บทสัมภาษณ์อาจารย์กิตติภพ วังคำ เกี่ยวกับการอบรมหัวข้อ “การจัดการมรดกและการทำพินัยกรรม” สัมภาษณ์โดย ผศ. ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
อาจารย์กิตติภพ วังคำ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติ ซึ่งจัดอบรม “โครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย” (Legal Practice Workshop) ประจำปีการศึกษา 2562
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ทำไมคณะกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติจึงเลือกจัดอบรมในหัวข้อ “การจัดการมรดกและการทำพินัยกรรม” ครับ
อ.กิตติภพ : “การเลือกหัวข้อในการจัดอบรมนั้น ในเบื้องต้นทางคณะกรรมการพิจารณาจากประโยชน์และความจำเป็น คือ คิดกันว่าทักษะพื้นฐานใดบ้างที่จะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษากฎหมายในการปฏิบัติงานจริง คณะกรรมการจึงได้ข้อสรุปว่าทักษะพื้นฐานที่จะจัดอบรม 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ การจัดทำเอกสารแนะนำตัว และการให้ความเห็นทางกฎหมาย (Legal Opinion) แต่ทางคณะกรรมการเห็นว่าการอบรมเพียง 2 หัวข้ออาจจะน้อยเกินไป เราจึงพิจารณาหัวข้ออื่น ๆ เพิ่มเติมที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเนื้อหาวิชาที่นักศึกษากำลังศึกษาอยู่ จึงได้เสนอหัวข้อการจัดการมรดกและทำพินัยกรรมขึ้นครับ จากประสบการณ์ที่เคยเป็นทนายความอยู่ช่วงหนึ่งผมคิดว่าการจัดการมรดกเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีความสำคัญครับ เพราะคนเราทุกคนต้องตายถูกไหมครับ ซึ่งเมื่อมีความตายเกิดขึ้นย่อมต้องมีการจัดการมรดกเกิดขึ้นตามมา เมื่อคนตายชีวิตย่อมสูญสิ้นไป แต่ทรัพย์สินไม่ได้สูญสิ้นตามไปด้วยและจะต้องมีการจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น การจัดการมรดกจึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่นักกฎหมายควรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ในฐานะที่อาจารย์เคยทำงานด้านทนายความ อาจารย์มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการมรดกและการทำพินัยกรรมหรือไม่ครับ
อ.กิตติภพ : “เคยมีประสบการณ์อยู่บ้างครับ ในเบื้องต้นนักกฎหมายทุกคนที่ประกอบวิชาชีพทนายความน่าจะเคยมีประสอบการณ์คล้ายคลึงกันในการฝึกร่างและเขียนพินัยกรรมและคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกสำหรับการสอบข้อเขียนในการอบรมวิชาว่าความ (ตั๋วทนาย) ส่วนในการทำงานจริงผมเคยมีประสบการณ์อยู่บ้างในการร่างพินัยกรรม ส่วนในเรื่องของการจัดการมรดกก็เคยร่างคำร้องที่เกี่ยวข้องอยู่บ้าง แต่ยังไม่เคยดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องในศาลในฐานะทนายความครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : และในฐานะที่อาจารย์เป็นอาจารย์สอนกฎหมายลักษณะมรดก อาจารย์มองว่าการจัดการมรดกในภาคปฏิบัติมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาวิชากฎหมายลักษณะมรดกในเชิงทฤษฎีอย่างไรบ้าง
อ.กิตติภพ : “แน่นอนครับว่าในทางปฏิบัติย่อมมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาวิชาในทางทฤษฎี กล่าวคือ ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการมรดกย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายซึ่งโดยหลัก ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ดังนั้น นักศึกษาจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในทางทฤษฎีก่อน เป็นต้นว่า พินัยกรรมมีกี่แบบ พินัยกรรมแต่ละแบบมีสาระสำคัญและรายละเอียดอย่างไรบ้าง หรือบุคคลใดเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการร้องขอให้จัดการมรดก”
