อาจารย์ศุภวิช สิริกาญจน เป็นหนึ่งในคณะกรรมการฝึกงานภาคปฏิบัติ ซึ่งจัดอบรม “โครงการอบรมทักษะการปฏิบัติงานทางกฎหมาย” (Legal Practice Workshop) ประจำปีการศึกษา 2562
ความสำคัญของหัวข้ออบรม “การนำเสนอผลงานทางกฎหมาย”
อ.ศุภวิช : “การนำเสนอผลงานทางกฎหมายเหมือนกับเป็นปลายทาง จากตอนแรกที่นักศึกษาคิด วิเคราะห์ หาแง่มุมทางกฎหมาย จากการที่ตั้งปัญหาเองหรือตอบปัญหาที่ตอนทำงานมีคนตั้งให้ ไม่ว่าจะเป็นลูกความหรือนายจ้าง ซึ่งเป็นต้นทาง การนำเสนอจึงเหมือนเป็นปลายทางที่นักกฎหมายทุกคนต้องนำเสนองานตัวเองให้ได้ว่า สิ่งที่เราทำมา ค้นคว้ามา มันมีกระบวนการยังไง แล้วผลที่ได้เป็นอย่างไร เหตุผลประกอบเป็นอย่างไร ถ้าตรงนี้ นักศึกษาไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน นายจ้าง ลูกความหรือคนที่เขามาขอคำปรึกษา ก็จะไม่เกิดความไม่เชื่อมั่น ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ว่า ทำไมนักกฎหมายท่านนี้ ทนายท่านนี้ หรือที่ปรึกษาท่านนี้ ดูไม่น่าเชื่อถือ อันนี้ก็คือเป็นเหตุผลหลัก ๆ เลย”
“ตอนเรียนในหลักสูตร เราจะไม่มีวิชานี้โดยตรง ไม่มีใครมาสอนนักศึกษาว่า ต้องนำเสนอผลงานยังไง วิธีการพูดยังไง หรือวิธีการเขียนยังไง ควรจะเริ่มโดยการวางประเด็นอะไร ไล่ลำดับและความคิดอะไรยังไง จากการที่อาจารย์เคยพูดคุยนายจ้างหลาย ๆ ที่ ไม่ว่าในโครงการฝึกงาน หรือว่าเป็นเพื่อน ๆ ของอาจารย์เองซึ่งปัจจุบันเป็นนายจ้างแล้ว ก็จะมีฟีดแบ็กมาว่า บางครั้ง นักศึกษาของเรา ถ้าเป็นการสัมภาษณ์งานก็ดี หรือว่าทำงานก็ดี ความรู้กฎหมายเราดีมาก คือเห็นข้อเท็จจริงมาก็รู้ว่า หลักกฎหมายเรื่องนี้คืออะไร ยิ่งกว่านั้น บางทีสามารถพลิกแพลงได้ด้วยว่าควรจะต้องตอบอะไรยังไง แต่ก็จะมีนักศึกษาหรือบัณฑิตบางคนที่ตอนนำเสนออาจจะมีปัญหา”
“อย่างประเด็นแรก เป็นเรื่องการพูด บางคนไปยืนหน้าชั้น ก็รู้สึกมือไม้สั่น ตื่นเต้น ทำให้พูดจาไม่รู้เรื่องอะไรแบบนี้ บางทีก็พูดโดยมีท่าทางที่ไม่เป็นมิตร คนฟังก็อาจรู้สึกว่าเรากำลังมีสมาธิหรือว่ามีความตั้งใจที่จะพูดในเรื่องนั้น ๆ หรือเปล่า ตรงนี้ก็เป็นเรื่องบุคลิกภาพส่วนหนึ่งด้วย แล้วก็สองคือ เวลาเราตื่นเต้น บางทีเนื้อหาจะสลับไปสลับมา ไม่เป็นลำดับ แล้วก็ไม่เป็นไปตามที่เราคิด ส่วนอีกเรื่องนึงก็คือ ตอนที่เราเขียน วิธีสื่อสารอีกอย่างก็คือการเขียน ซึ่งตรงนี้นักศึกษาน่าจะคุ้นเคยกับการเขียนตอบข้อสอบอยู่แล้ว การเขียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนักกฎหมาย ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม เราก็แสดงออกด้วยการเขียน ประเด็นก็คือ บางคนเขียนไม่ดีหรือเขียนไม่รู้เรื่อง แต่ประเด็นนี้อาจจะมีปัญหาน้อยกว่ากรณีอื่น เนื่องจากว่า เราจะคุ้นเคยกับการเขียนตอบข้อสอบแล้ว แต่ว่าการเขียนที่มีปัญหาจริง ๆ เลยคือ ตอนที่มีข้อเท็จจริงมาแล้ว ต้องผูกประเด็นทางกฎหมายเองว่า จากข้อเท็จจริงนี้ มีประเด็นทางกฎหมายเรื่องอะไรบ้าง เพราะว่าในความเป็นจริง มันไม่ได้แยกเป็นแต่ละวิชาเหมือนตอนเราเรียน เป็นข้อเท็จจริงรวม ๆ มา เราต้องมาแยกเอง ตรงนี้บางทีนักศึกษาก็จะตั้งคำถามแล้วก็เขียนออกมา เรียบเรียงมา มีปัญหาในการเรียบเรียงว่า ปัญหานี้ควรจะมีประเด็นทางกฎหมายอะไรบ้าง นำไปสู่คำตอบ”
“สุดท้ายเลยก็คือจะเป็นประเด็นสื่อในการนำเสนอผลงาน เป็นสิ่งใหม่เลย คือเมื่อก่อนเราจะใช้วิธีการพูดหรือเขียนเป็นตัวหนังสือ ส่งเป็นหนังสือหรือเอกสาร แต่หลัง ๆ ในการพูดหรือในการนำเสนองานก็ดี เราก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งจริง ๆ นักศึกษาก็จะคุ้นเคยอยู่แล้วคือ การทำ Presentation การนำเสนอผลงานก็จะเข้ามามีส่วนตรงนี้ด้วย ในแง่ของการลำดับความคิดในการนำเสนอ คุณควรจะไล่ลำดับการนำเสนอยังไง รูปแบบที่ใช้ควรจะใช้รูปแบบอะไร ถ้านักศึกษาเข้ามาอบรมหัวข้อนี้ สิ่งที่นักศึกษาจะได้หลัก ๆ ก็คือ พื้นฐาน 3 เรื่องนี้ จากประสบการณ์ตรงของศิษย์เก่าเรา ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่จบไปปฏิบัติงานจริงแล้ว แล้วก็ทำงานได้ระยะเวลาหนึ่งแล้วครับ”
ประสบการณ์ในการนำเสนอผลงานทางกฎหมายของอาจารย์ศุภวิช
อ.ศุภวิช : “ส่วนตัวแล้วเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพเลย ก็คือตั้งแต่จบมา ผมเคยเป็นทนายอยู่ช่วงหนึ่งสั้น ๆ ประมาณ 1 ปี ช่วงนั้นก็ต้องทำเอกสาร คำคู่ความ ก็จะมีทั้งคำฟ้อง คำให้การ เอกสารประกอบอื่น ๆ เช่น บัญชีระบุพยาน หรือบางทีต้องมีหนังสือทวงถาม (Notice) เอาไปยื่นให้คำคู่ความ หรือถ้ายังไม่ฟ้องคดี ก็เป็นคู่กรณี คู่สัญญาที่อาจจะมีการผิดสัญญา หรือกรณีละเมิด อาจจะไปทวงให้เขาชำระค่าสินไหมทดแทน สิ่งเหล่านี้เราก็ต้องมานั่งเขียน ในทางปฏิบัติ ก็จะเป็นทนายที่อาวุโสกว่าสั่งให้เราลองร่างมาก่อน แล้วการร่างของเรามีข้อบกพร่องอะไรยังไง เขาก็จะชี้และบอกว่าตรงนี้คุณต้องแก้นะ จริง ๆ การเขียนทุกอย่าง เราเป็นนักกฎหมายก็ต้องรัดกุม และให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่เราเรียน เพราะทุก ๆ คำพูด ยิ่ง Notice หรือว่าคำคู่ความ มันมีผลต่อรูปคดี เพราะฉะนั้น การนำเสนอตรงนี้คือส่วนแรกของเอกสารที่ใช้จริง ๆ”
“การคุยกับลูกความ ก็ต้องนำเสนอความคิดเรา แต่วิธีการพูดมันจะมีประเด็นว่า ส่วนใหญ่นักกฎหมายเรียนมา 4 ปี ซึ่งอยู่ในแวดวงหรือสิ่งแวดล้อมที่จะมีแต่นักกฎหมาย เวลาพูดอะไรไปเป็นศัพท์กฎหมาย เช่น กรรมสิทธิ์ จดทะเบียนโน่นนี่ หรือโฉนดที่ดิน จำนอง หนังสือค้ำประกัน อะไรแบบนี้ คือระหว่างนักกฎหมายด้วยกันเราเข้าใจว่า อันนี้เป็นยังไง แล้วเบื้องหลังในแง่หลักกฎหมายมันเป็นยังไง แต่เวลาเราคุยกับลูกความ เขาไม่ใช่นักกฎหมาย โดยทั่วไปแล้ว ผมว่าร้อยละ 99 เลย ที่ไม่ใช่นักกฎหมายด้วยกัน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานตอนที่เป็นทนายก็คือ เราต้องพยายามเปลี่ยนพวกศัพท์กฎหมายมาเป็นคำพูดทั่ว ๆ ไปในการนำเสนอสิ่งที่เราคิดออกไป สื่อไปให้เขาทราบ อย่างเช่น เรื่องโฉนดที่ดิน แทนที่จะใช้คำว่ากรรมสิทธิ์ เราก็อาจจะใช้คำว่า ผิดกรรมสิทธิ์ก่อนถ้าเกิดเขาดูงง ๆ อาจจะบอกว่า คุณมีโฉนดไหม ได้ไปจดทะเบียนกับกรมที่ดินไหม คือพยายามโยงไปให้ตรงกับชีวิตประจำวันของเขามากที่สุด คำที่เขาคุ้นเคย อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาในการทำเอกสารพวกคำคู่ความ เอกสารที่ต้องยื่นแก่ศาล หรือการคุยกับลูกความนะครับ จะตอบปัญหายังไงให้เข้ารู้สึกเชื่อมั่นในทนายคนนี้ ตรงนี้คือประสบการณ์ตอนที่ผมเป็นทนาย”
“ต่อมา พอมาทำงานในหน่วยงานรัฐ คือ ผมมาอยู่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ก็จะเกี่ยวกับเรื่องตลาดทุน แต่เราเป็นหน่วยงานทางกฎหมาย คือเข้าไปกำกับดูแลตลาดทุน ตรงนี้ก็จะเป็นงานคล้าย ๆ งานราชการ ความต่างจากงานเอกชนคือ จะมีสายบังคับบัญชาโดยตรง เพราะเป็นหน่วยงานทางบริหาร พอเรามีผู้บังคับบัญชา หนึ่งเลย ประเด็นสำคัญในการเสนองานคือ เราก็ต้องจับประเด็นที่สั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ได้ ซึ่งบางทีเขาก็ไม่ใช่นักกฎหมาย เพราะว่าเวลาเราไปอยู่ในองค์กรใหญ่ ๆ แล้ว ไม่ได้จำเป็นว่าทุกองค์กรจะมีแต่เฉพาะนักกฎหมายทำงาน บางองค์กรก็มีวิชาชีพอื่น ๆ อย่างเช่นของผมก็จะมีคนที่จบการเงิน บัญชี เศรษฐศาสตร์ โดยทั่วไปเขาก็พอจะได้ยินศัพท์กฎหมายมาบ้าง แต่เมื่อเราเริ่มลงลึกแล้ว เป็นแต่ศัพท์กฎหมายล้วน ๆ หรือการลำดับความคิดตามหลักกฎหมายที่เราเรียนมา ผู้บังคับบัญชาหรือว่าเพื่อนร่วมงานเราก็จะงง เพราะฉะนั้น เราอาจจะต้องยกประเด็นที่พูดเหมือนตอนเราทำทนาย ก็คือ พยายามหยิบยกคำศัพท์หรือวิธีการพูดที่มันปกติที่สุด ใช้คำธรรมดา อย่างเช่นเราอยากจะสื่อว่า หลักทรัพย์ หรือพูดถึงบริษัทจดทะเบียน สัญญา เราอาจจะต้องเปลี่ยนคำ อย่างหลักทรัพย์ อาจจะต้องลงไปเลยว่า หุ้น ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ หรือระบบต่าง ๆ”
