ศิษย์เก่าที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาคนที่สามที่เราจะไปพูดคุยด้วยก็คือ สรพงษ์ สุนทรพันธ์ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) รุ่นล่าสุด (รหัสเข้าศึกษา 58) ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา วิชา น.101 กฎหมายลักษณะนิติกรรมและสัญญา เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 (ปีการศึกษา 2559) โดยเป็นปีแรกที่มีการรับสมัครนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ให้เป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา จากที่ปกติจะรับสมัครนักศึกษาชั้นปีที่ 3-4
คำถาม (1) : ทำไมจึงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา และเป็นผู้ช่วยอาจารย์ท่านไหน
สรพงษ์ : “เนื่องจากตอนปีหนึ่งเทอมสองผมวิชานิติกรรมสัญญาทำแบบฝึกหัดตอบข้อสอบสัมมนาเยอะมากส่งพี่ ๆ ที่ตรวจสัมมนาเป็น 40-50 แผ่นเลย แล้วผมก็ค้นพบว่าทักษะการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายเป็นทักษะที่สำคัญมาก ทั้งในแง่ของการที่เราจะได้คะแนนดี ๆ ในการตอบข้อสอบรวมไปถึงในการนำไปใช้ในการทำงาน ดังนั้นผมจึงมีความต้องการที่จะพัฒนาทักษะการการเขียนตอบปัญหากฎหมาย แล้วผมก็ค้นพบว่าวิธีการพัฒนาทักษะการเขียนตอบปัญหากฎหมายมันมีด้วยกัน 3 วิธี คือ หนึ่งคุณต้องอ่านหนังสือให้มาก สองเขียนให้มาก แล้วก็สามคุณต้องรู้ข้อบกพร่อง ว่าข้อบกพร่องของการเรียนมีอะไรบ้าง ซึ่งวิธีที่สามคือคุณต้องรู้ข้อบกพร่องของการเขียนตอบข้อสอบ ผมก็พบว่าวิธีการที่รวดเร็วที่สุดที่เราจะรู้ข้อบกพร่องได้มากที่สุดก็คือการอ่านจากแบบฝึกหัดที่คนอื่นทำ ดังนั้นเหตุผลที่ผมมาเป็นผู้ช่วยสัมมนาก็เพราะว่าต้องการพัฒนาทักษะด้านนี้เพราะว่าจะได้เห็นข้อบกพร่องของคนอื่นเป็นจำนวนมาก ส่วนการทำงานก็เป็นผู้ช่วยในวิชานิติกรรมสัญญาของท่านอาจารย์กรศุทธิ์ครับ”
(ถามเพิ่มเติมว่า ตอนเรียนนิติกรรมสัญญาเรียนกับใคร และรู้สึกอย่างไรกับวิชานี้?)
สรพงษ์ : “ตอนที่ผมเรียนวิชานิติกรรมสัญญาผมเรียนอาจารย์ 2 ท่าน ส่วนแรกเรื่องนิติกรรมจะเป็นอาจารย์จุณวิทย์สอน และส่วนที่สองส่วนสัญญาจะเป็นอาจารย์กรศุทธิ์ ก็ความรู้สึกในวิชานี้นะครับ ผมก็รู้สึกประทับใจโดยผมขอแยกความประทับใจเป็น 2 ช่วงก็คือตามที่ท่านอาจารย์สอน”
“ส่วนแรกที่ท่านอาจารย์จุณวิทย์สอนผมประทับใจในการสอนของอาจารย์จุณวิทย์ที่มีรายละเอียดมาก ซึ่งรายละเอียดของท่านครบถ้วนทั้งตัวบท การอธิบายเหตุผลเบื้องหลัง รวมไปถึงตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจที่เป็นประเด็น คือของท่านอาจารย์จุณวิทย์ท่านจะไม่ได้เอาฎีกาทั้งหมดมาแต่ว่าจะคัดเฉพาะฎีกาที่น่าสนใจเรื่องนั้น สิ่งที่เป็นประเด็นถกเถียง”
