ระหว่างวันที่ 5-16 สิงหาคม 2562 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ส่งนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ UEL SUMMER SCHOOL 2019: “Contract Law and Dispute Resolution, Negotiations of the U.S” ณ The University of Economics and Law นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม 3 คน ได้แก่ ศุภิสรา ด่านเฉลิมวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาคปกติ ศูนย์รังสิต (ได้รับทุนการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์) สุดารัตน์ ตรีเทพ นักศึกษาระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 3 สาขากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (ได้รับทุนการศึกษาจาก University of Economics and Law) และพิชามญชุ์ ขาวสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตร LLB (ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมโดยออกค่าใช้จ่ายเอง) เราจะพาคุณไปคุยกับศุภิสรา ถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
คำถาม (1) : ทำไมจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ
ศุภิสรา : “ส่วนตัวชอบวิชากฎหมายสัญญาอยู่เเล้วค่ะ ทีนี้พอโครงการเปิดรับสมัครก็เลยลองเข้าไปอ่านรายละเอียดโครงการดู พอเห็นอาจารย์ผู้บรรยายที่ทางโครงการเชิญมาทั้งสองท่านว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเเต่ละสาขาก็เลยรู้สึกว่าน่าสนใจมาก ๆ ประกอบกับโครงการจัดในช่วงปิดเทอมด้วยค่ะ เลยคิดว่าทุกอย่างดูลงตัวไปหมด ก็เลยสมัครดูค่ะ”
คำถาม (2) : การคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างไร
ศุภิสรา : “ตอนสมัครโครงการนี้ไม่ได้สัมภาษณ์ค่ะ เเต่ว่าใช้วิธีเขียน motivation letter เอาซึ่งหนูรู้สึกว่าเครียดพอตัวเลย คือส่วนตัวคิดว่าคนจะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการเยอะเเน่ ๆ เลยต้องกลับมานั่งทำการบ้านกับตัวเองว่าตัวเรามีดีอะไรบ้าง ทางโครงการอยากได้คนแบบไหน ทำอย่างไรเค้าถึงจะให้เราเข้าร่วมโครงการเเล้วก็เรียงลำดับความคิดเพื่อเขียน motivation letter เพื่อนำเสนอตัวเองให้ออกมาดีที่สุด ซึ่งกลายเป็นว่าส่วนนี้ใช้เวลาไปพอสมควรเลยค่ะ”
คำถาม (3) : เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปร่วมโครงการ
ศุภิสรา : “ช่วงก่อนเข้าร่วมโครงการไม่เครียดเลยค่ะ อาจเพราะเคยไปเวียดนามมาเเล้วครั้งหนึ่งด้วย ทางโครงการส่งเอกสารประกอบการเรียนมาให้ช่วง 2 อาทิตย์ก่อนเดินอ่านล่วงหน้าทาง รวมเเล้วประมาณ 200 กว่าหน้า กับสั่งให้ไปอ่าน case ของต่างประเทศตามที่จะเรียนในเเต่ละวัน หนูก็พยายามอ่านเตรียมตัวไปล่วงหน้าก่อนค่ะ เพราะคิดไว้ว่าบรรยากาศการสอนน่าจะเป็นการถามตอบ ซึ่งหากไม่อ่านไปก็น่าจะเรียนไม่รู้เรื่อง เเต่ถึงอย่างนั้นก็อ่านไม่จบค่ะเลยอาศัยไปอ่านที่เวียดนามด้วย”
คำถาม (4) : สิ่งที่ได้รับจากโครงการมีอะไรบ้าง เป็นไปตามที่คาดหวังไหม
ศุภิสรา : “ตอนแรกก่อนเดินทางหนูคิดว่าในชั่วโมงเรียนก็น่าจะเคร่งเครียดเหมือนกับห้องเรียนที่ไทยค่ะ เเต่ว่าในความเป็นจริงอาจารย์ทั้งสองท่านให้โอกาสนักศึกษาในการมีส่วนร่วมเยอะมากๆ แล้วบรรยากาศการเรียนเองก็ไม่ได้เคร่งเครียดขนาดนั้น อย่างตอนสัปดาห์แรกที่เรียนกระบวนการแก้ปัญหาของพิพาท อาจารย์จะเน้นการสอนทฤษฏีในช่วงเเรก เเต่พอ 2 วันสุดท้าย อาจารย์จะสั่งการบ้านโดยการให้สถานการณ์จำลองมา เเล้วให้เรามาเจรจาต่องรองกันจริงๆ ส่วนในสัปดาห์ที่ 2 อาจารย์จะเน้นการถามตอบเป็นหลักซึ่งหมายความว่าถ้าไม่ถาม อาจารย์ก็จะไม่ตอบไปโดยปริยาย ซึ่งสำหรับนักเรียนไทยอย่างหนูที่ปกติเวลาอยู่ในห้องเรียน ไม่ค่อยได้ทำอะไรนอกจากจดเลคเชอร์ก็นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ค่ะ”
“สำหรับความรู้ที่ได้รับก็ถือว่าเป็นมุมมองที่ใหม่มากๆ เช่น ตอนที่อาจารย์สอนเรื่องการแก้ปัญหาข้อพิพาท ในตอนเเรกหนูก็เข้าใจมาตลอดจริง ๆ ว่าในทางแพ่งเราสามารถนำเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือศาลได้ เเต่ในโครงการนี้อาจารย์สอนในส่วนที่เป็นการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นขั้นเเรกสุดของกระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาทแบบลงรายละเอียดเลย ก็เลยทำให้รู้ว่าในการจะเจรจาต่อรองกันเเต่ละครั้ง เค้าวางแผน เเละทำกันอย่างไร ซึ่งเอาจริงๆก็ไม่ง่ายเลยค่ะ หนูรู้สึกว่าสิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้เกินความคาดหมายมากจริง ๆ”
คำถาม (5) : ตอนเรียนหลักกฎหมายที่ไม่มีในกฎหมายไทย ทำอย่างไรบ้าง
ศุภิสรา : “ระหว่างโครงการมีบรรยายพิเศษอยู่ครั้งหนึ่งค่ะที่พูดถึง force majeure กับ hardship ซึ่งตอนแรกหนูก็รู้สึกคุ้นมาก เพราะตอนปี 1 สมัยเรียนวิชา น.100 ท่านอาจารย์สมยศ เคยเปรยเรื่อง clausula rebus sic stantibus ซึ่งเป็นหลักข้อเท็จจริงเปลี่ยนทำให้ผลของสัญญาเปลี่ยนไว้เเต่ว่าพอไปหาใน ป.พ.พ. เเล้วมันไม่มีค่ะ เพราะว่าเป็นหลักที่ใช้กับกฏหมายระหว่างประเทศ ตอนนั้นสับสนมาก ๆ ว่าเเล้วสรุปกฎหมายไทยได้มีการวางหลักเรื่องนี้ไว้หรือไม่ ก็เลยอีเมลกลับไปถามท่านอาจารย์กรศุทธิ์ค่ะ ซึ่งอาจารย์ก็กรุณาส่งงานวิจัย*ของอาจารย์ที่ทำการศึกษาในประเด็นดังกล่าวในเชิงเปรียบเทียบไว้และหนูเองก็อาศัยอ่านงานวิจัยของอาจารย์เพื่อทำความเข้าใจค่ะ”
คำถาม (6) : อยากให้เล่าถึงความประทับใจที่เวียดนาม
ศุภิสรา : “สำหรับหนูสิ่งที่ประทับใจที่สุดน่าจะเป็น ผู้คนที่นั่นค่ะ ช่วงที่เข้าร่วมโครงการเป็นหน้าฝนพอดี ฝนจะตกปรอยเเทบทั้งวัน บางวันก็มีฝนตกซู่ ซึ่งหนูก็ป่วยเป็นไข้หวัดอยู่พักหนึ่ง ระหว่างนั้นก็จะได้เพื่อนร่วมคลาสที่เป็นชาวเวียดนามพาไปซื้อยา เเล้วก็หาหมอค่ะ นอกจากนี้หนูก็ได้นักเรียนชาวเวียดนามพาไปเที่ยวตามที่ต่างๆซึ่งมีทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารพื้นเมือง เเล้วก็แหล่งที่อยู่อาศัยค่ะ ซึ่งถ้าไม่มีเพื่อนชาวเวียดนามคนนี้ประสบการณ์ในเวียดนามของหนูก็คงจะดูปกติเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป เเต่เพราะเพื่อนพาไปขับมอเตอร์ไซค์ทุกเย็นเลยค่ะ เลยได้เห็นวิถีชีวิตของชาวเวียดนามจริงๆ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เเล้วก็อาหารที่นั่นอร่อยมากเลยค่ะ ❤️”
*วิจัยเรื่อง Comparative Study of the Provisions of Non-performance under the Principles of Asian Contract (PACL) and Thai Law ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.law.tu.ac.th/research_korrasut_pacl/
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK