คุยธันยบูรณ์ ทองวิชิต กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายอาญา : ภาคความผิด แบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19
?????
1️⃣คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย และเนื้อหาวิชา
ธันยบูรณ์ : “อาจารย์ผู้บรรยายในวิชากฎหมายอาญาภาคความผิดของศูนย์ลำปางในปีการศึกษา 2563 ประกอบไปด้วย 2 ท่าน คือ ผศ.ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ และ อ.ยศสุดา หร่ายเจริญ ครับ”
“เนื้อหาของวิชานี้สนุกมากครับ อาจจะเป็นเพราะว่ากฎหมายอาญาภาคความผิดเราสามารถเห็นกันได้โดยทั่วไป และเราสามารถจิตนาการได้ เช่น การลักทรัพย์ เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้เป็นพื้นฐานว่าการกระทำใดเป็นการลักทรัพย์ แต่การเรียนกฎหมายอาญาภาคความผิดนี้ เราจะต้องเจาะลึกลงไปว่าอย่างไร ถึงจะเรียกว่าเป็นการลักทรัพย์ เช่น จะต้องมีเจตนาทุจริตซึ่งเป็นเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุชักจูงใจ เป็นต้น ซึ่งในช่วงเวลาที่เรียนวิชานี้ผมมีความสนุกมาก เนื่องจากหากผมเห็นสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันหรือข่าวต่าง ๆ ผมมักที่จะนำบทบัญญัติของกฎหมายที่เรียนมานำมาปรับใช้กับของเท็จจริงที่ผมเจอเล่น ๆ เพื่อฝึกการใช้กฎหมายไปในตัว และยังช่วยเสริมสร้างทักษะทางด้านกฎหมายของเราอีกด้วย”
“ในช่วงแรงมีความกังวลเล็กน้อย เนื่องจาก กฎหมายอาญาภาคความผิดนี้มีจำนวนตัวบทที่มากและแต่ละมาตราก็ประกอบไปด้วยหลากหลายองค์ประกอบเช่นกัน ก็กลัวที่จะจำไม่หมด แต่หลังจากเรียนแล้วได้ทราบว่าแต่ละตัวบทมาตรามีหลักการจำองค์ประกอบที่ง่าย และเนื่องด้วยอาจารย์สามารถยกตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจนทำให้เรามีความเข้าใจ และสามารถนำตัวบทกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง”
?????
2️⃣คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
ธันยบูรณ์ : “วิธีการเรียนของผม ผมจะพยายามเข้าฟังการบรรยายทุกครั้ง หากครั้งไหนที่ผมติดธุระสำคัญหรือป่วย ผมก็จะกลับมาดูการบรรยายย้อนหลังเพื่อทำความเข้าใจและอ่านหนังสือเพิ่มเติมครับ ซึ่งเมื่ออ่านหนังสือประกอบการเรียนเสร็จแล้วในแต่ละครั้งผมจะสรุปเป็นภาษาของตนเองและแยกองค์ประกอบของแต่ละมาตราเพื่อให้ง่ายในการจำและนำไปใช้ในการสอบไว้ในสมุดอีกเล่มหนึ่งที่ผมเอาไว้สรุปวิชานี้โดยเฉพาะครับ”
“หนังสือที่อยากแนะนำเป็นหนังสือของท่าน ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ชื่อ คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิดและลหุโทษ เป็นหนังสือที่ส่วนตัวผมอ่านบ่อยที่สุดในเวลาที่เรียนวิชากฎหมายอาญา เพราะรู้สึกว่าสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ง่าย พร้อมทั้งใช้ควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญาฉบับอ้างอิง ของท่าน ศ.ดร ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เช่นเดียวกันครับ เพื่อหาความหมายของคำต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการเขียนตอบข้อสอบ และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมในประเด็นไหนผมจะศึกษาจากหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่ยืมจากห้องสมุดเป็นครั้งคราว เช่น กฎหมายอาญาภาค 2 ตอน 2 และภาค 3 ของท่านอ.จิตติ ติงศภัทิย์ หมิ่นประมาทและดูหมิ่น ของทนงศักดิ์ ดุลยกาญจน์ เป็นต้น”
?????
3️⃣คำถาม (3) : การสัมมนา
ธันยบูรณ์ : “วิชานี้มีอาจารย์ 2 ท่านร่วมกันสัมมนา ประกอบไปด้วย ผศ.ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ และ อ.ยศสุดา หร่ายเจริญ ครับ ส่วนตัวผมคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากเลยทีเดียวครับ เพราะการสัมมนาจะเป็นเหมือนการสรุปเนื้อหาในภาพรวมและประเด็นสำคัญต่าง ๆ ซึ่งอาจารย์จะสรุปเนื้อหารวมถึงมาตราที่สำคัญมาให้ทำให้เราสามารถอ่านเอกสารการสัมมนาประกอบกับเอกสารที่ใช้เรียนในการบรรยายทั่วไปได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การสัมมนาแต่ละครั้ง อาจารย์จะมีการนำโจทย์ซึ่งข้อสอบเก่าในปีต่าง ๆ มาให้นักศึกษาฝึกและลองทำซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะในการทำข้อสอบและสามารถใช้วัดความเข้าใจของเราได้ ซึ่งส่วนตัวผมอาจไม่ได้เข้าฟังการบรรยายแบบปกติทุกครั้งอาจจะขาด 1 หรือ 2 ครั้ง แล้วผมค่อยตามดูการบรรยายย้อนหลังแทน แต่ผมจะเข้าฟังการสัมมนาเพราะจะทำให้เราเข้าใจเนื้อหาในภาพรวมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมากครับ”
“สำหรับผมการเขียนการบ้านส่งอาจจะไม่ได้จำเป็นมากครับ แต่การฝึกเขียน ฝึกทำข้อสอบบ่อย ๆ สิ่งนี้จำเป็นมากครับเพราะตอนที่ผมเรียนวิชานี้ผมไม่ได้ส่งการบ้านเลย แต่ผมฝึกทำข้อสอบย้อนหลังหลายข้อมากและเมื่อเขียนเสร็จผมจะนำมาอ่านเพื่อตรวจสอบด้วยตนเองว่าสิ่งที่เราเขียนจำเป็นจะต้องปรับปรุงส่วนใดเพิ่มเติม และให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่สนิทช่วยแนะนำครับ เพราะว่าในช่วงปีหนึ่งเราจะยังไม่เคยเจอข้อสอบที่เป็นการเขียนตอบแบบ 100 % มาก่อน ดังนั้นเราจึงต้องฝึกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ”
?????
4️⃣คำถาม (4) : รูปแบบการสอนออนไลน์ และปัญหาที่เจอในการเรียนออนไลน์
ธันยบูรณ์ : “ในการเรียนแบบออนไลน์อาจารย์ใช้การสอนผ่าน Facebook Live ในกลุ่มปิด และส่งเอกสารประกอบการเรียนผ่านทางช่องทางเดียวกันครับ”
“การเรียนในห้องและการเรียนแบบออนไลน์แตกต่างกันมากครับ ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในการเรียน, ความรับผิดชอบในการเรียนก็จำเป็นที่จะต้องมีมากขึ้น การแสวงหาความรู้ที่จะต้องขยันมากขึ้น การฝึกทำข้อสอบก็จำเป็นจะต้องฝึกทำเยอะขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมกับข้อสอบในรูปแบบออนไลน์ครับ สำหรับปัญหาที่ผมพบเจอมีดังนี้ครับ”
“ปัญหาลำดับแรก คือ เรื่องเอกสารประกอบการเรียน หากเป็นการเรียนในห้องธรรมดาในปีการศึกษา 2563 ยังมีการแจกเอกสารประกอบการเรียนอยู่ ดังนั้นการเรียนในห้องจึงมีเอกสารประกอบการเรียนที่ปรินท์เป็นกระดาษแจกนักศึกษาและนักศึกษาแต่ละคนสามารถที่จะจดข้อความเพิ่มเติมที่เป็นประเด็นต่าง ๆ หรือตัวอย่างเพิ่มเติมที่ท่านอาจารย์แนะนำลงไปในกระดาษได้ แต่ในการเรียนออนไลน์ส่วนตัวผมไม่มีไอแพดหรือแท็บเล็ต ดังนั้นเอกสารประกอบการเรียนที่อาจารย์ให้มาแต่ครั้งผมจะต้องปรินท์ออกมาก่อนที่จะเริ่มเรียนหรือถ้าการบรรยายครั้งไหนที่ผมปรินท์ไม่ทัน ผมก็จะต้องจดเนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญลงสมุดไว้ก่อนแล้วเมื่อจบการบรรยายจึงจะไปปรินท์เอกสารมาทบทวนในภายหลัง”
“ปัญหาลำดับที่สอง คือ การติดต่อสื่อสารกับท่านอาจารย์ หรือเพื่อน ๆครับ แม้ในปัจจุบันจะมีโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เราสามารถจะติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะที่เรียนนั้นท่านอาจารย์ได้สอนผ่านทางFacebook live ซึ่งทำให้นักศึกษาที่มีประเด็นข้อสงสัยจะต้องพิมพ์ถามในช่องแสดงความคิดเห็นและไม่สามารถเปิดไมโครโฟนได้ แม้การสอนผ่านFacebook live จะมีความเสถียรมากแต่ในการถามคำถามของนักศึกษากับคำตอบของท่านอาจารย์ที่ตอบมาก็อาจจะคลาดเคลื่อนกันได้ ดังนั้นในบางครั้งเมื่อจบการบรรยายผมก็จะส่งอีเมล์ส่วนตัวไปถามอาจารย์ในกรณีที่สงสัยเป็นบางครั้งครับ”
“ปัญหาลำดับสุดท้ายและเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในการเรียนครับ เนื่องจากเวลาที่เราเรียนแบบปกติในห้อง เราจะเห็นอากัปกิริยาท่าทางของอาจารย์และมีเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ ชวนพากันเรียน และห้องเรียนส่วนใหญ่ก็จะไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอกทำให้เราสามารถฟังท่านอาจารย์บรรยายได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อเป็นการเรียนแบบออนไลน์ เราไม่สามารถที่จะเห็นท่าทางประกอบการสอนของอาจารย์ได้ดีเท่ากับการเรียนในห้องแบบปกติและหากผมมีข้อสงสัยหรือฟังอาจารย์ไม่ทัน ขั้นแรกผมจะถามเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ กันก่อน แต่เมื่อเป็นการเรียนแบบออนไลน์ หากผมฟังอาจารย์พูดไม่ทัน ผมไม่สามารถที่จะหันไปถามเพื่อนได้ในทันที นอกจากนี้ยังมีเสียงรบกวนจากภายนอกอีกด้วย ซึ่งทำให้ผมไม่มีสมาธิในการเรียนอย่างมาก ในบางครั้งก็จำเป็นที่จะต้องมานั่งดูการบรรยายย้อนหลังในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่นอนกันหมดแล้วครับ”
?????
5️⃣คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้องที่กำลังศึกษาวิชานี้
ธันยบูรณ์ : “ส่วนตัวผม ใช้วิธีการทยอยอ่านหนังสือให้ทันตามที่อาจารย์สอนและฝึกทำข้อสอบเก่าช่วงก่อนวันที่จะสอบครับ โดยปกติแล้วเมื่อผมฟังการบรรยายเสร็จในแต่ละครั้งผมจะทบทวนทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่เรียนโดยที่จะยังไม่ใช้เอกสารอื่น ๆ เสียก่อน หลังจากนั้นจึงจะอ่านหนังสือและเอกสารประกอบการเรียนอีกครั้งเพื่อจดประเด็นและเนื้อหาที่สำคัญลงไว้ในสมุดที่ผมสรุปเป็นภาษาของตนเองเพื่อนำมาใช้ในการอ่านในช่วงใกล้จะถึงวันสอบครับ และในช่วงเวลาที่ใกล้จะสอบผมจะนำข้อสอบเก่าทั้งที่เคยฝึกเขียนและที่ยังไม่เคยฝึกเขียนมานั่งวิเคราะห์หาประเด็นและตอบคำถามตามประเด็นที่ตั้งเอาไว้ วิธีนี้จะทำให้เราสามารถดูข้อสอบเก่าในปริมาณที่มากได้โดยใช้เวลาไม่นาน และจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์โจทย์ที่เจอในห้องสอบได้เร็วขึ้นส่งผลให้เรามีเวลาในการเขียนมากขึ้นด้วยครับ และก่อนถึงวันสอบ 1-2 วัน ผมจะนัดกับเพื่อน ๆ กลุ่มเล็ก ๆ เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจหรือเนื้อหาที่ผมหรือเพื่อนบางคนยังไม่เข้าใจก็จะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน คล้าย ๆ เป็นการสัมมนาขนาดเล็กครับ”
“สำหรับวิชานี้ ผมคิดว่าเป็นวิชากฎหมายที่ยากมากตัวหนึ่ง เพราะเราจะต้องจำทั้งองค์ประกอบของมาตราและความหมายของคำต่าง ๆ อีกทั้งรายละเอียดของมาตราก็มีความซับซ้อน แต่หากน้อง ๆ พยายามอย่างเต็มที่ ฝึกทำข้อสอบเก่าบ่อย ๆ ทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่ท่านอาจารย์สอน ผมเชื่อว่าการได้คะแนนที่เป็นที่น่าพอใจเป็นไปได้ไม่ยาก และถ้าน้อง ๆ บางคนไม่กล้าส่งการเขียนตอบให้ท่านอาจารย์ตรวจ ก็อยากจะแนะนำให้น้อง ๆ ลองให้เพื่อน ๆ หรือพี่ ๆ ช่วยดูการเขียนตอบให้ก็ได้ครับ เผื่อมีคนมองเห็นจุดผิดพลาดที่เราไม่ทันสังเกตและเราจะได้นำมาแก้ไขก่อนถึงวันสอบ แล้วก็อย่าอ่านหนังสือเยอะ ออกไปทำอย่างอื่นบ้าง เพื่อลดความเครียดของตนเอง การทำอะไรมากไปหรือน้อยไปย่อมส่งผลเสียทั้งสิ้น ดังนั้นทางที่ดีเราควรที่จะแบ่งเวลาให้เป็น สุดท้ายนี้ก็ขอให้น้อง ๆ สนุกกับการเรียนวิชากฎหมายอาญาภาคความผิดและสอบผ่านวิชานี้กันทุกคนนะครับ”
?????
ภาพ ธันยบูรณ์
เรียบเรียง KK