อาจารย์กิตติภพ วังคำ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติ ซึ่งจัดอบรม “โครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย” (Legal Practice Workshop) ประจำปีการศึกษา 2562
ความสำคัญของหัวข้ออบรม “กระบวนการบังคับคดีแพ่ง”
อ.กิตติภพ : “การบังคับคดีแพ่ง เป็นขั้นตอนหนึ่งในการดำเนินคดีแพ่ง เริ่มต้นเมื่อมีการโต้แย้งสิทธิหรือบุคคลจะต้องใช้สิทธิทางศาลก็มีการเสนอคดีต่อศาลเป็นคำฟ้องหรือคำร้องขอ มีการตรวจคำคู่ความ เข้าสู่การพิจารณา และมีพิพากษาหรือคำสั่ง อาจจะมีการอุทธรณ์ฎีกาก็ว่ากันไป แต่เมื่อมีคำพิพากษาแล้วศาลก็จะออกคำบังคับซึ่งก็คือคำสั่งให้คู่ความปฏิบัติตามคำพิพากษา ในจุดนี้หากคู่ความยอมปฏิบัติตามแต่โดยดีก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีที่คู่ความซึ่งอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งในกรณีเช่นว่านี้แม้จะมีคำพิพากษาของศาลแล้วก็ตาม เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับลูกหนี้ได้ตามใจชอบ หากประสงค์จะได้รับชำระหนี้ เจ้าหนี้ต้องอาศัยกระบวนการบังคับคดีตามกฎหมาย ดังนั้น กระบวนการบังคับคดีจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นเครื่องมือซึ่งช่วยให้เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้นั่นเอง”
ประสบการณ์ในการบังคับคดีแพ่งของอาจารย์กิตติภพ
อ.กิตติภพ : “ส่วนใหญ่เป็นการเรียนหรือการค้นคว้าหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกามากกว่า แต่สำหรับในทางปฏิบัติต้องเรียนว่าผมยังมีประสบการณ์เกี่ยวกับการบังคับคดีค่อนข้างน้อย ในระหว่างที่ทำงานเป็นทนายความก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำเรื่องบังคับคดีเท่าใดนัก เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เขียนคำร้องขอออกหมายบังคับคดีและไปยื่นคำร้องต่อศาล ประมาณนี้ครับ”
วิทยากรในหัวข้ออบรม “กระบวนการบังคับคดีแพ่ง”
อ.กิตติภพ : “คุณภัทระ วัฒนชัย เป็นศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มธ. ได้รับทุนรัฐบาล ผ่านกรมบังคับคดีไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมายในสหรัฐอเมริกา และเมื่อกลับมาทำงานที่กรมบังคับคดี ก็ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่ออีกครั้ง เป็นผู้ที่มีผลการเรียนที่โดดเด่นและเป็นผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับการทำงานด้านการบังคับคดี สามารถที่จะนำเสนอทั้งในแง่ของหลักกฎหมาย ในทางปฏิบัติ แล้วก็ข้อเท็จจริงที่ท่านวิทยากรเคยได้เห็นมา”
สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับจากการเข้าอบรม
อ.กิตติภพ : “บทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่งนั้นเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 การบังคับคดีตามคำพิพากษาและคำสั่ง ซึ่งหลักสูตรปัจจุบัน (2561) ไม่ได้กำหนดให้เป็นวิชาบังคับ ทางคณะกรรมการจึงเห็นว่าหัวข้อดังกล่าวเป็นหัวข้อที่น่าสนใจที่จะช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมแก่นักศึกษานอกเหนือจากการเรียนการสอนในวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ว่าจะเคยศึกษาวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งภาคบังคับคดีมาแล้วหรือไม่ ทั้งในแง่ของหลักกฎหมายรวมทั้งขั้นตอนในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง”
เรียบเรียง KK