อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติ ซึ่งจัดอบรม “โครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย” (Legal Practice Workshop) ประจำปีการศึกษา 2563
ความสำคัญของหัวข้ออบรม “การจัดทำเอกสารแนะนำตัวเพื่อการศึกษาต่อและสมัครงาน” และ “การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวน”
อ.ดิศรณ์ : “สำหรับการจัดทำเอกสารแนะนำตัวเพื่อการศึกษาต่อและสมัครงาน ในกระบวนการคัดเลือกตัวบุคคลเพื่อรับเข้าทำงานหรือศึกษาต่อมันจะต้องมีการยื่นเอกสารข้อมูลเบื้องต้นของเราอยู่ในแทบจะทุกองค์กร ซึ่งในเบื้องต้นแน่นอน ตอนเราไปสมัครนั้น องค์กรที่เป็นที่หมายปลายทางของเรานั้นเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน มีเบื้องหลังประวัติอย่างไร ก่อนที่เราจะได้ไปในส่วนการทดสอบที่จะได้สนทนากับเขาโดยตรงนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติของเราเบื้องต้นจากเอกสารข้อมูลของเราเสียก่อน เพื่อเป็นการพิจารณาในเบื้องต้นว่าเราผู้สมัครมีคุณสมบัติที่หน่วยงานของเขาต้องการหรือไม่ เพราะแน่นอนว่า ในที่องค์กรหรือหน่วยงานที่รับเข้าศึกษาต่อหรือทำงานในที่ที่นึงนั้น มันไม่ใช่ว่าจะมีคนสมัครเพียงแค่ 5-6 คนเท่านั้น หากแต่มีคนสมัครแต่ละคราวก็หลายสิบคนหลายร้อยคน เพราะงั้นถ้าหน่วยงานนั้น ๆ จะมาสัมภาษณ์ทุกคนร้อยคนก็คงจะไม่ไหว ฉะนั้นจึงต้องกระบวนการคัดกรองบุคคลเบื้องต้นก่อนว่าบุคคลใดจะเป็นผู้มีคุณสมบัติ คุณวุฒิที่ดีที่สุด ที่จะมาทำงานหรือมาเรียนในสถานที่ของเขาได้ ซึ่งตรงนี้แหละเขาก็จะมาพิจารณาในเรื่องของประวัติการศึกษาเรา หรือว่าประวัติการทำกิจกรรม ประวัติการทำงานอื่น ๆ ของเรา เพื่อพิจารณาคนในเบื้องต้นจากร้อยคนก่อนว่า ท่ามกลางผู้สมัครหลายร้อยคนนี้ คนไหนมีประวัติน่าสนใจและคู่ควรที่จะมาทำงานหรือว่ามาศึกษาในสถานบันของเขา เพราะงั้นในการพิจารณาข้อมูลบุคคลหรือคุณสมบัติจากเอกสารในเบื้องต้นเนี่ยจึงมีความสำคัญ ถ้าเกิดว่าเราทำ CV ไม่ดีตั้งแต่แรก นักศึกษาก็อาจถูกปัดตกตั้งแต่แรกเลย โดยยังไม่ทันได้เข้าไปสอบสัมภาษณ์ เพราะว่าเมื่อเขาได้พิจารณาจาก CV ของนักศึกษาแล้วมันสะท้อนว่านักศึกษาไม่มีคุณสมบัติที่เขาต้องการตั้งแต่แรกเลย เพราะไม่สามารถทำการจัดระบบ เรียบเรียงข้อมูลของตัวนักศึกษา เพื่อนำเสนอแก่หน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้”
“ส่วนหัวข้อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวน ก็อย่างที่นักศึกษาอาจจะพอทราบกันแล้วถ้าเกิดว่านักศึกษาเรียนกฎหมายอาญา หรือยิ่งถ้าเรียนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วเนี่ย นักศึกษาก็จะทราบอีกว่าหลาย ๆ เรื่องในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอาญาไม่ว่าจะเป็นภาคทั่วไป ภาคความผิด ความสำคัญของวิชากฎหมายอาญาก็จะมีในเรื่องของทั้งทางปฏิบัติด้วย ถ้าเกิดนักศึกษายังไม่ได้เรียนวิ.