หัตถพงษ์ หิรัญรัตน์ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 59 ปัจจุบันฝึกงานที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และเป็นบุคคลภายนอกช่วยงานศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจะมาพูดคุยกับหัตถพงษ์เกี่ยวกับประสบการณ์เป็นผู้ช่วยอาจารย์ในวิชา น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 (ภาคบัณฑิต) /น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา และวิชา น.201 กฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้
คำถาม 1 : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
หัตถพงษ์ : “เคยเป็นผู้ช่วยของอาจารย์กรศุทธิ์ในวิชา LA101 นิติกรรมและสัญญา 2 ครั้ง ตอนอยู่ปีสองเทอมสอง และปีสามเทอมหนึ่ง และตอนปีสี่เป็นผู้ช่วยอาจารย์กรศุทธิ์ อาจารย์ศุภวิช อาจารย์ดิศรณ์ อาจารย์กิตติภพ วิชา LA160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 ภาคบัณฑิต และเป็นผู้ช่วยอาจารย์ชวินในวิชาละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้”
“ในวิชา LA160 ต้องบอกก่อนว่าตามหลักสูตรเดิม (2556) นั้นจะมีเพียงวิชา LA160 วิชาเดียวเท่านั้น โดยจะมีลักษณะคล้ายกับวิชา LA161 ในหลักสูตรใหม่ (2561) มากกว่า คือ เน้นการศึกษาค้นคว้าเพื่อนำเสนอความรู้ทางวิชาการ เพราะฉะนั้นความรู้สึกยากลำบากต่อวิชาดังกล่าวในเรื่องการเขียนตอบวิชากฎหมายจึงยังไม่มีในวิชาดังกล่าว”
“วิชา LA101 จะให้ความรู้สึกที่ท้าทายอย่างมากกับผม เนื่องจากนอกจากวิชาดังกล่าวจะเรียกร้องการทำความเข้าใจ และจดจำเนื้อหาของบทกฎหมายที่มากยิ่งขึ้นกว่าวิชาแรกแล้ว อาจารย์กรศุทธิ์ผู้สอนวิชาดังกล่าวยังได้หยิบยื่นเนื้อหาที่แตกต่างไปจากสิ่งที่อาจารย์ท่านอื่น ๆ สอน เพราะฉะนั้นวิชานี้จึงเป็นวิชาแรกที่ทำให้รู้สึกถึงความลึกซึ้งของกฎหมายอีกด้วย โดยมีผลให้ผมรู้สึกตื่นเต้นว่าความสามารถในการทำความเข้าใจเนื้อหาของตนเองจะเพียงพอหรือไม่ และความรู้สึกกดดันที่ไม่สามารถนำเนื้อหาไปปรึกษากับเพื่อนสนิทที่เรียนกับอาจารย์ท่านอื่น ๆ แต่ในภายหลังจากนั้นแล้ว ผมก็รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องดังกล่าว เพราะเนื้อหาเหล่านั้นล้วนกลายเป็นคำอธิบายที่สำคัญต่อการพบเจอกับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการอธิบายปรากฏการณ์ให้สอดรับกับหลักกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังของบทกฎหมายต่าง ๆ ในเรื่องนิติกรรมและสัญญา ตลอดจนถึงการหาคำตอบในประเด็นปัญหาที่มีความยุ่งยาก”
“ในวิชา LA201 จะต้องขอกล่าวในเบื้องต้นว่าผมได้เรียนกับอาจารย์เขมภูมิที่สอนวิชาดังกล่าวคนเดียว และท่านจะให้ความสำคัญกับเนื้อหาทางกฎหมายละเมิดอย่างมากในฐานะสิ่งที่ปรากฏการใช้จริงในทางปฏิบัติ สิ่งที่กล่าวต่อไปจึงอาจจะแตกต่างจากความรู้สึกของนักศึกษาในตอนนี้ ผมค่อนข้างจะมีความประทับใจในวิชาดังกล่าวด้วยเหตุผลของอาจารย์ผู้สอนเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเนื้อหาส่วนมากของวิชาดังกล่าวค่อนข้างอาศัยคำพิพากษาศาลฎีกาเสียมากซึ่งก็มีหลายครั้งที่ก่อให้เกิดความสงสัยต่อการใช้กฎหมายของศาล แต่ด้วยการเตรียมเอกสารประกอบการสอนที่ครบถ้วน และการคอยฝึกฝนนักศึกษาให้สามารถพร้อมเขียนตอบวิชาดังกล่าวโดยท่านจะตรวจสอบด้วยตนเอง โดยโจทย์ที่ได้รับส่วนมากก็ค่อนข้างไม่ยากเกินความสามารถนัก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อสอบของปีผมจะค่อนข้างมีความยากที่ก้าวกระโดดจากข้อสอบเก่าที่ผ่าน ๆ มา กล่าวคือ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุดซึ่งก็มีลักษณะท้าทายต่อความเข้าใจในหลักการที่เรียนรู้มาอย่างมากถึงมากที่สุด ด้วยเหตุผลที่ท่านเล็งเห็นถึงการตั้งใจเรียนของนักศึกษา จึงทำให้การจากลาวิชานี้ค่อนข้างมีลักษณะขมขื่นสำหรับหลายท่าน”
