ภูวดล สุวสุนทรีย์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคปกติ ศูนย์รังสิต รหัส 61 คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย กลุ่ม 3 บรรยายและสัมมนาโดย ศ.ดร.วิจิตรา วิเชียรชม โดยได้คะแนนสอบ 87 คะแนน วันนี้เราจะพาคุณไปพูดคุยกับภูวดลเกี่ยวกับความรู้สึกและข้อแนะนำในการเรียนวิชาดังกล่าว
คำถาม (1) : ตอนที่เรียนคิดว่าเนื้อหาวิชานี้เป็นอย่างไรบ้าง และความรู้สึกก่อนและหลังเรียนต่างกันอย่างไร
ภูวดล : “ตอนแรกเริ่มที่ผมเรียนวิชานี้ผมคิดว่าเนื้อหาวิชานี้น่าจะมีลักษณะเป็นความรู้ทั่วไป คือ ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องหรือเจาะลึกลงไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สักเท่าไหร่ครับ เช่น เรื่องกฎหมายซีวิลลอว์ กฎหมายคอมมอนลอว์ หรือ กฎหมายสามยุค ซึ่งมีลักษณะนามธรรมที่เป็นความรู้ทั่วไปเบื้องต้นสำหรับนักศึกษากฎหมายเฉย ๆ ครับ ”
“แต่พอได้ศึกษาวิชานี้จนจบแล้วก็ทำให้ผมพบว่าวิชานี้เป็นแนวทางสำคัญทีเดียวที่จะนำนักศึกษากฎหมายให้เข้าใจระบบของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายเฉพาะอื่น ๆ จริง ๆ ครับ เพราะหลักการที่เป็นนามธรรมทั้งหลายเหล่านี้นี่เองที่แทรกซึมอยู่ในตัวบทกฎหมายและทำงานสอดคล้องกันเป็นระบบของเหตุและผลของมาตราทั้งหลายครับ”
คำถาม (2) : ใช้เทคนิคอย่างไร ในการเรียน และการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา
ภูวดล : “ผมใช้วิธีการอ่านหนังสือนำไปก่อนครับ ไม่ว่าเราจะเข้าใจหรือไม่เข้าในตอนแรกให้อ่านผ่านๆนำไปก่อน เพราะเรายังใหม่กับการทำความเข้าใจเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นนามธรรมแบบนี้ จากนั้นก็มาเก็บความเข้าใจเพิ่มเติมในชั้นเรียนครับโดยท่านอาจารย์จะเป็นผู้ทำให้สิ่งที่เราอ่านผ่าน ๆ มาค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นตามลำดับครับ หากไม่เข้าใจในเรื่องใดก็ถามท่านอาจารย์ในช่วงท้ายคาบครับ หลังจากที่เข้าเรียนแล้วก็ทำการทบทวนเนื้อหาที่ได้เรียนมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เนื่อหาที่ได้รับมาในวันนั้น ๆ กระชับมากขึ้น หรือแม้ในกรณีที่ไม่เข้าใจในชั้นเรียนเราอาจจะพบคำตอบที่สำคัญในหนังสือได้เช่นกัน แต่ถ้าไม่เข้าใจจริง ๆ ผมจะรวมกลุ่มกันกับเพื่อน ๆ เพื่อถามความเห็นและถกประเด็นที่สงสัยครับ”
คำถาม (3) : นอกจากการบรรยายแล้ว คิดว่าการสัมมนามีส่วนช่วยในการเรียนมากน้อยแค่ไหน
ภูวดล : “การสัมมนามีส่วนช่วยที่สำคัญในการเรียนและการสอบนะครับเพราะช่วยให้เราได้ฝึกฝนกับแบบทดสอบหรือข้อสอบเก่า เหมือนได้เรียนรู้ตัวอย่างกรณีต่าง ๆ ที่เรียนมา ทำให้เข้าใจและเห็นภาพเนื้อหาชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ และยังช่วยให้ไม่ลนลานหรือประหม่าในการทำข้อสอบอีกด้วยเพราะมีการจับเวลา นอกจากนี้การทบทวนหนังสือด้วยตัวเองและหาข้อสอบเก่าทำเพิ่มก็มีส่วนช่วยไม่แพ้กันครับ”
คำถาม (4) : การเตรียมตัวสอบวิชานี้ทำอย่างไรบ้าง
ภูวดล : “ในการเตรียมตัวสอบวิชานี้ช่วงที่ยังมีการบรรยายอยู่หรือพอมีเวลาผมจะอ่านหนังสือเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาหลักการให้ครบถ้วนก่อนครับ แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาสอบแล้วอย่างน้อย1เดือนจะเริ่มหาชีทและข้อสอบเก่าทำครับเพราะสิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยให้เราสโคปเนื้อหาวิชาที่มีอยู่มากให้แคบลงได้ดีทีเดียว หรือในส่วนที่เป็นเนื้อหาบรรพ1ของ ป.พ.พ. ก็จะใช้เวลาในการท่องตัวบทเป็นส่วนใหญ่ครับเพื่อให้นำไปวางหลักในการทำข้อสอบได้ แต่การทบทวนเนื้อหาวิชาในทุกๆส่วนก็เป็นสิ่งสำคัญครับเพื่อนำไปใช้ต่อยอดในวิชากฎหมายอื่น ๆ ได้”
คำถาม (5) : ได้คะแนนสอบแต่ละข้อเท่าไร และคิดว่าทำไมเราถึงได้คะแนนเยอะขนาดนี้
ภูวดล : “ผมได้คะแนนกลางภาค 17 เทคโฮม 17 ปลายภาคข้อหนึ่ง 18 ข้อสอง 18 ข้อสาม 17 ครับ”
“ผมคิดว่าที่ได้คะแนนเช่นนี้นั้น วิชาน.100 ส่วนที่หนึ่งเป็นหลักการทฤษฎีดังนั้นผมจึงจำเป็นต้องจำมันเป็นหลักครับ แต่ก็ต้องปรับความเข้าใจให้ได้เช่นกัน ผมจึงตอบคำถามได้ครบถ้วนและมีสาระสำคัญครับ เช่น สิทธินั้นเราอาจจะต้องจำประเภทต่างๆของสิทธิแต่ก็ต้องเข้าใจให้ได้ว่าสิทธิแต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไรครับ”
“ส่วนที่สองก็เป็นลักษณะหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงครับส่วนนี้จึงมีความง่ายกว่าส่วนแรกผมจึงใช้วิธี “ส่เข้าใจหลักการ+อ่านตัวอย่าง แต่จำตัวบท” ครับ การจำอาจจะยากแต่บางทีก็ต้องใช้มันเพื่ออ้างข้อกฎหมายครับ”
คำถาม (6) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลที่มีการสอบกลางภาคด้วย
ภูวดล : “ผมว่าในส่วนของการมีกลางภาคเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีมากๆครับ เพราะหลักสูตรเดิมการที่ต้องสอบความรู้ทั้งหมดลักษณะวิชาใน 5 ข้อทีเดียว ผมว่าค่อนข้างยากทีเดียวครับ เพราะไม่มีการแบ่งเนื้อหาในส่วนก่อนกับหลังกลางภาคเลยต้องอ่านมาในคราวเดียว รวมทั้งมีข้อสอบ 5 ข้อที่ 2 ข้อจาก 5 ข้อก็มีลักษณะการตอบต่างกันครับอาจจะส่งผลให้คิดนานและทำไม่ทันครับ แต่กระนั้นการมีกลางภาคก็อาจมีเนื้อหาก่อนกลางภาคมาออกได้ในปลายภาคเช่นกัน จึงเป็นการแบ่งเบาภาระในเรื่องการโฟกัสเนื้อหาออกสอบและเวลาเท่านั้นครับ จึงไม่ควรประมาทและหมั่นทบทวนเนื้อหาในทุก ๆ ส่วนเป็นประจำ”
