คุยกับอธิป ปิตกาญจนกุล ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการผู้ช่วยอาจารย์ถึง 6 วิชา 8 ครั้ง ในวิชา (1) น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา (3 ครั้ง) (2) น.110/210 กฎหมายอาญา : ภาคทั่วไป (3) น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 (4) น.200 กฎหมายลักษณะหนี้ : หลักทั่วไป (5) น.301 กฎหมายลักษณะมรดก (6) น.381 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
คำถาม (1) : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
อธิป : “วิชาแรกที่ทำคือวิชาน.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา กลุ่มอาจารย์กรศุทธิ์ วิชานี้ทำ 3 ครั้งเลยคือครั้งแรก เป็นตอนปี 2 ที่ศูนย์รังสิต และตอนปี 3 ของภาคบัณฑิต และตอนปี 4 ก็มาทำอีกครั้งที่รังสิตกลุ่มจารย์กรศุทธิ์ สัมมนาโดยอาจารย์กิตติภพ”
“ต่อมาตอนปี 3 เป็นผู้ช่วยวิชาน.210 กฎหมายอาญา: ภาคทั่วไป กลุ่มอาจารย์ณรงค์ อาจารย์สาวตรี อาจารย์สัมมนาคืออาจารย์คงสัจจา แล้วก็วิชากฎหมายลักษณะหนี้ : หลักทั่วไป กลุ่มอาจารย์ณภัทร อาจารย์กรศุทธิ์ แล้วก็วิชาการเขียนในเชิงกฎหมาย 1 น.160 กลุ่มอาจารย์สมเกียรติ”
“ส่วนตอนปี 4 เป็นผู้ช่วยอาจารย์วิชากฎหมายลักษณะมรดก อาจารย์ไพโรจน์ อาจารย์กิตติศักดิ์ อาจารย์มาตาลักษณ์ อาจารย์กรศุทธิ์ อาจารย์กิตติภพ และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กลุ่มอาจารย์ณรงค์ อาจารย์สาวตรี อาจารย์คนึง สัมมนาโดยอาจารย์คงสัจจา และอาจารย์เพียรรัตน์ ทั้งทั้งภาคปกติ ที่ศูนย์รังสิต และภาคบัณฑิต”
“สำหรับวิชานิติกรรม ตอนเลือกเซค เอาเซคอาจารย์กรศุทธิ์ไว้ลำดับ 3 ด้วยเหตุผลหลายประการ แล้วสุดท้ายก็ได้เซคนี้ เซคที่หลายคนบ่นว่าเรียนไม่รู้เรื่อง ส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเคยไปเข้าสัมมนากับอาจารย์มาแล้วตอนเทอม 1 และชอบแนวทางการสอนของอาจารย์ ประกอบกับเป็นวิชาที่ไม่ได้ยากมาก พอได้เรียนก็รู้สึกสนุกกับการเรียน โดยเฉพาะเรื่องคำมั่น และการที่อาจารย์จะยกเคสที่น่าจะเกิดขึ้นในความเป็นจริง รวมถึงทฤษฎี แนวความเห็นที่แตกต่างมาสอน ทำให้เนื้อหามีความน่าสนใจมากขึ้น แต่เรื่องการตีความการแสดงเจตนา ตีความสัญญา ก็เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวพอสมควร แต่สุดท้ายคะแนนสอบก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ”
“สำหรับวิชาอาญาเป็นวิชาที่ผมชอบมาก เรียกว่ารักเลย ตั้งแต่ยังสอบไม่ติดธรรมศาสตร์ด้วยซ้ำ ตอนเรียนก็รู้สึกว่ามันง่ายมาก อาจจะเพราะอาจารย์สุรศักดิ์ อาจารย์ปกป้อง ที่สอนดีมาก ๆ เหมือนสรุปหนังสือเล่มสีเขียวเป็นพันหน้าเหลือชีทไม่กี่แผ่น แต่มันก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง คือวิธีการเขียนตอบต่างจากกฎหมายแพ่ง เลยต้องฝึกเขียนมากกว่าปกติ ซึ่งทั้งพี่ TA และอาจารย์ก็คอยช่วยเหลือเป็นอย่างดี”
“สำหรับวิชาหนี้ ผมเรียนกับอาจารย์มุนินทร์ อาจารย์สอนดี สอนสนุก ชีทดี ตัดมาตราตอนสอบให้ด้วย พ่อผมบอกว่าวิชานี้ยากมาก คงเพราะอาจารย์สอนดีมั้ง เลยไม่รู้สึกยากเท่าไหร่ คะแนนสอบก็โอเคนะ”
“สำหรับวิชามรดก ต้องบอกเลยว่ากลัววิชานี้มาก เพราะชื่อเสียงผู้สอนบางท่าน (หัวเราะ) ได้ข่าวว่าสอนเข้าใจยาก ผมไม่เจาะจงละกันว่าใคร บางท่านผมก็เคยเรียนแล้ว ก็ไม่ค่อยเข้าถึงเท่าไหร่ คะแนนก็น้อย แต่ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง ได้มีการจัดกลุ่มผู้สอนใหม่ แต่มีอาจารย์กรศุทธิ์มาสอนร่วมด้วย ก็สบายใจขึ้น แล้วพอเริ่มเรียนจริง ก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิด คะแนนกลางภาคก็ดีมาก อาจารย์ที่เคยรู้สึกว่าเคยเข้าถึงยาก ก็กลับเข้าใจดีในวิชานี้ ผมมั่นใจวิชานี้พอสมควร ยกเว้นพาร์ทสุดท้าย เพราะไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไหร่ เรียกว่าอ่านธงยังไม่รู้เลยว่าสรุปต้องตอบอะไร สำหรับวิชานี้ คะแนนออกมากลาง ๆ ด้วยความที่สอบวิชาสุดท้าย พอเริ่มทวนก็พบว่าลืมไปเกินครึ่งแล้ว เลยทำให้คะแนนไม่สูงมากเท่าที่ควร”
“สำหรับวิชาวิอาญา เหมือนอาญาเลยครับ เป็นวิชาสายที่ผมชอบและถนัด ซึ่งได้คะแนนมากกว่าอาญาอีก อาจารย์ท่านเดียวกัน สอนดีเหมือนเดิม แต่พอเรียนก็ยิ่งรู้สึกว่ามันคืออีกโลกหนึ่ง ไม่ยากเท่าวิแพ่ง แต่ก็มีสไตล์การเรียนที่ต่างออกไป ก็ใช้เวลาปรับตัวประมาณนึง รวมถึงแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ไม่สอดคล้องกับทฤษฎี ซึ่งต้องทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเวลาตอบข้อสอบ”
“เหตุผลที่มาสมัครเข้าร่วมโครงการ ก็ไม่มีไรมากนอกจากคำว่า “เท่” ครับ คือคิดแค่นั้นจริง ๆ ในช่วงแรก แล้วก็เซ็งนิดหน่อยกับการที่เมื่อก่อนรับแต่ปี 3 ขึ้นไป แต่สุดท้ายผมก็ได้เป็น TA ตั้งแต่ปี 2 เพราะว่าวิชา น.101 กลุ่มอาจารย์กรศุทธิ์เปิดรับสมัคร เพราะรุ่นผมเป็นรุ่นแรกที่ได้เรียนกับอาจารย์เต็ม ๆ แล้วพอได้ตรวจ ก็ได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่าง ได้เข้าใจในมุมมองของอาจารย์ที่เป็นผู้ตรวจข้อสอบมากขึ้น ได้เห็นธงคำตอบที่ละเอียดขึ้น รู้ว่าต้องตอบประเด็นไหน และเน้นตรงไหนบ้าง ซึ่งมีคำตอบของน้องหลายคน ที่ผมอ่านแล้วรับไม่ได้ แต่สุดท้ายน้องก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ และได้คะแนนสอบที่ค่อนข้างดี จุดนี้ทำให้ผมอยากเป็น TA ในวิชาอื่น ๆ ต่อไป โดยเฉพาะวิชาที่รู้สึกชอบ ซึ่งช่วงปีหลัง ๆ ก็มีวิชาที่หลากหลายมากขึ้นด้วย เดิมทีจะมีแค่วิชาปี 1 และปี 2 แต่สำหรับวิชาอาญา ที่ผมมาตรวจ เพราะฝังใจกับ TA ที่ตรวจการบ้านให้ผม ตอนผมยังอยู่ปี 2 พี่เขาอาจจะมือเบาไปหน่อย มันทำให้ผมประมาท คะแนนสัมมนาผมค่อนค้างดีเป็นส่วนใหญ่ ตอนสอบผมก็ตอบตามนั้น แต่คะแนนกลับออกมาไม่ดีเท่าที่ควร สำหรับการมาเป็น TA อาญา นอกจากเป็นวิชาที่ชอบ ก็เพราะว่าผมไม่อยากให้น้องต้องมาพลาดแบบผม จึงต้องมาตรวจเอง โดยให้น้ำหนักการตรวจใกล้เคียงกับอาจารย์มากที่สุด”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
