ศิษย์เก่าที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาคนที่สองที่เราจะไปพูดคุยด้วยก็คือ เฉลิมรัช จันทรานี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) รุ่นล่าสุด (รหัสเข้าศึกษา 58) ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา วิชา น.210 กฎหมายอาญา : ภาคทั่วไป และน. 211 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด (หลักสูตรเก่า 2556) ถึงสองปีซ้อน เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 (ปีการศึกษา 2560) และ 4 (ปีการศึกษา 2561)
คำถาม (1) : ทำไมจึงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา และเป็นผู้ช่วยอาจารย์ท่านไหน
เฉลิมรัช : “ตอนที่สมัครก็คือว่าอยากหาอะไรทำเพิ่มเติมเป็นการหาประสบการณ์ทางวิชาการให้กับตัวเอง ตอนนั้นเห็นมีรุ่นพี่สมัครปีก่อนหน้าแล้ว ก็คือสนใจมาตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งแต่ตอนอยู่ปีหนึ่งก็เห็นว่าพี่เขาทำกันก็สงสัยว่าทำอะไร รู้สึกสนใจเพราะว่าพอมาถึงปีที่ตัวเองมีคุณสมบัติสมัครได้ก็เลยลองสมัครดู”
“เคยเป็นผู้ช่วยกฎหมายอาญา เคยทำอยู่ 3 เทอมเป็นอาญาทั่วไป 2 เทอม ตอนนั้นช่วย Sec อาจารย์สุรศักดิ์ อาจารย์ปกป้อง อาจารย์สัมมนาจะเป็นอาจารย์คงสัจจา ส่วนอาญาภาคความผิดก็ไปช่วย Sec อาจารย์คงสัจจาสัมมนาเหมือนกันครับ”
(ถามเพิ่มเติมว่า ตอนเรียนอาญาเรียนกับใคร และรู้สึกอย่างไรกับวิชานี้?)
“ตอนที่เรียนอาญาทั่วไปผมเรียน Sec ท่านอาจารย์สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล กับอาจารย์ปกป้อง ศรีสนิท รู้สึกประทับใจ เพราะว่าตัววิชาและตัวผู้สอนด้วยครับ เพราะว่ามีความสนใจในด้านกฎหมายอาญามาแต่เดิม แล้วก็พอมาเจออาจารย์สองท่านนี้ก็รู้สึกว่าประทับใจในวิธีการสอน”
“ถ้าให้ลงรายละเอียดก็คือว่า ในส่วนของท่านอาจารย์สุรศักดิ์ท่านจะไม่ค่อยได้เน้นฎีกาอะไรมากมายคือท่านก็อยู่กับหลักกฎหมายแล้วก็ตัวหลักทฤษฎี ซึ่งมันเป็นหลักทั่วไปแล้วท่านก็อธิบายแบบไม่ได้ยากที่จะทำความเข้าใจมากนักมันก็เลยคือพอเรียนจบแล้วไม่ได้ลืม คือมันเป็นหลักที่สามารถเอาไปใช้ได้เวลาอ่านฎีกาก็เอามาคิดว่ามันตรงกับหลักวิชาที่เราเอามาเรียนหรือไม่และเป็นแนวที่ท่านสอน”
“ส่วนท่านอาจารย์ปกป้องก็จะคล้าย ๆ กัน ที่คิดว่ามีความพิเศษโดดเด่นของท่านอาจารย์ปกป้องก็คือท่านจะเป็นอาจารย์ที่สอนและยกตัวอย่างได้อย่างชัดเจนได้เฉียบมากก็คือ เหมือนท่านมีประเด็นหนึ่งขึ้นมา มีหลักกฎหมายขึ้นมาท่านก็จะบอกว่า ถ้าข้อเท็จจริงมันเป็นแบบที่หนึ่งผลมันจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าท่านบิดข้อเท็จจริงไปแบบที่ 2 แบบที่ 3 แบบที่ 4 คือบางทีท่านพูดมาเป็น 10 แบบท่านก็บอกได้หมดเลยว่าถ้าในบรรดาข้อเท็จจริงแบบนี้ต่างกันนิดหนึ่งผลมันจะต่างจากกันไปอย่างไร ก็คือมีความชัดเจนในระดับหนึ่งในอาญาทั่วไป”
