คุยกับวัฒนกร อุทัยวิวัฒน์กุล กับประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิชา น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา
คำถาม (1) : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
วัฒนกร : “เคยเป็นผู้ช่วยวิชาเดียวแต่ทำ 3 ครั้งคือนิติกรรมและสัญญา ครั้งแรกตอนอยู่ปี 2 เทอม 2 ครั้งที่ 2 ตอนปี 3 เทอม 1 ของภาคบัณฑิต กลุ่มอาจารย์กรศุทธิ์ และครั้งสุดท้ายตอนปี 4 เทอม 2 กลุ่มอาจารย์กรศุทธิ์ และสัมมนาโดยอาจารย์กิตติภพ”
“ความรู้สึกตอนเรียนวิชานี้ใช่ไหมครับ ก็รู้สึกตอนที่ผมเรียนวิชานิติกรรมและสัญญาของอาจารย์กรศุทธิ์ เป็นปีแรกที่อาจารย์ได้สอนเซคชั่นนี้คนเดียวเต็ม ๆ ก็รู้สึกค่อนข้างสนุกและท้าทายครับ สนุกตรงที่ว่าตอนที่อาจารย์สอนอาจารย์มีการยกตัวอย่างข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ข้อสัญญาของบริษัทต่าง ๆ หรือว่าคำถามที่มันเป็นปัญหาอยู่ให้ถกคิด ซึ่งอาจารย์จะตั้งคำถามในห้องทำให้ตอนเรียนสนุกกับการต้องไปหาคำตอบและเมื่อเกิดข้อสงสัยเราก็จะพยายามไปหาคำตอบเพื่อมาตอบอาจารย์ในห้อง วิชานี้มันสนุกตรงที่ได้ไปค้นหาคำตอบตรงนี้และมันท้าทายตรงที่ว่าวิชานิติกรรมและสัญญาเป็นวิชาที่เราต้องใช้ตัวบทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครับ เพราะว่าตอนเราเรียนปี 1 เทอม 1 ยังไม่ค่อยได้ใช้ตัวบทกฎหมายมากนักเพราะว่ามันเป็นวิชาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย แต่ว่าพอเป็นวิชานิติกรรมสัญญามันเป็นวิชาแรกที่เราได้อิงกับตัวบทก็ทำให้เราต้องปรับตัวและมีความท้าทายที่เราจะต้องอ่านตัวบทและอ่านเนื้อหาในห้องเพื่อที่จะเอาเนื้อหานี้มาปรับกับตัวบทกฎหมายที่ใช้ครับ”
“สำหรับเหตุผลที่สมัคร TA ด้วยความที่ประทับใจพี่ ๆ ตอนเรียนวิชาความรู้ทั่วไปของกฎหมายตอนปี 1 เทอม 1 เรายังเขียนตอบข้อสอบกฎหมายไม่เป็นเลย เราก็ประทับใจตอนเราส่งสัมมนาก็มีพี่สัมมนาคอยตรวจงานให้เราและคอยคอมเมนต์เราทำให้การเขียนของเราพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งส่งสัมมนาเยอะก็มีความรู้สึกว่าการเขียนของเรายิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนมันเป็นความประทับใจจนทำให้ผมเลือกที่จะมาสมัครเป็นผู้ช่วยสัมมนาในวิชานิติกรรมและสัญญาต่อไปครับ”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
วัฒนกร : “ก่อนที่จะตรวจสัมมนาที่น้อง ๆ ส่งมาอาจารย์จะมีการเรียกพี่สัมมนาไปคุยก่อนเพื่อจะให้ดูโจทย์และให้ดูธงคำตอบว่าแนวทางการตอบข้อสอบข้อที่อาจารย์สั่งต้องตอบไปในแนวทางไหน แล้วก็เกณฑ์ที่อาจารย์จะให้ตรวจก็จะมีเกณฑ์ควรปรับปรุง พอใช้ ดี ดีมาก ซึ่งจะไม่ได้มีการให้คะแนนแบบ 1, 2, 3, 4, 18, 20 ก็จะเป็นเกณฑ์มาตรฐานดี ดีมากครับ พอเราตรวจสัมมนาเสร็จแล้วก็จะมีการส่งฟีดแบ็คไปให้อาจารย์ว่าเราพบข้อบกพร่องของน้อง ๆ ที่เขียนส่งสัมมนาในแต่ละครั้งพบเจออะไรบ้างเพื่อที่จะให้อาจารย์ไปบอกแก่น้อง ๆ ในห้องเรียนต่อไป แล้วก็อีกเรื่องนึงคือช่วงสอบอาจารย์ก็จะมีการให้พี่ ๆ สัมมนาเข้าไปให้คำแนะนำน้อง ๆ ถึงวิธีการเตรียมตัวสอบ วิธีการอ่านหนังสือ หรือว่าข้อควรระวังในการเขียนตอบข้อสอบในห้องเพื่อจะทำให้น้องมีความมั่นใจมากขึ้นในการสอบวิชานิติกรรมและสัญญาครับ”
คำถาม (3) : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
วัฒนกร : “อย่างแรกคิดว่าต้องมีความรับผิดชอบในการส่งงานให้ตรงต่อเวลา เพราะอย่างเช่นอาจารย์ให้งานสัมมนามาวันพฤหัสแล้วเราก็ต้องส่งการตรวจสัมมนาในวันจันทร์ซึ่งมันก็จะมีระยะเวลาอยู่ประมาณ 3-4 วันในการตรวจ เราก็ต้องรับผิดชอบในการส่งสัมมนาให้ตรงต่อเวลาเพื่อที่จะให้น้อง ๆ ได้ดูฟีดแบ็คและได้อ่านคอมเมนต์ที่พี่สัมมนาเขียนให้แก่น้อง ๆ ครับ แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของความอดทนคือการตรวจสัมมนาครั้งหนึ่งอาจได้งานตรวจประมาณ 10-15 แผ่น เราก็จะต้องอดทนในการอ่านลายมือของน้อง ๆ บางคนที่แบบอ่านยากนิดนึงแล้วก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจการเขียนของน้อง ๆ ว่าน้อง ๆ เขียนตรงไหนดีหรือไม่ดีแล้วก็ค่อย ๆ ให้คำแนะนำน้อง ๆ ต่อไปครับ”
คำถาม (4) : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
วัฒนกร : “ก็ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติแบบเวลาเรียนในห้องแบบทั่วไปปัญหาที่พบก็คือน้อง ๆ จะเขียนมา มันจะเป็นการเขียนจำกัดอยู่แล้วเพราะว่ามันต้องเขียนด้วยมือเพราะฉะนั้นน้อง ๆ บางคนก็จะเขียนมาไม่ยาวมาก ซึ่งมันจะต่างกับตอนที่เรียนออนไลน์คือน้อง ๆ สามารถจะส่งแบบเป็นไฟล์ word หรือ เป็นไฟล์ pdf ได้ ตอนเรียนออนไลน์น้อง ๆ ก็จะมีการส่งมาค่อนข้างที่จะเยอะกว่าปกติเพราะอาจจะไม่ได้เขียนด้วยมือ ก็คือบางคนจะเขียนมา 4-5 หน้าต่อโจทย์ข้อนึง ซึ่งเป็นการเขียนที่อาจจะไม่ได้ตรงประเด็นกับสิ่งที่โจทย์ถามแล้วก็เขียนเยอะฟุ่มเฟือยเกินไปเราก็จะต้องให้คอมเมนต์น้อง ๆ ว่าควรที่จะลดทอนนิดนึง เพราะว่าการเขียนตอบที่ดีมันคือการที่จะต้องตอบให้ตรงประเด็นกับสิ่งที่โจทย์ถามแล้วก็กระชับได้ใจความครับ อันนี้เป็นปัญหาช่วงเรียนออนไลน์เมื่อต้นปีนี้”
“แต่ว่าถ้าปัญหาในช่วงเรียนปกติ ปัญหาที่พบก็คือบางคนเขียนยังค่อนข้างที่จะลอกตัวบทกฎหมายมา แต่ว่ายังเอาข้อเท็จจริงมาปรับกับตัวบทกฎหมายได้ไม่ครบครับ หรือบางคนที่เขียนมาแต่ว่าอาจจะไม่ได้เขียนแนวความเห็นของนักกฎหมายในประเด็นต่าง ๆ หรือว่าเขียนมาแต่ไม่ได้บอกความเห็นของตัวเอง ตรงนี้อาจจะทำให้การเขียนของน้อง ๆ ยังไม่สมบูรณ์และอาจจะทำให้คะแนนในการสอบน้อยลงมาครับ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
วัฒนกร : “สิ่งที่ได้รับคือได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ เพื่อน ๆ และได้รู้จักน้อง ๆ มากขึ้นครับ อย่างผมเคยตรวจสัมมนาให้กับพี่ภาคบัณฑิตอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว จนตอนนี้ผมก็ยังมีคุยถามคำแนะนำคำปรึกษาในสายงานด้านอื่นกับพี่เขาอยู่เลย ได้คอนเนคชั่น”
“อีกสิ่งหนึ่งคือได้ทบทวนความรู้อย่างผมเป็นผู้ช่วยอาจารย์กรศุทธิ์ในวิชานิติกรรมสัญญามา 3 ครั้ง ผมอ่านเตรียมสอบเนติบัณฑิตในวิชานิติกรรมและสัญญา ผมก็อ่านแล้วเหมือนสามารถระลึกได้จำเนื้อหาสาระได้รวดเร็วขึ้น เหมือนกับตัวบทก็จำได้อยู่แล้วเพราะเป็นผู้ช่วยอาจารย์มา 3 ปี เราอ่านตัวบทมาตลอด พอมาเรียนเนติแทบจะไม่ต้องจำตัวบทครับเหมือนกับว่าอ่านและสามารถทำความเข้าใจได้รวดเร็วครับ”
วัฒนกรสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) ในปีการศึกษา 2562 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับเนติบัณฑิต
ตอนนี้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังรับสมัครผู้ช่วยอาจารย
ภาพ วัฒนกร
เรียบเรียง KK