“แต่อย่างไรก็ตาม เพียงแค่หลักการทางทฤษฎีอาจจะไม่พอในการปฏิบัติงานจริงครับ ในทางปฏิบัติอาจมีวิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องในทางกฎหมายวิธีสบัญญัติหรือเป็นเรื่องทางเทคนิค ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการจัดการมรดก ไม่ใช่ว่าเมื่อร่างคำร้องขอจัดการมรดกยื่นต่อศาลแล้วจบเรื่อง หากแต่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนจบสิ้นกระบวนการ เมื่อผ่านกระบวนการการยื่นคำร้องแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยอาจพิจารณาไต่สวนคำร้องไปฝ่ายเดียว หรืออาจมีการคัดค้านกลายเป็นคดีที่มีคู่ความ 2 ฝ่ายก็ได้ หากศาลเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องจึงจะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก จากนั้นผู้จัดการมรดกจึงมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : อย่างนี้คนที่จะเข้าอบรมได้ควรจะต้องเรียนกฎหมายลักษณะมรดกไหมครับ ถ้าเป็นนักศึกษาปี 3 ที่กำลังศึกษาวิชานี้อยู่ แต่ยังเรียนไม่ถึงหัวข้อพินัยกรรม/ผู้จัดการมรดก หรือนักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 เข้าร่วมอบรมได้ไหม
อ.กิตติภพ : “ผมคิดว่าผู้เข้ารับการอบรมไม่มีความจำเป็นต้องศึกษาวิชากฎหมายลักษณะมรดกมาก่อนครับ ถึงแม้ในการปฏิบัติจำเป็นจะต้องอาศัยทฤษฎีและบทบัญญัติกฎหมายอยู่บ้าง แต่ทฤษฎีและบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยากหรือซับซ้อนเกินกว่าจะทำความเข้าใจ นอกจากนี้ ผมเชื่อมั่นว่าวิทยากรของโครงการจะสามารถอธิบายทฤษฎีและบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวให้นักศึกษาที่เข้ารับการอบรมมีความเข้าใจได้แม้จะไม่เคยศึกษาวิชากฎหมายลักษณะมรดกมาก่อน”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : วิทยากรที่จะมาพูดในหัวข้อ “การจัดการมรดกและการทำพินัยกรรม” เป็นใครครับ
อ.กิตติภพ : “วิทยากรคือคุณวีรพจน์ ตลอดสุข เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปางครับ มีประสบการณ์ในการทำงานในวิชาชีพทนายความ ทั้งด้านการดำเนินคดี ด้านการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และที่ปรึกษาทางธุรกิจมาเป็นเวลามากกว่า 4 ปี ปัจจุบันประกอบวิชาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมายอิสระ จึงเป็นผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับการจัดการมรดกและการทำพินัยกรรมครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : สุดท้ายนี้ อาจารย์มีอะไรอยากฝากเพิ่มเติมถึงนักศึกษาบ้างครับ
อ.กิตติภพ : “ถึงแม้ว่าในการปฏิบัติงานจริงจะต้องอาศัยทักษะและความรู้ความเข้าใจหลักการทางทฤษฎีหรือบทบัญญัติกฎหมายเป็นหลัก แต่ก็มีทักษะอื่น ๆ ที่นักศึกษาจำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน โครงการอบรมนี้จึงมีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่นักศึกษาในการเรียนรู้ทักษะในการปฏิบัติงานดังกล่าว ทั้งนี้ ด้วยความคาดหวังว่านักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้เกี่ยวกับทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมายในหัวข้อต่าง ๆ นอกจากนี้ เนื่องจากโครงการนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรก การตอบรับ (feedback) ของนักศึกษาจึงมีความสำคัญในการแก้ไขปรับปรุงโครงการในครั้งต่อ ๆ ไป ผมจึงขอเชิญชวนให้นักศึกษาทุกท่านเข้าร่วมการอบรม ขอบคุณครับ”
ถ่ายภาพ Pump
แต่งภาพ สุธีร์ เจริญต้นภูบาล
เรียบเรียง KK