สรัล อร่ามรัศมีกุล นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 59 ปัจจุบันกำลังศึกษาเนติบัณฑิต มีประสบการณ์เข้าร่วมโครงการผู้ช่วยอาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ถึง 6 ครั้ง ได้แก่ วิชาน.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 ภาคปกติ และภาคบัณฑิต / น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย /น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา / น.200 กฎหมายลักษณะหนี้ : หลักทั่วไป และ น.300 กฎหมายลักษณะครอบครัว วันนี้เราจะมาคุยกับสรัลเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใน 3 วิชาที่เปิดสอนในภาคการศึกษานี้คือวิชา น.100 น.200 และน.300
คำถาม (1) : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
สรัล : “ตอนปี 4 ผมเคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในรายวิชา น.100 เซคอาจารย์สมเกียรติ ซึ่งสัมมนาโดย อาจารย์สุประวีณ์ครับ และวิชา น.300 กฎหมายลักษณะครอบครัว เซคอาจารย์มาตาลักษณ์ ซึ่งสัมมนาโดยอาจารย์มาตาลักษณ์เอง และตอนปี 3 วิชา น.200 กฎหมายลักษณะหนี้ เซคอาจารย์มุนินทร์ สัมมนาโดยอาจารย์นาฎนภัสครับ”
“วิชา น.100 ในหลักสูตรของผม (2556) จะเรียนในปี 1 เทอมที่ 1 เพียงวิชาเดียว ในความรู้สึกผมเป็นวิชาที่ยาก แม้เนื้อหาอาจจะไม่ได้ยากขนาดนั้นเมื่อเทียบกับวิชาอื่น ๆ ก็เพราะว่าเป็นการเรียนกฎหมายตัวแรกหลังจากที่เราก้าวข้ามผ่านจากชีวิตเด็กมัธยมเข้ามาสู่ชีวิตมหาวิทยาลัย ผมรู้สึกว่าเป็นวิชาที่มีการปลูกฝังความเป็นนักเรียนกฎหมายเพื่อเป็นพื้นฐานที่จะไปฝ่าฟันกับ 29 วิชาบังคับที่เหลือในคณะ ผมก็ยอมรับตามตรงว่า ตอนเรียนก็ไม่ได้เข้าใจทุกเนื้อหาที่สอน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการบรรยาย แต่พอผมเรียนกฎหมายไปเรื่อย ๆ หลาย ๆ วิชาเข้าไป ผมกลับเข้าใจเนื้อหาของวิชานี้โดยไม่รู้ตัว ก็คือ มันแสดงให้เห็นเลยครับว่า วิธีการใช้กฎหมายหรือนิติวิธีทั้งหลายล้วนถูกปลูกฝังในวิชานี้ มันถูกปลูกฝังไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้เราใช้กฎหมายเป็นครับ ในเรื่องนี้ก็คงจะสอดคล้องกับสิ่งที่อาจารย์ผู้บรรยายในรายวิชานี้ได้เคยกล่าวไว้ว่า จุดมุ่งหมายของวิชานี้ คือ ทำให้ผู้เรียนมีหัวคิดในทางกฎหมายครับ โดยตอนเรียน ผมเรียนกับอาจารย์สมยศและสัมมนาโดยอาจารย์ณัฐสุดา”
