ศิษย์เก่าที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาคนต่อมาที่เราจะไปพูดคุยด้วยก็คือ ภาณพิศุทธ์ บุญตรา นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) รุ่นล่าสุด (รหัสเข้าศึกษา 58) ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาวิชา น.100 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 (ปีการศึกษา 2561)
คำถาม (1) : ทำไมจึงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา และเป็นผู้ช่วยอาจารย์ท่านไหน
ภาณพิศุทธ์ : “ตอนนั้นที่ตัดสินใจเข้ามาเป็น TA เพราะว่าอยากที่จะทำกิจกรรมในเชิงวิชาการบ้าง เพราะว่า 3 ปีที่ผ่านมาก็จะทำกิจกรรมแบบ กน. หรือกิจกรรมที่ไปทางสันทนาการ แล้วก็รู้สึกว่าเราได้ใช้เวลาช่วงปี 4 ของเราได้แบบคุ้มค่า ได้เอาประสบการณ์ในการเขียนตอบแบบนี้มาถ่ายทอดให้รุ่นน้อง เพราะว่าเราเข้าใจความรู้สึกน้องตอนปี 1 ที่เพิ่งเข้ามาว่าเขาจะต้องมีปัญหากับการเขียนตอบข้อสอบแน่นอน ก็อยากจะช่วยเหลือเขาในตรงนี้ ให้เขาสามารถมีทักษะการเขียนที่ดีตอนปี 1 ค่ะ”
“เคยเป็นผู้ช่วยตรวจการบ้านสัมมนาวิชา น. 100 เซคบรรยายจะเป็นสองเซค คืออาจารย์มุนินทร์กับอาจารย์กรศุทธิ์ และอีกเซค อาจารย์กิตติศักดิ์ แต่สัมมนารวมกันโดยอาจารย์สหรัฐ วิชาน. 100 เคยทำครั้งเดียวตอนปี 4 เทอม 1 ค่ะ แล้วก็เคยทำวิชานิติกรรม ตอนปี 4 เทอม 2 ค่ะ เซคอ.กมลวรรณ อ.ชวิน”
(ขอถามเพิ่มเติมว่า ตอนเรียนน. 100 เรียนกับใคร และรู้สึกอย่างไรกับวิชานี้?)
ภาณพิศุทธ์ : “ตอนนั้นเรียน Section อาจารย์สมยศ ค่ะก็รู้สึกว่าเป็นความแปลกใหม่มาก ๆ เหมือนกับเราเพิ่งก้าวผ่านมัธยมมาแล้วก็มาเรียนมหาลัยเลย แล้วก็เป็นวิชาแรกที่เกี่ยวกับกฎหมายที่เราได้เรียนด้วย แต่ว่าก็ผ่านไปได้ด้วยดีเพราะว่ามี Section สัมมนาโดยอาจารย์ภาคภูมิที่เปิดโอกาสในนักศึกษาปี 1 ส่งแนวการเขียนตอบไปให้พี่ ๆ หรือว่าอาจารย์ตรวจน่ะค่ะ คือ ตอนนั้นก็ส่งซ้ำเยอะมาก ๆ ส่งทุกรอบที่มีโอกาส เพราะว่าปีหนึ่งเป็นปีที่เราจะต้องรีบพัฒนาการเขียน เพราะว่าถ้าขึ้นปี 2 ปี 3 ก็จะเริ่มเรียนเยอะก็จะไม่มีเวลามาพัฒนาการเขียนแล้วนะคะ ก็ผ่านไปได้ด้วยดีเพราะได้ Sec สัมมนาช่วย”
(สำหรับวิชา น.101 เราจะพาไปพูดคุยกับภาณพิศุทธ์อีกครั้งในโอกาสหน้า)
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์เป็นอย่างไร
ภาณพิศุทธ์ : “อาจารย์สหรัฐก็จะมอบการบ้านที่น้อง ๆ ส่งมาให้ TA แบ่งกันตรวจ ก็จะคล้าย ๆ อาจารย์ท่านอื่น แต่ที่มีเสริมนิดหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเหมือนท่านอื่นไหม คือกลุ่มอาจารย์สหรัฐก็จะมี Facebook ที่เป็น Group เฉพาะ Section เลย ที่แบบว่าก็จะมีพี่ ๆ TA อยู่ในนั้น มีน้อง ๆ ที่แบบเรียน Section นั้นอยู่ใน Group นั้นด้วย แบบนี้ค่ะ ก็จะให้ TA คอยตอบคำถามน้องสำหรับใครที่มีข้อสงสัยอะไรอย่างนี้ค่ะ ถามใน Group ได้เลย”
คำถาม (3) : คิดว่าคุณสมบัติของการเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาที่ดีมีอะไรบ้าง
ภาณพิศุทธ์ : “ก็คิดว่าสิ่งที่ควรจะมีคือ ความอดทนและความเต็มใจค่ะ เพราะว่ายิ่งเฉพาะน้อง ๆ ที่ส่งสัมมนาครั้งแรก แน่นอนอยู่แล้วว่าน้องเขาก็จะเขียนแบบว่า ไม่ค่อยเป็นระบบเท่าไหร่ แล้วก็ตอบไม่ตรงประเด็น หรือว่าตอบในสิ่งที่ข้อสอบไม่ได้ ถามตอบผิดธงอะไรอย่างนี้น่ะค่ะ คือ เราในฐานะ TA ก็ต้องเต็มใจที่จะช่วยเหลือน้อง ๆ ในการแก้ไขปรับปรุงทักษะการเขียนเหล่านี้ คือ บางทีก็ไม่เข้าใจว่า โอ๊ย…จะคอมเมนต์อย่างไรดี คือ ก็ต้องมีความอดทนกับสิ่งที่น้องตอบมา”
(ถามเพิ่มเติมว่า ตอนสมัครมั่นใจมากน้อยแค่ไหน ว่าจะได้รับคัดเลือก?)
“ก็คือตอนนั้นก็ไม่ได้มั่นใจว่าจะได้รับคัดเลือกจากอาจารย์ เพราะว่าคนที่เข้ามาสมัครก็มีเยอะมากค่ะทั้งปี 3 และก็ปี 4 ค่ะ แล้วก็ไม่รู้ว่าแต่ละคนเขาแบบมีความสามารถขนาดไหนอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่ว่าในห้องสัมภาษณ์เราก็พยายามพรีเซนต์ตัวเองให้ดีที่สุดว่า เรามีความตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือน้อง ๆ ในการพัฒนาทักษะการเขียนตอบข้อสอบกฎหมายค่ะ”
คำถาม (4) : ปัญหาของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้านสัมมนามีอะไรบ้าง
ภาณพิศุทธ์ : “คิดว่าสำหรับน้อง ๆ ปี 1 ปัญหาที่เห็นได้ชัดเลยคือว่า เป็นพวกเรื่องการเรียบเรียงประเด็นในการตอบข้อสอบทั้งในเรื่องของการบรรยาย ทั้งในเรื่องของอุทาหรณ์เลย คือบางทีเขาจะแบบว่าลำดับไม่ค่อยได้ กว่าจะไปถึงธงคำตอบสุดท้ายมันจะปรับอะไรมาก่อนบ้าง แล้วก็พวกเรื่องการใช้คำในทางการกฎหมายแล้วก็พวกปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเขียนน่ะค่ะ เกือบทั้งหมดเลยก็จะเจอ เพราะว่าอย่างที่บอกมา ว่าน้อง ๆ ไม่มีประสบการณ์เขียนตอบข้อสอบกฎหมายมาก่อนค่ะ”
(ถามเพิ่มเติมว่า หากการบ้านที่ส่งมาเขียนแย่มาก จะมีแนวทางการคอมเมนต์อย่างไร ใช้คอมเมนต์แรงไหมเพื่อให้เขารู้ว่าการเขียนมีปัญหา?)
ภาณพิศุทธ์ : “มองว่าก็คอมเมนต์แบบกลาง ๆ เพื่อให้เขาพัฒนาทักษะการเขียนของเขาต่อไป โดยที่ไม่ใช้ถ้อยคำที่ทำให้เขาหมดกำลังใจหรือทำให้สื่อไปในทางที่เขาทำได้ไม่ดีมาก ๆ อะไรอย่างนี้น่ะค่ะ ก็พยายามให้กำลังใจกันไป เข้าใจความรู้สึกของน้องที่เขาเพึ่งจะมาเขียนเทอมแรก อะไรอย่างนี้ค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา
“ก็ได้ เรียกว่ายังไงดี คือได้ความอบอุ่นใจกลับมา ว่าเราได้ช่วยเหลือน้อง ๆ อย่างน้อยก่อนจบเราก็ได้สร้างประโยชน์ให้แก่คณะนิติศาสตร์ เด็ก ๆ ปี 1 ปี 2 บ้าง อย่างนี้นะคะ แล้วเราก็ได้ทักษะในการให้คำแนะนำ เพราะว่าอย่างน้องบางคนที่เขาได้คำแนะนำจาก TA แบบว่ค่อนข้างจะรุนแรงอะไรอย่างนี้ แบบคอมเมนต์ตรง ๆ ตรงมาก ๆ อย่างนี้บางทีเขาอาจจะเกิดความคิดว่าไม่ส่งสัมมนาก็ได้อย่างนี้ค่ะ ก็ช่วยในเรื่องทักษะอย่างนี้ค่ะในเรื่องการให้คำแนะนำแก่คนอื่น”
ปัจจุบันภาณพิศุทธ์เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ที่ Baker & McKenzie
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK