คุยกับฐานันดร์ ฤกษ์ดี กับประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิชา น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 / น.110 กฎหมายอาญา : ภาคทั่วไป และน.230 เอกเทศสัญญา 1 ศูนย์ลำปาง
คำถาม (1) : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
ฐานันดร์ : “วิชาน.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 ตอนภาค 1/2561 และภาค 1/2562 กฎหมายอาญา : ภาคทั่วไป ในภาค 1/2561 และเอกเทศสัญญา 1 ในภาค 2/2561 ครับ”
“ความรู้สึกตอนเรียน ความรู้สึกตอนเรียนต้องกล่าวก่อนว่าวิชาที่เป็น TA วิชาแรกคือการเขียนทางกฎหมาย 1 ความรู้ที่ใช้ส่วนมากจะเกี่ยวกับวิชา น.100 และ น.201 กฎหมายอาญาภาคทั่วไป ครับ ตอนเรียนวิชา น.100 ผมเรียนกับท่าน รศ.สมยศ เชื้อไทย และ อ.ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล สัมมนาโดย อ.วรรษมน คุณอมรพงศ์ และ อ.สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ ครับ ยอมรับตอนเรียนผมเองก็ยังหาแนวทางเรียนกฎหมายแบบลองผิดลองถูกอยู่ครับว่าจะต้องเรียนยังไง ผมอาศัยการเข้าเรียนในห้องบรรยาย ยอมรับเลยว่าเรียนไม่รู้เรื่อง จับประเด็นไม่ได้ แต่พอมีคาบสัมมนาก็ช่วยให้ผมจัดลำดับความคิด โครงสร้างบทเรียนได้เป็นอย่างดี นอกจากเรียนผมยังอ่านหนังสือเอง เขียนสรุปบทเรียนประกอบกับหัดเขียนสัมมนาให้ได้จำนวนเยอะ ๆ ครับ น.100 นี่เขียนไปสัก 50 ข้อขึ้นไปได้เลย เพราะตอนสอบพรีเทสต์ที่จัดโดย กน.ศูนย์ลำปางผมได้คะแนนในระดับ F เลย หลังจากนั้นผมเลยมุ่งมั่นในการเขียนตอบจนส่งสัมมนาได้ระดับ A และ B+ ก็ภูมิใจแต่ก็ต้องพัฒนาฝีมือตัวเองต่อ หัดเขียนจนวันสอบเลยครับ กล่าวได้ว่าน.100 นี่ทำได้ดีเพราะการสัมมนาเลยครับ”
“วิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไป บรรยายโดย ศ.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล และ ผศ.ดร.ตามพงศ์ ชอบอิสระ ครับ วิชานี้หลักสูตรที่ผมเรียน ปี 2556 จะได้เรียนตอน ปี 2 ซึ่งผมเริ่มจับทางได้ว่าวิธีการเรียนที่ผมถนัดคือจดเลคเชอร์ในห้อง แล้วอ่านหนังสือในประเด็นที่ไม่เข้าใจ วิชานี้ไม่ยากครับ ต้องอาศัยความเข้าใจเป็นหลักกับความเฉียบคมในการเขียนตอบ ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นคนที่ไม่ค่อยถนัดวิชาสายอาญาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว วิชานี้เลยอาศัยความพยายามเยอะหน่อย ตอนเรียนท่านอาจารย์สอนสนุกดีครับ มีปัญหาให้คิดตามตลอด ส่วนการเตรียมสอบผมก็ใช้วิธีเขียนสัมมนาส่งเป็นหลักครับ เพื่อให้รู้จุดบกพร่องของตัวเอง จุดหักหรือเพิ่มคะแนนในการเขียนตอบต่าง ๆ ครับ”
“วิชาเอกเทศสัญญา 1 บรรยายโดย ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร และ ผศ.ดร.กรศุทธ์ ขอพ่วงกลาง วิชานี้ที่ศูนย์ลำปางขึ้นชื่อว่าเป็นวิชาหินเลยครับ เรื่องจากมีนักศึกษาสอบไม่ผ่านและตกค้างอยู่มาก ตอนเรียนผมเองใช้วิธีเข้าฟังคำบรรยายและจดเลคเชอร์ในห้องเรียนอย่างเดียวเลยครับ อาจารย์สอนสนุกมีประเด็นให้น่าขบคิดซึ่งพบเจอในชีวิตประจำวันหรือจากข่าว แม้กระทั่งคลิปไวรัลทางอินเตอร์เน็ตก็มีประเด็นกฎหมายที่น่าสนใจให้ขบคิด อาจารย์จะมีแนวความเห็นการตีความค่อนข้างต่างกับตำราโดยทั่วไป แต่อาจารย์จะบรรยายให้ฟังในทุกแนวความเห็น การสอนก็จะมีการเชื่อมโยงหลักกฎหมายไปวิชาอื่น ๆ เช่น หนี้หรือนิติกรรมสัญญาไม่เรียนเฉพาะความรู้ในวิชาเอกเทศสัญญา 1 เพียงอย่างเดียว วิชานี้ถือเป็นวิชาที่น่าสนใจ สนุก คุ้มค่ากับการเข้าเรียนครับ ถือเป็นหนึ่งในวิชาที่ผมชอบที่สุดจากการเรียนในระดับปริญญาตรีครับ”
“และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ผมมีความสนใจในงานวิชาการการพอสมควรครับ และมีความสนใจในอาชีพอาจารย์ด้วย ประกอบกับอยากส่งต่อสิ่งที่ผมได้รับจากการเรียน การเขียนตอบของผมให้น้อง ๆ เพื่อน ๆ ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ นอกจากนี้ยังคิดว่าการเป็นผู้ช่วยอาจารย์ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผมได้ทบทวนความรู้ในวิชาที่เคยเรียนผ่านไปแล้วด้วยครับ”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
ฐานันดร์ : “ส่วนใหญ่เป็นการทำงานร่วมกับอาจารย์ในการตรวจการบ้านให้นักศึกษาที่อาจารย์มอบหมายให้ทำในคาบสัมมนาครับ โดยหลักผมจะเป็นผู้ตรวจตามแนวคำตอบของอาจารย์ซึ่งอาจารย์จะส่งให้เราครับ โดยนักศึกษาแต่ละคนจะมีแนวทางในการเขียนตอบต่างกัน ผมจะเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้อง ความครบถ้วนของประเด็นคำตอบ รวมถึงแนะนำแนวทางในการเขียนหรือให้คำแนะนำในประเด็นที่ตกหล่น ถ้านักศึกษาไม่เข้าใจประเด็นไหนก็จะเขียนคำแนะนำเบื้องต้นให้พร้อมกับอาจแนะนำหนังสือหรือบทความหรือเลคเชอร์ของอาจารย์ให้เขาศึกษาเพิ่มเติมครับ เมื่อจบภาคการศึกษาอาจารย์ก็จะเลี้ยงอาหาร 1 มื้อ แต่เนื่องด้วยอยู่ศูนย์ลำปางเลยเวลาไม่ค่อยตรงกับอาจารย์ จนถึงตอนนี้เวลาก็ยังไม่ตรงไม่ได้นัดกับอาจารย์เลยครับ (หัวเราะ)”
คำถาม (3) : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
ฐานันดร์ : “ประการแรก ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาในวิชานั้นเป็นอย่างดี รู้ทั้งแนวความเห็นของอาจารย์ผู้สอนและความเห็นทางตำราต่าง ๆ เพื่อที่จะได้นำมาตรวจการบ้านได้อย่างถูกต้อง และสามารถแนะนำประเด็นปัญหาของนักศึกษาในการเขียนตอบได้
“ประการที่สอง คือ ต้องเป็นผู้ที่สามารถจัดสรรเวลาในการทำงานได้ เนื่องจากการตรวจสัมมนาค่อนข้างใช้เวลามาก ไม่ใช่เพียงให้คะแนนแต่เราต้องเขียนแนะนำข้อผิดพลาด บางฉบับผมใช้เวลาตรวจเกือบ 20 นาที การตรวจครั้งหนึ่งจึงใช้เวลาหลายชั่วโมงเลยครับ หากจัดสรรเวลาไม่เป็นก็อาจส่งผลเสียต่อการเรียนของเราได้”
“ประการที่สามทักษะในการสื่อสารและให้คำแนะนำ เราต้องสื่อสารอย่างไรให้น้องเข้าใจในประเด็นที่อาจารย์หรือตัวเราเองต้องการจะสื่อถึง ส่วนนี้ค่อนข้างมีความสำคัญมาก บางครั้งผมอาจทิ้งช่องทางให้น้อง ๆ ติดต่อหรือพบเพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดเพื่อให้น้องมีความเข้าใจอย่างถูกต้องครับ”
“ประการที่สี่ ความสามารถในการวิเคราะห์ การตรวจการบ้านเราไม่ได้พิจารณาแค่ว่าคำตอบที่นักศึกษาตอบตรงกับธงคำตอบของอาจารย์หรือไม่ ในบางครั้งนักศึกษาอาจตอบมาโดยมีความเห็นในทางตำราหรือความเห็นอื่น ๆ แตกต่างออกไปเราต้องวิเคราะห์ว่าคำตอบนี้สามารถให้คะแนนหรือเป็นเหตุผลที่ดีหรือไม่ ส่วนใหญ่เราจะปรึกษากับอาจารย์ประกอบไปด้วยแล้วจึงตรวจและให้คำแนะนำกับนักศึกษาต่อไปครับ”
คำถาม (4) : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
ฐานันดร์ : “ปัญหาหลักที่เจอคือนักศึกษาปรับบทไม่เป็น โดยเฉพาะตอนเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในวิชาปี 1 นักศึกษาจะใช้วิธีเขียนตัวบท ลอกข้อเท็จจริงแล้วฟันธงคำตอบเลยเป็นส่วนมาก ไม่แสดงให้ถึงส่วนที่เป็นการปรับวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายเลย หรือบางครั้งตอบโดยอาศัยความรู้สึกไม่ได้อิงตามหลักกฎหมายครับ”
“ปัญหาอีกประการหนึ่งคือนักศึกษาใช้คำที่ไม่เป็นทางการในการตอบ โดยเป็นภาษาพูดต่าง ๆ ในส่วนนี้เราก็ต้องเขียนคำแนะนำเพื่อให้นักศึกษาทราบจุดบกพร่องต่อไป”
“ปัญหาเรื่องการให้เหตุผลทางกฎหมายก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นักศึกษามีปัญหามาก บางครั้งนักศึกษาจะตอบข้อสอบโดยขาดเหตุผลหรือขาดการเชื่อมโยงหลักกฎหมายที่ดีพอ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้นักศึกษาส่วนมากตอบข้อสอบแล้วได้คะแนนน้อยครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
ฐานันดร์ : “ประการแรกคือ เราได้ทบทวนหลักกฎหมายที่เราเรียนผ่านมาแล้ว เหมือนเราได้อ่านหนังสือทบทวน ประเด็นไหนที่เราตรวจการบ้านแล้วเรามีความรู้ไม่เพียงพอก็ทำให้เราได้คนหาความรู้เพิ่มเติมจนเรามีความรู้แม่นยำในวิชานั้น ส่วนตัวผมนอกจากตรวจการบ้านจากการเป็นผู้ช่วยสัมมนาแล้ว บางวิชาผมก็ยังรับตรวจให้เพื่อน ๆ รุ่นน้องอีกด้วย เรื่องนี้ส่งผลดีกับผลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในชั้นเนติบัณฑิตซึ่งผมอ่านหนังสือในกลุ่มวิชากฎหมายแพ่งไม่ทัน แต่อาศัยความรู้เก่าจากชั้นปริญญาตรีและการเป็นผู้ช่วยอาจารย์ และการช่วยตรวจข้อสอบเก่าให้เพื่อน ๆ น้อง จนทำให้ผมสอบผ่านวิชากฎหมายแพ่งอย่างน่าประหลาดใจ”
“ประการที่สองคือ เมื่อเราตรวจการบ้านสัมมนาเรามักพบข้อผิดพลาดที่นักศึกษาเขียนมา ทำให้เราได้บอกตัวเองไปว่าแบบนี้เราไม่ควรทำตามนะ บางครั้งเราพบตัวอย่างเขียนตอบดี ๆ เราก็นำไปปรับใช้กับการเขียนของเราด้วย ถือเป็นการรู้และพัฒนาตัวเองไปในตัวครับ”
“ประการสุดท้ายคือการที่เราทำงานวิชาการร่วมกับอาจารย์ คณะก็จะมีเกียรติบัตรให้พร้อมค่าตอบแทน ในส่วนนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราได้ทำหน้าที่นี้ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์อย่างใกล้ชิด รวมถึงได้รับคำแนะนำดี ๆ จากอาจารย์ทั้งในด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ ด้วยครับ”
ฐานันดร์สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) ในปีการศึกษา 2562 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับเนติบัณฑิต
ตอนนี้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กำลังรับสมัครผู้ช่วยอาจารย
ภาพ ฐานันดร์
เรียบเรียง KK