ชนินาถ ศรีวงษ์คือผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดในการสอบแก้ตัววิชาเอกเทศสัญญา 1 ในภาค 2/2559 เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 โดยได้ 98 คะแนน และเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในภาค 2/2561 ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์ในการตรวจการบ้านนักศึกษาในวิชาดังกล่าว เราจะพาคุณไปคุยกับชนินาถเกี่ยวกับประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาวิชา น.230 เอกเทศสัญญา 1 และประสบการณ์การสอบไม่ผ่าน โดยมีสาเหตุมาจากการเข้าเรียนผิด Section และการเตรียมตัวสอบแก้ตัวจนสอบได้คะแนนสูงถึง 98 คะแนน
คำถาม (1) : เป็นผู้ช่วยอาจารย์ท่านไหนและทำไมจึงสมัครเข้าร่วมกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์
ชนินาถ : “เป็นผู้ช่วยอาจารย์กรศุทธิ์ วิชาเอกเทศสัญญา 1 กลุ่มบรรยาย อาจารย์สุรศักดิ์ อาจารย์กรศุทธิ์ค่ะ เหตุผลที่สมัครอย่างแรกเลยคือ เสียดายสิ่งเราเข้าใจ คือการที่เราได้คะแนนขนาด 98 คะแนน น่าจะเป็นเพราะว่าเราเข้าใจอาจารย์ เราเสียดายความเข้าใจนี้ เลยอยากจะส่งต่อความเข้าใจนี้ให้กับน้อง ๆ อธิบายตอบข้อสอบแบบไหนถึงจะได้คะแนนดี และยังเป็นการทบทวนความรู้ของเราด้วย ปี 4 เราก็มีเวลาพอว่าง ก็เลยคิดว่าคงเป็นอะไรที่สนุก แล้วพอมีน้อง ๆ เข้ามาถาม ว่าควรทำอย่างไรดี หนูเครียดมากเลย อาจารย์เซคนี้ดูให้คะแนนยาก เราก็ได้ปลอบน้องให้กำลังใจน้อง ได้อธิบายให้เขาฟังว่าแบบไหนควรจะเตรียมตัวแบบไหน”
(ปกติคนสอบแก้ตัวจะได้คะแนนไม่สูง แต่ทำไมจึงสอบแก้ตัวแล้วได้คะแนนสูง การสอบไม่ผ่านเกิดจากอะไร?)
ชนินาถ : “คือเกิดจากเข้าเรียนผิด Section ตอนเรียนเข้าเรียนเซคอาจารย์ไผทชิตตลอด แต่เพึ่งมารู้ตัวตอนที่อยู่หน้าห้องสอบว่าลงทะเบียนเซคอาจารย์กรศุทธิ์ อาจารย์สุรศักดิ์ ด้วยความที่เลขเซคมันเป็นตัวเลข เราก็จดแค่ตัวเลขมา ก็เลยทำให้เข้าเรียนผิดเซค ตอนที่รู้คือ 5 นาทีก่อนสอบ เพื่อนเดินมาทักว่า “อ้าว…ทำไมมาสอบห้องนี้” ก็ตกใจมาก มือสั่น สิ่งแรกที่แวบขึ้นมาคือ เซคอาจารย์กรศุทธิ์เป็นที่เลื่องลือมากว่าความเห็นค่อนข้างเยอะ ขนาดตอนที่อ่านหนังสือกับเพื่อน เพื่อนยังบอกเลยว่า “ฉันติวกับเธอไม่ได้หรอกเพราะว่าเซคฉันสอบคนละอย่างกัน” อะไรประมาณนี้ ก็เลยคิดว่า แย่แล้วทำอย่างไรดี เพื่อนก็เอาเลคเชอร์มาให้อ่านแต่ตอนนั้นคือมันแพนิค อ่านอะไรก็จำไม่ได้ ตอนนั้นก็คิดว่าเราเรียนมานะ ค่อนข้างมีความรู้ ท่องตัวบทได้ มันคงไม่แย่ขนาดนั้น”
(เหตุการณ์ในห้องสอบเป็นอย่างไร?)
“เปิดข้อสอบมาข้อแรกก็จะเป็นคำมั่น และต้องตอบกึ่งบรรยาย ก็พยายามค้นหาความรู้ในหัวว่ามีอะไรบ้าง คำมั่นนี้ถ้าเกิดว่าจะต้องทำหลักฐานถึงจะฟ้องได้ คำมั่นนี้ผูกพัน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะตอบแบบบรรยาย ตอนนั้นคิดว่าถ้าเกิดทำไปน่าจะได้ประมาณ 10 คะแนน ข้อต่อมาเป็นสัญญาให้พอถูไถได้ แล้วก็เช่าทรัพย์เช่าซื้อของอาจารย์สุรศักดิ์คิดว่าทำได้ แต่ว่าข้ออีกข้อหนึ่งของอาจารย์กรศุทธิ์คือ แลกเปลี่ยนซึ่งเซคอาจารย์ไผทชิตที่ไปนั่งเรียนไม่ได้สอน คืออาจารย์บอกว่าแลกเปลี่ยนมีแค่ 3 มาตรา ไปอ่านเอง เราก็เลยข้าม แล้วข้อสอบคือถามว่าแลกเงินต่างประเทศเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนหรือว่าเป็นซื้อขาย และตัวละครในโจทย์แลกเงินปอนด์ แล้วร้านส่งมอบเงินปอนด์สกอตแลนด์ ไม่ใช่เงินปอนด์อังกฤษ ถามว่าใช่ทรัพย์ชำรุดบกพร่องไหม ข้อนี้เป็นข้อที่ว่างเปล่ามากไม่มีอะไรในหัวขึ้นมาเลย เป็นครั้งแรกเลยที่เข้าไปทำข้อสอบแล้วไม่มีอะไรในหัวขึ้นมา ก็เลยมาประเมินตัวเองแล้วว่า เราทำได้อย่างมากสุดก็คือ 3 ข้อ ส่วนอีก 2 ข้อทำไม่ได้ตัดคะแนนออกไป 40 คะแนน มันก็มีปริ่ม ๆ ว่าเราจะตกหรือไม่ตก หรือว่าหากผ่านแต่คะแนนเราไม่น่าเกิน 70”
“ตอนนั้นไม่ได้หาคำตอบแล้วว่าต้องตอบข้อสอบยังไง แต่หาคำตอบว่าเราต้องการอะไรกันแน่ สิ่งที่เราต้องการตอนนั้นคือเราอยากได้คะแนนเยอะ ๆ เพราะว่าเราอยากได้ฝึกงานดี ๆ คะแนนมันก็เป็นใบเบิกทางให้เราทำให้บริษัทสนใจเรา ถ้าเราได้เลข 7 กับเลข 8 คือมันสำคัญมาก คะแนนเฉลี่ยตอนนั้นคือ 79 ก็เลยคิดว่าถ้าเราได้เลข 60 ขึ้นมา มันจะฉุดเราลงเป็น 78 หรือเปล่า ด้วยความกังวลตรงนั้นก็เลยตัดสินใจว่า ไม่สอบดีกว่า ก็เลยไม่ทำข้อสอบเลย และไปรอสอบแก้ตัวแล้วทำให้คะแนนสูง ๆ ดีกว่า อาจารย์ก็ไม่ต้องเสียเวลาตรวจด้วย”
(ตอนนั้นคะแนนลุ้นเกียรตินิยมไหม และถ้ายังมีุล้นเกียรตินิยม ทำไมจึงเลือกที่จะสอบแก้ตัว?)
“จริง ๆ ตอนนั้นยังมีสิทธิลุ้นเกียรตินิยม เพราะไม่เคยสอบตก เราก็มาดูข้อดีข้อเสียของแต่ละทาง เราไม่อยากจะไปนั่งทำข้อสอบแบบโกหกอาจารย์ว่าเรารู้เรื่อง ถ้าเราเลือกสอบ แล้วอาจสอบผ่าน ได้เกียรตินิยม พ่อแม่อาจจะภูมิใจ พ่อแม่อาจจะไปคุยกับคนอื่นว่า “เห้ย…ลูกได้เกียรตินิยมนะอันดับ 2” อย่างนี้นะ แต่มันก็มีแค่นั้นจริง ๆ ก็เลยตัดสินใจว่าไม่ทำข้อสอบดีกว่า ก็ออกมาเลย ก็คือได้ 0 คะแนนเลย”
(ตอนเตรียมตัวสอบแก้ตัว เตรียมตัวอย่างไร?)
“ด้วยความที่ต้องเรียนใหม่ทั้งหมด เพราะว่าต้องไปดูความเห็นที่อาจารย์สอนแตกต่างจากอาจารย์ไผทชิต ก็เลยใช้วิธีการถอดเทป วันต่อมาก็เลย ก็ไปขอเลคเชอร์จากเพื่อนเลย แล้วก็มาอ่าน แล้วก็เราต้องฟังเทปไฟล์เสียงบรรยาย 16 ไฟล์ และยังมีไฟล์สัมมนาด้วยให้จบภายใน 1 เดือน ก็ทำได้ตามนั้น เวลาถอดเทปก็ไม่ได้ฟังเฉย ๆ เราคิดไปด้วย คิดแล้วจดไปด้วยเพื่อจะให้เราได้เนื้อหาทั้งหมด 100% แล้วก็ก่อนเตรียมตัวสอบซ่อมคือ จริง ๆ เป็นวิธีที่ใช้มาตลอดแทบทุกวิชาเลยคือ นอกจากจะอ่านของตนเองแล้วรอบหนึ่งอ่านรอบที่ 2 จะอัดเสียงด้วยอัดเสียตัวเองไว้ และไว้ฟังวันที่สอบเพราะว่าวันที่สอบเราจะตื่นเต้นไปทุกอย่าง เราอ่านอะไรจะไม่ค่อยจำจะไม่ค่อยอะไร ค่อยมาเปิดไฟล์เสียงที่เราอัดไว้กับตัวเอง และมันเป็นการถ่ายทอดความรู้ของเราผ่านความคิดของเราออกมาผ่านเสียงอย่างนี้ค่ะ แล้วก็ได้ฟังความคิดของเราซ้ำอีก ๆ มันก็จะทำให้รู้สึกว่ามั่นใจแล้วก็มีความรู้อะไรมากขึ้น”
(แนวทางในการเรียนให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร?)
“เราต้องวินิจฉัยดี ๆ ว่าอาจารย์แต่ละท่านต้องการอะไร วิธีการสอน ความต้องการของแต่ละคนเป็นอะไร เพราะว่าอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หลาย ๆ คนเลยค่อนข้างที่อาจจะอยากรู้ความเห็นของนักศึกษา อยากรู้ว่าสิ่งที่อาจารย์สอนมานักศึกษาได้รับมากน้อยเพียงใด ฉะนั้น ธงคำตอบไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือไม่ใช่แบบว่าคุณท่องตัวบทได้ คุณตอบได้ คุณถูกธง คุณถูกต้อง ได้คะแนนแบบ 19 20 อะไรอย่างนี้ คุณต้องรู้ลึกกว่านั้นว่าทำไมถึงเป็นคำตอบนี้ กระบวนการก่อนหน้านั้น ระหว่างทางคืออะไรอย่างนี้ค่ะ มันก็เลยสำคัญมากที่จะต้องรู้แนวของอาจารย์แต่ละคนแต่ละท่านอะไรอย่างนี้ ซึ่งแนวของวิชานี้ ของเซคของอาจารย์กรศุทธิ์เนี่ย อาจารย์ไม่ได้มีความเห็นทางฎีกาขนาดนั้น แต่อาจจะมีการโต้แย้งบ้างอะไรบ้าง มีความเห็นแทรกมา แล้วก็ด้วยความที่ค่อนข้างมีความเห็นมาก ๆ ก็เน้นเรื่องต่างกัน จะมีเรื่องเจตนาบ้าง เรื่องคำมั่นบ้าง ตัวเองก็เลยเลือกที่จะอ่านเลคเชอร์ ทำความเข้าใจให้มันแม่นยำ เพราะคิดว่า ความเห็นหรือความรู้ระหว่างนั้นที่จะมาเป็นธงคำตอบนั้นมันสำคัญกว่าธงคำตอบ”