“วิชากฎหมายลักษณะหนี้ จากที่ผมได้ไปอ่านหนังสือหรือตํารามาก่อนที่เข้าเรียน ผมรู้สึกว่า วิชานี้เป็นวิชาที่ยากมาก ไม่สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่ายจากตัวบท เนื่องจากตัวบทกฎหมายเป็นกฎหมายที่มีความเก่ามาก แต่พอได้มาเรียนจริง ๆ กับอาจารย์มุนินทร์แล้ว ผมรู้สึกว่าอาจารย์ทำให้เรื่องที่มันเข้าใจได้ยาก ๆ กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย ผ่านการยกตัวอย่างประกอบความเข้าใจ แล้วอาจารย์เองยังสอนให้มีการรู้จักการเชื่อมโยงใช้ตัวบท เนื่องจากวิชานี้เป็นวิชาที่ค่อนข้างจะใกล้ชิดกับวิชานิติกรรมสัญญา มีเนื้อหาบางส่วนที่คาบเกี่ยวกัน ผมรู้สึกว่า การเรียนในวิชานี้สนุกมาก และผมก็ทำคะแนนได้ค่อนข้างดีด้วยในวิชานี้ ก็เลยได้มีโอกาสมาเป็นผู้ช่วยสัมมนาในรายวิชานี้อีกครั้งนึงครับ”
“ส่วนวิชากฎหมายครอบครัว โดยส่วนตัวผมมองว่า เป็นวิชาที่ตัวบทค่อนข้างมากและก็จำค่อนข้างยากนะครับ จะต้องอาศัยความเข้าใจอย่างมากในการคิดวิเคราะห์เพื่อเชื่อมโยงตัวบทที่กระจัดกระจายอยู่ในบรรพ 5 ครับ สำหรับผมเองมองว่า วิชานี้เป็นวิชาที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะวิธีการเขียนตอบที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาก เพราะว่าจะต้องมีความละเอียดในทุก ๆ ประเด็น โดยเรื่องนี้นะครับ ผมก็ได้ฝึกฝนจากการทำข้อสอบเก่า ผมก็พบว่าในข้อเท็จจริงหนึ่ง ๆ ในข้อสอบ มีประเด็นที่หลบซ่อนไว้อยู่มากมาย ซึ่งเราจะต้องหาให้พบและเขียนตอบลงไปในข้อสอบให้ได้”
“โดยส่วนตัวผมค่อนข้างจะโชคดีที่ได้เจออาจารย์และผู้ช่วยสัมมนาที่เป็นรุ่นพี่นักศึกษาด้วยกันที่ดีมากครับ ผมมักจะชอบเขียนตอบข้อสอบอย่างสม่ำเสมอครับ รวม ๆ แล้วเฉพาะปี 1 ผมน่าจะเขียนไปประมาณหลายร้อยแผ่น ซึ่งแม้จะเขียนเยอะขนาดนี้ แต่ถ้าไม่ได้คำแนะนําดี ๆ จากทั้งอาจารย์และผู้ช่วยสัมมนา ผมก็ไม่มีทางที่จะพัฒนาการเขียนได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมขอใช้ช่องทางนี้ฝากขอบคุณนะครับ ไปยังอาจารย์ผู้สัมมนาที่ผมเคารพก็คือ อาจารย์ณัฐสุดาที่ได้ให้ความเมตตาต่อผมเสมอมา สอนผมตั้งแต่พื้นฐาน ให้มีการเรียบเรียงคําตอบอย่างเป็นระบบ ซึ่งหากไม่ได้อาจารย์ ผมคงไม่มีวันนี้อย่างแน่นอน”
“ผมต้องการส่งต่อสิ่งดี ๆ เทคนิคดีๆ ที่ผมเคยได้รับจากการที่เป็นนักศึกษานะครับ หรือจากที่ได้รับมาจากผู้ช่วยสัมมนา หรืออาจารย์สัมมนา ส่งมันต่อให้กับรุ่นน้องรุ่นต่อไป อีกเหตุผลหนึ่งนะครับ คือ ผมมีความสนใจในด้านวิชาการ มีความสนใจอาชีพอาจารย์พอสมควร การมาลองเป็นผู้ช่วยสัมมนา ผมคิดว่าได้ช่วยเสริมสร้างทักษะที่จําเป็นหลาย ๆ อย่างในการเป็นอาจารย์หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการให้คำปรึกษา ทักษะการพูด หรือทักษะอื่น ๆ ที่จําเป็นอย่างการวางตัวครับผม”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
สรัล : “ขอพูดในส่วนของภาพกว้างก่อนนะครับ ผมมักจะคิดอยู่เสมอว่า การเป็นผู้ช่วยสัมมนามันเปรียบได้กับการที่เราใส่ชุดชุดหนึ่งขึ้นมา แล้วเราเดินไปให้คนอื่นดู คนอื่นที่มองเรา อาจจะมองว่า เราใส่ชุดนี้ สวยดี ดูเข้ากับเรามาก แต่ลองคิดในมุมกลับกัน ถ้าคนอื่นลองเอาชุดที่เราใส่ไป ที่เราใส่แล้วสวยไปลองใส่มันบางทีมันก็อาจจะไม่สวยก็ได้ ตรงนี้แหละครับเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมพยายาม จะสอนผ่านคอมเมนต์ในการบ้านที่น้อง ๆ ส่งมาเสมอว่า ให้พยายามตัดชุด หรือหาชุดของตัวเองที่ใส่แล้วสวยให้เจอ ไม่ใช่เห็นว่า คนอื่นใส่ชุดนี้สวย แล้วเราไปใส่ตาม บางทีเราอาจจะใส่ไม่สวยก็ได้ คือหาทางที่ตัวเองถนัดที่สุด โดยผมจะเป็นคนแค่แนะแนวทางเพื่อให้งานที่น้องเขียนออกมาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยจะไม่ไปเปลี่ยนสไตล์การเขียนของน้องโดยเด็ดขาด”
“ในรายละเอียด วิชา น.100 จะเป็นการตรวจการบ้านตามที่อาจารย์ได้ให้ห้องเรียน โดยแบ่งกับเพื่อนร่วมงานอื่น ๆ อีก 2 คน โดยอาจารย์จะจัดกลุ่มนักศึกษาที่จะตรวจให้ไว้แล้ว โดยจะเรียงเป็นเลขมาว่า ลำดับที่ 1-10 ให้คนนี้ตรวจ คือแบ่งอย่างชัดเจน เราจะได้มีโอกาสได้ตรวจคนเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งทำให้เราได้เห็นพัฒนาการในด้านการเขียนตอบของตัวน้อง ๆ เอง ที่ได้ส่งมาในทุกสัปดาห์ ในส่วนของเนื้อหานอกจากจะต้องดูเนื้อหาที่เขียนมาแล้วว่ามี ความถูกต้องหรือไม่ มีความครบถ้วนเพียงพอที่จะตอบข้อสอบหรือไม่ เราก็ยังต้องมีหน้าที่ดูด้วยว่าการเรียบเรียงคําตอบนั้นทำมาอย่างเป็นระบบหรือไม่ เป็นงานที่ท้ายทาย ในเวลาที่จํากัดกับการพัฒนาทักษะสองอย่างนี้ของน้อง ๆ ไปพร้อมกัน ส่วนแพลตฟอร์มการตรวจ จะเป็นการตรวจผ่านช่องทาง Google Classroom ซึ่งตรงนี้มีประโยชน์คือ เราจะได้เห็นสถิติทั้งหมดว่า มีน้องคนไหนส่งไม่ส่ง กี่ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อเป็นออนไลน์ทำให้น้อง ๆ มีการทักมาถามในช่องทางการติดต่อส่วนตัว ทำให้คำแนะนําทั้งหลาย จากที่ผ่านมาเป็นระบบ Analog เหมือนสมัยก่อนที่เขียนลงไปในกระดาษ น้องอาจจะไม่เข้าใจคำแนะนำที่เราเขียนไปให้ก็ได้”
