นัฐรินทร์ จำนงค์วัฒน์ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 59 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมาย มีประสบการณ์เข้าร่วมโครงการผู้ช่วยอาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ถึง 5 ครั้ง ในวิชา น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 ภาคปกติ /น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา / น.210 กฎหมายอาญา – ภาคทั่วไป / น.111 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด และ น.203 กฎหมายลักษณะครอบครัว วันนี้เราจะมาคุยกับนัฐรินทร์ เกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในหลากหลายวิชา
คำถาม 1 : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
นัฐรินทร์ : “สำหรับการเข้าเป็นผู้ช่วยอาจารย์นั้น ได้เริ่มจากตอนอยู่ปีสาม เป็นผู้ช่วยอาจารย์วิชา น.160 ที่เป็นวิชาที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้ฝึกฝนการเขียน ขณะนั้น หนูได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยท่านอาจารย์ลลิล ซึ่งตอนเรียนวิชานี้เห็นว่า วิชานี้มีส่วนสำคัญในการช่วยฝึกฝนรูปแบบการเขียนเพิ่มเติมจากในห้องเรียน และได้ฝึกสืบค้นข้อมูลทางกฎหมายด้วย จึงสนใจที่จะเป็นผู้ช่วยในวิชานี้”
“นอกจากวิชา น.160 ตอนอยู่ปีสามก็ยังเคยเป็นผู้ช่วยวิชากฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กลุ่มอาจารย์ศนันท์กรณ์ อาจารย์มุนินทร์ สัมมนาโดยอาจารย์นาฎสภัส และกฎหมายอาญา – ภาคทั่วไป กลุ่มอาจารย์สุรศักดิ์ อาจารย์ปกป้อง สัมมนาโดยอาจารย์คงสัจจา และตอนปีสี่เป็นผู้ช่วยวิชากฎหมายอาญา : ภาคความผิด กลุ่มอาจารย์ณรงค์ อาจารย์สาวตรี สัมมนาโดยอาจารย์เพียรรัตน์และ วิชากฎหมายลักษณะครอบครัว กลุ่มอาจารย์มาตาลักษณ์ค่ะ”
“ความรู้สึกตอนเรียน ในส่วนวิชานิติกรรมนั้น ตอนที่เรียนกับท่านอาจารย์มุนินทร์ ซึ่งในตอนนั้นท่านอาจารย์สัมมนาด้วยตนเอง ทำให้ได้เรียนอย่างเต็มที่ ท่านอาจารย์สอนให้เข้าใจตัวบท ทำให้สามารถจำหลักแและเนื้อหาได้ทันทีที่เรียนและเป็นวิชาที่รู้สึกเรียนแล้วสนุก ตัวบทเชื่อมโยงกัน มีเหตุและผลที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของเรา จึงรู้สึกสนุกกับวิชานี้มาก”
“ในส่วนกฎหมายอาญาทั้งภาคทั่วไปและภาคความผิดนั้น ได้เริ่มเรียนภาคทั่วไปก่อนกับท่านอาจารย์ทวีเกียรติและท่านอาจารย์มาตาลักษณ์ ในช่วงที่เรียนนั้น ตัวบทค่อนข้างแปลกใหม่ แตกต่างจากเรื่องแพ่งที่เคยเรียน อีกทั้งรูปแบบการเขียนอธิบายเองก็ต้องคำนึงถึงโครงสร้างความรับผิดที่ต้องมีกระบวนการขั้นตอนในการอธิบายทีละสเต็ป และต้องเขียนองค์ประกอบให้ครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งการฝึกเขียนตอบในส่วนภาคทั่วไป ส่งผลให้การเรียนและเขียนตอบภาคความผิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในส่วนภาคความผิดได้มีโอกาสเรียนกับท่านอาจารย์สาวตรีและท่านอาจารย์ณรงค์ พร้อมกันนี้การเข้าเรียนกับอาจารย์สัมมนาโดยอาจารย์คงสัจจา ทำให้การเรียนและทำความเข้าใจกฎหมายอาญาภาคความผิดสนุกยิ่งขึ้น ท่านอาจารย์สอนให้เห็นภาพความเป็นจริงว่าไม่เพียงแต่ปรับองค์ประกอบตัวบทเท่านั้น แต่ต้องใส่เหตุผลเพื่อสนับสนุนด้วย เพราะกฎหมายอาญามีลักษณะพิเศษ หากวินิจฉัยสิ่งใดย่อมต้องอยู่บนหลักการที่มีเหตุผลสนับสนุนอย่างหนักแน่น”
“ส่วนวิชาครอบครอบครัวนั้น เรียนกับท่านอาจารย์มาตาลักษณ์ โดยวิชานี้เนื้อหาและตัวบทค่อนข้างเยอะและมีรายละเอียดปลีกย่อยมตามแนวฎีกาค่อนข้างมาก แต่เป็นเนื้อหาที่เข้าใจได้ ไม่ซับซ้อนมากจนเกินไป และอาจารย์ได้อธิบายฎีกาและให้เหตุผลพร้อมทั้งเล่าข้อเท็จจริงประกอบทำให้เข้าใจได้รวดเร็วตั้งแต่ในห้องเรียน วิชานี้แม้เนื้อหาจะเยอะแต่ก็เข้าใจหลัก จำเป็นระบบได้”
“เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากตอนที่เรียนชั้นปี 1 นั้น ค่อนข้างกังวลเรื่องการเขียนตอบ แต่มีโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา ที่มีพี่ ๆ ในชั้นปี 3 และ 4 มาช่วยตรวจรูปแบบการเขียนและให้คำแนะนำต่าง ๆ ทำให้รู้สึกว่าโครงการนี้มีประโยชน์มาก อีกทั้งนอกจากจะเป็นการฝึกฝนและพัฒนาตัวเราให้ดียิ่งขึ้น ยังสามารถช่วยให้น้อง ๆ พัฒนาทักษะทางการเขียนได้ดีขึ้นอีกด้วย หากได้เห็นงานเขียนของผู้อื่นก็ยังเป็นประโยชน์ที่สามารถนำมาปรับใช้กับตนเองได้ด้วย และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ การได้มีโอกาสร่วมงานกับท่านอาจารย์ผู้สอน จึงทำให้อยากร่วมโครงการที่จะได้รับประสบการณ์การทำงานจากท่านอาจารย์ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่หายากมาก ๆ”
คำถาม 2 : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
นัฐรินทร์ : “ท่านอาจารย์ทุกท่านมักจะให้เข้าเรียนในห้องพร้อมกับน้อง ๆ เพื่อให้เราได้ทบทวนประเด็น และสามารถช่วยตอบคำถามของนักศึกษาได้ และทราบว่าในห้องท่านอาจารย์ได้สอนเนื้อหาส่วนไหน เน้นประเด็นอะไร และในส่วนการตรวจอาจารย์จะแนะนำวิธีการพิจารณารูปแบบการเขียน หรือวิธีการแนะนำ ซึ่งวิชาในส่วนแพ่งทั้งนิติกรรมและครอบครัว ท่านอาจารย์ได้ให้น้อง ๆ เข้ามาสอบถามเพิ่มเติมหลังจากที่อ่านคอมเมนต์ไปแล้ว เพื่อให้ผู้ช่วยได้อธิบายหลักและเหตุผลให้น้องสามารถเข้าใจได้มากขึ้น ส่วนภาคกฎหมายอาญานั้น ท่านอาจารย์จะพยายามให้เน้นไปที่การเข้าใจเนื้อหาเพื่อนำมาตอบข้อสอบได้ถูกต้อง ท่านอาจารย์จึงพยายามให้กลับไปทบทวนเนื้อหาตามที่อาจารย์สอน และมีการแบ่งงานกันตรวจ ซึ่งท่านอาจารย์จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่งตามลักษณะการตรวจ พร้อมทั้งให้ทำสรุปประเด็นภาพรวมที่เป็นข้อสังเกตจากการตรวจเพื่อให้น้อง ๆ ได้ทราบด้วย”
คำถาม 3 : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
นัฐรินทร์ : “อย่างแรก คิดว่าต้องมีความละเอียดในการอ่านและทำความเข้าใจ เนื่องจากรูปแบบการเขียนตอบแต่ละท่านไม่เหมือนกัน จึงต้องมีความละเอียดและพยายามเข้าใจ พิจารณาไปทีละประโยค บางครั้งเนื้อหาคำตอบที่เขียนอธิบายมาเป็นอย่างหนึ่ง แต่สรุปคำตอบเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าอ่านแต่คำตอบอย่างเดียวก็จะทำให้การตรวจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร”
“นอกจากนี้ คิดว่าต้องใช้ความอดทนและความรวดเร็ว เนื่องจากปริมาณการตรวจค่อนข้างเยอะ หากตรวจช้าอาจทำให้ท่านอาจารย์ไม่มีเวลาอธิบายน้อง ๆ และเห็นภาพรวมว่าส่วนใหญ่แล้วนักศึกษามีเกณฑ์การเขียนระดับใด และด้วยลายมือของนักศึกษา อาจต้องใช้ความพยามยามในการอ่านเพราะทุกประโยคมีความสำคัญเป็นคะแนนได้”
คำถาม 4 : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
นัฐรินทร์ : “ส่วนใหญ่แล้วไม่ว่าจะเป็นการเขียนตอบทั้งส่วนแพ่งหรืออาญา มักจะมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจเนื้อหาก่อน หากนักศึกษายังไม่แม่นหลักกฎหมาย ยังไม่เข้าใจเนื้อหา ย่อมส่งผลต่อธงคำตอบและการเขียนตอบในเรื่องของการให้เหตุผล ที่มักจะเขียนแต่ตัวบท แต่ไม่อธิบายองค์ประกอบ ความเชื่อมโยงของเนื้อหาแต่ละส่วน ลำดับการเขียนตอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้การฝึกเขียนบ่อย ๆ เพิ่มเติม รวมไปถึงการเขียนให้น้ำหนักในแต่ละประเด็น บางประเด็นที่สำคัญกลับเขียนอธิบายมาน้อย หรือเขียนมาแต่ธงคำตอบ”
คำถาม 5 : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
นัฐรินทร์ : “การเข้ามาเป็นผู้ช่วยนั้น จะต้องทบทวนความรู้และทำความเข้าใจเรื่องที่กำลังจะแนะนำน้อง ๆ อยู่เสมอ ทำให้ได้มีโอกาสทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้ว และได้ทำควาทำเข้าใจเพิ่มเติมด้วย”
“นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสเรยนรู้การทำงานจากท่านอาจารย์ ว่าการทำงานเป็นอย่างไร ต้องอาศัยทักษะอะไรบ้างและจะพัฒนาทักษะนั้นอย่างไร ได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์ดี ๆ จากท่านอาจารย์หลายท่าน”
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการได้เรียนรู้ทักษะของตนเองและพัฒนาไปพร้อมกับน้อง ๆ บางครั้งเราได้ประโยชน์จากรูปแบบการเขียนดี ๆจากน้อง ๆ และนำมาใช้กับตนเอง เป็นตัวอย่างที่ดี รวมทั้งได้หลักคิดจากการได้คุยกับน้อง ๆ และยังได้มีโอกาสรู้จักน้อง ๆ และเพื่อนร่วมงานด้วยกันมากขึ้น มีสังคมใหม่ในคณะเพิ่มขึ้น คิดว่าในส่วนนี้ เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากที่ไหน การเป็นผู้ช่วยจึงเป็นประสบการณ์ที่สนุกเสมอทุกครั้งที่ได้ทำค่ะ”
ภาพ นัฐรินทร์
เรียบเรียง KK