“ส่วนภาคความผิด ผมเรียนกับ Sec ท่านอาจารย์สาวตรี ซึ่งท่านก็จะมีความน่าสนใจในแบบของท่าน ในแง่ของการสอนแบบวิพากษ์วิจารณ์มีการยกตัวอย่างสถานการณ์จริง ๆ ในสังคมขึ้นมาว่า เอ้ย…ถ้ามันมีเคสแบบนี้ขึ้นมาเนี่ยปรับกฎหมายมันจะเป็นอย่างไร ต่อให้ปรับไปแล้วตีความแบบนี้มันเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามหลักหรือไม่ เพราะว่ามันควรไหม ถ้าในแง่ที่ว่าการมีกฎหมายแบบนี้อยู่ในสังคมเนี่ยมันสมควรหรือไม่ ก็คือไม่ใช่ challenge เฉพาะแนวการตีความแต่ challenge ถึงการมีอยู่ของตัวบทด้วยก็เป็นความสนใจแง่หนึ่งของท่าน”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์เป็นอย่างไร
“ทั้งในปีแรกที่ช่วยท่านอาจารย์สุรศักดิ์โดยตรง กับอีกปีหนึ่งเทอมที่มีอาจารย์คงสัจจาเข้ามาช่วย ลักษณะของการทำงานก็จะคล้าย ๆ กัน คือ มีการสอนหรืออาจจะมีการติวข้อสอบบางข้อให้ เอ๊ะ มันน่าจะออกไปในทางไหนเพราะว่าเหมือนกับว่าเราอยากจะเน้นวิธีการเขียนของนักศึกษา เพราะฉะนั้นเรื่องธงก็จะพยายามไม่ให้มันมีปัญหามากนัก และอาจารย์ก็สั่งการบ้านมาก็จะมีการนัดวันว่าน้องส่งวันไหน น้องก็จะเอาไปส่งตามเวลาที่ท่านอาจารย์กำหนดไว้พวกผมซึ่งเป็นผู้ช่วยก็จะไปดูตามเวลาเดดไลน์ว่าตอนนี้เดดไลน์แล้วนะ น้องส่งมากี่คนแล้วก็หารตามจำนวนผู้ช่วยที่มี สมมติว่ามี 4 คน และน้องส่งมา 40 แผ่น ก็แบ่งกันไปคนละ 10 แผ่น ใช้เวลาอาจจะประมาณอาทิตย์หนึ่ง รับงานมาวันศุกร์ไปส่งคืนวันจันทร์หรือวันอังคารแบบนี้ น้องก็จะมารับคืน แล้วก็จะมีการประชุมประมาณทุกอาทิตย์เป็นการติดตามผล ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สุรศักดิ์หรือว่าอาจารย์คงสัจจาก็จะเข้ามาถามว่า ที่ผ่านมาน้องเป็นอย่างไรบ้าง การบ้านน้องมีข้อดีข้อเสียอะไรควรจะเอาไปพูดในห้องไหม ท่านก็จะรับฟังแล้วเอาไปบอกน้องต่อในคาบสัมมนาครับ”
คำถาม (3) : คิดว่าคุณสมบัติของการเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาที่ดีมีอะไรบ้าง
เฉลิมรัช : “ผมว่าน่าจะเป็น 2 ข้อหลัก ๆ ของผมก็คืออย่างหนึ่งเป็นเรื่องของความละเอียด อย่างที่สองจะเป็นเรื่องของความอดทนความละเอียดก็คือเราต้องแบบมีความละเอียดถี่ถ้วนในการที่การที่จะ detect ตัวการบ้านที่อาจารย์ส่งมาว่ามันเป็นประเด็นที่ควรได้รับการพัฒนาต่อยอดตรงไหนที่น้องมีอยู่แล้วเราก็อาจจะต้องพยายามหาข้อดีของน้องก่อนในเบื้องต้นว่าเป็นเรื่องที่ทำดีอยู่แล้วละรักษาเอาไว้นะ น้องจะได้มั่นใจว่าที่ทำมานี้ทำมาถูกทางแล้วในบางกรณีที่เราอาจจะเห็นว่าน้องมีข้อเสียถ้าเราดึงจากข้อเสียออกมาพูดให้น้องเห็นแต่ข้อเสียของน้องเพียงอย่างเดียว แบบนั้นก็จะกลายเป็นว่าน้องอาจจะมีความรู้สึกในแง่ลบ อ่านคำวิจารณ์แล้วรู้สึกว่าเสียกำลังใจอะไรแบบนี้นะครับก็คือว่ามองว่ามีข้อดีข้อด้อยอะไรบ้างให้เห็นชัดเจนแล้วก็แจกแจงประเด็นคอมเมนต์ไปให้ตรงจุด”