อธิป : “ทุกวิชาก็จะคล้าย ๆ กัน คือมี TA ประมาณเซคละ 3-4 คน ต้องมารับการบ้านของน้อง ๆ ทุกอาทิตย์และส่งคืนภายในวันที่อาจารย์สัมมนากำหนดไว้ โดยต้องตรวจและคอมเมนต์ตามที่เห็นสมควร ซึ่งจะมีการให้คะแนนด้วย ไม่ว่าจะเป็น ดีมาก ดี ไปจนถึงแย่ในบางวิชา หรือ A B C D F แล้วแต่อาจารย์แต่ละท่าน และมีการเขียน contact ไว้ให้ในกรณีที่น้อง ๆ มีข้อสงสัยเพิ่มเติม ปกติถ้าตรวจให้น้องปี 1 ปี 2 ก็มักจะได้การบ้านเฉลี่ยคนละไม่เกิน 15 แผ่น แต่สำหรับอาญา จะมากกว่าวิชาอื่น ไม่รู้ทำไม อาจจะด้วยความที่ว่ารับ TA น้อย ได้คนละ 60-70 แผ่นต่อครั้ง แต่ก็ตรวจทันนะ บางวิชาก็จะมีการให้ TA พบน้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ถามคำถามกันสด ๆ บ้าง นอกจากนี้ ในแต่ละครั้งที่มารับการบ้าน ก็จะมีการประชุมธง ว่าแนวทางการตอบควรเป็นอย่างไร และสรุปข้อผิดพลาดในการตอบข้อสอบให้อาจารย์สัมมนาทราบ เพื่อนำไปบอกน้อง ๆ ในคาบสัมมนา”
คำถาม (3) : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
อธิป : “ผมคิดว่าต้องมีความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่จะเป็นผู้ช่วยอาจารย์พอสมควร เพื่อที่จะสามารถตรวจการบ้าน และให้คำแนะนำหรืออธิบายให้น้องเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ได้ ซึ่งเราต้องตรวจถึงรูปแบบการเขียน ไม่ได้ตรวจแค่ว่าถูกธงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ตอบไม่ค่อยผิดอยู่แล้ว ดังนั้น จึงต้องรู้วิธีการเขียนตอบข้อสอบที่อาจารย์แต่ละท่านต้องการด้วย เพื่อให้น้องเข้าใจเนื้อหาวิชานั้น ๆ และได้คะแนนดีในตอนสอบจริง ถ้าไม่มั่นใจ ก็ควรควรค้น หรือปรึกษาจากอาจารย์ผู้สอนว่าสิ่งที่น้องตอบถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวกับคะแนนที่ตัวเองได้เท่าไหร่ เช่น วิชาอาญา ผมได้คะแนนโคตรน้อย ถ้าตอนนั้นน้องรู้ อาจจะไม่อยากให้ผมตรวจก็ได้ แต่ผมก็สมัครไป แล้วก็ได้เป็น TA ซึ่งผมว่ามันก็ไม่เกี่ยวกัน เพราะสำหรับผม TA ไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาที่เก่งที่สุด แต่ต้องทำให้น้องได้คะแนนดีที่สุดในตอนสอบ”
“นอกจากนี้ ก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย น้องหลายคนก็รอได้การบ้านคืน เพื่อจะได้นำไปปรับปรุง โดยเฉพาะช่วงใกล้สอบ ยิ่งตรวจเร็วยิ่งดี แต่ก็ต้องตรวจให้ละเอียดด้วย ผมก็เคยตรวจพลาด ไม่ว่าจะเพราะพลาดจริง ๆ หรือเรื่องความเห็น ก็อย่าอายที่จะบอกน้องหรืออาจารย์สัมมนา เพราะมันมีผลกับน้องจริง ๆ”
คำถาม (4) : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
