บทสัมภาษณ์อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน เกี่ยวกับการอบรมหัวข้อ “การจดทะเบียนบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด” และ “การค้นคว้าและการให้ความเห็นทางกฎหมาย” สัมภาษณ์โดย ผศ. ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์
อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติ ซึ่งจัดอบรม “โครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย” (Legal Practice Workshop) ประจำปีการศึกษา 2562
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ทำไมคณะกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติจึงเลือกจัดอบรมในหัวข้อ “การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท” และหัวข้อ “การเขียนความเห็นในทางกฎหมาย” ครับ
อ.ศุภวิช : “สำหรับหัวข้อ “การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท” ผมเห็นว่านักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้ใช้ประโยชน์แน่ ๆ เพราะว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางปฏิบัติปัจจุบันที่ใช้บ่อยโดยเกี่ยวเนื่องกับหลักกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนและบริษัทตลอดจนบริษัทมหาชนจำกัด ที่เลือกหัวข้อนี้เพราะเวลาที่นักศึกษาเรียนเรื่องหุ้นส่วนและบริษัทจะเน้นไปทางหลักกฎหมายและทฤษฎีเป็นสำคัญครับ แต่พอเรียนทฤษฎีอย่างเดียวนั้นมักจะไม่เห็นภาพทางปฏิบัติซึ่งการจดทะเบียนจะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปในรายละเอียดอีกมาก เช่นจะต้องทำตามเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ การเข้ารับการอบรมในหัวข้อนี้จะมาเติมเต็มในส่วนที่นักศึกษายังขาดอยู่นอกเหนือจากที่เขาเรียนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับทางทฤษฎีในห้องเรียนแล้ว เบื้องต้นก็จะประมาณนี้ครับ”
“ต่อมาสำหรับหัวข้อ “การเขียนความเห็นทางกฎหมาย” จริง ๆ หัวข้อนี้ จะต้องเรียกว่าเป็นพื้นฐานจริง ๆ ของการปฏิบัติงานทางกฎหมายหรือการประกอบวิชาชีพกฎหมาย ที่กล่าวมาแล้วเรื่องการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทนั้นเป็นการเฉพาะว่าต้องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจเท่านั้น จริง ๆ แต่การให้ความเห็นทางกฎหมาย ลักษณะจะกว้างกว่ามาก คือไม่ว่านักศึกษาจะสำเร็จการศึกษาไปแล้วทำงานทางกฎหมายด้านใดก็ตาม ย่อมจะต้องให้ความเห็นทางกฎหมายแน่ ๆ โดยปัญหาหนึ่งเวลาที่นักศึกษาอยู่ในห้องเรียนหรือว่าในการสอบวัดผล ลักษณะจะเป็นกรณีที่อาจารย์ผู้สอนท่านจะเป็นคนกำหนดโจทย์คำถามให้ครับ โดยในฝั่งของนักศึกษาจะเป็นผู้ตอบ ในการตอบคำถามก็นักศึกษามีหน้าที่หาประเด็นทางกฎหมายให้พบเพื่อตอบคำถามตามที่อาจารย์ท่านได้ตั้งโจทย์เอาไว้ แต่ในการทำงานจริง ๆ ลักษณะมันจะต่างออกไปในแง่ที่ว่านักศึกษาจะต้องเป็นคนตั้งโจทย์คำถามเอง เพราะฉะนั้น ในส่วนของการ ทำการค้นคว้าทางกฎหมายหรือ “Legal Research” และการให้ความเห็นทางกฎหมายหรือ “Legal Opinion” ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยให้นักศึกษาตั้งประเด็นหรือตั้งคำถามเองได้ ไม่จำกัดเฉพาะอีกต่อไปว่าสามารถตอบคำถามตามที่ผู้อื่นตั้งหรือกำหนดขึ้นเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะว่าถ้าตั้งคำถามหรือกำหนดประเด็นเองไม่เป็น เมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วและทำงานด้านกฎหมายตามที่ได้เล่าเรียนมา ในสถานการณ์ที่ต้องนำความรู้ที่เล่าเรียนมาไปใช้จริง หากไม่สามารถตั้งคำถามเองเพื่อปรับใช้ความรู้ทางกฎหมายที่มีแก่กรณีได้ ย่อมจะไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบวิชาชีพ การเรียนย่อมค่อนไปในทางสูญเปล่าหรือไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : อาจารย์มีประสบการณ์เกี่ยวกับ “การจดทะเบียนบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด” และ “การค้นคว้าและการให้ความเห็นทางกฎหมาย” หรือไม่อย่างไรครับ
อ.ศุภวิช : “ส่วนตัวผมไม่ได้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัทครับ แต่ว่าการจดทะเบียนบริษัทก็สามารถมองในบริบทที่แคบหรือกว้างก็ได้นะครับอาจารย์ คือถ้าหากตีความแบบแคบก็อาจจะหมายถึงการจดทะเบียนตอนตั้งบริษัทเท่านั้นใช่ไหมครับ แต่ผมว่าในส่วนของตัวบริษัทนั้นอาจจะมีอะไรที่มากกว่าในนั้น เช่น การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงข้อบังคับบริษัท หรือกรณีการควบรวมกิจการ หรือกรณีการเปลี่ยนตัวกรรมการ เหล่านี้จะต้องมีการจดทะเบียนด้วย หรือหากเรามองในมุมที่กว้างกว่านั้น อาจหมายความไปถึงการจดทะเบียนเพื่อที่จะเสนอขายหลักทรัพย์ด้วยซึ่งตรงนั้นจะเกี่ยวข้องกับงานที่เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ผมเคยมีความรับผิดชอบมาก่อน คือก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ ผมเคยปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาก่อน ก็จะเห็นภาพในทางปฏิบัติเวลาที่จะเสนอขายหุ้น หุ้นกู้ หรือหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ว่ามีกระบวนการปฏิบัติอย่างไร ฉะนั้น หากถามว่าเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่กับหัวข้อที่จะบรรยายก็ไม่ตรงเสียทีเดียวครับ แต่หากมองในภาพรวมก็ต้องถือว่าเกี่ยวข้องครับ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นถึงประโยชน์ในการอบรมหัวข้อนี้มากครับ”
“แต่สำหรับหัวข้อการให้ Legal Opinion นั้น แน่นอนว่ามีประสบการณ์ตรงครับ คือตอนทำงานจริง ๆ ไม่ว่าจะทำงานเกี่ยวกับกฎหมายในด้านใด ย่อมต้องมีเรื่องของการให้ความเห็นทางกฎหมาย ซึ่งการให้ความเห็นอาจจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วน หลัก ๆ ส่วนแรกเลย เกี่ยวกับวิธีการคิด ว่ามีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องอย่างไร จากนั้นจะเอาหลักกฎหมายอะไรมาปรับใช้แก่กรณีและจะสามารถปรับใช้ได้อย่างไร ส่วนนี้คือส่วนหนึ่งที่นักศึกษาที่เข้ารับการอบรมย่อมคาดหวังได้ว่าจะได้รับในส่วนนี้ ต่อมาส่วนที่สองคือส่วนการสื่อความหมายหรือการใช้ภาษา กล่าวคือการเรียบเรียงคำพูดแล้วสื่อความให้ผู้รับสารรับรู้ เพราะว่าการใช้ภาษาของนักศึกษาเองหรือแม้แต่ตัวผมเอง แต่ละบุคคลย่อมมีความแตกต่างกันอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นการยากที่จะคาดหวังให้นักศึกษาได้ทักษะในส่วนที่สอง แต่สำหรับส่วนแรกคือเกี่ยวกับการวิเคราะห์ประเด็นให้ได้ และแสวงหาข้อกฎหมายหรือแนวทางในการปรับใช้ข้อกฎหมายนั้น นำมาปรับใช้ให้สมบูรณ์แก่กรณีใดกรณีหนึ่งที่เราตั้งคำถามไว้ได้ ส่วนนี้คาดหวังว่าจะได้รับหรือเกิดพัฒนาการในทักษะส่วนนี้ ส่วนกรณีที่สองคือจะทำอย่างไรให้การให้ความเห็นไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการพูดหรือในบางกรณีอาจจะด้วยการเขียนหรือพิมพ์สามารถสื่อสารให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจในสารที่เราสื่อออกไป ในส่วนนี้อาจจะขึ้นอยู่กับทักษะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : วิทยากรทั้งสองหัวข้อเป็นใครครับ
อ.ศุภวิช : “วิทยากรหัวข้อการจดทะเบียนบริษัทนั้นเป็นเพื่อนที่เรียนกฎหมายของผมเองครับ โดยเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับผมเอง ท่านวิทยากรเองมีประสบการณ์ในด้านนี้โดยตรงครับ คือ เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ไปศึกษาต่อด้านที่เกี่ยวข้องกับหุ้นส่วนและบริษัททันที เมื่อสำเร็จกลับมาก็มาทำงานในสำนักงานกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนี้โดยตรง จริง ๆ งานส่วนนี้เป็นพื้นฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับหุ้นส่วนและบริษัท หรืองานที่เกี่ยวกับองค์กรธุรกิจทั่ว ๆ ไปครับ เพราะฉะนั้นเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษาไปแล้วหรือว่าใครก็ตามที่ไปทำงานด้านนี้ย่อมต้องการพื้นฐานความรู้ในส่วนนี้ ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญครับเพื่อที่จะเชื่อมโยงไปถึงจุดอื่น ๆ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับเรื่องหุ้นส่วนบริษัทต่อไป ในส่วนของวิทยากร ผมเชื่อว่าท่านเป็นคนที่มีประสบการณ์จริง ๆ ครับ แล้วก็ทำงานด้านนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ส่วนอายุก็อาจจะไม่ต่างจากนักศึกษาที่มาเข้ารับการอบรมมากนัก (ไม่แน่ใจ) ผมถือว่าเป็นข้อดีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือท่านมีความรู้จริง ๆ นอกจากนี้ บรรยากาศในการอบรม ผมคาดหวังว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี สมดังที่ทั้งท่านคณบดีเอง อาจารย์เจ้าของโครงการเอง ประสงค์จะให้นักศึกษาได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ครับ เพราะฉะนั้น แม้ว่านักศึกษาจะยังไม่รู้ตัวว่าถนัดหรืออยากไปทำงานด้านไหนโดยเฉพาะ แต่หัวข้อนี้ผมแนะนำเลยว่าควรที่จะต้องเข้าอบรมครับ เพราะเป็นหัวข้อที่สำคัญและเป็นพื้นฐานจริง ๆ ของการทำงานภาคเอกชน”
“ส่วนวิทยากรหัวข้อ Legal Opinion คุณคุณากรซึ่งเป็นทนายความอิสระ คนนี้เป็นรุ่นน้อง โดยท่านประกอบวิชาชีพทนายความที่ปรึกษากฎหมายมาหลายปีแล้ว ในการประกอบวิชาชีพทนายนี้ เป็นอาชีพที่เกี่ยวกับการให้ความเห็นหรือการวิเคราะห์ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อไปสู่การหาข้อกฎหมายที่ตรงและนำมาปรับใช้แก่กรณี ซึ่งจะต่างจากผู้พิพากษาหรือว่าอาชีพอื่น ๆ ซึ่งจะรอหรืออาศัยข้อเท็จจริงจากทนายความก่อน เช่นนี้ ทนายความจึงเป็นอาชีพแรกเลยที่เป็นคนตั้งเรื่อง ผมจึงเห็นว่าจากการที่ท่านประกอบวิชาชีพมาหลายปีแล้ว จึงน่าจะตอบโจทย์นักศึกษาได้โดยตรงในแง่ของการให้ความเห็น โดยเท่าที่ทราบท่านก็ประสบความสำเร็จในการประกอบวิชาชีพระดับหนึ่งเลย จากเดิมที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาอยู่ในบริษัทใหญ่ ซึ่งเท่าที่ทราบมีลูกความมีอะไรตามมาก็เยอะเมื่อท่านออกมาประกอบวิชาชีพอิสระ แสดงว่าการให้เหตุผลทางกฎหมายของท่านต้องดีประมาณหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะไม่มีลูกความตามมาใช้บริการแน่นอนครับ”
ผศ. ดร.กรศุทธิ์ : ในฐานะที่อาจารย์ปัจจุบันก็เป็นผู้สอนกฎหมายในลักษณะหุ้นส่วนบริษัทด้วย อาจารย์คิดว่าหากเรารู้ทฤษฎีแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ภาคปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน
อ.ศุภวิช : “คือในความเห็นของผม ตัวบทกฎหมายของกฎหมายลักษณะหุ้นส่วนและบริษัทค่อนข้างที่จะนิ่งในเชิงการตีความ คือค่อนข้างที่จะเขียนชัดเจนครับ เพียงแต่ว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นจะค่อนไปในทางปฏิบัติมากกว่า หรือบางกรณีกฎหมายแม่บทเขียนชัดเจนแล้วแต่ว่าเวลาที่ไปจดทะเบียนหรือดำเนินการทางปฏิบัติจริง ๆ จะต้องพิจารณากฎหมายลำดับรองตลอดจนอำนาจของเจ้าพนักงานตามกฎหมายด้วยครับ กล่าวคือกฎหมายแม่บทได้ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในการใช้ดุลพินิจว่าจะให้จดหรือไม่จด หรือหากว่าจดแล้วจะให้ข้อมูลกับคนที่มาขอข้อมูลซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด ตรงนี้ผมคิดว่ามันยังคงมีปัญหาอยู่ ซึ่งจริง ๆ อาจารย์ผู้สอนบางท่านอาจจะมีความรู้ในส่วนนี้ด้วย แต่ด้วยระยะเวลาในการสอนเมื่อเทียบกับหัวข้อในการสอนมันไม่สามารถหรือไม่เอื้ออำนวยที่จะสอนลงไปในรายละเอียดในส่วนนี้ได้ทั้งหมด และหลาย ๆ กรณีก็ต้องยอมรับว่าคนที่ปฏิบัติงานจริง ๆ ย่อมมีความชำนาญมากกว่าผู้เป็นอาจารย์ที่ไม่ได้มีโอกาสปฏิบัติภาคสนาม เพราะฉะนั้นการอบรมโดยผู้ที่เคยผ่านสนามจริงจึงมีประโยชน์มากครับ เพื่อให้นักศึกษาเห็นทั้งสองมุมทั้งทางวิชาการและทางปฏิบัติครับ”
ถ่ายภาพ Yesman
เรียบเรียง KK