คุยกับจันทรรัตน์ เลี้ยงเจริญ กับแนวทางการเรียนวิชากฎหมายลักษณะครอบครัว แบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 (กลุ่ม ศ.ดร.ไพโรจน์, อ.ปทิตตา)
?????
1️⃣คำถาม (1) : อาจารย์ผู้บรรยาย และเนื้อหาวิชา
จันทรรัตน์ : “วิชากฎหมายลักษณะครอบครัว ผู้บรรยาย ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ กัมพูสิริและอาจารย์ ปทิตตา ไชยปานค่ะ”
“ในส่วนของเนื้อหาวิชานี้รู้สึกว่าเป็นวิชาที่ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไป สามารถที่จะทำความเข้าใจได้ อาจจะมีบางช่วงของเนื้อหาที่มีความซับซ้อนเยอะพอสมควรเพราะว่าตัวบทบัญญัติในบรรพครอบครัวเนี่ยจะมีความเชื่อมโยงระหว่างกันเองเยอะมากและบางครั้งอาจารย์ไพโรจน์ท่านจะแทรกเนื้อหาในส่วนของวิชามรดกเข้ามาทำให้เรางงกันเล่น ๆ ก่อนที่จะได้ไปเรียนจริงจังในตอนปี 3 ด้วยค่ะ
“สำหรับความรู้สึกก่อนและหลังเรียนของหนูไม่ได้ต่างกันมากเพราะอาจารย์ทั้งสองบรรยายได้เป็นระบบ สนุก มีการยกตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นภาพและเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น นอกจากนี้ท่านยังชอบเล่นมุกตลกระหว่างบรรยายไปด้วยซึ่งตรงนี้หนูรู้สึกว่ามันทำให้การฟังบรรยายเนื้อหาของวิชานี้ไม่ได้เคร่งเครียดจนเกินไปค่ะ”
?????
2️⃣คำถาม (2) : เทคนิคในการเรียนและหนังสือแนะนำ
จันทรรัตน์ : “สำหรับหนูจะเน้นเข้าฟังบรรยายของอาจารย์เป็นหลักเลยค่ะ ในคาบเรียนก็จะพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาที่อาจารย์บรรยาย อาจจะมีสมาธิหลุดไปบ้างแต่ทุกครั้งหนูจะถอดเทปบรรยายเพื่อตามเก็บในส่วนที่เราหลุดไป ฟังไม่ทัน หรือในส่วนที่ยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าถอดเทปซ้ำแล้วยังไม่เข้าใจก็จะหาคำตอบจากหนังสือ ถามอาจารย์ หรือนำไปถามเพื่อนเพราะบางครั้งในส่วนที่เราไม่เข้าใจเนี่ยเพื่อนอาจจะเข้าใจมากกว่าและสามารถอธิบายให้เราฟังได้ค่ะ”
“วิชากฎหมายลักษณะครอบครัวเนี่ยถ้าหากเรียนกับอาจารย์ไพโรจน์สิ่งที่ควรจะมีเลยคือหนังสือของอาจารย์ค่ะ ซึ่งใช้อ่านประกอบกับเนื้อหาที่ท่านอาจารย์บรรยายเป็นหลักในห้องเรียน ส่วนของอาจารย์ปทิตตาแนะนำว่าให้อ่านเลคเชอร์ที่ได้จากการเข้าฟังบรรยายดีที่สุดค่ะเพราะว่าเนื้อหาที่อาจารย์บรรยายมีความละเอียดมากอยู่แล้วประกอบกับเอกสารที่แจกให้นั้นก็น่าจะพอสำหรับเนื้อหาในส่วนของอาจารย์ปทิตตาค่ะ”
?????