“คือการตัดสินใจในวันนั้นก็ส่งผลกับการเรียนของเราในปี 3 ปี 4 ด้วย คือตอนที่เรียน ปี 1 ปี 2 เนี่ย ก็โอเคท่องตัวบท อ่านเลคเชอร์ ฟังเทปบ้างอะไรบ้าง แต่ว่าไม่ได้ละเอียดเก็บทุกอย่าง หลังจากนั้นทุกวิชาปี 3 ปี 4 ก็เลยใช้วิธีถอดเทปแทบจะทั้งหมดเลย ทุกวิชาเลย แล้วก็เข้าเรียนนั้นแหละแ ต่ว่าจะมาฟังเทปเก็บรายละเอียดอีกรอบหนึ่งทำให้เข้าใจเนื้อหาทั้งหมดทั้งมวล ซึ่งน่าเสียดายมากซึ่งหากเราทำมาตั้งแต่ปี 1 ปี 2 ก็คงจะทำให้คะแนนดีกว่านี้นะ ฉะนั้นคะแนนปี 3 ปี 4 ก็เลยค่อนข้างที่จะมีคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่าปี 1 ปี 2 เพราะด้วยวิธีการที่เรียนแบบนี้ วิธีการเรียนที่เก็บรายละเอียดทุกอย่าง สงสัยอะไรต้องรู้ต้องหาคำตอบไม่ใช่ปล่อยไว้ให้สงสัย”
(สุดท้ายได้ฝึกงานอย่างที่ตั้งใจไว้ไหม?)
“ได้ค่ะ ก็คือได้ฝึกงานที่เบเคอร์ คิดว่าการที่เราสอบได้ 98 คะแนนน่าจะมีผลนะคะ จริง ๆ ก็ไม่ได้ถามเหมือนกันว่าตอนที่ฝึกงานเขาคิดเรื่องนี้ว่าอย่างไร แต่ว่าตอนไปสัมภาษณ์เขาก็ถามว่าทำไมตอนแรกคุณได้คะแนน 0 แต่อีกครั้งหนึ่งคุณได้คะแนน 98 มันเกิดอะไรขึ้น บริษัทก็น่าจะจำได้ว่าเราเป็นเด็กที่เคยตกมาแล้ว เคยผิดพลาดมาแล้ว และเราก็กลับมาสู้ และได้คะแนนดี”
คำถาม (2) : รูปแบบการทำงานร่วมกับอาจารย์เป็นอย่างไร
ชนินาถ : “อาจารย์จะเรียกให้ TA มารวมกัน แจกกระดาษคำตอบ และเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน อาจารย์จะชี้แจงธงคำตอบที่ถูกต้อง เปิดโอกาสให้สอบถาม ก่อนจะให้ TA นำกระดาษคำตอบนั้นไปตรวจ หรือในบางครั้ง TA จะไปรับกระดาษคำตอบที่นักศึกษานำมาส่งที่ตึกคณะ และหารือ ติดต่อกับอาจารย์ผ่านไลน์กลุ่มค่ะ”
คำถาม (3) : คิดว่าคุณสมบัติของการเป็นผู้ช่วยอาจารย์สัมมนาที่ดีมีอะไรบ้าง
ชนินาถ : “คิดว่าความใส่ใจเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด บางทีแค่เครื่องหมายถูก/ผิด อาจจะไม่พอ ถ้าให้ความเห็นว่าน้องควรจะเพิ่มเติมตรงไหน ควรใช้ภาษา หรือ เรียบเรียงแบบไหนถึงจะอ่านแล้วชัดแจ้งและได้คะแนนดี หรือแม้กระทั้งน้องบางคนที่ใช้ภาษาได้ดีมากๆ ก็ให้คำชมว่าตรงนี้ดีมาก ปรับบทได้สวย คงความดีนี้ไว้นะ ซึ่งแน่นอนว่าจะทำแบบนี้ได้ TA ต้องพอมีเวลาให้กับกระดาษคำตอบของน้องๆ แต่ละคนด้วยค่ะ”
คำถาม (4) : ปัญหาของนักศึกษาส่วนใหญ่ที่เจอตอนตรวจการบ้านสัมมนามีอะไรบ้าง
ชนินาถ : “ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเท่าไรค่ะ น้อง ๆ ที่ส่งการบ้านเก่งมาก แทบจะถูกตามธงที่อาจารย์ให้ไว้เกือบทั้งหมดเลย แต่อาจมีน้องบางคน ตอบมาเฉพาะประเด็นใหญ่ของคำถาม แต่ละเลยประเด็นย่อยๆ ซึ่งแม้ว่าธงจะถูก แต่ก็อาจจะไม่ได้คะแนนเต็ม เช่น ตอบว่าสิ่งนี้คือคำมั่น คือถูกว่ามันเป็นคำมั่น แต่เราต้องย้อนไปอธิบายนิดนึง ว่าทำไมมันถึงไม่ใช่สัญญาจะซื้อจะขายนะ จุดตัดมันอยู่ที่ตรงไหน เพราะข้อสอบบางข้อไม่ใช่เเค่เป็นปัญหาตุ๊กตา แต่อาจารย์ก็ต้องการให้นักศึกษาอธิบายบางประเด็นด้วย ส่วนใหญ่น้องก็จะธงถูกด้วยความที่อาจารย์ไม่ได้ออกข้อสอบยาก ออกตามที่เรียนที่สอน แต่อาจจะขาดตกบกพร่องด้านการเขียนเหตุผลก่อนที่จะไปถึงธง ดังนั้น คุณต้องอธิบายเพื่อทำให้อาจารย์เห็นว่าคุณเข้าใจเรื่องนี้จริง ๆ นะ อะไรประมาณนี้ค่ะ”
คำถาม (5) : สิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมโครงการผู้ช่วยอาจารย์สัมมนา
ชนินาถ : “คิดว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ได้สัมผัสการทำหน้าที่เป็นอาจารย์ ถึงแม้จะแค่ทำงานส่วนเดียวคือตรวจคำตอบ แนะนำถ่ายทอดสิ่งที่เรามีความรู้ แต่ก็พอทำให้มองภาพออกว่า งานอาจารย์มีด้านไหนบ้างค่ะ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีเลย ตอนที่มีคนมาถาม ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเขียนตอบ จะรู้สึกแฮปปี้มาก ๆ ที่ได้ช่วยเหลือ ทำให้คนๆนึงเข้าใจในสิ่งที่เราเรียนมา”
(สุดท้ายนี้ อยากฝากอะไรถึงรุ่นน้องบ้าง?)
“ก็อยากฝากให้น้อง ๆ คือไม่กล้าพูดหรอกค่ะว่าทางเลือกที่ตัวเองเลือก เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่อย่างถ้าเกิดเป็นรุ่นน้องหลักสูตรใหม่ ไม่มีสอบแก้ตัว สอบตกก็จะเป็นเรื่องใหญ่ และจริง ๆ ถ้าเรามีความสามารถเราก็สามารถที่จะเข้าฝึกงานที่ไหนก็ได้ตามที่เราต้องการ คะแนนเฉลี่ยก็อาจไม่ใช่ทุกอย่าง แต่คือตอนนั้นเราคิดว่าทางที่เลือกมันดีที่สุดสำหรับเรา และสำหรับเรามันคือทางที่ถูก เพราะสอบแก้ตัวแล้วได้คะแนนเยอะ มันเลยเป็นอะไรที่พิสูจน์ความพยายาม ความตั้งใจของเรา เวลาใครเห็นว่าทำไม่คนนี้ถึงได้คะแนนสูง ทำไมคนที่มาสอบซ่อมได้คะแนนสูงอะไรอย่างนี้ค่ะ”
ชนินาถสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2561 ด้วยคะแนนเฉลี่ยกว่า 81 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับเนติบัณฑิต
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ Pump
เรียบเรียง KK