อธิป : “ปัญหาส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาไหนก็ตาม คือหลงประเด็น หรือไม่รู้ว่าควรตอบมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนสไตล์การเขียนที่อาจารย์แต่ละคนต้องการ ซึ่งในฐานะ TA ก็ต้องอธิบายให้น้องเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับประเด็น หรือวิธีการเขียน แต่เรื่องการจับประเด็น ปัญหานี้จะค่อย ๆ ลดลงไปเอง เมื่อมีประสบการณ์ในการทำข้อสอบมากขึ้น”
“ปัญหาที่เป็นปัญหาที่สุด คือน้องทักมาขอธงคำตอบ หรือทำเป็นเขียนมาเพื่อให้เราเขียนธงกลับไปให้ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ผมจะประเมินความตั้งใจของน้องแต่ละคน บางคนเขียนมาไม่ถึงบรรทัดก็มี ผมก็ไม่ตรวจเลย แต่ก็จะทิ้ง contact ไว้ให้ ถ้ามีปัญหาจริง ๆ ก็จะให้คำปรึกษาเป็นรายคนไป”
“สุดท้ายก็ปัญหา classic ลายมือ บางคนลายมือไทยโบราณมาเลย เหมือนจะสวยนะ แต่ลายตามาก ต้องระวังไว้ ถามว่าอ่านออกมั้ย ก็พยายามเท่าที่ทำได้ ส่วนใหญ่อ่านออก แต่ก็จะบอกให้น้องปรับปรุงลายมือ เพราะอ่านออกก็จริง แต่ขี้เกียจอ่าน ยิ่งอาจารย์ตรวจเยอะกว่าเราอีก อาจจะมีผลต่อคะแนนได้”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
อธิป : “อย่างแรก คือทำให้ผมเข้าใจเนื้อหาวิชานั้น ๆ มากขึ้น เพราะเวลาเม้นการบ้านน้อง ๆ เราต้องทำให้ simple ที่สุด เพราะเราไม่ได้มานั่งตรงหน้าแล้วอธิบาย เพราะงั้น เราไม่รู้ว่าน้องเข้าใจมั้ย เขียนเยอะน้องก็ขี้เกียจอ่านอีก ลายมือผมเองก็ใช่ว่าจะดี การที่เราเข้าใจเนื้อหา จะทำให้เราอธิบายออกมาได้ดีและกระชับ นอกจากนี้ ปัจจุบันผมเรียนเนติฯ อยู่ ภาค 1 ที่เพิ่งสอบผ่านไป วิชาที่เป็น TA ผมแทบไม่ได้ทวนเลย เพราะเหมือนมันอยู่ใน DNA แล้ว จึงคิดว่ามันมีประโยชน์ในระยะยาวเหมือนกัน”
“สอง เราได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดของตัวเอง บางทีผมเห็นข้อผิดพลาดของน้อง มันก็เตือนตัวเองเหมือนกันว่าเราก็เคยพลาดแบบนี้ หรือก็ยังพลาดอยู่ ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองไปด้วยเหมือนกัน และทำให้เข้าใจโดยปริยายว่าอะไรควรเขียน ไม่ควรเขียน มันต่างกับการอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนนะ เพราะเราจะเข้าข้างตัวเองสูงมาก เพราะงั้นการตรวจการบ้านน้องจึงเป็นการพัฒนาตัวเองที่ดีมาก”
“ส่วนเรื่อง profile มันก็เท่อะแหละ ได้เป็นผู้ช่วยอาจารย์ มันก็ทำให้ได้สนิทกับอาจารย์แต่ละท่านมากขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลระยะยาว”
อธิปสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) ในปีการศึกษา 2562 ปัจจุบันเป็นเป็นผู้ช่วยนิติกร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกำลังศึกษาต่อระดับเนติบัณฑิต
ตอนนี้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังรับสมัครผู้ช่วยอาจารย
- วิชา น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา รายละเอียดเพิ่มเติม
- วิชา น.111 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด (หลักสูตร 2561) รายละเอียดเพิ่มเติม
ภาพ อธิป
เรียบเรียง KK