อาญาแต่เรียนภาคความผิดมาแล้ว นักศึกษาก็จะรู้ว่าการที่เราจะต้องปรับบทกฎหมายเนี่ย เราจะต้องปรับบทให้ครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายเขาบัญญัติว่าครบองค์ประกอบความผิดหรือเปล่า ซึ่งในชั้นเรียนนักศึกษาอาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญตรงนี้ บางทีก็อาจจะตามเซนส์บ้าง หรือว่าปรับบทตามที่ตัวเองเท่าที่พอจำได้ โดยละเลยความสำคัญของการใช้ถ้อยคำตามตัวบทกฎหมายหรือถ้อยคำในทางกฎหมาย ซึ่งนักศึกษาจะไม่เห็นภาพว่าความสำคัญในการปรับบทให้ครบถ้วนเนี่ยสำคัญอย่างไรในทางกฎหมาย ถ้าเกิดปรับบทไม่ครบองค์ประกอบความผิดมันก็จะเกิดผลอย่างมีนัยยะสำคัญ คืออาจจะทำให้ตัวจำเลยเนี่ยได้รับการยกฟ้องไปทันทีทั้ง ๆ ที่เขามีการกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิด และการเขียนสำนวนการสอบสวนก็เป็นการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานอันนึงที่ต้องกระทำอย่างโดยละเอียด แล้วก็แน่นอนว่าก่อนที่จะมาปรับบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงได้ ก็ต้องมีการทำให้ข้อเท็จจริงที่นิ่งซะก่อนใช่ไหมว่ามันมีใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ตรงนี้แหละเราก็จะไม่ค่อยเห็นภาพใช่มั้ยว่ากว่าจะมาเป็นตัวอักษรในข้อสอบให้เราเนี่ยว่านาย ก. ยกปืนยิงนาย ข. ตายเนี่ย มันต้องมีผ่านกระบวนการที่รวบรวมพยานหลักฐานมาว่านาย ก. ได้ยกปืนขึ้นมาจริงหรือไม่ นาย ก. ได้เอานิ้วเข้าไปเหนี่ยวในโกร่งไกจริงหรือไม่ การพิจารณาว่าบุคคลนั้นมีการเหนี่ยวไกปืนจริงหรือไม่ จะต้องดูว่ามีสารเคมีที่มีส่วนผสมของเขม่าคราบดินปืนอยู่ที่นิ้วมือจึงทราบได้ว่านาย ก. เป็นคนเหนี่ยวไก ทำไมเราถึงรู้ได้ว่าวิถีกระสุนแบบนี้นาย ข. เขาไม่ได้ยิงตัวเอง ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย อันนี้ก็จะเป็นอีกอย่างนึงที่เราจะไม่เห็นในห้องเรียน เราอาจจะไม่สามารถศึกษาได้ในห้องเรียนโดยตรง แต่ว่าอาจจะสามารถศึกษาได้หรือทราบได้จากผู้ที่ปฏิบัติงานภาคปฏิบัติที่จะอธิบายได้ดีกว่าในทางวิชาการ นอกจากนี้วิชาชีพตำรวจเนี่ยเรียกว่าเป็นวิชาชีพที่กล่าวถึงไม่เยอะมากในตามกระแสหลักของคนที่จะเป็นนักกฎหมายสายอาญา นักกฎหมายอาญาเนี่ยส่วนใหญ่เราก็จะนึกภาพออกแต่พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา ส่วนภาควิชาชีพอื่นในทางวิชาการเนี่ยเราไม่ค่อยเห็น การที่เรามารับฟังในเรื่องของพนักงานสอบสวน จะทำให้เราเห็นมุมมองของวิชาชีพทางกฎหมายอาญาที่มันกว้างขึ้นแล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่ามีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับวิชาชีพเจ้าพนักงานตำรวจ”
วิทยากรในหัวข้ออบรม “การจัดทำเอกสารแนะนำตัวเพื่อการศึกษาต่อและสมัครงาน” และ “การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นสอบสวน”
อ.ดิศรณ์ : “สำหรับหัวข้อ CV วิทยากรคือคุณพศินทัศน์ สินโสภณเกษม เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ รหัส 55 และเพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Cambridge เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความที่ Clifford Chance และ Watson Farley & Williams ปัจจุบันเป็น E-commerce Manager อยู่ที่ GQ ประเทศไทย ด้วยประสบการณ์ในการศึกษาต่อในต่างประเทศ อีกทั้งประสบการณ์ในการทำงานที่หลากหลาย ผมและคณะกรรมการจึงเชื่อว่าคุณพศินทัศน์ จะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับหัวข้อการจัดทำเอกสารแนะนำตัวทั้งสำหรับการสมัครงานและการศึกษาต่อให้แก่นักศึกษาได้”
