คุยกับนันทิชา บุญจันทร์ กับประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิชา น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 / น.110 กฎหมายอาญา : ภาคทั่วไป และน.230 เอกเทศสัญญา 1 ศูนย์ลำปาง
คำถาม (1) : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
นันทิชา : “เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในวิชา น.230 เอกเทศสัญญา 1 และวิชา น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 และน.110 กฎหมายอาญา ภาคทั่วไปค่ะ”
“โดยวิชา น.230 เรียนกับท่าน ผศ.ดร.สุรศักดิ์ มณีศร และท่าน ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพวงกลาง ซึ่งความรู้สึกในตอนเรียน ด้วยความที่เราชื่นชอบเนื้อหาในวิชานี้มากอยู่แล้วเพราะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ทำให้ขณะเรียนเรารู้สึกสนุกและอินกับมัน ยิ่งได้นึกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันยิ่งสนุกค่ะ เรารู้สึกว่าเราเห็นภาพและเป็นวิชาที่มีเนื้อหาที่สามารถจับต้องได้ในชีวิตประจำวันเพราะไม่เป็นนามธรรมจนเกินไป เมื่อมีกรณีศึกษาหรือมีตัวอย่างมากมายให้เราได้เรียนรู้ก็ยิ่งรู้สึกสนุกและชอบวิชานี้มากขึ้นค่ะ”
“ส่วนในอีกสองวิชาเนื้อหาของการบ้านที่ตรวจก็จะเป็นเนื้อหาในวิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย และ น.110 กฎหมายอาญา ภาคทั่วไปค่ะ ในหลักสูตรใหม่นะคะ ซึ่งความรู้สึกในตอนเรียนในส่วนของ น.100 ตอนแรก ๆ ก็จะรู้สึกตื่นเต้นค่ะ เพราะเป็นวิชาแรกที่เรียน และก็จะงงๆ นิดนึงเพราะไม่ได้เตรียมตัวก่อนเข้าเรียนเลยและเป็นวิชาที่มีทฤษฎีค่อนข้างเยอะก็เลยเข้าถึงยากนิดนึงค่ะ แต่พอเรียนครั้งถัดไปก็ได้ทำการเตรียมตัวอ่านหนังสือก่อนเข้าเรียนก็ช่วยได้เยอะค่ะ เข้าใจเนื้อหามากขึ้นทำให้เรียนไปก็สนุกค่ะ ส่วนวิชากฎหมายอาญาก็เป็นอีกหนึ่งวิชาที่เรียนแล้วสนุกค่ะ เพราะมีตัวอย่างข้อเท็จจริงน่าสนใจและหลากหลาย”
“ในส่วนของเหตุผลที่สมัครเป็น TA ก่อนอื่นต้องขออนุญาตท้าวความก่อนค่ะว่าโดยปกติเป็นคนที่ติวและตรวจเขียนตอบให้กับเพื่อนและรุ่นน้องที่สนิทเป็นประจำค่ะ และชอบถ่ายทอดความรู้และวิธีการในการเขียนต่างๆ ให้เพื่อนและรุ่นน้องค่ะ บางทีก็เพื่อนๆ ก็ให้ลองเขียนตอบให้ดูเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทางในการหัดเขียนตอบของเพื่อนๆ ค่ะ ในขณะนั้นก็อาศัยความรู้และทักษะเท่าที่มีอยู่ค่ะ โดยทักษะที่ถ่ายทอดไปนั้นเป็นเพียงมุมมองของผู้เขียนค่ะ ก็คือเคยเขียนอย่างไรและเรามีวิธีการยังไงก็แนะนำไปอย่างนั้น ถ้าหากได้เป็น TA เราก็จะมีมุมมองในฐานะผู้ตรวจเปิดมุมมองมากยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถรู้วิธีการเขียนตอบที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถรีวิวการเขียนตอบของเราได้ด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีส่วนใดที่จะต้องพัฒนาบ้าง ซึ่งความรู้และทักษะที่ได้มานั้นเราสามารถเอามาพัฒนาและถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆและน้องๆได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ จึงเป็นเหตุผลที่สมัครเข้ามาเป็น TA ทั้ง 3 วิชาเลยค่ะ”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
นันทิชา : “ส่วนใหญ่รูปแบบก็จะคล้ายๆ กันทั้งสามวิชาค่ะ คือเริ่มต้นจากการประชุมร่วมกันกับท่านอาจารย์และ TA ทุกๆ คนเพื่อทำความเข้าใจแนวทางการตรวจข้อสอบและแบ่งส่วนกันตรวจข้อสอบค่ะ และจะมีไลน์กลุ่มที่เอาไว้ปรึกษาและอัปเดตการทำงานในกรณีที่มีข้อสงสัยหรือเกิดปัญหาในการตรวจข้อสอบก็จะปรึกษาท่านอาจารย์ผ่านไลน์แอปพลิเคชั่นค่ะ แต่ในวิชา น.160 จะต่างออกไปค่ะเพราะมีหลายเซคแต่ละเซค TA จะจับคู่กันทำงานค่ะ และแทนได้ประจำในเซคของท่าน รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ ซึ่งได้มีโอกาสไปเข้า class และก็ได้อธิบายวิธีการเขียนตอบด้วยค่ะ นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ค่ะ”
คำถาม (3) : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
นันทิชา : “อย่างแรกที่ควรมีคือ มีทักษะในการเขียนตอบข้อสอบในระดับที่ดี เพราะการที่เราจะตรวจข้อสอบและ review การเขียนตอบให้ใครได้เราจะต้องมีทักษะการเขียนที่ดีก่อนซึ่งอาจจะไม่ต้องถึงขั้นเก่งมากก็ได้ค่ะ และทักษะการเขียนที่ดีนั้นเกิดจากกรฝึกฝนค่ะ ถ้าน้องๆ คนใดสนใจอยากจะเป็น TA ก็แนะนำว่าควะฝึกทักษะด้ายนี้ด้วยค่ะ”
“ประการถัดมาค่ะคือ จะต้องมีความตั้งใจ เอาใจใส่ แบ่งเวลาให้เป็น และ review อย่างตรงไปตรงมาค่ะ เนื่องจากน้องๆ ที่ส่งการบ้านให้ตรวจต้องการที่จะทราบว่าตนเองเขียนตอบดีไหม ควรปรับปรุงหรือแก้ไขอะไรบ้าง และต้องการ feed back ที่ตรงจุดและชัดเจนเพื่อที่จะนำไปแก้ไขได้ถูกต้อง ดังนั้น การเป็น TA เราควรมีความตั้งใจในการตรวจข้อสอบ เอาใจใส่ในหน้าที่ของเราว่าเราควรช่วยเหลือน้องๆ ให้สุดความสามารถ ควรแบ่งเวลาให้เป็นเพราะการตรวจการตรวจการบ้านแต่ละครั้งค่อนข้างที่จะใช้เวลา ยิ่งช่วงท้ายของการเรียนการสอนก่อนที่จะปิด clause ยิ่งมีการบ้านให้ตรวจเยอะมาก เราควรแบ่งเวลาให้ดีๆเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนของเราด้วยค่ะ และอย่างสุดท้ายคือ ควร review อย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ชัดและตรงประเด็นว่ามีจุดใดบ้างที่น้องควรจะแก้ไขปรับปรุง หรือควรระวัง หรือจุดใดที่น้องทำได้ดีอยู่แล้วควรรักษาไว้หรือควรเพิ่มเติมอะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้น้องสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากเรา review ไปแบบผิดๆ หรือไม่ดีเท่าที่ควรอาจจะส่งผลต่อการเขียนตอบข้อสอบของน้องในอนาคตได้ เพราะวัตถุประสงค์หลักของการทำ TA คือการช่วยพัฒนาทักษะการเขียนตอบให้กับน้อง ๆ ค่ะ”
“คุณสมบัติสุดท้ายเลยนะคะที่ขาดไม่ได้ หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ควรมีสำหรับคนที่จะเป็น TA ทุกๆ คนคือ ความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาและกฎหมายของวิชานั้นๆ ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็น TA เพราะเราจะต้องใช้ความรู้เหล่านั้นในการตรวจข้อสอบ จึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ขาดไม่ได้เลยค่ะ”
คำถาม (4) : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
นันทิชา : “ปัญหาหลักที่เจอบ่อยที่สุดและเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด หลัก ๆ จะมี 2 อย่างค่ะ อย่างแรกคือ ไม่เข้าใจคำถามของโจทย์ ว่าข้อนั้นๆ โจทย์ถามว่าอะไร แล้วโจทย์ต้องการให้ตอบแบบไหน คำสั่งของโจทย์ที่มีมาให้นั้นกำหนดให้เราต้องตอบอะไรบ้าง ปัญหานี้ทำให้เราตอบไม่ตรงคำถามบ้าง ตอบไม่ครบบ้างหรือบางทีก็ไม่ได้ตอบคำถามเลยก็มี หรือเรียกง่ายๆว่า “สิ่งที่ถามไม่ได้ตอบ สิ่งที่ตอบไม่ได้ถาม” ซึ่งการตอบเช่นนี้นอกจากไม่ตรงตามจากที่โจทย์ต้องการแล้วยังไม่ได้ช่วยให้เราได้คะแนนเพิ่มด้วย ซึ่งปัญหานี้บางทีอาจเกิดจากการที่เรารีบอ่านจนเกินไปและไม่มีการอ่านทวนอาจจะทำให้เราเข้าใจผิดไปว่าคำถามถามว่าอะไร และมีอะไรบ้าง ซึ่งบางทีโจทย์ที่ให้มาอาจจะมีความซับซ้อนมากคำถามอาจจะไม่ได้ปรากฏชัดเจนแยกออกมาเป็นข้อย่อย วิธีแก้ปัญหาคือ เราต้องมีสติและสมาธิค่อยๆ อ่านโจทย์ค่อยๆ ทำความเข้าใจว่าคำถามคืออะไร ถ้าไม่เข้าใจในรอบแรกให้อ่านซ้ำอีกครั้งหนึ่งจะทำให้เราเห็นภาพมากยิ่งขึ้นว่าโจทย์ต้องการให้เราตอบอะไรบ้าง และการฝึกเขียนตอบข้อสอบจะช่วยให้เราฝึกวิเคราะห์โจทย์และเข้าใจคำถามได้ดียิ่งขึ้นค่ะ”
“ส่วนอย่างที่สอง คือ ประเด็นของคำถาม ก่อนอื่นต้องขออธิบายก่อนว่า ประเด็นคือสิ่งที่นำไปสู่การตอบคำถาม ประเด็นคือสิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะต้องวินิจปรับบทอย่างไร และเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อการบรรยายในส่วนของการวินิจฉัยและปรับบท ซึ่งถ้าเรารู้ว่าคำถามมีประเด็นอะไรบ้างก็จะทำให้สามารถบรรยายออกมาได้ว่ามีที่มาที่ไปยังไง หลักการและเหตุผลเป็นยังไง เพราะอะไรทำไมเราจึงตอบคำถามแบบนี้ ซึ่งเนื้อหาในส่วนวินิจฉัยและปรับบทคือส่วนสำคัญที่สุดของการเขียนตอบและเป็นส่วนที่ท่านอาจารย์ผู้ตรวจให้คะแนนเยอะที่สุด ยิ่งเราเขียนได้ครบทุกประเด็นก็จะยิ่งเป็นผลดีกับเราอย่างมาก เพราะฉะนั้นประเด็นของคำถามเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ”
“ปัญหาพี่พบ คือ จับประเด็นของคำถามไม่ได้ ไม่รู้ว่าในคำถามข้อนี้มีประเด็นอะไรบ้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลอย่างมากต่อการเขียนตอบนะคะ เพราะว่าเราจะไม่รู้เลยว่าคำถามข้อนี้จะต้องตอบว่าอะไรบ้างและจะตอบยังไง เรียงลำดับแบบไหน ทำให้เราเริ่มต้นเขียนซึ่งสวนใหญ่มักจะเริ่มจากการลอกโจทย์หรือลอกข้อเท็จจริงมาเขียนไปก่อนเพราะไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรแล้วเขียนยังไง หรือบางทีก็เกริ่นมาเยอะมาก ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่จำเป็นจะต้องเขียนเยอะขนาดนี้ ซึ่งตอนที่แทนตรวจข้อสอบก็จะคอย comment บอกว่าตลอดว่าไม่ควรลอกโจทย์นะเพราะไม่ทำให้เราได้คะแนนเพิ่มขึ้นและบางทีก็ทำให้เราเสียเวลาด้วย แต่ถ้าเราสามารถกำหนดประเด็นของคำถามได้จะทำให้เรารู้ว่าโดยภาพรวมในข้อนี้มีกี่ประเด็นและมีอะไรบ้าง เมื่อเราเห็นภาพรวมแล้วจะทำให้สามารถลำดับได้ว่าจะต้องเขียนในประเด็นใดก่อนหลัง และในกรณีที่โจทย์มีหลายคำถามเราก็จะรู้ได้ว่าประเด็นต่างๆเหล่านั้นมีประเด็นใดบ้างที่นำไปสู่คำตอบของคำถามใด นอกจากนั้นการเห็นภาพรวมยังทำให้เราพบว่าเราเก็บประเด็นครบแล้วหรือยัง มีประเด็นไหนไหมที่ตกหล่นไปหรือจะต้องเพิ่มเติมประเด็นใดหรือเปล่า ทำให้เราสามารถเก็บประเด็นที่โจทย์ต้องการได้ครบถ้วนด้วยค่ะ ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราวินิจฉัยปรับบทได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นระบบมากขึ้น”