“ส่วนของวิชาน.200 เนื่องจากผมก็ได้เรียนในเซคนี้ ซึ่งตรงนี้เองก็จะเป็นประโยชน์ เพราะว่าทำให้ผมค่อนข้างจะเข้าใจความรู้สึกในการเรียนกันพอสมควร หากมองในภาพรวมวิชานี้ จะเป็นวิชาปี 2 การบ้านที่ตรวจจะลดน้อยลง ถ้าเทียบกับวิชาปี 1 ลดลงอย่างน่าใจหายครับ แต่ฝีมือการเขียนตอบ ลีลาการเขียนตอบดีขึ้นกว่าสมัยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 อย่างชัดเจน ทำให้รูปแบบการตรวจจะเป็นในแนวลักษณะการแนะนำเพิ่มเติม เพื่อให้มีการตอบมีความครบถ้วน สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อาจจะเป็นลักษณะการแนะนำเรื่องการใช้คําต่าง ๆ คำอธิบายต่างๆ เพื่อจะเพิ่มคะแนน ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว การเขียนของเด็กปี 2 เหมือนมีดสั้น คือ เป็นมีดที่คมครับ แต่ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้นอกจากไปทําอาหาร คำแนะนําของผู้ช่วยสัมมนา ถ้าเปรียบเทียบแล้วก็คือ ทำยังไงก็ได้ให้มีดสั้นนั้นกลาย เป็นดาบที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น”
“วิชาน.300 เป็นวิชาปี 3 รูปแบบโดยภาพรวมก็จะ คล้าย ๆ กับวิชาหนี้ ก็คือ การบ้านก็จะส่งน้อยลง แต่ว่าการเขียนก็จะดีขึ้น แต่เนื่องจากวิชานี้อาจารย์ผู้บรรยายเองเป็นผู้สัมมนาด้วย ทำให้จะไม่มีคาบสัมมนาโดยเฉพาะ แต่จะมีเป็นการตะลุยโจทย์กันในคาบสุดท้ายของการเรียนเท่านั้น ซึ่งอาจารย์มาตาลักษณ์ ก็จะสอนวิธีการเขียนตอบในช่วงของการตะลุยโจทย์ข้อสอบไปในตัว ซึ่งตรงนี้สำคัญมากครับ ถ้าหากเราเข้าใจถึงสไตล์การเขียนตอบที่อาจารย์ต้องการนำเสนอแล้ว ในตรงนี้ผมมองว่า การเขียนตอบเองคล้ายกับการนําเสนอความคิด หากเรานําเสนอความคิดในรูปแบบตามที่อาจารย์ต้องการหรือชื่นชอบแล้ว ผมมองว่า อาจารย์ท่านจะมีความพอใจและก็มีโอกาสที่จะได้คะแนนสูงก็อาจจะมีตามครับ ตรงนี้ผมมองว่าคล้ายกับ สํานวนไทยที่ว่า ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอนครับ และเนื่องจากอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ค่อนข้างจะซับซ้อน มีมาตราค่อนข้างเยอะและก็เชื่อมโยงกัน ตัวอาจารย์ผู้บรรยายเองยังจัดคลาสพิเศษที่ให้น้อง ๆ Walk In เข้ามาปรึกษาก่อนสอบในเนื้อหาของวิชาหรือแม้กระทั่งวิธีการเขียนตอบอีกด้วย ตรงนี้ผมมองว่าดีมาก ซึ่งน่ามีการจัดในหลาย ๆ วิชา”
“ความแตกต่างกันระหว่างการเป็นผู้ช่วยสัมมนาในหลักสูตรใหม่กับหลักสูตรเก่าก็คือในหลักสูตรใหม่นักศึกษาเองจะต้องสอบทั้งกลางภาคและปลายภาค รวมถึงมีการทำ Take Home ด้วย แต่การสัมมนากลับเริ่มในไม่กี่สัปดาห์ก่อนสอบกลางภาค ทำให้นักศึกษามีความตื่นตัวกัน โดยมีการส่งการบ้านมาอย่างมาก แต่เมื่อพ้นการสอบกลางภาคไปแล้ว การส่งการบ้านลดลงอย่างมาก ซึ่งตรงนี้จะต่างจากหลักสูตรเก่าที่มีเฉพาะการสอบปลายภาคอย่างเดียว 100 คะแนนเท่านั้น การส่งในครั้งแรก ๆ จะน้อยมาก แต่พอใกล้สอบ ๆ ช่วงท้าย ๆ ของการสัมมนา จะมีการส่งค่อนข้างมาก”
คำถาม (3) : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
สรัล : “อย่างแรกที่ควรจะมีคือ ความถูกต้องในเนื้อหาที่มีการเรียนครับ เพราะว่าเวลาที่เราไปแนะนำ เราไม่ได้แนะนำเฉพาะวิธีการเขียนอย่างเดียว เราต้องแนะนำเนื้อหาด้วย ตรงนี้เองผมเลยมองว่า ผู้ช่วยสัมมนาเองไม่จำเป็นว่าเขาจะเคยเป็นคนที่ได้คะแนนสูงในวิชานั้นมาก่อน แต่เป็นเพียงคนที่มีความถูกต้อง ความชัดเจนในเนื้อหาสำหรับการสัมมนาในวิชานั้น ๆ ครับ”
“แล้วก็ทักษะที่สอง ผมคิดว่าเป็นทักษะในการให้คำแนะนำ การที่จากเด็กเปลี่ยนมาเป็นผู้ใหญ่คือมาเข้ามหาวิทยาลัย บางคนอาจจะไม่เคยได้รับคำแนะนำในลักษณะนี้มาก่อน น้อง ๆ บางคนเองอาจจะไม่คุ้นชินกับการโดนว่าอย่างนี้ ผมเข้าใจเลยครับว่า น้อง ๆ บางคนเคยมาปรึกษากับผมว่า ตอนที่เรียนเขาเป็นคนที่เรียนได้ดี ได้เก่งมาก แต่พอมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ เวลาส่งการบ้าน ทำไมเขาถึงผิดได้ขนาดนี้ ทำไมเขาถึงได้ปากกาแดงขนาดนี้ ผมก็เลยแนะนำไปว่า จริง ๆ แล้วยิ่งผิดเยอะ ยิ่งมีปากกาแดงเยอะ ผมให้เขามองอีกมุมว่า มันเป็นการสะท้อนข้อผิดพลาดในตัวว่า ในงานเขียนมีข้อบกพร่องนะคือ มันอาจจะไม่ผิด แต่ว่ามันอาจจะไม่ได้ดีที่สุด หน้าที่ของผู้ช่วยสัมมนาเองคือ แนะนำทำให้งานเขียนนั้นพัฒนาไปสู่จุดที่ดี ดีที่สุด คือ ผิดพลาดวันนี้ได้ แต่ว่าห้ามไปผิดพลาดในวันสอบ”
“อีกอย่างผมคิดว่าน่าจะเป็นทักษะการติดต่อ ทักษะในการสื่อสาร เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ผู้ช่วยสัมมนาเองก็ไม่ต่างจากการที่เราเป็นสื่อกลางระหว่างอาจารย์กับตัวนักศึกษาผู้เข้าร่วมการสัมมนา เราจะต้องแปลงสารที่อาจารย์ต้องการมาให้น้อง ๆ เข้าใจให้ได้ด้วย ตรงนี้สำคัญมาก”
คำถาม (4) : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
สรัล : “ข้อแรก ผมว่าน่าจะเป็นในเรื่องของทักษะการเรียบเรียงการตอบ โดยเฉพาะนักศึกษาในชั้นปีที่ 1 แม้เราจะมีวิชาที่มีการสอนเขียนตอบไว้โดยเฉพาะอย่างวิชา น.160 แล้ว ซึ่งในมุมมองของผม ผมมองว่า ทักษะการเขียนตอบจะต้องอาศัยเวลามากพอสมควรครับ โดยเฉพาะนักศึกษาปี 1 ซึ่งไม่เคยมีพื้นฐานในการเขียนงานในทางกฎหมายมาก่อน จะต้องมีการฝึกฝนเป็นจำนวนมากและมีการผ่านคอมเมนต์เป็นจำนวนมากเช่นกันจากผู้อ่านผู้ตรวจ เพื่อที่จะพัฒนาทักษะการเขียนตอบอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง”
“ข้อสอง ผมคิดว่านักศึกษาจำนวนมากค่อนข้างที่จะติดกับดักอยู่มากคือ ต้องการให้ผู้ช่วยสัมมนาช่วยเก็งข้อสอบว่า ในวิชานั้นจะออกเรื่องใดบ้างมาตราใดบ้าง ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดอย่างยิ่ง ทั้งที่ตามความเป็นจริงการเรียนกฎหมายในรายวิชาหนึ่ง ๆ เราควรจะต้องมีความสามารถในการทำความเข้าใจในการ เชื่อมโยงเนื้อหาที่ได้มีการเรียน ซึ่งหากเราสามารถเข้าใจในจุดนี้ได้แล้ว การเก็งมาตราหรือหัวข้อที่ออกข้อสอบ ก็ไม่ได้จําเป็นแต่อย่างใด”
“ข้อสุดท้ายนะครับ ผมคิดว่า นักศึกษาจำนวนมากยังคงติดกรอบว่าการเพียงตอบจะต้องเขียนตาม Pattern ที่รุ่นพี่ได้เคยเขียนไว้ โดยเฉพาะเขียนตามชีทที่ขายตามร้านถ่ายเอกสาร ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะว่ามันทำให้นักศึกษาติดกรอบการเขียนแบบเดียวกัน ไม่สามารถพัฒนาเป็นการเขียนในรูปแบบของตนได้ แต่เป็นการเขียนตามความเข้าใจของผู้อื่นเท่านั้น ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ถูกต้องเพราะผู้ฟังเป็นผู้ฟังคนละคน อาจจะมีความผิดพลาดได้ โดยเฉพาะชีทบางฉบับ เอกสารบางฉบับเก่ามาก เนื้อหาในการเรียนย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คือ ไม่ทันสมัยนั่นเอง แต่จริง ๆ หากเรามองในมุมกลับกันไม่ใช่ว่า ชีทดังกล่าวนั้นจะไม่มีคุณค่าเสียทีเดียว เพราะเอกสารดังกล่าวนั้นก็ได้ถูกเขียนขึ้นโดยเหล่ารุ่นพี่ที่มีความสามารถสูง ทำให้เราสามารถที่จะเห็นถึงข้อผิดพลาดในงานเขียนของเขา รวมไปถึงสไตล์การเขียนที่อาจารย์ผู้บรรยายชื่นชอบ ทำให้เราสามารถพัฒนางานเขียนของเราให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีก ตรงนี้ผมจึงสรุปได้ว่า อาจใช้ชีทเป็นอุปกรณ์เสริมที่ทำให้งานเขียนของเรามีความสมบูรณ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
สรัล : “สำหรับสิ่งที่ผมได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมผู้ช่วยสัมมนามีมากมาย ข้อแรก ผมได้มีโอกาสฝึกทักษะหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการพูด ทักษะในการฟัง หรือทักษะในการแนะนํา หรือทักษะอื่น ๆ ซึ่งทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่จําเป็นสำหรับการเป็นนักกฎหมายหรือการที่จะมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้อย่างอาจารย์ในอนาคตครับ ต้องขอเท้าความก่อนเลยว่า จริง ๆ แล้ว ผมเป็นคนที่พูดไม่ค่อยเก่ง ยังพูดไม่เป็นด้วย ดังนั้นเอง กิจกรรมนี้ทำให้ผมเองได้มีโอกาสพัฒนาทักษะในด้านนี้เป็นอย่างมากครับ ทำให้ผมเรียกได้ว่าก้าวกระโดดเลยครับ”
“ข้อสองผมได้มีโอกาสทบทวนความรู้ที่ได้เรียนมา ซึ่งหากไม่มีโอกาสได้ไปเป็นผู้ช่วยสัมมนา ผมคงจะไม่ได้ เปิดเลคเชอร์ที่ตัวเองจดไว้ตั้งแต่ตอนเรียนเลย”
“ข้อสาม บทบาทความเป็นผู้ช่วยสัมมนานั้นไม่ได้มีแต่การเป็นผู้ให้ความรู้หรือคำแนะนําเท่านั้น แต่การเป็นผู้ช่วยสัมมนานั้นยังเป็นการทบทวนตัวเองและได้เรียนรู้จากการตรวจการบ้านที่ได้ส่งมา ผมกล้าพูดกับอาจารย์ได้เลยครับว่า น้อง ๆ บางคนที่ผมได้ตรวจการบ้านนั้น สามารถเขียนตอบได้ดีกว่าตัวผมซึ่งเรียนอยู่ในชั้นปีที่ 3 หรือ 4 ในขณะนั้นซะด้วยซ้ำ ตรงนี้ล่ะครับ ทำให้ผมก็ได้ทักษะหรือเทคนิคการเขียนตอบ วิธีการเรียบเรียงจากน้อง ๆ คนที่ผมตรวจเอง เพื่อนำไปปรับใช้พัฒนางานการเขียนตอบของผมในอนาคตก้ได้ครับ”
“ข้อสี่ ในความคิดผมบทบาทของผู้ช่วยสัมมนาเป็นสื่อกลางที่เชื่อมต่อความต้องการของอาจารย์ผู้สอนหรือผู้สัมมนา ให้ไปถึงตัวนักศึกษาผู้เข้าร่วมรับการสัมมนาครับ ผ่านการตรวจการบ้าน เช่น ผมจะยกตัวอย่างจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ในการประชุมก่อนที่จะสัมมนา อาจารย์จะพูดกําชับเรามาว่า ความเห็นของอาจารย์ผู้บรรยายเป็นเช่นนี้ เราก็จะนําความเห็นตรงนี้ไปแนะนําน้อง ๆ ต่อในงานเขียนที่น้อง ๆ ส่งมาเป็นการบ้าน แม้ตัวน้อง ๆ จะเขียนมาไม่ตรงกับความเห็นของอาจารย์ผู้บรรยาย ผมก็จะแนะนําไปว่าน้อง ๆ สามารถทำได้ สามารถที่จะไม่ตอบตามความเห็นของอาจารย์ผู้บรรยายก็ได้ แต่น้อง ๆ จะต้องนําเสนอความเห็นของผู้บรรยายด้วยไปในข้อสอบ แล้วน้องค่อยเลือกว่าน้องจะเลือกความเห็นที่น้องต้องการเพราะเหตุใด และไม่เห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์ผู้บรรยายเพราะเหตุใด ตรงนี้เองก็จะได้คําตอบที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อันนี้ก็คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงครับ”
“สุดท้ายนี้ ผมก็อยากจะฝากถึงน้อง ๆ ที่สนใจงานในทางด้านวิชาการ ให้ลองมาสมัครเป็นผู้ช่วยสัมมนาดูนะครับ ประสบการณ์ทำงานอย่างนี้หาไม่ได้แล้วครับ นอกจากจะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีเท่านั้น ทักษะที่เราจะได้รับกลับมาจากการทำงานมากมาย สำคัญไปกว่านั้น เราจะได้พัฒนาทักษะในการเข้าสังคมและการทำความเข้าใจนักศึกษาในแต่ละรุ่นด้วย รวมไปถึงเราเองได้มีโอกาสพูดคุย ทำความรู้จักกับอาจารย์ที่สัมมนาในรายวิชานั้น ๆ เพื่อพูดคุยสอบถามในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น การเรียน การเรียนต่อ หรือเรื่องอื่น ๆ ยังไงก็ขอฝากไว้เท่านี้นะครับ ก็มาสมัครเป็นผู้ช่วยสัมมนากันเยอะ ๆ นะครับ”
ภาพ สรัล
เรียบเรียง KK