“สำหรับสาเหตุที่สมัครเข้าร่วมโครงการผู้ช่วยอาจารย์ ก็มาจากความปรารถนาจะให้นักศึกษารุ่นต่อมาได้รับรับคำแนะนำที่ดีต่อการทำความเข้าใจเนื้อหา และการเขียนตอบเช่นที่ผมเคยได้รับมาในวิชา LA100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย และวิชา LA101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา โดยเฉพาะวิชา LA101 ที่สอนโดยอาจารย์กรศุทธิ์ จะมีเนื้อหาที่สลับซับซ้อนมากเป็นพิเศษจากการมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตีความนิติกรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากต่อการหาผู้ที่จะคอยถกเถียงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนต่อเรื่องดังกล่าว ส่วนวิชา LA160 ก็มีลักษณะทำนองเดียวกันในแง่ที่ว่ามันเป็นวิชาที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเข้าใจเรื่องการเขียนตอบคำถามในวิชากฎหมายทั้งหลายที่มีระเบียบในการนำเสนอแตกต่างจากการเขียนตอบคำถามในชั้นมัธยมอย่างสิ้นเชิง อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้อยากสมัครเข้าร่วมโครงการนี้คือความต้องการที่จะสัมผัสงานการตรวจการบ้านสัมมนาอันมีลักษณะคล้าย ๆ กับการตรวจข้อสอบนั้นเองครับ”
คำถาม 2 : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
หัตถพงษ์ : “ลักษณะการทำงานของ TA ในหลายวิชาจะมีความคล้ายคลึงกันคือ คุณจะเป็นคนคอยตรวจคำตอบที่นักศึกษาเขียนมา โดยโจทย์เหล่านั้นจะถูกมอบหมายมาจากอาจารย์ และจะมีการพูดคุยกับผู้ช่วยอาจารย์เสียก่อนว่าโจทย์ดังกล่าวมีแนวคำตอบ และวิธีการเขียนตอบอย่างไรเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ต้องตรงกัน โดยเฉพาะโจทย์ที่มีหลากหลายความเห็น และมีประเด็นที่แอบแฝงไว้อยู่เป็นพิเศษ ภายหลังจากการตรวจการบ้านแล้ว นอกจากจะนำผลการตรวจมาคืนนักศึกษาแล้ว ก็จะมีการพูดคุยกับอาจารย์ผู้สอนเพื่อสะท้อนสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาร่วมกันของนักศึกษาที่พบจากการตรวจ เพื่อให้อาจารย์นำไปย้ำเตือนกับนักศึกษา หรือกล่าวถึงรายละเอียดของเนื้อหาให้เกิดความเข้าใจตรงกันอีกครั้ง”
“อาจจะมีบางวิชาที่ให้ผู้ช่วยอาจารย์มีการรายงานผลการตรวจลงในโปรแกรมต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามผล และมองเห็นถึงภาพรวมของนักศึกษาภายในห้องเรียน อีกหน้าที่หนึ่งคือ การคอยติดตามการพัฒนาการเขียนตอบของนักศึกษาที่อยู่ในระดับเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่านักศึกษาผู้นั้นจะสามารถพัฒนาความสามารถดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่จะเอาตัวรอดได้ด้วยตนเองต่อไป ทั้งนี้ อาจจะมีบางวิชาที่ให้นักศึกษามามีส่วนร่วมตั้งแต่การค้นหาโจทย์ที่จะนำมาใช้ในการฝึกฝนการเขียนตอบของนักศึกษา และมีการพูดคุยเกี่ยวกับการตรวจสอบการบ้านของนักศึกษาอย่างเข้มข้นในวิชา LA160 เนื่องจากวิชาดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างมากต่อการแสดงความสามารถในวิชากฎหมายต่าง ๆ”
คำถาม 3 : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
หัตถพงษ์ : “ผมจะไม่ขอกล่าวถึงคุณลักษณะที่จะต้องมีความรู้ ด้วยเหตุที่มันย่อมผ่านเงื่อนไขในการรับสมัคร และการสัมภาษณ์อยู่แล้ว และเรื่องการมีจิตใจสาธารณะ เนื่องจากมันไม่จำเป็นที่จะต้องมีเสมอไป บางท่านอาจจะเข้ามาทำงานนี้ด้วยเหตุที่ต้องการหารายได้ให้กับตนในอนาคตก็ได้ หากข้ามถึงสองคุณลักษณะนี้ไปแล้ว ก็เห็นเพียงสองคุณลักษณะที่ควรจะกล่าวถึง”
“อย่างแรกคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา คุณลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ผมตระหนักมาตั้งแต่ชั้นปี 1 เพราะการบ้านที่ได้รับการตรวจของเพื่อน ๆ ส่วนหนึ่งมักจะปรากฏเพียงว่าตอบได้ตรงกับคำตอบที่อาจารย์ต้องการแล้วหรือไม่ หรืออาจจะมีการกล่าวในภาพรวมว่าบางจุดมีความบกพร่อง หรืออ่านไม่รู้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าส่วนใด จึงทำให้ยังไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาในจุดไหน และจะมีน้อยคนที่ได้รับการตรวจไปถึงเรื่องการใช้ถ้อยคำซึ่งก็เป็นปัญหาในเวลาได้รับการตรวจจากอาจารย์จริง ๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจการบ้านของผู้เรียนในวิชากฎหมายทั้งหลาย ซึ่งอาจจะยกเว้นวิชา LA160 ก็ได้ ก็ขอให้ตระหนักว่า ผู้เรียนเขียนคำตอบมา ไม่ว่าจะบกพร่องมากเพียงใด ก็เป็นไปเพื่อประสงค์ให้ผู้ช่วยอาจารย์ช่วยชี้แนะความบกพร่องที่แม้กระทั่งตัวเขาเองอาจจะไม่ได้ตระหนัก หรือไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองเลยก็ได้ เฉกเช่นเดียวกับเราที่ส่งกระดาษคำตอบให้ผู้ช่วยอาจารย์ตรวจก็เพื่อให้ติดตามความสามารถของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ การไม่ได้รับคำตอบเลย ได้รับคำตอบไม่ครบถ้วน หรือได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนจึงล้วนไม่ใช่สิ่งที่ผู้เรียนพึงประสงค์ ผู้ช่วยอาจารย์จึงควรเอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อให้ตระหนักเสมอถึงผลลัพธ์ของการทำหน้าที่อย่างไม่เต็มที่ในระหว่างที่ทำงาน เพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่เป็นไปได้จากการไม่เผลอตัวให้กับความเหน็ดเหนื่อย หรือความประมาท”
“อย่างที่สอง การไม่เป็นเพียงหุ่นยนต์ อย่างที่เคยได้มีการกล่าวไปในรูปแบบการทำงานว่า ก่อนผู้ช่วยอาจารย์ทั้งหลายจะทำการตรวจการบ้านของผู้เรียน จะมีการพูดคุยกันถึงแนวการเขียนตอบร่วมกันเพื่อให้การตรวจ และให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่าในบางเรื่องอาจไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียวเสมอไป เนื่องจากการตอบปัญหาทางกฎหมายไม่ใช่เพียงแค่การตอบให้ตรงกับสิ่งที่ได้รับจากอาจารย์ หากแต่เป็นเรื่องการใช้เหตุผลซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการเข้าใจถึงวิธีการใช้เหตุผลอันนำไปสู่คำตอบที่พึงปรารถนาของอาจารย์ มันจึงสามารถปรากฏการสร้างสรรค์การใช้เหตุผลที่นำไปสู่คำตอบที่แตกต่างออกไปได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ช่วยอาจารย์จะต้องมีความละเอียด และอดทนในการอ่านคำตอบของผู้เรียนเพื่อให้มีความมั่นใจว่าความบกพร่องดังกล่าวไม่ได้เกิดเพียงเพราะการให้คำตอบที่ไม่ตรงกับอาจารย์เท่านั้น โดยหากเจอสถานการณ์ดังกล่าวก็ควรนำไปปรึกษากับอาจารย์เพื่อให้มีการนำไปพูดคุยกับนักศึกษาให้รับรู้ร่วมกันต่อไป แต่ก็ต้องคอยเตือนให้ผู้นั้นกล่าวถึงแนวคำตอบของอาจารย์ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่สื่อถึงการเข้าใจการใช้เหตุผลของอาจารย์ที่ปรากฏอยู่ในชั้นเรียนเช่นกัน”
คำถาม 4 : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
หัตถพงษ์ : “ปัญหาที่พบเป็นการทั่วไปจะมีอยู่ 3 เรื่อง ประการแรก ปัญหาที่พบรวมกันของทุกวิชาอันเป็นสิ่งที่จะคอยหลอกหลอนไปถึงอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบคือ ลายมือของนักศึกษาซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการตรวจสอบ นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ปัญหาประการที่สอง นักศึกษาเขียนคำตอบมาโดยปราศจากโครงสร้างซึ่งนำไปสู่ปัญหาย่อย ได้แก่ การปรับบทที่ไม่ครบองค์ประกอบ การเขียนตอบโดยข้ามบทกฎหมายหลัก และการเขียนที่มีลักษณะวกวนไปมาเหมือนไม่ทราบว่าจะปรับข้อเท็จจริงตามโจทย์นั้น ๆ เข้ากับบทกฎหมายอย่างสอดรับกันเป็นอย่างไร ปัญหาประการที่สามซึ่งจะเป็นกันโดยไม่รู้ตัวมาก ๆ คือ การเข้าใจว่าเพียงแค่การเขียนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายติด ๆ กันจะเป็นการปรับบทกฎหมาย ทั้งนี้ จะปรากฏอยู่สองระดับ ระดับแรกจะเป็นการเขียนข้อเท็จจริงเกือบทั้งหมดมาวางแนบชิดกับข้อกฎหมาย โดยไม่แยกข้อเท็จจริงให้เข้ากับแต่ละองค์ประกอบทางกฎหมายเลย ระดับที่สองคือ การเขียนโดยแยกแต่ละข้อเท็จจริงให้อยู่กับองค์ประกอบแต่ละอย่าง แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าแต่ละข้อเท็จจริงดังกล่าวมีความสอดคล้อง หรือไม่สอดรับกับองค์ประกอบทางกฎหมายนั้น ๆ อย่างไร ทั้งสองระดับล้วนเป็นปัญหาในเรื่องเดียวกันคือ การไม่แสดงให้เห็นว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นไปตาม หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายอย่างไร”
“ปัญหาที่มีความแตกต่างกันบ้างระหว่างวิชากฎหมายในชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 เป็นต้นไป คือ คำตอบของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะยังมีการปรากฏการเขียนตอบที่ไม่มีคำอธิบายใด ๆ เลย หรือแทบจะไม่มีการกล่าวถึงประเด็นทางกฎหมายซึ่งก็เป็นผลจากการคุ้นชินกับการเขียนตอบในระดับมัธยมศึกษา”
คำถาม 5 : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
หัตถพงษ์ : “สรุปได้ด้วยคำว่า “โอกาส” ครับ ปัญหาของนักศึกษากฎหมายเรื่องหนึ่งคือ การห่างเหินจากการเขียนตอบกฎหมายในระหว่างที่รอการสอบปลายภาคซึ่งจะทำให้เกิดความไม่คุ้นชินได้เสมอที่ต้องการใช้ทักษะดังกล่าว การร่วมโครงการผู้ช่วยอาจารย์จะเปิดโอกาสให้เราไม่หลงลืมความละเอียดในการเขียนตอบที่ต้องนำเสนอ และระลึกถึงความบกพร่องทั้งหลายที่ตนเคยเผชิญมาซึ่งจะทำให้ปัญหาข้างต้นได้รับการบรรเทาลง”
“สิ่งที่ได้รับประการถัดมาคือ การทบทวนตลอดจนการอัพเดทความรู้ในวิชากฎหมายนั้น ๆ ซึ่งก็จะมีผลอย่างมากต่อการจดจำความรู้ดังกล่าวในระยะยาว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการตีความสัญญาที่เหมือนจะติดอยู่ในระบบความคิดของผมไปแล้วอันเป็นผลจากการนำมาใช้เป็นประจำในระหว่างการตรวจการบ้านวิชานิติกรรม และสัญญา สิ่งที่ได้รับประการถัดมาคือ โอกาสที่จะได้สร้างความกระจ่างชัดในประเด็นทางกฎหมายต่าง ๆ ที่อาจตระหนักได้ในภายหลังจากการศึกษาวิชาดังกล่าว เพราะผมก็ได้ตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในระหว่างเรียนจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมผู้ช่วยอาจารย์ซึ่งก็คงเป็นผลจากการหลุดพ้นซึ่งความกดดันที่จะต้องจดจำ และทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหลายก่อนสอบ”
“ในประการสุดท้ายคือ กิจกรรมนี้ได้มอบโอกาสที่จะมีมิตรภาพให้กว้างกว่าผู้ที่ตนคุ้นเคยซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย และการได้ทำความรู้จักกับอาจารย์ผู้สอนในฐานะอื่นนอกจากอาจารย์ผู้สอน ทั้งนี้ มันก็ยังเป็นพื้นที่ ๆ ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของตนต่อวิชาความรู้ดังกล่าวซึ่งอาจจะมีความสำคัญต่อการขอให้อาจารย์ดังกล่าวช่วยเขียนจดหมายแนะนำตัวอันมีความจำเป็นต่อการศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้น”
ภาพ หัตถพงษ์
เรียบเรียง KK