ภัทรวดี แก้วปักษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 59
เราจะมาพูดคุยกับภัทรวดีเกี่ยวกับประสบการณ์เป็นผู้ช่วยอาจารย์ในวิชา น.301 กฎหมายลักษณะมรดก
คำถามแรก : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์, ความรู้สึกตอนเรียน และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
ภัทรวดี : “เป็นผู้ช่วยอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายลักษณะมรดก ภาค 2/2562 ตอนอยู่ปี 4 ผู้สอนมีอาจารย์ไพโรจน์ อาจารย์กิตติศักดิ์ อาจารย์มาตาลักษณ์ อาจารย์กรศุทธิ์ และอาจารย์กิตติภพ แต่ทำงานร่วมกับอาจารย์ไพโรจน์ อาจารย์มาตาลักษณ์ และอาจารย์กรศุทธิ์เป็นหลัก ”
“ตอนเรียนวิชานี้ ตอนแรกรู้สึกตกใจชื่ออาจารย์ก่อนเลยเพราะอาจารย์เยอะมาก อาจารย์แต่ละคนก็มีสไตล์ของตัวเองสูงมาก แล้วก็เป็นวิชาที่มีเนื้อหาเยอะ รู้สึกว่าน่าจะยากที่จะทำคะแนนได้ดี ปกติชอบอ่านหนังสือเองแต่ตอนเรียนวิชานี้คือฟังบรรยายเป็นหลักเพราะอาจารย์แต่ละคนจะออกข้อสอบจากที่สอนในห้อง”
“เหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการผู้ช่วยอาจารย์ เพราะปกติแต่ละเทอมจะหากิจกรรมทำไปด้วยระหว่างเรียนอยู่แล้ว ปี 4 เทอม 2 ก็มีวิชาเรียนน้อยลงเพราะลงตอนเทอมแรกไปเยอะ ถ้าเรียนอย่างเดียวปกติจะเป็นคนใช้เวลาว่างไปกับการนอน เลยคิดว่าน่าจะลองทำกิจกรรมเกี่ยวกับวิชาการดูบ้าง และเลือกวิชานี้เพราะเป็นหนึ่งในวิชาที่ทำคะแนนได้ค่อนข้างดีี”
คำถามที่ 2 : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
ภัทรวดี : “รูปแบบการทำงาน หลัก ๆ จะเป็นตรวจการบ้านสัมมนา ซึ่งอาจารย์ทุกคนจะให้ช่วยในส่วนนี้ แต่เนื่องจากได้ทำงานกับอาจารย์หลายคน แต่ละคนก็จะมอบหมายให้ช่วยส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่น ช่วยเตรียมเอกสารประกอบการเรียนการสอน หาข้อสอบเก่าที่น่าสนใจมาทำเป็นแผนผังง่าย ๆ หาคำพิพากษาฎีกา รวมถึงสรุปคำบรรยายในแต่ละคาบเรียน ได้ทำหลายอย่างมาก ๆ”
คำถามที่ 3 : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
ภัทรวดี : “ทักษะหรือคุณสมบัติที่สำคัญที่ต้องมี คิดว่าเรื่องแรกเลยคือต้องสื่อสารได้ดี ทั้งในแง่ของการสื่อสารโดยการเขียนตอบ เป็นการสื่อสารโดยการเขียนกับอาจารย์ว่าเราเข้าใจเนื้อหาที่เราเรียนมากน้อยแค่ไหนซึ่งคะแนนที่ออกมาก็ขึ้นอยู่กับเรื่องนี้ การที่ TA สามารถเขียนตอบได้ดีเวลาตรวจการบ้านเราก็จะสามารถให้คำแนะนำที่ดีแล้วก็เป็นประโยชน์กับน้องได้ว่าควรสื่อสารอย่างไรบ้าง”
“อีกคุณสมบัติก็คือการบริหารจัดการเวลา เพราะนอกจากบทบาทของนักศึกษาปกติที่ก็ยังคงต้องเรียนต้องสอบในวิชาที่ลงเอาไว้ก็ยังมีบทบาททีเอที่จะมีภาระงานเพิ่มเข้ามา ซี่งงานก็จะมีหลากหลาย แล้วก็ใช้เวลามากน้อยต่างกัน การบริหารจัดการเวลาให้ลงตัวก็เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นที่จะทำให้เราทำทั้ง 2 บทบาทไปด้วยกันได้ดี”
คำถามที่ 4 : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
ภัทรวดี : “ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอจากการตรวจการบ้านคือ น้อง ๆ มักจะเขียนมาสั้น ๆ แทบจะเป็นธงคำตอบมาให้ตรวจเลย ซึ่งมันจะให้เขียนคำแนะนำได้ไม่เยอะ อีกปัญหาคือเรื่องลายมือ จริง ๆ เทอมที่ผ่านมา สามารถพิมพ์ส่งได้นะคะ เพราะเป็นการสอบออนไลน์ แต่ถ้าในเทอมปกติ ถ้าพิมพ์ก็อาจจะทำให้ไม่ได้ฝึกแบบเสมือนจริงแบบตอนสอบ”
คำถามสุดท้าย : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
ภัทรวดี : “ต้องบอกก่อนเลยว่าก่อนจะมาเป็น TA แทบไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับวิชาการของคณะเลย การเป็นผู้ช่วยอาจารย์อย่างแรกเลยคือทำให้ได้ใกล้ชิดกับอาจารย์ในคณะมากขึ้น สามารถพูดคุยปรึกษาทั้งปัญหาข้อกฎหมาย เรื่องเรียน แล้วก็เรื่องอื่น ๆ ได้”
“เรื่องต่อมาก็คือ การตรวจการบ้านก็ยังทำให้ได้แนวการเขียนการเรียบเรียงใหม่ ๆ จากน้อง ๆ ด้วยเหมือนกัน เพราะน้องบางคนทั้งเรียบเรียงดีและใช้สำนวนดีมาก ก็เป็นประโยชน์มากเพราะในเส้นทางการเรียนกฎหมายนอกจากสอบในห้องตอน ป.ตรี ก็ยังมีอีกหลายสนามที่เราต้องใช้ทักษะการเขียนตอบข้อสอบ นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องทักษะการบริหารจัดการเวลา การสื่อสารกับผู้ใหญ่ ซึ่งทุกอย่างก็ถือว่าคุ้มค่ามากที่ตัดสินใจลองสมัครมาทำงานนี้ค่ะ”
ภาพ ภัทรวดี
เรียบเรียง KK