“ส่วนหัวข้อสอบสวนคือคุณพิทวัส ท่านก็เป็นพนักงานรองสารวัตรสอบสวนอยู่ที่สภ.ปะนาเระ ตำแหน่งสอบสวน เรียกว่าเหมือนเป็น Keyman ของในคดีอาญาในชั้นสอบสวนเลยก็ว่าได้ หมายความว่าเป็นคนที่จะรวบรวมพยานหลักฐานทุกอย่าง หรือจะเป็นคนที่ตั้งต้นคดีอาญาเพื่อทำสำนวนส่งอัยการส่งฟ้องต่อศาลนั้นจะอยู่ในความรับผิดชอบของทีมสอบสวนของท่าน ซี่งท่านวิทยากรของเราเนี่ยท่านประจำอยู่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีคดีที่เป็นอุกฉกรรจ์อยู่พอสมควรที่จะให้เราศึกษาว่าในคดีอุกฉกรรจ์อย่างเช่นในเรื่องของการฆาตกรรม การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานในความเป็นจริงเนี่ย เขามีการค้นหรือว่ามีการจับอย่างไร และตัดสินใจในหลาย ๆ สถานการณ์ทุกอย่างเพื่อที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงมาให้ได้ แสวงหาพยานหลักฐานมา แล้วก็แสดงให้เห็นว่าเนี่ยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการฆาตกรรมตอนนี้เนี่ยมีใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อที่จะทำสำนวนให้สามารถไปถึงชั้นการพิจารณาคดีของศาลได้ นอกจากนี้การปฏิบัติงานเจ้าพนักงานตำรวจเราไม่ได้มีโอกาสจัดให้ดูงานกันเท่าไหร่ เราไปดูงานศาลว่าอัยการเนี่ยตอนที่เขาว่าความในศาลเนี่ยเขาทำอย่างไร หรือว่าดูว่าผู้พิพากษาเนี่ยเขาสืบพยานกันอย่างไร แต่เราเนี่ยจะไม่ได้มีโอกาสไปดูพวกงานที่พนักงานสอบสวนเนี่ยเข้าไปรวบรวมข้อเท็จจริง เก็บพยานหลักฐานต่าง ๆ มา แล้วก็วิเคราะห์ มีไหวพริบในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าว่าจริง ๆ แล้วเนี่ยบทบาทของพนักงานสอบสวนเนี่ยมีความสำคัญขนาดไหน อย่างไร”
สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับจากการเข้าอบรม
อ.ดิศรณ์ : “ในส่วนของ CV ผมคิดว่าอันนี้นักศึกษาจะได้เรียกว่ากลยุทธ์ก็ได้ กลยุทธ์ในการเขียนโปรไฟล์หรือว่าเขียน CV ของเราให้โดดเด่นแล้วก็จะรู้จุดบกพร่อง จุดที่ทำให้คนพลาดกันในการไปสมัครงานหรือสมัครเรียน ยกตัวอย่างที่ผมชอบยกอยู่บ่อย ๆ ว่านักศึกษาอาจจะคิดว่าการที่เราไปสมัครงานหรือไปสมัครเรียนต่าง ๆ เนี่ย นักศึกษาต้องยื่นรางวัลอะไรต่าง ๆ ได้ประกาศนียบัตรนู่นนี่นั่นแล้วก็เอามาใส่ประวัติเรา คือนักศึกษาอาจจะคิดว่าต้องใส่ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ใช่มั้ย คือมีแนวคิดที่ว่า “เหลือดีกว่าขาด” ซึ่งตรงนี้เนี่ยพอเราทำไปเยอะจนเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงองค์กรต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นงานราชการที่ผมเคยไปทำ หรือว่าที่เอกชน หรือว่าที่สถาบันการศึกษาเนี่ย เขาไม่มานั่งอ่านของเรา 4-5 หน้าแล้วก็มารู้สึกว่าเรามีคุณค่าหรอกครับ ตัวผู้รับสมัครรับเราเข้าทำงานหรือรับเราเข้าศึกษาเนี่ย เขาดูวิธีการสรุปประวัติของเราที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับที่ทำงานหรือที่ศึกษาของเขา โดยต้องทำภายในหนึ่งหน้ากระดาษเท่านั้นนะฮะ ซึ่งเราเห็นมั้ยฮะว่าเราต้องใช้พื้นที่ในการเขียน CV เพียงหนึ่งหน้ากระดาษอย่างจำกัดโดยที่เราต้องถ่ายทอดประวัติ คุณงามความดีของเราให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันจะมีความผกผันกับปริมาณคุณงามความดีของเราที่อยากจะเสนอใช่มั้ยครับ แต่ว่ามันต้องนำเสนอในพื้นที่ที่จำกัดภายในหนึ่งหน้ากระดาษ ตรงนี้แหละนี่เป็นการทดสอบเราในเบื้องต้นของหน่วยงานรับเข้าทำงานของเราหรือว่าสถาบันการศึกษาว่าภายในหนึ่งหน้ากระดาษเนี่ยคุณสามารถจัดการหรือว่าแสดงประวัติข้อมูลของคุณได้มากขนาดไหน นี่ก็เป็นการทดสอบเบื้องต้นของคุณแล้วว่า ในเงื่อนไขอันจำกัดขนาดนี้คุณสามารถทำให้โปรไฟล์คุณเนี่ยโดดเด่นได้มากที่สุดได้ขนาดไหน ถ้าเกิดว่าภายในหนึ่งหน้ากระดาษเนี่ยคุณก็นึกว่า พื้นที่น้อย เลยนำเสนอข้อมูลตนเองน้อยเกินไป หรือนำเสนอได้ไม่โดดเด่น นั่นหมายความว่าคุณก็จะนำเสนอข้อมูลคุณงามความดีคุณน้อยที่สุดในเนื้อที่จำกัดที่สุด มันก็จะไปแพ้คนอื่นเขา เพราะคนอื่นถ้าเกิดเขาจัดแจงได้ดี เขารู้ว่าอะไรควรใส่และอะไรที่ไม่จำเป็นต้องใส่ เขาก็จะทำให้ CV ของเขาเนี่ยดูโดดเด่นกว่าเรา ซึ่งมันก็สะท้อนถึงความสามารถของเราแล้ว ถ้าเกิดผมเป็นคนรับสมัครงานผมก็เลือกได้แล้วล่ะว่าผมควรจะรับคนไหนมาดี เหมือนมันก็สะท้อนอยู่แล้วแหละว่า ถ้าเกิดเรารับคนนี้เข้ามาทำงานเนี่ย เขาสามารถทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างสูงสุดได้ขนาดไหน แม้ว่าองค์กรจะให้ทรัพยากรเขาอย่างจำกัดอย่างแคบที่สุด มันเป็นการวัดในเบื้องต้นแล้วแหละว่าคนที่จะรับเข้ามาทำงานในอนาคตเนี่ยมีประสิทธิภาพมากเพียงไหน แล้วก็จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ขนาดไหน พูดง่าย ๆ ก็คือว่าคนที่รับเราเข้าทำงานเนี่ยเขาจะดูว่าเราเนี่ยใช้ต้นทุนเยอะขนาดไหนในการที่จะทำประโยชน์ให้ได้สักอย่างนึง ถ้าเราใช้ต้นทุนน้อยแต่ประโยชน์เยอะเขาก็อยากรับเราเข้าทำงานอยู่แล้วใช่มั้ย แต่ถ้าเราใช้ต้นทุนที่เยอะแต่ประโยชน์น้อยเนี่ย เขาก็ไม่อยากได้เรามาทำงานหรือว่ามาเข้าเรียนหรอก อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อยากจะให้รู้ในเรื่องของประโยชน์ที่จะได้รับเข้าฟังในเรื่องของ CV ก่อน”
“ส่วนเรื่องสอบสวนเนี่ยถามว่าจะได้อะไรจากการเข้ามาฟังการสอบสวน หนึ่งเลยอย่างที่ผมบอกมาว่าวิชาชีพในคดีอาญาเนี่ย ส่วนใหญ่อาจะไม่ค่อยทราบว่ามันมีวิชาชีพในสาขากฎหมายอาญามีอะไรบ้างนอกจากอัยการ ผู้พิพากษา หรือว่าก็รู้ว่าต้องมีตำรวจแต่ไม่พบการออกมาแนะแนวการทำงานหรือวิชาชีพเท่าไร หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าชั้นเจ้าพนักงานตำรวจที่มียศชั้นสัญญาบัตรกับตำรวจชั้นประทวน หรือไม่ทราบมันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างไร เราก็นึกว่าเป็นตำรวจแล้วต้องไปจับโจรผู้ร้ายทันทีนะ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจะไม่ถูกต้องทั้งหมด นอกจากนี้ที่สำคัญที่สุดเลยก็คือว่าผมคิดว่ามันจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจกับคนที่อยากจะเข้ามาอยู่ในวงการตำรวจ ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยากทำงานในขอบเขตของกฎหมายอาญาในอนาคต เราอยากจะทำกฎหมายอาญาแต่ไม่ได้อยากเป็นอัยการ แล้วก็ไม่อยากเป็นผู้พิพากษาด้วย อยากลงพื้นที่เกิดเหตุ อยากทำงานที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ความผิด ตรงนี้เนี่ยจะมีอะไรมาตอบโจทย์กับความปรารถนาของเราหรือไม่ ผมคิดว่าพนักงานสอบสวนก็เป็นวิชาชีพนึงที่ตอบโจทย์พวกเราได้สำหรับคนที่ชอบคดีอาญา”
เรียบเรียง KK