3️⃣คำถาม (3) : การสัมมนา
จันทรรัตน์ : “วิชานี้สัมมนาโดยอาจารย์ทั้งสองท่านที่เป็นผู้บรรยายหลักเลยค่ะ โดยส่วนตัวคิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมาก ๆ เหมือนได้ทบทวนเนื้อหาในส่วนที่สำคัญและเพิ่มเติมในส่วนที่เรายังไม่รู้ ที่สำคัญคือได้ฝึกทำข้อสอบเก่าและดูธงคำตอบซึ่งตรงนี้ช่วยให้เราได้เข้าใจในสิ่งที่เราอาจจะเข้าใจผิดไป ได้รู้เทคนิคของการเขียนตอบมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รู้ถึงความต้องการของอาจารย์ว่าอยากให้เราเขียนตอบในรูปแบบประมาณไหนด้วยค่ะ”
?????
4️⃣คำถาม (4) : รูปแบบการสอนออนไลน์ และปัญหาที่เจอในการเรียนออนไลน์
จันทรรัตน์ : “วิชานี้อาจารย์ทั้งสองท่านบรรยายผ่าน WebEx ค่ะ”
“ช่วงที่เรียนในห้องมีความแตกต่างจากเรียนออนไลน์ในเรื่องของสภาพแวดล้อมในการเรียนค่ะ รู้สึกว่าการเรียนในห้องดีกว่ามากเพราะหลาย ๆ อย่างเลยไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศในห้องเรียน การฟังบรรยายจากอาจารย์ตัวจริงซึ่งตรงนี้มันทำให้เรามีสมาธิมากกว่า ต่างจากการเรียนออนไลน์ที่มีปัญหาทั้งเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต บางครั้งก็จะมีเสียงรบกวนทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิ และปัญหาที่เจอบ่อยที่สุดเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงจะเป็นเหมือนกันคือหูอาจจะฟังเสียงอาจารย์แต่กายหยาบอยู่บนเตียง ถามว่าแก้ปัญหาอย่างไร ตอนนี้หนูก็ยังไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหานี้ได้เลยค่ะ”
5️⃣คำถาม (5) : การเตรียมตัวสอบและฝากถึงรุ่นน้องที่กำลังศึกษาวิชานี้
จันทรรัตน์ : “ในช่วงที่สอบในห้องเรียนปกติและช่วงที่สอบออนไลน์เนี่ยก็จะเตรียมตัวเหมือน ๆ กันโดยการอ่านหนังสือ ทบทวนเลคเชอร์ของตัวเองและก็จะฝึกทำข้อสอบค่ะแต่ไม่ได้ฝึกเขียนตอบนะคะเสร็จแล้วเอามาตรวจดูกับธงคำตอบของอาจารย์ แต่ถ้าข้อสอบปีไหนที่ไม่มีธงให้ดูเนี่ยก็จะเอามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนค่ะว่าสิ่งที่เราทำไปมันน่าจะเป็นแบบนี้ไหมหรือถ้าความเห็นของเราและเพื่อนไม่ตรงกันแต่ละคนก็จะอธิบายในมุมของตัวเองว่าทำไมถึงคิดแบบนี้ซึ่งมันทำให้เราได้รู้และทบทวนไปในตัวด้วยว่าสิ่งที่เราเข้าใจมามันถูกต้องหรือไม่ยังไง”
“ถึงน้อง ๆ ที่กำลังเรียนวิชานี้อยู่หรืออาจจะได้เรียนในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า วิชานี้อาจจะง่ายสำหรับบางคนในเวลาเดียวกันก็อาจจะเป็นวิชาที่ยากสำหรับบางคน แต่เราเชื่อว่าทุกคนผ่านมันไปได้แน่นอนอยากจะฝากบอกทุกคนว่าพักผ่อนเยอะ ๆ กินอิ่ม นอนหลับ อย่าหักโหม ถ้าเครียดก็หาอะไรสนุก ๆ ทำบ้าง อย่ากดดันตัวเองจนเกินไปนะคะ (ยิ้ม)”
?????
ภาพ จันทรรัตน์
เรียบเรียง KK