คุยกับธัญชนิต ล้อจินดา ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการผู้ช่วยอาจารย์ถึง 7 ครั้ง ในวิชา (1) น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 (2) น. 161 การเขียนในเชิงกฎหมาย 2 (3) น.110/211 กฎหมายอาญา : ภาคทั่วไป (4) น.111/211 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด (5) น.201 กฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้ (6) น.280 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และ (7) น.300 กฎหมายลักษณะครอบครัว โดยจะเน้น 3 วิชาซึ่งกำลังรับสมัครในเทอมนี้ได้แก่ อาญา ภาคความผิด วิธีพิจารณาความแพ่ง และครอบครัว
คำถาม (1) : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
ธัญชนิต : “ผมเริ่มจากอาญาภาคทั่วไป อาญาภาคความผิดตอนอยู่ปี 2 ปี 60 ครับกับอาจารย์คงสัจจา แล้วก็มีวิชา น.160 กับอาจารย์คงสัจจาตอนปี 61 แล้วก็มาที่ละเมิด วิแพ่ง และครอบครัวครับ ละเมิดเป็นของเซคอาจารย์ชวินครับ วิ.แพ่งนี่อาจารย์สัมมนาเป็นอาจารย์กิตติภพครับ เซคอาจารย์ไพโรจน์ อาจารย์สมเกียรติ อาจารย์สมชัย อาจารย์สรวิศ แล้วก็ของครอบครัวเนี่ยเป็นของอาจารย์มาตาลักษณ์ครับ แล้วก็มาสุดท้ายเลยตอนก่อนจบก็คือทำวิชาน.161 กับอาจารย์ชวิน กับอาจารย์สหรัฐครับ”
“ตอนเรียนวิชาอาญาภาคความผิดเนี่ย ผมรู้สึกว่าผมไม่ชอบวิชานี้เลยครับ คือรู้สึกว่าความผิดมันเยอะไปหมดเลย แล้วตัวผมเองก็ไม่ค่อยถนัดวิชาอาญาด้วยครับ แต่ว่าด้วยความไม่ถนัดเลยทำให้ผมต้องลงแรงกับมันเยอะหน่อยในวิชานี้ ซึ่งตัวผมเองสุดท้ายพอคะแนนสอบประกาศออกมาเนี่ยคะแนนมันก็อยู่กลาง ๆ ไม่ได้ดีอะไรมากสำหรับวิชานี้ แต่ว่าที่ผมมาสมัครวิชานี้เพราะว่าผมรู้สึกว่าวิชานี้มันมีทั้งความยากและความง่ายในเวลาเดียวกันครับ ความยากของมันอาจจะเป็นเรื่องว่ามันมีความผิดที่มันเยอะซึ่งหนึ่งการกระทำเนี่ยมันอาจจะมีได้หลากหลายความผิด แต่ว่าความง่ายของมันก็คือว่าถ้าเราสามารถเชื่อมโยงหลาย ๆ อย่างเข้ามาอยู่ด้วยกันเหมือนจัดเป็น grouping ไว้ มันก็จะง่ายขึ้นครับ และที่ผมมาสมัครวิชานี้ก็เป็นเพราะว่าตัวผมเองรู้จักกับอาจารย์คงสัจจาอยู่แล้วด้วย ผมก็เลยอยากลองช่วยงานอาจารย์คงสัจจาดู แล้วก็บวกกับว่าผมเนี่ยอยากจะลองถ่ายทอดการเขียนของผมที่ผมรู้สึกว่าผมเป็นคนที่พอจะเขียนตอบข้อสอบได้ แล้วก็มีสกิลด้านการถ่ายทอดให้น้อง ก็เลยอยากลองทำ TA วิชาแรก ซึ่งวิชานี้เป็นวิชาแรกของผมครับ”
“พอมาเป็นวิชาครอบครัวเนี่ย ที่ตอนสมัยผมเรียนเนี่ยครับ ผมชอบเรียนกับอาจารย์มาตาลักษณ์นะครับ อาจารย์ก็เหมือนสอนโดยทฤษฎีการโค้ชชิ่งที่เขาว่ากันอะครับ ผมก็ไม่รู้ว่ายังไงนะครับ (หัวเราะ) แต่ว่าตัวผมเองเนี่ยก็เข้าเรียนกับอาจารย์มาตาลักษณ์ทุกคาบครับ ซึ่งตอนเรียนวิชาครอบครัวเนี่ยผมก็รู้สึกว่ามันเป็นวิชาที่สำหรับเด็กในยุคนี้อาจมองเป็นวิชาที่น่าเบื่อรึเปล่าก็ไม่รู้นะครับ เพราะว่ามันก็ดูเป็นวิชาที่ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร มันก็เป็นแค่เหมือนกฎหมายครอบครัว ใครเป็นบิดามารดาโน่นนั่นนี่ มีบุตรอะไรยังไงใช่มั้ยครับ แต่ว่าถ้าถามผมว่าทำไมผมถึงสมัครเป็นผู้ช่วยวิชานี้เนี่ย ก็จะบอกว่าเพราะว่าการเขียนตอบข้อสอบวิชาครอบครัวของอาจารย์มาตาลักษณ์เนี่ยครับมันมีลักษณะเฉพาะตัวของมันอยู่ครับ ซึ่งผมคิดว่าตอนที่ผมสอบครอบครัวแล้วผมได้คะแนนสูงสุดในปีนั้นผมรู้สึกว่าผมเข้าถึงมัน หมายถึงว่าผมรู้ว่าจุดตรงไหนคือ point ที่เราจะต้องเขียนตอบข้อสอบลงไปในการตอบข้อสอบวิชาครอบครัวเนี่ยครับ ก็เลยอยากจะถ่ายทอดมันให้กับน้องที่ไม่สามารถมี connection ทีสามารถคุยกับผมโดยตรงให้น้องเขาเข้าใจครับ”
“สำหรับวิชาวิแพ่งเนี่ยที่ผมสมัครเลยนะครับ คือวิชานี้เนี่ยถ้าพูดถึงคะแนนสอบ ในใบเกรดของผมตลอด 4 ปีวิชานี้เป็นวิชาที่ผมได้คะแนนน้อยที่สุดตั้งแต่ที่ผมเรียนมาครับ แต่ว่าในทางกลับกันมันเหมือนเป็นดาบสองคม คะแนนที่ผมน้อยมากตรงนั้นแต่ผมชอบวิชานี้มากครับ คือชอบมากที่สุดตั้งแต่เรียน 4 ปีนี้มาเลยครับ แต่ได้คะแนนน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่าคะแนนไม่ใช่ปัจจัยสำหรับความชอบแต่ละคน แต่ว่าตอนที่ผมเรียนเนี่ยผมชอบวิชานี้มากเพราะว่าผมได้เกร็ดความรู้ในการอ่านหนังสือจากอาจารย์ผู้บรรยายก็คืออาจารย์สมชัย ตอนสมัยนั้นเขาก็เหมือนมีทริคในการทำความเข้าใจวิแพ่ง 1-2-3-4 ให้ผมมา ซึ่งผมเนี่ยคิดว่าผมอยากจจะถ่ายทอดให้รุ่นน้องเอามันไปประยุกต์ใช้กับการเรียนของตัวเอง แล้วผมก็เห็นว่าเทอมนั้นมีการรับสมัครวิชาวิแพ่งครั้งแรกตั้งแต่ผมเรียนมา 4 ปี ผมไม่เคยเห็นว่าคณะจะเปิดรับสมัครผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาวิชาวิแพ่ง ผมเลยรีบตรงไปสมัครวิชานี้เลยครับ ซึ่งเป็นวิชาที่มันถูกใจผมด้วยเพราะว่าผมชอบมาก ก็คือที่สมัครเป็นความชอบล้วน ๆ เลยครับ แล้วก็รู้สึกว่าเนื้อหามันยากจะทำยังไง มันก็ท้าทายเราดีว่าจะพูดยังไงให้น้องฟังให้น้องรู้สึกว่าจากที่มันยาก ๆ มันพลิกกลับมาดูเข้าใจง่ายขึ้นครับ แล้วก็เคยมีโอกาสครั้งนึงที่อาจารย์กิตติภพให้ผมขึ้นไปพูดบนเวทีกับน้องในการเรียนสัมมนาครั้งแรกในเวลาสั้น ๆ ประมาณ 10 นาที ซึ่งตอนนั้นผมก็รู้สึกว่าเป็นช่วยเวลาที่มัน happy ที่สุดตั้งแต่เป็นผู้ช่วยสัมมนามาเลยครับ”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
ธัญชนิต : “ผมคิดว่าอาจารย์แต่ละท่านจะมีสไตล์การทำงานที่ไม่เหมือนกันครับ การทำงานกับอาจารย์หนึ่งคนก็เหมือนเรียนรู้ที่จะปรับตัวทำงานกับอาจารย์ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างอาจารย์มาตาลักษณ์เนี่ยก็จะมีการจัดวันหนึ่งวันก่อนสอบให้น้องสามารถมาถามคำถามได้ อันนี้ก็จะเป็นเหมือนจุดของอาจารย์มาตาลักษณ์ที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะยังไงไม่ว่าจะเป็นวิชาไหนเซคไหนที่เราเป็น TA เนี่ยมันก็จะมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่ ก็คือว่าต้องตรวจข้อสอบน้องแล้วก็คอมเม้นต์งานออกไป แต่ว่าที่ผมจะพูดมันคือจุดแตกต่าง ก็คืออาจารย์มาตาลักษณ์ก็จะมีการประชุมเรื่อย ๆ เลยครับ มีการประชุมบ่อยมาก แล้วก็มีจัดหนึ่งวันให้น้องสามารถถามคำถามได้แล้วก็ถามทุกสิ่งอย่างที่อยากจะรู้ครับ ส่วนอาจารย์กิตติภพเนี่ยที่พิเศษก็คือว่าจะมีให้ขึ้นไปพูดบนเวทีครับสำหรับวันแรกกับน้อง ๆ ส่วนวิชาอาญาภาคความผิดตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง คือทุกอย่างมันใหม่ไปหมด เพราะว่ามันเป็นวิชาที่ผมเพิ่งเริ่มทำครั้งแรก มันเป็นการเรียนรู้วิธีการทำงานของผู้ช่วยสัมมนามากกว่าครับตอนนั้น”
คำถาม (3) : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
ธัญชนิต : “ผมคิดว่าคุณสมบัติที่ควรมีของผู้ช่วยอาจารย์หนึ่งเดียวและก็อาจจะสำคัญที่สุดก็คือการสื่อสารครับ การสื่อสารในที่นี้เนี่ยมองออกได้เป็น 2 แง่ครับสำหรับผม หนึ่งคือการสื่อสารระหว่างตัวเรากับอาจารย์ที่เป็นคนสัมมนาครับ เพื่อที่จะให้เข้าใจกันว่าวิธีการตรวจข้อสอบที่อาจารย์ตรงการคือแบบไหนนะ ทำให้งานได้มาตรฐาน เหมือนมี standard ของมัน ไม่ใช่ว่าแผ่นนี้ตรวจหนักมาก อีกแผ่นนึงเหมือนไม่ตรวจเลยอะไรอย่างนี้ แล้วก็สองเนี่ยการสื่อสารที่ผมจะพูดต่อไปมันไม่ใช่การสื่อสารระหว่างกันต่อหน้าเป็นการพูดคุย แต่เป็นการสื่อสารผ่านปากกาของเราไปที่กระดาษ ก็คือว่าเราเนี่ยต้องสื่อสารกับรุ่นน้องที่เราตรวจข้อสอบทุกคนผ่านการตรวจข้อสอบด้วยปากกา อันนี้มันท้าทายว่าทำยังไงให้การสื่อสารของเราที่เราต้องการสื่อในจุดนั้น ๆ มันไม่บกพร่อง ให้น้องคนที่อ่านคอมเม้นต์ของเราอ่านแล้วรู้สึกเข้าใจ ถ้าน้องไปอ่านแล้วมันงง ผมก็คิดว่าการตรวจมันไม่มีความหมายอะไร”
คำถาม (4) : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
ธัญชนิต : “ปัญหาที่ผมเจอจากการตรวจการบ้านเนี่ย มันก็อาจจะมีปัญหาว่าบางทีเนี่ยครับ คือน้องไม่ได้เขียนอะไรมาเลยแต่เขียนเป็นคำถาม เหมือนที่เขียนมาเพื่อเขียนมาอยากให้พี่ตรวจเฉย ๆ เหมือนอยากรู้ว่าพี่จะตรวจยังไง เหมือนไม่ได้ตั้งใจที่จะเขียนมาจริง ๆเหมือนเราไม่ได้ใช้ความสามารถเต็มความสามารถเพื่อที่จะเขียนมาเพื่อให้พี่ตรวจคอมเม้นต์กลับไป แต่ว่าเป็นการตรวจเพื่อเช็คว่าเวลาเขาตรวจข้อสอบสัมมนาคอมเม้นต์อะไรกันอะไรแบบนี้ หรือสองก็คือลายมือของน้องที่อ่านยาก อันนี้ก็คือเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าอาจารย์ก็ต้องเจอในการตรวจข้อสอบเหมือนกันครับ ซึ่งผมคิดว่ามันลำบากมากในการตรวจงานชิ้นนึงเนี่ย มันทำให้เวลาที่เราเคยใช้เนี่ยอาจจะคูณสอง คูณสามเข้าไปเลย แล้วก็ปัญหาที่เจออีกก็อาจจะมีน้องเขียนคำถามเป็นคำถามแบบวิชาการมาเลย โดยที่ผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาอาจจะตอบไม่ได้ อาจจะต้องไปปรึกษาอาจารย์ ซึ่งตรงนั้นอะผมคิดว่าจริง ๆ แล้วน้องควรจะเดินเข้าไปถามอาจารย์ในคาบเรียนเลยมากกว่า”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
ธัญชนิต : “โดยทั่วไปแล้ว น้อง ๆ นักศึกษาบางกลุ่มมองว่ากิจกรรมแต่ละอย่างเป็นการแต่งเติม resume ของตัวเองในอนาคต แต่สำหรับผมแล้วไม่เลยครับ ผมมองข้ามเรื่องพวกนี้ไป เพราะถ้ามองแต่เรื่องพวกนั้นการทำงานมันดูไม่มีสีสันเลยครับ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ได้รับมามันเป็นคอนเนคชั่นกับอาจารย์ที่ทำงานด้วยในแต่ละวิชา และได้รับความรู้ที่อาจารย์มอบให้ เหมือนเป็นทั้งการทวนความรู้และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆที่ตอนเรียนเข้าไม่ถึงด้วยครับ ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือได้รู้จักกับรุ่นน้องครับ มีรุ่นน้องมาถามปัญหา ผมก็ต้องคิดวิธีหาคำตอบ รุ่นน้องเป็นเหมือนครูผ่านการตั้งคำถามเลยครับ สิ่งนั้นแหละครับที่ทำให้เราเป็นคนที่เก่งขึ้น หรือบางทีคนก็คาดไม่ถึงครับ ผมทำกิจกรรมนี้ได้เพื่อนสนิทเป็นรุ่นน้องด้วยซ้ำและยังสนิทกันจนถึงวันนี้เลยครับ ทำให้ชีวิตมหาลัยของผมมีความหมายและสนุกมากเลยหละครับ เหมือนจะเว่อไปนะครับ (หัวเราะ) แต่มันคือเรื่องจริงครับ”
ธัญชนิตสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) ในปีการศึกษา 2562 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับเนติบัณฑิต
ตอนนี้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังรับสมัครผู้ช่วยอาจารย
- วิชา น.111 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด (หลักสูตร 2561) https://www.law.tu.ac.th/ta_la111_2021/
- วิชา น.203 กฎหมายลักษณะครอบครัว (หลักสูตร 2561) https://www.law.tu.ac.th/ta_la203_2021/
- วิชา น.280 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (หลักสูตร 2561) https://www.law.tu.ac.th/ta_la280_2021/
ภาพ ธัญชนิต
เรียบเรียง KK