คุยกับรุ้งเพชร แป้นเพชร ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รุ่น 57 กับประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยอาจารย์วิชา น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา
คำถาม (1) : วิชาที่เคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์ /ความรู้สึกตอนเรียน / และเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ
รุ้งเพชร : “ตอนปี 4 เคยเป็น TA วิชากฎหมายว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา เซครองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปานค่ะ และศาสตราจารย์ ดร.ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์ สัมมนาโดยอาจารย์นาฎนภัส แต่ทำงานร่วมกับอาจารย์มุนินทร์ซึ่งท่านสัมมนาด้วยเป็นหลักค่ะ”
“สมัยเรียน จริง ๆ เรียนเซคอาจารย์ ดร.จุณวิทย์ และสัมมนาโดยอาจารย์จุฑามาศค่ะ ชอบวิชานี้เพราะว่ามีเนื้อหาที่มองเป็นภาพได้ง่าย และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เราสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการทำความเข้าใจวิชาอื่น ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นอีกมากมายค่ะ”
“เหตุผลที่สมัครคือ ด้วยความที่ช่วงปี 1 พี่ทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะทำให้มีเวลาในการอ่านหนังสือจำกัด ซึ่งชีวิตช่วงใกล้สอบจะหนักหนามาก เนื้อหาก็เยอะ เวลาก็น้อย ทำให้มีความเครียดพอสมควร แต่พอเริ่มได้ฝึกเขียนตอบและส่งการบ้านวิชาสัมมนาไปให้พี่ ๆ กับอาจารย์ช่วยตรวจก็พบว่าการเขียนตอบสัมมนาช่วยเราได้เยอะมาก คอมเมนต์ที่ได้รับทำให้รู้ว่าเรายังพลาดตรงไหน อะไรคือจุดแข็งของเรา และอะไรคือสิ่งที่เราจะทำให้ดีขึ้นได้อีก เลยรู้สึกเกิดเป็นความตั้งใจว่าถ้าเราเริ่มอยู่ปีสูงขึ้นไปและมีความรู้กับประสบการณ์ที่พร้อมแล้วก็อยากจะลองสมัครเป็นผู้ช่วยอาจารย์ดูเผื่อจะได้ช่วยน้อง ๆ แบบนี้บ้าง นอกจากนี้ การที่เราได้ตรวจสัมมนาก็เป็นการทบทวนความรู้ของเราเองในวิชาที่เรียนผ่านไปแล้วให้แม่นยำขึ้นไปอีกด้วยค่ะ”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์
รุ้งเพชร : “ท่านอาจารย์มุนินทร์จะให้ความเป็นกันเองมากค่ะ เมื่อได้รับโจทย์มาแล้ว อาจารย์จะแนะนำเลยว่าประเด็นอะไรคือสิ่งที่ควรเน้นย้ำในข้อนั้น ๆ และคอยสอบถามด้วยความใส่ใจเสมอว่ามีอะไรที่เป็นปัญหาหรือไม่ นอกจากนี้พวกเราจะมีกรุ๊ปแชทของผู้ช่วยอาจารย์ด้วย หากมีประเด็นอะไรหรือพบคำถามไหนที่มีความซับซ้อนก็สามารถคุยกับเพื่อน ๆ หรือปรึกษาหารือกับอาจารย์ได้ตลอด ทำให้การทำงานนั้นไม่มีอะไรที่ยุ่งยากหรือน่ากังวลใจเลยค่ะ เป็นการทำงานที่ได้ขบคิดเกี่ยวกับข้อกฎหมายอยู่ตลอดและสนุกมากค่ะ”
คำถาม (3) : คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์
รุ้งเพชร : “คุณสมบัติที่ควรมีในการเป็นผู้ช่วยอาจารย์คือความรับผิดชอบและความใส่ใจค่ะ เนื่องจากการบ้านสัมมนาที่ต้องตรวจจะมีปริมาณค่อนข้างมากทำให้ต้องจัดสรรเวลาดี ๆ นอกจากนี้ถ้าหากน้อง ๆ ในเซคต้องการปรึกษาประเด็นที่สงสัยเพิ่มเติมก็จะต้องให้คำปรึกษาแก่น้องได้ และถ้าหากน้องคนไหนมีวิธีการเขียนตอบที่ค่อนข้างมีปัญหาก็จะต้องติดต่อน้องไปเป็นการส่วนตัวเพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมด้วยค่ะ”
คำถาม (4) : ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้าน
รุ้งเพชร : “ที่พบบ่อยจะมีอยู่สองปัญหาหลักคือ หนึ่งยังไม่เข้าใจเนื้อหา ทำให้ตอบผิดหรือให้เหตุผลผิด สองเข้าใจเนื้อหาถูกต้องแล้วแต่ยังปรับบทกฎหมายได้ไม่ละเอียดหรือยังสื่อสารไม่ได้ใจความ ซึ่งทั้งสองปัญหานี้สามารถแก้ไขได้เสมอ ขอเพียงแค่มีความพยายามที่จะทบทวนเนื้อหาให้แม่นยำขึ้นและฝึกฝนการเขียนตอบสัมมนาบ่อย ๆ ค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
รุ้งเพชร : “โครงการผู้ช่วยอาจารย์นี้เป็นประโยชน์มากในแง่ที่เราจะได้พัฒนาตนเองไปอีกขั้นหนึ่งโดยใช้มุมมองกลับกันในการฝึกฝน อย่างสมัยก่อนเวลาที่เราฝึกทำข้อสอบ เราก็จะมองตัวเองเป็นนักศึกษาและได้แต่นั่งนึกว่าสิ่งที่เราเขียนมันถูกหรือยังนะ มาตรานี้เราจำได้ว่าอย่างไรบ้างนะ แต่พอมาเป็นผู้ชวยอาจารย์ เราจะได้น้อง ๆ เป็นกระจกสะท้อนเลยว่าสิ่งที่น้องเขาพยายามเขียนมาเนี่ย เราเข้าใจตัวบทกฎหมายรวมถึงเหตุผลเบื้องหลังในเรื่องนี้มากพอมั้ยที่จะทำความเข้าใจและให้คอมเมนต์กลับไปได้ว่าที่น้องเขียนมามันถูกหรือผิด เพราะถ้าเรายังเข้าใจเรื่องนั้นไม่ดีพอ เราจะไม่สามารถให้คำแนะนำหรือตอบข้อสงสัยของน้องได้เลย”
“ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์ยังทำให้พี่ได้รับมิตรภาพดี ๆ ทั้งจากเพื่อน ๆ ที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์ด้วยกันและจากน้อง ๆ ในเซคมาจนถึงปัจจุบันนี้ เราช่วยน้อง น้องก็ช่วยเรา ทำให้เราได้ทบทวนความรู้และฝึกฝนทักษะการเขียนตอบไปในตัวเหมือนกันค่ะ (ยิ้ม)”
รุ้งเพชรสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) ในปีการศึกษา 2560 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมาย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้รับผู้ช่วยอาจารย
ภาพ รุ้งเพชร
เรียบเรียง KK