คุยกับกิรณา ศิริชาติปภากุล กับประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิชา น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 / น.110 กฎหมายอาญา : ภาคทั่วไป และน.111 กฎหมายอาญา : ภาคความผิด
คำถาม (1) : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
กิรณา : “แบมได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยอาจารย์ในวิชา น.160 การเขียนในเชิงกฎหมาย 1 กลุ่มอาจารย์สหรัฐ วิชาน.110 กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กลุ่มอาจารย์มาตาลักษณ์ อาจารย์สาวตรี สัมมนาโดยอาจารย์เพียรรัตนื และน.111 กฎหมายอาญาภาคความผิด กลุ่มอาจารย์ณรงค์ อาจารย์สาวตรี สัมมนาโดยอาจารย์คงสัจจาค่ะ”
“ตอนเรียนวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไป แบมได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์มาตาลักษณ์ และอาจารย์ทวีเกียรติค่ะ ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านก็จะมีรูปแบบการสอนที่ต่างกันออกไป แรก ๆ ที่เริ่มเรียนก็รู้สึกว่าเราฟังอาจารย์พูดแล้วเราเข้าใจ เราเลคเชอร์ตามได้ แต่เมื่อมาลองเขียนเองแล้วรู้สึกว่าเขียนยากมาก เขียนแทบไม่เป็นเลยค่ะตอนแรก ๆ เพราะรูปแบบการเขียนจะค่อนข้างต่างกับวิชาทางแพ่ง ทำให้ไม่กล้าส่งการบ้านสัมนาให้พี่ตรวจเลยด้วยซ้ำ แต่พอเห็นเพื่อนส่งไปแล้วได้คอมเม้นท์กลับมาว่าต้องแก้ตรงไหนบ้างก็เลยตัดสินใจลองส่งการบ้านสัมนาไปให้พี่ตรวจ แล้วคอมเม้นท์ที่ได้กลับมาก็เริ่มทำให้เรารู้แล้วว่าอะไรที่ควรใส่เพิ่มลงไปในข้อสอบอะไรไม่ควรใส่ บวกกับลองดูวิธีการเขียนตอบและธงคำตอบขอบแต่ละปี ก็ทำให้เขียนได้ดีขึ้นมาก จนสุดท้ายก็สอบได้คะแนนเป็นที่น่าพอใจมากค่ะ ก็เลยเกิดความคิดว่าคงมีน้องอีกหลาย ๆ คนที่เจอสถานการณ์แบบที่แบมเจอคือเริ่มเขียนตอบวิชากฎหมายอาญาไม่เป็น แบมเลยคิดว่าแบมอาจจะเอาเทคนิคและวิธีการมาแชร์และช่วยน้อง ๆ ได้บ้างไม่มากก็น้อย ก็เลยตัดสินใจมาสมัครเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิชานี้ค่ะ”
“ซึ่งสำหรับวิชากฎหมายอาญาภาคความผิดเนี่ย ตอนที่แบมเรียนแบมชอบวิชานี้มากค่ะ รู้สึกสนุกทุกครั้งเวลาได้เรียนถึงเรื่องฐานความผิดต่าง ๆ และยิ่งได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์สาวตรี และอาจารย์ณรงค์ด้วยแล้ว ซึ่งท่านทั้งสองมีเทคนิคในการถ่ายทอดให้นักศึกษาที่ฟังตามแล้วรู้สึกสนใจและสนุกไปด้วย ส่วนตัวแบมเลยชอบวิชานี้มากค่ะ แล้วรูปแบบการเขียนของวิชากฎหมายอาญาภาคความผิดเนี่ยก็ไม่เหมือนวิชากฎหมายอาญาภาคทั่วไปซะทีเดียว ด้วยความชอบในตัววิชาอยู่แล้วบวกกับยังอยากที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์อีกเทอมก็เลยมาสมัครเพิ่มในวิชากฎหมายอาญาภาคความผิดค่ะ”
“สำหรับเหตุผลที่สมัคร TA ด้วยความที่ประทับใจพี่ ๆ ตอนเรียนวิชาความรู้ทั่วไปของกฎหมายตอนปี 1 เทอม 1 เรายังเขียนตอบข้อสอบกฎหมายไม่เป็นเลย เราก็ประทับใจตอนเราส่งสัมมนาก็มีพี่สัมมนาคอยตรวจงานให้เราและคอยคอมเมนต์เราทำให้การเขียนของเราพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งส่งสัมมนาเยอะก็มีความรู้สึกว่าการเขียนของเรายิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนมันเป็นความประทับใจจนทำให้ผมเลือกที่จะมาสมัครเป็นผู้ช่วยสัมมนาในวิชานิติกรรมและสัญญาต่อไปครับ”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
กิรณา : “อาจารย์แต่ละท่านก็จะมีวิธีการทำงานที่ต่างกันไปค่ะ แต่จุดร่วมกันจากที่แบมได้พบมา เช่นวิชา น.160 เนี่ยแบมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์สหรัฐ ซึ่งอาจารย์ก็จะเรียกผู้ช่วยอาจารย์มาคุยว่าอาทิตย์นี้ฟีดแบ็คเป็นยังไง อยากให้ช่วยเน้นตรงไหนให้นักศึกษามากขึ้นมั้ย ที่ตรวจมาส่วนมากปัญหาที่เจอคืออะไร ซึ่งแบมว่าแบบนี้ดีมาก ๆ เลยค่ะเพราะอาจารย์ก็จะทำการถ่ายทอดให้น้อง ๆ ฟังอีกทีว่าปัญหาที่น้อง ๆ มีในการเขียนเนี่ยอะไรคือปัญหาสำคัญ และอะไรที่ควรจะเน้นและแก้ไข ซึ่งในวิชาอื่น ๆ ทั้งกฎหมายอาญาภาคทั่วไปและกฎหมายอาญาภาคความผิดที่แบมได้เป็นผู้ช่วยอาจารย์เนี่ยก็จะเป็นแบบนี้เหมือนกัน โดยทั้งอาจารย์เพียรรัตน์ และอาจารย์คงสัจจาก็มักจะมีการประชุมคุยกับผู้ช่วยอาจารย์ทั้งก่อนและหลังได้ตรวจการบ้านค่ะว่าอาทิตย์นี้อยากให้ตรวจเน้นตรงไหนบ้าง หรือหลังจากตรวจมาแล้วมีฟีดแบ็คยังไงบ้างประมาณนี้ค่ะ”
คำถาม (3) : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
กิรณา : “แบมคิดว่างานโดยส่วนมากของการเป็นผู้ช่วยอาจารย์คือการช่วยตรวจการบ้านสัมนา ซึ่งเราก็จำเป็นต้องเขียนคอมเม้นท์ลงไปในกระดาษคำตอบของน้อง ๆ ที่ได้ส่งมาใช่มั้ยคะ แบมเลยคิดว่าคุณสมบัติที่ควรมีอย่างหนึ่งเลยคือทักษะในการถ่ายทอดและสื่อสารค่ะ โดยเราต้องสามารถถ่ายทอดให้น้องเข้าใจให้ได้ว่าปัญหาที่พบคืออะไร และทางแก้ควรเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าเราเขียนคอมเม้นท์ไปแค่ว่าตรงนี้ไม่ดี แต่เราไม่เขียนแนะนำหรือยกตัวอย่างให้ว่าควรแก้ให้ดีขึ้นยังไงเนี่ยตรงนี้น้องก็จะแค่รู้ว่าเค้าเขียนผิดแต่ไม่รู้ว่าควรปรับยังไง ซึ่งการตรวจแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไรเท่าไหร่ค่ะ แบมเลยคิดว่าทักษะการถ่ายทอดเนี่ยเป็นอะไรที่สำคัญมาก ๆ เลย”
คำถาม (4) : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
กิรณา : “ตั้งแต่วิชาแรกจนถึงวิชาสุดท้ายที่แบมได้มีโอกาสตรวจการบ้านเนี่ย แบมพบว่าปัญหาที่เจอทุกครั้งและเป็นส่วนใหญ่คือการเรียบเรียงประโยคในการเขียนตอบและการเขียนที่รวบรัดแบบไม่อธิบายเท่าไหร่ค่ะ เช่นการแปะโจทย์ แปะมาตราแล้วตอบเลยโดยไม่มีการอธิบายอะไรเลยค่ะ ซึ่งพอเราเจอแบบนี้เราก็ต้องคอยยกตัวอย่างการเขียนให้ว่าควรเพิ่มอะไร ก็ทำให้ค่อนข้างใช้เวลาไปเยอะเลยค่ะ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งแบมก็คอมเม้นท์เพิ่มไปโดยอ้างอิงจากที่เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งสอนว่าเวลาเราเขียนตอบเนี่ย เราควรคิดไว้ในใจเสมอว่าคนที่มาอ่านเป็นคนที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย เราต้องทำยังไงก็ได้ให้ใครก็ได้มาอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ด้วย”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
กิรณา : “การเข้าร่วมโครงการผู้ช่วยอาจารย์ให้อะไรหลาย ๆ อย่างมากค่ะ ยกตัวอย่างเช่นแบมได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการตอนอยู่ปี 3 ซึ่งเป็นปีที่ค่อนข้างเรียนเยอะและเรียนหนักมาก การได้มาเข้าร่วมโครงการทำให้แบมเรียนรู้ที่จะจัดสรรเวลาและรับผิดชอบต่อการทำงานได้มากขึ้นค่ะ ซึ่งมันเป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับการทำงานหลังเรียนจบไป นอกจากนั้นการที่แบมเข้าร่วมโครงการครั้งแรกก็เหมือนเป็นการหลุดออกจาก comfort zone ที่เคยมี ที่เคยคิดไว้ว่าเราทำงานวิชาการไม่ได้ แต่พอได้ทำจริง ๆ มันเหมือนได้หลุดออกมาจากกรอบนั้นค่ะ ทำให้เรารู้ว่าเรายังสามารถทำอะไรที่คิดว่าทำไม่ได้ได้อีกมากมายค่ะ
“นอกจากนั้น การที่ได้ตรวจการบ้านน้อง ๆ หลาย ๆ คนเนี่ย ก็ทำให้เราได้เห็นมุมมองต่อกฎหมายหลาย ๆ แง่มุมจากน้อง ๆ ด้วย ทั้งมุมที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถเอาไปต่อยอดความคิดของเราได้ด้วยค่ะ”
กิรณาสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) ในปีการศึกษา 2562 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับเนติบัณฑิต
ตอนนี้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กำลังรับสมัครผู้ช่วยอาจารย
ภาพ กริณา
เรียบเรียง KK