“ในส่วนที่สองในเรื่องสัญญาของท่านอาจารย์กรศุทธิ์เนี่ยผมก็ประทับใจในเรื่อง ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเหตุผลเบื้องหลังในเรื่องสัญญาอย่างลึกซึ่ง ก็คือท่านอาจารย์จะเน้นเรื่องของวิธีคิดและวิธีวิเคราะห์เป็นหลัก เช่น อย่างเรื่องการแสดงเจตนาอย่างนี้ ถ้าเกิดเราเข้าใจตามที่อาจารย์สอนว่า การแสดงเจตนา หนึ่งเราถือเรื่องการแสดงเจตนาที่แท้จริงเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องมุ่งคุ้มครองผู้รับการแสดงเจตนาอย่างนี้ถ้าเกิดเราเข้าใจ 2 เรื่องนี้ เราก็จะสามารถเข้าใจเรื่องเจตนาซ่อนเร้นหรือเจตนาลวงได้อย่างเข้าใจและจำได้แม่น”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์เป็นอย่างไร
สรพงษ์ : “ตอนที่ผมเป็นผู้ช่วย ผมเป็นผู้ช่วยใน Sec ของท่านอาจารย์กรศุทธิ์ ซึ่งปีนั้นเป็น Sec บรรยายของท่านคนเดียวและท่านสัมมนาเอง ก็คือในสัปดาห์นั้นที่ท่านอาจารย์สอนสัมมนาเสร็จเนี่ย ก็จะมีการนัดประชุมผู้ช่วยประมาณ 5-6 คน ซึ่งการประชุมอาจารย์ก็จะมีคำถามที่เป็นคำถามที่ให้นักศึกษาส่งการบ้าน แล้วก็จะมีแนวทางในการตรวจข้อสอบมาให้ อาจารย์ก็จะมีการปรึกษาหารือระหว่างผู้ช่วยสัมมนาด้วยกันว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอะไรอย่างไรกับคำตอบ มีประเด็นไหนเพิ่มเติมที่น่าสนใจไหม หลังจากนั้นเสร็จแล้วก็จะแจกแจงให้แต่ละคนรับไปตรวจในแต่ละส่วน ๆ แล้วก็ค่อยมาส่งในสัปดาห์ถัดไปครับ”
(ถามเพิ่มเติมว่า รู้สึกอย่างไร ที่อาจารย์สัมมนาคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วยฯ ตั้งแต่เรียนอยู่ปีสอง ในขณะที่ Sec อื่น ๆ หรือวิชาอื่น ๆ จะรับเฉพาะนักศึกษาปี 3-4?)
“ตอนที่ผมทราบว่าได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วย ผมรู้สึกตื่นเต้น ในแง่มุม 2 ประการ คือ”
“ประการแรกในแง่มุม ที่จะได้สัมผัสถึงการประกอบอาชีพอาจารย์ กล่าวคือ ด้วยความที่ผมมีความสนใจในงานอาจารย์สอนกฎหมายอยู่แล้ว ผมจึงมีความรู้สึกตื่นเต้นมาก ที่แม้ตอนนั้นผมกำลังเรียนอยู่แค่ชั้นปีที่ 2 แต่จะได้มีโอกาสสัมผัสถึง อาชีพหนึ่งในสายงานกฎหมายที่สำคัญ คือ ในสายอาชีพอาจารย์ว่า ในแง่การตรวจข้อสอบ มีหลักเกณฑ์ในการสร้างคำถามเพื่อวัดผลความรู้จากผู้เรียนอย่างไร และ มีเกณฑ์การตรวจให้คะแนนที่เน้นการวัดผลด้านความรู้กฎหมาย และด้านทักษะการเขียนตอบที่มากน้อยต่างกันอย่างไร”
“ประการที่สองในแง่มุม ความท้าท้ายที่จะได้พัฒนาทักษะการเขียนตอบข้อสอบวิชากฎหมายของตัวเอง กล่าวคือ ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก ที่มีโอกาสจะได้รู้ถึงวิธีการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายทั้งวิธีที่ถูกต้องและวิธีที่ผิด เพื่อที่จะนำมาปรับปรุงและพัฒนาทักษะการเขียนตอบข้อสอบวิชากฏหมายของตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้ตัวเองพร้อมในการเรียนและการตอบข้อสอบในชั้นปีที่ 3 และ 4 โดยไม่ต้องรออีกปี 1 จนกว่าตัวเองจะอยู่ชั้นปีที่ 3 ซึ่งหากรอจนถึงตอนนั้นอาจจะสายเกินไปในการปรับปรุง แก้ไข วิธีการตอบข้อสอบของตัวเอง”
คำถาม (3) : คิดว่าคุณสมบัติของการเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาที่ดีมีอะไรบ้าง
สรพงษ์ : “สำหรับผมนะครับ คุณสมบัติของการเป็นผู้ช่วยตรวจการบ้านอาจารย์สัมมนาเนี่ย มี 3 ประการ คือ”
“ประแรกเนี่ยคุณต้องมี ต้องรักษาความรวดเร็ว หมายความถึงว่าคุณต้องมีทักษะในการอ่านเร็วและจับประเด็นเก่งเพื่อที่ว่าไอ้งานที่เข้ามาตอนเราตรวจการบ้านให้น้องเนี่ยมันจะเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วแล้วก็คุณสมบัติ”
“ประการที่สอง นอกจากตรวจเร็วแล้วเนี่ยคุณต้องมีสามารถอธิบายน้องได้อย่างชัดเจน นั่นหมายความว่าเวลาคุณแนะนำน้องไปถึงข้อบกพร่องของการตอบข้อสอบเนี่ย ต้องตรงจุดตรงประเด็นและต้องให้กำลังใจน้องไปด้วยคือทำให้น้องไม่เสียกำลังใจครับ”
“ประการสุดท้าย คุณต้องมีใจรักในเนื้อหาวิชานั้น ๆ”
คำถาม (4) : ปัญหาของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้านสัมมนามีอะไรบ้าง
สรพงษ์ : “ปัญหาหลักและเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักศึกษาในการตอบเลยนะครับ คือ ปัญหาที่นักศึกษาเขียนตอบกฎหมายไม่เป็น หมายความว่า มีสองอย่างที่เขาทำไม่ได้”
“ประการแรก คือ เขาไม่รู้จะตอบอะไร แล้วเกิดจากการที่น้อง ๆ ไม่สามารถจับประเด็นได้ว่าคำถามเรื่องนั้น ๆ มันเป็นเรื่องอะไร แล้วจะตอบอย่างไรให้ตรงประเด็น”
“ประการที่สอง ก็คือ ไม่รู้ว่าจะตอบข้อสอบอย่างไร เราพูดถึงปัญหาในเรื่องวิธีการนั่นหมายความว่าน้องไม่สามารถที่จะปรับบทข้อเท็จจรองเข้ากับข้อกฎหมายได้โดยที่ใช้หลักกฎหมาย คือ บางทีเวลาน้องตอบเนี่ย เออ…เนื่องจากการที่ว่าน้องอาจจะอ่านกฎหมายหรือตำราเป็นจำนวนมากฉะนั้นน้องจึงยังไม่มีตัวที่เป็นเค้าโครงหรือว่าแบบฟอร์มในการตอบแบบนี้มันก็จะเป็นปัญหา”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา
สรพงษ์ : “สำหรับผมนะครับ ผมได้ประโยชน์ 2 ประการ ประการแรกและก็เป็นประการใหญ่ที่ผมได้รับเลยคือผมได้รู้ถึงข้อบกพร่องในการตอบข้อสอบเป็นจำนวนมากแล้วก็หลากหลาย หลากหลายคือ เรารู้ทั้งในแง่ของการใช้ภาษาทั้งในแง่ของการจับประเด็น ทั้งในแง่ของการเรียบเรียงการเขียนตอบข้อสอบที่มันจะหลากหลายมาก และประโยชน์ประการที่สองก็คือ สำหรับผมที่ได้ทำในวิชานิติกรรมสัญญาผมก็ได้เสริมถึงความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่สำคัญเลยในวิชานิติกรรมสัญญา”
ปัจจุบันสรพงษ์เป็นทนายความฝึกหัดที่ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถ่ายภาพ Pump
เรียบเรียง KK