“โดยวิธีการแก้ปัญหาในส่วนนี้นะคะ อย่างแรกก็คือมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาเป็นพื้นฐานก่อน เพราะยิ่งเราเข้าใจกฎหมายมากแค่ไหนก็จะยิ่งง่ายต่อการกำหนดประเด็นมากยิ่งขึ้น การหมั่นทบทวนเนื้อหาในการเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจในตัวบทกฎหมายมากยิ่งขึ้นค่ะ วิธีแก้ปัญหาต่อไปที่แทนแนะนำมากที่สุด คือ การฝึกฝนเขียนตอบข้อสอบ เพราะนอกจากจะช่วยฝึกและพัฒนาทักษะการเขียนของเราแล้ว ยังช่วยให้เรามีภูมิคุ้มกันมากขึ้นในการทำข้อสอบ เพราะเราได้เจอกับข้อสอบที่หลากหลายรูปแบบ มีความยากง่ายและซับซ้อนมากน้อยมาแล้วจากการฝึกเขียนตอบ ซึ่งในการฝึกแต่ละครั้งจะช่วยหัดให้เราฝคกวิเคราะห์ว่าคำถามในข้อนี้มีประเด็นอะไรบ้าง ถ้าเราเจอโจทย์ซับซ้อนแบบนี้เราจะจับประเด็นยังไง ซึ่งเราจะรู้ได้ด้วยตัวเองจากการฝึกฝนในแต่ละครั้ง จะช่วยให้เรากำหนดประเด็นได้ง่ายยิ่งขึ้นค่ะ ในบางครั้งข้อสอบที่เราเจออาจจะคล้ายกับข้อสอบที่เราเคยทำมาแล้วก็ได้ ซึ่งง่ายต่อการหาประเด็นเพราะเราเคยทำมาแล้ว กล่าวง่ายๆมคือยิ่งฝึกฝนมากก็ยิ่งช่วยเราได้มากค่ะ”
“สุดท้ายนะคะ ขอย้ำว่า การฝึกฝนเขียนตอบข้อสอบเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำข้อสอบในแต่ละครั้ง เพราะการฝึกฝนนั้นจะช่วยให้เราฝึกวิเคราะห์และพัฒนาทักษะการเขียนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเราทำข้อสอบจริงๆ การวิเคราะห์วินิจฉัยกับการเขียนจะต้องทำงานไปด้วยกันและพร้อมๆ กัน ดังนั้น ยิ่งเราฝึกฝนมากเราก็จะพบว่ามันช่วยทำให้การวิเคราะห์วินิจฉัยปรับบทของเราสามารถทำงานสัมพันกับการเขียนตอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในการฝึกทำข้อสอบแต่ละครั้งยังช่วยพัฒนาทักษะการเขียนของเราให้ดียิ่งขึ้น เพราะทักษะการเขียนเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อนักกฎหมาย เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจอีกทางหนึ่งที่ได้กระทำผ่านทางตัวอักษรนั่นเองค่ะ ไม่ว่าในปัจจุบันหรือในอนาคตก็ได้ใช้ทักษะนี้แน่นอนเราจึงควรฝึกฝนทักษะนี้ไว้จะดีที่สุดค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
นันทิชา : “แน่นอนว่าได้รับความรู้เพิ่มเติมทั้งในวิชาเอกเทศสัญญา กฎหมายแพ่งหลักทั่วไป และวิชากฎหมายอาญา ภาคทั่วไปค่ะ ได้ทบทวนเนื้อหาที่เคยเรียนมาแล้ว ฝึกการคิดวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และได้เรียนรู้ทักษะการเขียนตอบว่า โครงของการเขียนตอบมีอะไรบ้าง ข้อสอบในลักษณะนี้จุดใดที่เราควรเน้นและจุดใดที่ควรให้ความสำคัญ ข้อควรระวังและข้อห้ามต่างๆ ในการเขียนตอบค่ะ และในการตรวจข้อสอบแต่ละครั้งทำให้เราได้พัฒนาทักษะในการเขียนตอบไปด้วย เพราะเราจะต้องคอยหาจุดบกพร่องและข้อดีข้อเสียของเขียนตอบแต่ละฉบับออกมาให้ได้ค่ะ เพื่อที่จะ review ได้อย่างตรงจุดค่ะ ซึ่งเป็นการพัฒนาการเขียนตอบของเราไปในตัวด้วย นอกจากนี้ยังได้ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆและน้องๆ เพิ่มขึ้นค่ะ ที่สำคัญคือสามารถนำเอาความรู้และทักษะทั้งหมดมาถ่ายทอดต่อให้กับเพื่อนๆและน้องๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ”
นันทิชาสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2562 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับเนติบัณฑิต
ตอนนี้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กำลังรับสมัครผู้ช่วยอาจารย
ภาพ นันทิชา
เรียบเรียง KK