บทสัมภาษณ์อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ เกี่ยวกับการอบรมหัวข้อ “การจัดทำเอกสารแนะนำตัวเพื่อการศึกษาต่อและสมัครงาน” สัมภาษณ์โดย ผศ. ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติ ซึ่งจัดอบรม “โครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย” (Legal Practice Workshop) ประจำปีการศึกษา 2562
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ทำไมคณะกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติจึงเลือกจัดอบรมในหัวข้อ “การจัดทำเอกสารแนะนำตัวเพื่อการศึกษาต่อและสมัครงาน” ครับ
อ.ดิศรณ์ : “สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งเลย ก็คือว่า ตัวผมเองในสมัยเรียนหรือทำงานนั้น ได้รับทราบมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ว่าจริง ๆ แล้วนักศึกษาธรรมศาสตร์ก็มีความสามารถทั้งในด้านวิชาการและทางทฤษฎีปฏิบัติที่ค่อนข้างดีเลย แต่ว่าข้อบกพร่องอย่างหนึ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่นักศึกษาธรรมศาสตร์พลาดอยู่บ่อย ๆ ก็คือ เรื่องของการอธิบายหรือแนะนำประวัติของตนเอง เพื่อให้กรรมการที่คัดเลือกตัวบุคคลเข้าศึกษาต่อหรือสมัครงานพิจารณาว่ามีความเหมาะสมในตำแหน่งงานนั้น ๆ หรือไม่ โดยหลายครั้งเป็นปัญหาที่นักศึกษาไม่ทราบหรือละเลยความสำคัญ เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารที่สำคัญนี้ แล้วทำให้พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย”
“บางท่านโชคดีหน่อยที่กรรมการผู้รับสมัคร ท่านให้ความไว้วางใจในฝีมือของชาวธรรมศาสตร์เป็นการส่วนตัว ก็คงไม่มีปัญหาและอาจสามารถเข้าไปทำงานองค์กรได้ แต่สำหรับบางกรณีที่กรรมการผู้รับสมัครท่านพิจารณาเป็นลำดับขั้นตอนอย่างเคร่งครัด หากท่านเห็นว่าเอกสารแนะนำตัวของนักศึกษานั้นทำไม่ได้มาตรฐานของผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว นักศึกษาก็อาจถูกปฏิเสธในการเข้าทำงานได้ แม้ตัวเองจะมีความสามารถในการทำงานจริง ๆ แน่นอนว่าเรามาจากต่างถิ่นต่างที่นะครับและมาจากหลากหลายที่ โดยที่เบื้องต้น ก่อนที่จะเข้าไปในกระบวนการคัดเลือกที่เข้มข้นขององค์กร ผู้รับสมัครก็มักจะดูจากเอกสารแนะนำตัวเสียก่อนว่าคนที่มาสมัครงานในหน่วยงานของเขานั้น มีประวัติเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไรนะครับ ถ้าเกิดไม่สามารถแสดงให้คณะกรรมการผู้รับพิจารณาในการสมัครงานเห็นได้อย่างกระชับได้ใจความแล้ว เอกสารดังกล่าวก็ย่อมสะท้อนถึงความบกพร่องของนักศึกษาหลาย ๆ อย่าง และถูกปฏิเสธได้ครับ เพราะฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ทางศูนย์นิติศาสตร์จึงเห็นว่าควรจะมีการจัดอบรมในเรื่องนี้มาเพื่อแก้ไขจุดบกพร่องไม่ควรจะผิดพลาดครับ พูดง่าย ๆ ก็คือว่า เราไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ที่ว่า “จริง ๆ แล้วนักศึกษาของเรามีมีศักยภาพ แต่ดันมาตายน้ำตื้น” ทางศูนย์นิติศาสตร์เลยคิดว่าควรจะมีการจัดอบรมการจัดทำเอกสารแนะนำตัวเพื่ออุดช่องว่างนี้ให้แก่นักศึกษาครับ”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ก่อนจะมาเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ อาจารย์มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดทำเอกสารแนะนำตัวสำหรับการสมัครงานบ้างไหมครับ
อ.ดิศรณ์ : “พอดีว่าตัวผมนั้นได้ทำงานในหน่วยงานรัฐนะครับ เพราะฉะนั้นก็จะมีในเรื่องของการที่จะต้องกรอกเอกสารแนะนำตัวเองเหมือนกัน ซึ่งในเอกสารในหน่วยงานราชการที่ผมสมัครอาจจะไม่ใช่ CV โดยตรง แต่ว่าก็จะมีบางส่วนที่จะต้องมีการเขียนเอง คิดเอง ว่าเราควรจะต้องหยิบยกอะไรในส่วนของเราเพื่อไปแสดงให้เขาเห็นว่าเรามีคุณสมบัติเพียงพอ เราต้องเหมาะสมในการที่จะทำงานในหน่วยงานของเขานะครับ และอย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ทำงานในหน่วยงานเอกชนที่ใช้ CV เป็นหลักแต่ว่าผมก็ได้มีโอกาสได้ไปอบรมไปเข้าฟัง ไปที่ทางสถานทูตฝรั่งเศสที่ได้จัดอบรมเกี่ยวกับการเขียน CV ในการศึกษาต่อหรือในการสมัครงานในประเทศฝรั่งเศสนะครับ ผมก็เก็บนำมาบอกเล่าให้พวกเราฟัง”
“ซึ่งความแตกต่างระหว่างหน่วยงานของราชการกับหน่วยงานของเอกชนค่อนข้างที่จะแตกต่างกันครับ เพราะว่าหน่วยงานรัฐเขาค่อนข้างจะมี Template อยู่แล้ว เราก็สามารถกรอกตามที่เขาบอกไว้ก็คือว่า เขาต้องการอะไรบ้างก็ตอบไปตามที่เขาต้องการ แต่เราก็ต้องมีเทคนิคบ้างเพื่อแสดงให้เห็นว่าประวัติเราโดดเด่นกว่าผู้สมัครท่านอื่นครับ และก็จะกลายเป็นจุดตัดที่สำคัญให้หน่วยงานราชการนั้นรับเราเข้าทำงานในตำแหน่งที่มีเพียงหยิบมือ ในส่วนของเอกชนนั้นอาจจะมีในเรื่องการแข่งขันกับผู้สมัครท่านอื่นที่น้อยกว่าหน่วยงานราชการครับ แต่ความยากและความแตกต่างในเบื้องต้นจะมีอยู่ที่ว่าไม่มี Template สำหรับผู้สมัครครับ ผู้สมัครจะต้องสร้าง CV ขึ้นมาเองทั้งฉบับ ซึ่งไม่มีรูปแบบตายตัว”
“ผมขอยกตัวอย่างจุดที่หลาย ๆ คนพลาดในเบื้องต้นก่อนที่จะไปลงในรายละเอียดนะครับ CV จากท่านวิทยากรที่จะมาบรรยายให้เราฟัง CV ส่วนใหญ่เขาจะทำกันแค่แผ่นเดียวเท่านั้น คนที่ทำ CV มาเกินแผ่นเดียว ตั้งแต่หน้าครึ่งหรือว่าไปเกินเป็น 2 หน้าขึ้นไปเขาจะปัดตกเลย เพราะว่ามันจะสะท้อนว่าเราไม่สามารถสรุปประวัติการทำงาน ประวัติของเราได้อย่างโดยย่อและเราไม่สามารถสรุปสาระสำคัญในตัวเราออกมาให้กระชับได้ครับ แน่นอนนะครับ ในหน่วยงานหนึ่ง หรือว่าในทุนการศึกษาหนึ่งที่เขาสมัครการแข่งขันกันก็ต้องมีหลายคนเหมือนกัน ถ้าเกิดว่าเราทำ CV ไปหลายหน้ากรรมการก็ไม่อยากจะอ่านเพราะว่าเขายังจะต้องอ่านอีกหลายเขาไมได้มีเวลามานั่งดู ประวัติของเราทั้งหมดทั้งมวลครับ เพราฉะนั้นแล้วถ้าเกิดเราไม่สามารถสรุปสาระสำคัญได้ ความสนใจของคณะกรรมการจะลดต่ำลงนะครับ อันนี้คือเบื้องต้นในสิ่งที่เราอาจจะไม่รู้”
“ซึ่งเราอาจจะคิดว่า CV คือการเขียนแนะนำตัวเฉย เราก็จัดเต็มเราก็นึกว่าสามารถใส่ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาลัย รางวัล การฝึกงาน อะไรต่าง ๆ ทุกอย่าง ลงไปครับ แต่พอมันเกินมากเกินไปก็ทำให้ความสนใจในตัวเรานั้นมันลดลงไปแล้วก็ถูกตัดออกไปอย่างน่าเสียดาย”
ผศ.ดร.กรศุทธิ์ : ในมุมมองของอาจารย์ซึ่งเตรียมตัวไปศึกษาต่อ เอกสารแนะนำตัวมีความสำคัญสำหรับการศึกษาต่ออย่างไรครับ
อ.ดิศรณ์ : “เท่าที่ผมไปฟังมา CV ในการไปเรียนต่อก็มีลักษณะคล้ายกับเรื่องของการไปทำงานอยู่บ้าง แต่ก็มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญพอสมควรครับ กล่าวในเบื้องต้นเลยคือว่าใน CV ควรจะเป็นหน้าเดียวเช่นเดียวกัน หรือไม่ควรเกินหน้าครึ่งนะครับ แล้วก็ดึงจุดสาระสำคัญของตัวเรามาเท่าที่จำเป็นในการใช้ในการศึกษาต่อ อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่เราจะไปศึกษานะ อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับในทางสาขาวิชาของเราที่จะเข้าไปศึกษาต่อก็ไม่ควรจะเอาไปใส่ลงไป”
“ยกตัวอย่างเช่น สมมุติผมนะครับจะไปสมัครเรียนในสาขากฎหมายมหาชน แล้วทีนี้ผมก็มีประวัติต่าง ๆ ในการศึกษามากมายไม่ว่าจะเป็นประกาศนียบัตร หลาย ๆ อย่าง แต่ว่าถ้าเกิดว่าเราเอาประกาศนียบัตรหรือว่าอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางสาขากฎหมายมหาชนไปใส่แม้ว่ามันจะเป็นรางวัลของเราที่เชิดชูเกียรติของเรา แต่ว่ามันก็ไม่น่าไม่ควรที่จะเอามาใส่นะเพราะว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับสาขากฎหมายมหาชนนั่นเอง นี่ก็จะทำให้พื้นที่การเขียน CV ของเราที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดเสียไปอย่างไม่ควรจะเป็นครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : วิทยากรที่จะมาพูดในหัวข้อ “การจัดทำเอกสารแนะนำตัวเพื่อการศึกษาต่อและสมัครงาน” เป็นใครครับ
อ.ดิศรณ์ : “ท่านวิทยากรที่จะมาพูดในหัวข้อนี้ชื่อคุณกัญจน์ จิระวุฒิพงศ์ ซึ่งท่านได้ทำงานอยู่ ณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ซึ่งการสมัครเข้าไปทำงานในองค์กรนี้ก็จะต้องใช้ CV ครับ ทางศูนย์นิติศาสตร์ได้ประชุมหารือกันแล้วได้ข้อสรุปว่า จะเชิญท่านมา เพราะท่านเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ห่างไกลจากนักศึกษามาก และมีประสบการณ์ในการเขียน CV นะครับ สำหรับในการสมัครงานได้อย่างตรงสายที่สุด เป็นศิษย์เก่าของคณะเราครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : สุดท้ายนี้ อาจารย์มีอะไรอยากฝากเพิ่มเติมถึงนักศึกษาบ้างครับ
อ.ดิศรณ์ : “ครับ ก็อยากจะฝากบอกกับนักศึกษาว่า เราอาจจะเห็นว่า CV ไม่น่าใช่เรื่องยากที่จะต้องมานั่งอบรมในห้องเรียน เราอาจจะไป Search อินเทอร์เน็ตแล้วก็ไปหาเองก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามนะครับต้องบอกว่า CV ตามอินเทอร์เน็ตตรงนั้นมันก็เป็นเฉพาะเรื่องเฉพาะราวไป ซึ่งอาจจะเหมาะกับการที่ท่านจะเอาไปสมัครเรียนต่อหรือการทำงานได้ในบางหน่วยงานเฉพาะที่เฉพาะถิ่นครับ แต่ว่าก็อาจจะไม่สามารถใช้เป็นการทั่วไปได้ โดยเฉพาะใน CV ต่างประเทศก็อาจจะแตกต่างจาก CV ในหน่วยงานของไทยนะครับ”
“บางเรื่องที่ท่านอาจจะคิดว่ามันไม่สำคัญ แต่ก็ทำให้คนที่มีศักยภาพในการทำงานถูกปฏิเสธอย่างน่าเสียดายมาแล้วนับไม่ถ้วน แน่นอนว่าในการรับเข้าทำงานที่นึงก็มีกระบวนการคัดเลือกต่อไปอีก หลายประการ เช่น การสอบสัมภาษณ์ ฯลฯ แต่ว่าในเบื้องต้น ถ้าทำให้กรรมการที่เขาอ่านคัดเลือกท่านในการสมัครงานเกิดความประทับใจในสรุปย่อ ในการเรียบเรียงข้อมูลของตัวท่านออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและโดดเด่น ท่านก็นำหน้าผู้สมัครแข่งกับท่านคนอื่น ๆไปแล้วก้าวนึง ซึ่งก็อาจจะเป็นจุดตัดสำคัญที่จะเกิดผลสำเร็จหรือไม่ในบั้นปลายได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น หากมีเวลาก็อยากให้มาฟังการอบรมจากท่านวิทยากรกันครับ”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK