คุยกับพิชชา รุ่งแสง กับประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิชา น.111 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด
คำถาม (1) : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
พิชชา : “หนูได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในวิชา น.160 เซคอาจารย์ณภัทร และวิชากฎหมายอาญา ภาคความผิด ซึ่งในปีนั้นเป็นการสัมมนารวมกันทั้ง 2 เซค โดยมีอาจารย์คงสัจจาเป็นอาจารย์สัมมนาค่ะ”
“กฎหมายอาญา ภาคความผิดวิชาที่ชอบเรียนมาก ๆ ค่ะ เพราะรู้สึกว่าเป็นกฎหมายที่สามารถพบได้บ่อยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นในข่าวหรือชีวิตทั่วไป เวลาเรียนแต่ละฐานความผิด แล้วสามารถนึกภาพตามได้ หลังจากที่ได้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ในวิชา น.160 แล้ว หนูรู้สึกชอบการที่ได้ถ่ายทอดวิธีการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายให้กับน้อง ๆ และด้วยความที่ชอบกฎหมายอาญาอยู่แล้ว หนูเลยตัดสินใจเข้าสมัครเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในวิชานี้ค่ะ”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
พิชชา : “สำหรับการทำงานร่วมกับอาจารย์คงสัจจาในวิชากฎหมายอาญา ภาคความผิด อาจารย์จะมีการเรียกประชุมทุกครั้งก่อนที่อาจารย์จะแจกโจทย์ให้นักศึกษาฝึกเขียนค่ะ โดยอาจารย์จะสรุปธงคำตอบและประเด็นให้นักศึกษาผู้ช่วยอาจารย์ เพื่อให้การตรวจการบ้านออกมาในแนวทางเดียวกันค่ะ โดยหลังจากที่ตรวจการเขียนของน้อง ๆ แล้วอาจารย์จะถามว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบปัญหาอะไรในการเขียนของน้อง ๆ บ้างค่ะ และในการสัมมนาครั้งสุดท้ายก่อนการสอบอาจารย์จะให้น้อง ๆ ได้พูดคุยและถามคำถามกับผู้ช่วยอาจารย์ในคาบเรียนค่ะ”
คำถาม (3) : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
พิชชา : “สำหรับหนู คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในทุก ๆ วิชาเลยคือ การสื่อสารและการถ่ายทอดค่ะ เนื่องจากเราต้องตรวจการเขียนตอบ รวมไปถึงการพูดคุยตอบคำถามของน้อง ๆ ค่ะ เราจึงต้องถ่ายทอดความรู้และวิธีการเขียนตอบออกไป ไม่ว่าจะโดยการเขียน comment ลงในกระดาษคำตอบ หรือการพูดคุยโดยตรง เพื่อให้น้องสามารถเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อ และสามารถนำไปปรับใช้และพัฒนาการเขียนได้ค่ะ นอกจากนี้ต้องมีการสื่อสารและพูดคุยกับอาจารย์ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันในการตรวจการบ้าน และบอกอาจารย์ให้ทราบถึงจุดบกพร่องในการเขียนของน้อง ๆ ค่ะ”
คำถาม (4) : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
พิชชา : “ปัญหาที่พบมากในการเขียนตอบคือ การอธิบายองค์ประกอบความผิดค่ะ บางคนอาจทราบธงคำตอบของโจทย์ แต่ไม่สามารถอธิบายองค์ประกอบความผิดได้อย่างครบถ้วน หรือ บางคนอาจเขียนไม่ละเอียดพอค่ะ หรือ บางคนยังยึดติดอยู่กับการเขียนแบบกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป ซึ่งมีวิธีการเขียนที่ต่างกัน จึงไปเน้นการเขียนในองค์ประกอบภายในมากเกินไป ทั้งที่การเขียนตอบในกฎหมายอาญา ภาคความผิดควรเน้นการเขียนอธิบายองค์ประกอบภายนอกมากกว่า จึงทำให้น้อง ๆ เสียคะแนนในส่วนนั้น ๆ ได้ค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
พิชชา : “การเข้าร่วมโครงการนี้เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ในชีวิตมหาวิทยาลัยค่ะ เพราะทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับอาจารย์ในการตรวจการบ้าน ได้รู้จักและพูดคุยกับอาจารย์ ทั้งได้รับความรู้ใหม่จากอาจารย์ และได้ทบทวนความรู้ในวิชานั้น ๆ ด้วยค่ะ รวมถึงได้รู้จักกับน้อง ๆ มากขึ้นจากการที่น้อง ๆ เข้ามาพูดคุยปรึกษาการเขียนตอบค่ะ ซึ่งหนูรู้สึกยินดีมาก ๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการเขียนตอบของน้อง ๆ ค่ะ”
พิชชาสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) ในปีการศึกษา 2562 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับเนติบัณฑิต
ตอนนี้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังรับสมัครผู้ช่วยอาจารย
ภาพ พิชชา
เรียบเรียง KK