คำถาม (7) : รู้สึกอย่างไรกับการวัดผลด้วยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (take home exam)
ภูวดล : “ในส่วนเทคโฮมนั้นก็ช่วยในเรื่องของการฝึกเขียนทางวิชาการมากๆครับ เป็นครั้งแรกที่ได้ลองทำรายงานลักษณะนี้ซึ่งอาจจะยากเล็กน้อย แต่ผมก็สังเกตุการใช้คำและการเรียบเรียงหัวข้อจากหนังสือของท่านอาจารย์ต่าง ๆ เพื่อมาเขียนเทคโฮม รวมทั้งยังมีวิชา น.160 ที่มาช่วยเสริมทักษะด้วยครับ””
คำถาม (8) : คิดว่าปัญหาของคนที่สอบวิชานี้ไม่ผ่านเกิดจากอะไร
ภูวดล : “ตรงนี้ผมคิดว่าหลักๆน่าจะเกิดจากความไม่ขยันหมั่นเพียรครับ เพราะแค่ขาดตรงนี้ไปส่วนเดียวก็มีผลเสียหลายอย่างแล้ว เช่นทำให้ไม่เข้าเรียน ไม่ทบทวนหนังสือ นอกจากนี้อาจจะเกิดการที่ไม่เข้าใจแล้วไม่ถามด้วยครับ”
คำถาม (9) : โดยรวมถ้าต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับกับการศึกษาวิชานี้ จะแนะนำอย่างไร
ภูวดล : “อย่างที่ได้อธิบายแทรกไปในข้อต่างๆครับ ส่วนที่เป็นทฤษฎี เราก็ต้องจำการแยกประเภท หรือ หัวข้อต่างให้แม่นครับ และทำความเข้าใจความเหมือนความต่าง และลักษณะทฤษฎีต่าง ๆ ให้ดีครับ”
“ส่วนหลักกฎหมายเราก็ใช้วิธีเข้าใจหลักการภายในตัวบทของมาตราต่างๆและฝึกยกตัวอย่างข้อเท็จจริงให้เป็น และท่องจำตัวบทเพื่อให้อ้างข้อกฎหมายสนับสนุนหลักการได้”
“ส่วนเทคนิคนั้นใช้การ อ่านก่อนไม่เข้าใจไม่เป็นไร เก็บความเข้าใจในชั้นเรียน ฝึกเขียนข้อสอบเก่าและทบทวนครับ ที่สำคัญไม่เข้าใจให้ถามท่านอาจารย์เลยครับ แต่ถ้าเกรงใจท่านก็อาจจะเก็บมาถามอาจารย์สัมมนาหรือพี่ทีเอได้ครับ”
คำถามสุดท้าย : คิดว่าวิชาน.100 มีความสำคัญอย่างไร
ภูวดล : “เป็นประตูสำคัญในการนำนักศึกษาเข้าเรียนรู้ในวิชากฎหมายอื่น ๆ เฉพาะเรื่องต่อไปครับ เพราะถึงหลักการจะเข้าใจยากอย่างไร พอมาเรียนวิชากฎหมายเฉพาะอื่น ๆ จะเข้าใจเองครับว่าหลักการ น.100 นี้แทรกอยู่ในมาตราต่าง ๆ จริง เช่น กฎหมายในทุก ๆ มาตราส่วนใหญ่นั้น มีลักษณะเป็น “เหตุ”บวก”ผลทางกฎหมายเสมอ” หรือจะเป็นหลักกฎหมายที่มีการผ่อนปรน เคร่งครัด หรือ ยกเว้นต่าง ๆ ซึ่งผมได้รู้คุณประโยชน์ น.100 ตรงนี้แล้วรู้สึกทึ่งจริง ๆ ครับ (หัวเราะ)”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK