัวบทที่เพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัวไปสอบอีกครับ”
“แต่พอหลังจากได้เรียนแล้วก็พบว่า ด้วยความที่เป็นเรื่องพื้นฐาน และเป็นกฎหมายที่สามารถทำความเข้าใจได้โดยไม่ยากมากนัก อีกทั้งหลาย ๆ เรื่องหรือหลายตัวบทที่ได้ระบุลงไปเป็นมาตรา ๆ ยังเป็นสิ่งที่สามารถใช้ความคิดความรู้สึกของคนธรรมดา เพื่อทำความเข้าใจได้โดยไม่ได้ลำบากมากนัก จึงส่งผลให้ไม่ต้องจำตัวบทเยอะอย่างที่คิดเอาไว้ในตอนแรก อีกทั้งตัวบทที่ศึกษานั้นส่วนมากก็เป็นมาตราที่สั้น ๆ จำได้ง่ายครับ อีกทั้งยังเป็นวิชาแรก ๆ ที่เริ่มมีความคิดเห็นของนักวิชาการถึงตัวบทกฎหมาย ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สนุกดีครับ”
?????
2️⃣คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
กรกฏ : “ด้วยความที่อาจารย์บางท่านก็ไม่ได้สอนตามหนังสือ หรืออาจารย์บางท่านก็เอาหนังสือหลาย ๆ เล่มมารวมกันแล้วสอนก็มี สำหรับผมเลยเน้นเข้าฟังบรรยายและยึดเอาเอกสารที่อาจารย์ประจำวิชานั้นแจกเสียมากกว่า เพราะเป็นจะทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์พูด เพราะบางทีเราอ่านหนังสือของอาจารย์ท่านอื่นมาก่อน ก็เหมือนพูดคนละภาษา ด้วยความที่ว่าผู้ที่เขียนตำราหลายท่านอาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป ทำให้เราอาจต้องมาคุยกันเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ดี ถ้าเรามีเวลาว่างมากพอเพราะสามารถทิ้งปมปัญหาไว้ให้ขบคิด ฝึกสมอง ประลองปัญญา สนุก ๆ แต่ในความเป็นจริงผมก็ไม่ได้มีเวลาว่างนัก เพราะคณะนิติศาสตร์ของเรานั้นมีเนื้อหามากมายที่รอให้เราเรียนรู้”
“ทั้งนี้เวลาเข้าฟังบรรยายนั้นก็มักจะอัดเสียงของอาจารย์ผู้สอนเอาไว้ เพื่อเก็บเอาไปฟังทีหลังถ้าฟังในห้องบรรยายแล้วไม่เข้าใจ เพราะถ้าเราเลิกเรียนก็จะได้กลับมาฟังในส่วนที่เราตกหล่นไป เพื่อความครบถ้วนของเนื้อหาที่อาจารย์สอนครับ เพราะบางที่เราคิดว่าเราฟังครบถ้วนไม่ตกหล่น แต่พอกลับมาฟังเราก็อาจจะเจอว่า อ้าว ทำไมตอนอยู่ในห้องไม่ได้ยิน แต่การที่จะมาฟังเทปเสียงที่อัดไว้ ก็ควรที่จะฟังวันนั้นให้จบไปเลย เพราะถ้าทิ้งไว้นาน ๆ บางทีก็ลืม แล้วก็หายไปเลย”
“ในส่วนของการอ่านหนังสือนั้นถึงแม้ตัวผมจะชอบในการอ่านหนังสือกว่าการฟังบรรยายก็ตาม ผมจะอ่านค่อนข้างน้อยมาก เพราะผมจะยึดเอาตามที่อาจารย์สอนในห้องเป็นหลัก แต่การอ่านหนังสือก็เป็นอะไรที่ง่ายกว่าในการหาตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจ แล้วก็เร็วกว่าในการหาคำตอบในเรื่องที่เราไม่เข้าใจด้วย เพราะบางทีเราอัดเทปมา คือตอนอัดเราก็หลับ เราก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องฟังตรงไหน จะกดข้ามก็ไม่ได้ ก็อาจจะต้องนั่งฟังใหม่หมดเลย ก็จะทำให้เราเสียเวลาที่จะต้องไปอ่านหรือศึกษาวิชาอื่น ๆ ด้วยครับ
“สำหรับตัวผมเอง ผมอ่านหนังสือของ ศาสตราจารย์ ดร.ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธ์ คำอธิบาย นิติกรรมสัญญา เล่มเดียวเลยครับ หนามาก”
?????
3️⃣คำถาม (3) : การสัมมนา
กรกฏ : “วิชานี้ก็จะมีการสัมมนาด้วยครับ โดยมี อ.จุมพล เป็นผู้สัมมนา สำหรับผมผมคิดว่าการสัมมนานั้นมีส่วนช่วยในการเรียนเป็นอย่างมากครับ ด้วยความที่บางทีอาจารย์สัมมนาและอาจารย์บรรยายอาจเป็นคนละคนกัน ก็อาจเปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับประเด็นนั้น ๆ ได้ เป็นประโยชน์ในการเรียนมากครับ เพราะบางทีการทดสอบก็อาจจะมีประเด็นแปลก ๆ ที่เราอาจคิดไม่ถึงก็ได้ ทั้งนี้ การสัมมนายังเป็นการทบทวนเนื้อหาที่เรียน ชี้แจงประเด็นปัญหาที่นักศึกษาสงสัย รวมไปถึงการทำโจทย์เพื่อฝึกการเขียนด้วยครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เวลาเจอข้อสอบจริง ๆ จะไม่ตกใจมากครับ
“สำหรับตัวผมเองนั้น ไม่ได้เขียนการบ้านสัมมนาส่งเลยครับ ถึงแม้จะกลัวว่าเราจะเขียนไม่ดีและจะทำให้คะแนนออกมาน้อยหรือเปล่า เพราะสำหรับตัวผมเอง การทำโจทย์หนึ่งข้อ ทำให้ผมปวดหัวไปตัวร้อนไข้ขึ้นเป็นสัปดาห์เลยทีเดียว เลยคิดว่าเก็บไว้เขียนตอนสอบเลยดีกว่า ทรมาน แต่ทั้งนี้ผมก็ค้นหาโจทย์เก่า ๆ เพื่อมาดูว่าแต่ละข้อมีประเด็นปัญหาอะไรที่จะต้องตอบ หรือต้องใช้ตัวบทกฎหมายใดเพื่อตอบคำถามข้อเท็จจริงดังว่านั้น
“แต่สำหรับผม ผมก็คิดว่าการเขียนการบ้านสัมมนาส่งก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ถ้าเกิดว่าใครอยากเพิ่มความมั่นใจ ทำให้เขียนตอบโจทย์ปัญหาข้อเท็จจริงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หรืออยากจะทดสอบดูว่าตัวเองนั้นมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด หรือมีความรู้มากน้อยเพียงใดในวิชานี้ หรือมีความพร้อมหรือไม่ที่สอบ อีกทั้งการฝึกทำโจทย์ยังช่วยฝึกให้เราหาประเด็นได้เร็วขึ้นอีกด้วย”
?????
4️⃣คำถาม (4) : รูปแบบการสอนออนไลน์ และปัญหาที่เจอในการเรียนออนไลน์
กรกฏ : “อาจารย์จะใช้ Youtube Live หรือ WebEx VDO Call เป็นหลักครับ”
“สำหรับผมเองผมคิดว่าในทางด้านเนื้อหานั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันเลยครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่า การเรียนในห้องและการเรียนออนไลน์มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไปจริง ๆ ซึ่งสำหรับการเรียนในห้องนั้นผมคิดว่า การเรียนในห้องเรียนนั้นทำให้เราเรียนแบบมีสมาธิในการเรียนมากกว่า ด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพราะเราก็เห็นคนอื่น ๆ เรียนกันหมด ได้เห็นหน้าอาจารย์ เพื่อน ๆ อีกทั้งถ้าเราฟังตรงไหนไม่ทันเราก็อาจจะถามเพื่อนได้ตรงนั้นเลยว่า เมื่อกี๊อาจารย์พูดว่าอะไร แล้วก็เราจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่นน้อยมาก ๆ ครับ”
“ซึ่งพอมาเรียนออนไลน์ความดีตรงนั้นก็หายไปหมดเลย หยิบโทรศัพท์มาเล่นทั้งคาบ ด้วยความที่มือใกล้คอมพิวเตอร์ ใกล้โทรศัพท์ แล้วก็เผลอไม่ฟังอาจารย์ ก็อาจจะหลุดไปเลยทั้งคาบ อีกทั้งอาจเป็นเพราะอาจารย์ไม่เห็นหน้านักศึกษาด้วย เพราะถ้าเรียนในห้องอาจารย์พูดอะไรแล้วงง ผมก็คิดว่าเหล่านักศึกษาทั้งหลายคงเก็บสีหน้าไม่มิด อาจารย์ก็อาจจะอธิบายใหม่หรือพูดให้ช้าลง แต่ในคลาสออนไลน์ อาจารย์ไม่ได้เห็นว่านักศึกษานั้นเข้าใจหรือไม่ บางวิชาเลยอาจจะให้มีการเปิดกล้องหรือตอบคำถามที่ถี่กว่าปกติ อีกทั้งการเรียนออนไลน์นั้นคือการเรียนที่บ้าน บางทีเราก็นั่งเรียนบนเตียงอะไรแบบนั้น ตื่นอีกทีอย่าว่าแต่จบคลาสเลยครับ ข้ามวันไปแล้วก็มี เศร้า ซึ่งก็อาจจะต้องปรับตัวโดยการเอาโทรศัพท์ไปไว้อีกห้อง หรือย้ายที่นั่งเรียนให้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น แล้วก็พยายามไม่วอกแวก แต่ถ้าเรียนสดไม่ไหว ผมก็แนะนำว่าให้รอดูเทปย้อนหลังของแต่ละวิชา ซึ่งผมคิดว่านี่คือข้อดีของการเรียนออนไลน์จริง ๆ เพราะหลายครั้งผมก็ทำเช่นนี้ คือ เมื่อผมดูเทปเรียนย้อนหลัง ทุก ๆ 40 นาทีก็จะหยุดไปเดินเล่น ฯลฯ เพื่อจะได้มีสมาธิจริง ๆ ไม่หลุด ไม่ตกหล่น แต่ปัจจุบันผมก็คิดว่านักศึกษาหลาย ๆ คนก็สามารถที่จะปรับตัวกับการเรียนออนไลน์ได้แล้วล่ะครับ”
?????
5️⃣คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้องที่กำลังศึกษาวิชานี้
กรกฏ : “ก็ดูเอกสารของวิชานั้น ๆ ให้เข้าใจ แล้วก็หาข้อสอบเก่า ๆ มาดูโจทย์ บางทีอาจไม่ต้องเขียนก็ได้ เพราะผมก็ไม่เขียนเหมือนกัน แต่ก็ดูว่า แต่ละข้อมีประเด็นปัญหาอะไร มีกี่ประเด็นปัญหา ใช้มาตราอะไร ซึ่งการนำโจทย์เก่า ๆ มาทำก็จะช่วยได้มากจริง ๆ ครับ เพราะถ้าเราทำไมได้ ก็คือต้องไปอ่านใหม่ในส่วนของวิชานั้น ๆ หรือถ้าทำได้แล้ว ก็ต้องอ่านอยู่ดีครับ ใช้ชีวิตอย่าประมาท เวลาอ่านหนังสือให้คิดตลอดว่าตกแน่ ๆ ถ้าคิดว่าอ่านจนพอแล้วก็คือ ไม่พอครับ อ่านอีก แต่ก็อย่าหักโหมมากครับ ในส่วนของสุขภาพก็ต้องดูแลตัวเองด้วย สอบตกยังสอบใหม่ได้ แต่ชีวิตมีแค่ครั้งเดียวนะครับ”
“ก็อยากให้น้อง ๆ สู้ ๆ นะครับ ผมเชื่อว่า ไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจของคนเราอยู่แล้วครับ เผลอ ๆ ตั้งใจ ยากกว่าเรียนนิติกรรม (หัวเราะ) ผมเชื่อว่าทุก ๆ คนจะต้องทำได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญคืออยากให้น้อง ๆ หลาย ๆ คนรู้จักที่จะผ่อนหนักผ่อนเบา จะได้ไม่เครียดนะครับ เช่น ตอนอ่าน เราก็หวังเอาเต็มไปเลยครับ แต่พอออกจากห้องสอบเราก็หวังผ่านก็พอ แค่นี้เราก็สบายใจไปเลยครับ ไม่ต้องเครียด ถือว่าเราทำเต็มที่แล้ว อยากให้น้องสนุกไปกับวิชา และสนุกกับการใช้ชีวิตมหาลัยมากกว่า เป็นกำลังใจให้ทุก ๆ คน นะครับ”
?????
ภาพ กรกฏ
เรียบเรียง KK