“อีกแง่หนึ่งที่พูดความอดทนก็คือว่า ด้วยความที่ในบางวิชาอย่างนี้นะครับถ้าผู้ช่วยไม่เยอะมากตัวจำนวนการบ้านที่เราได้รับมาตรวจมันอาจจะค่อนข้างเยอะเหมือนกับว่าเรารับได้ไหมที่เราจะต้องมานั่งอ่านคำตอบของข้อสอบคำถามเดิม ๆ เป็น 10-20 แผ่นแบบนี้ ซัก 4-5 มันอาจจะโอเค แต่ถ้าขึ้นแผ่นที่ 6 7 8 9 10 อาจจะคิดว่าการที่เรามานั่งคอมเม้นท์เรื่องเดิม ๆ ตลอดแบบนี้ มันก็ผมคิดว่ามันจะต้องใช้ความอดทนในระดับหนึ่งเหมือนกันที่เราจะไม่เบื่อ”
คำถาม (4) : ปัญหาของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้านสัมมนามีอะไรบ้าง
“ผมว่าปัญหาที่เจอนั้นหลากหลาย หลัก ๆ มันมีอยู่ 2 อย่าง เป็นปัญหาในแง่เนื้อหาคำตอบซึ่งในฐานะที่เราเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาเราไม่ต้องซีเรียสมาก เพราะว่าหลักของผู้ช่วยสัมมนาดูก็คือเรื่องวิธีการเขียนเป็นหลัก แต่ว่าเรื่องเนื้อหาจริง ๆ มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมันมาคู่กันบางครั้งที่น้องสงสัยมีปัญหา น้องไม่แน่ใจ คือบางทีเขียนตอบมาแล้วหรือยังไม่เขียนตอบอาจจะถามเป็นการส่วนตัวอะไรอย่างนี้ อย่างนี้เราก็ต้องพยายามเตรียมไว้ตอบให้กับน้อง ๆ ในเรื่องที่น้องยังไม่เคลียร์ แต่เรื่องที่จะเป็นปัญหาจริง ๆ ที่เราจะต้องสนใจก็คือในแง่ของวิธีการเขียนซึ่งบางอย่างเราก็แนะนำได้ บางอย่างจริง ๆ มันก็อาจจะเกินความสามารถที่เราจะมาแนะนำได้ ส่วนที่แนะนำได้เช่นวิธีการปรับบท การใช้ถ้อยคำ อะไรที่มันฟุ่มเฟือยเกินไป ตรงนี้น้องตอบมาฟันมาแต่ธง ยังไม่มีการปรับบทกฎหมายให้เข้ากับตัวข้อเท็จจริงอันพอแนะนำได้ก็จะเขียนแนะนำไป แต่ว่าส่วนที่ผมว่าอาจจะเกินความสามารถก็คือในเรื่องของวิธีการเขียนการใช้ภาษาเขียน ซึ่งส่วนนี้มันเป็นวิธี มันเป็นอะไรที่น้องจะต้องตกผลึกมาในระดับหนึ่ง เหมือนกับว่าตอนเรียนมัธยมน้องเรียนภาษาไทยอย่างไร เคยเขียนรายงาน เคยเขียนเรียงความบทความเป็นความยาวระดับหนึ่งไหม ใช้ภาษาเขียนได้ไหม อย่างนี้นะครับ มันจะต้องใช้ประสบการณ์ของการเขียนการอ่านต้องอ่านงานของคนอื่นมา อ่านบทความวิชาการมาบ้างเพื่อที่จะเอามาฝึกปรับกันตนเองครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา
“ถ้าตอบในภาพรวมก็คือได้ประสบการณ์มนทางวิชาการมากขึ้น ถ้าให้ขยายความนิดหนึ่งก็คือ เหมือนกับการที่เราได้คอยรีวิวได้ตรวจงานคนอื่นมันเหมือนมันเป็นการพัฒนาทักษะของตนเองไปด้วยเพราะเหมือนกับว่าเวลาที่เราเขียนงานอะไรบางอย่าง การที่เรามานั่งอ่านงานตัวเองอย่างนี้บางที่เราก็อาจจะข้ามจุดบกพร่องของตนเองไป คือมันเป็นงานซึ่งเราคิดว่ามันอาจจะดีอยู่แล้วก็เลยไม่ทันสังเกตประเด็นบางอย่าง แต่พอเราได้อ่านงานคนอื่น ๆ เยอะแล้วเรารู้สึกว่าตรงนี้มันเป็นจุดบกพร่องอย่างหนึ่งที่คนเขามีกันแล้วก็อาจจะกลับมาย้อนมองตัวเองได้ว่า จริง ๆ แบบนี้เราก็เคยทำเหมือนกันนะตอนที่เป็นงานของตนเองเราแค่ไม่ได้สังเกตเฉย ๆ แบบนี้มันก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน”
ปัจจุบันเฉลิมรัชเป็นทนายความฝึกหัดที่ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถ่ายภาพ Pump
เรียบเรียง KK