“ต่อมาคือ นอกจากเราจะใช้คำทั่วไปแล้ว ในการนำเสนอบางทีเราต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมด้วย เช่น ตอนแรก ๆ ที่ผมเข้าไปก็ไม่คุ้นเคยกับศัพท์เทคนิคทางการเงิน บัญชีที่มีเข้ามาเรื่อย ๆ แต่หลังจากอยู่ไป เราจะค่อย ๆ เรียนรู้ บางทีเราก็ต้องพยายามเรียบเรียงความคิดว่า ศัพท์ทางการเงินหรือบัญชีคำนี้นำมาเชื่อมโยงกับหลักกฎหมายที่เราเรียนมายังไง จริง ๆ ก็คือ เราย้อนกลับสู่หลักการว่า จริง ๆ มันคือ หลักพื้นฐานของสัญญาหรือเปล่า นิติสัมพันธ์มันเกิดขึ้นยังไง ถ้าเป็นสัญญาแล้วข้อสัญญาเขียนว่ายังไง มีผลบังคับยังไง มีเงื่อนไขเงื่อนเวลา เบี้ยปรับ มัดจำ บางทีมันมีนะครับหลักทรัพย์ เพราะว่าจริง ๆ พื้นฐานมันก็คือสัญญานั่นแหละ พออยู่ไปอยู่มา เราก็เริ่มปรับตัวแล้วก็จะสื่อสารกับเขาด้วยศัพท์เทคนิคมากขึ้น แล้วก็หลักกฎหมายเราก็พูดภาษาปกติไป หลังจากปรับตัวได้ปีสองปี การทำงานก็จะราบรื่นแล้ว เวลาคุยกับใครก็จะรู้เรื่องแล้ว อันนี้คือเรื่องการนำเสนอซึ่งส่วนแรกจะเป็นเรื่องของการพูด”
“ส่วนที่สอง การมาทำงานในหน่วยงานหรือการออกไปพูดข้างนอก สิ่งที่ต้องทำก็คือมีการ Presentation ต้องทำ Power Point อันนี้จริง ๆ ผมว่าง่ายกว่านะครับ คือ นักศึกษาได้พวกศัพท์เทคนิค เข้าใจบริบทต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากกฎหมายแล้ว จะเริ่มเชื่อมโยงได้ ลำดับความคิดก็จะเหมือนที่เราเรียนมาจากคระนี่แหละไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ ส่วนการตกแต่ง Presentation ให้สวยงามยังไงแล้วแต่ความชอบ หรือผู้บังคับบัญชาต้องการ ซึ่งการแตกแต่งนี้ไม่ได้เน้นอะไรมากมาย”
“ส่วนที่สามที่อาจะเรียกว่าสำคัญที่สุดก็ได้ ก็คือ เรื่องการทำหนังสือราชการ จริง ๆ มันจะอยู่ในรูปของบันทึก หรือรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กฎหมาย ซึ่งใช้ติดต่อกันภายในหน่วยงาน หรือระหว่างหน่วยงาน ตรงนี้นักศึกษาก็ต้องมีรูปแบบการนำเสนอที่เป็นลำดับ แต่ในการเขียนหนังสือราชการ จะมีรูปแบบ (Pattern) กำหนดไว้อยู่แล้ว เช่น เรื่องที่อ้างอิง อ้างถึง เสนอเรื่องอะไร เรียงลำดับอะไรยังไง เพียงแต่ว่าเวลาเราเรียบเรียงก็ต้องเรียบเรียงให้เป็นเหตุและผล ซึ่งตรงนี้ถ้านักศึกษาเรียนจบไปแล้ว ไปทำงานในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก็มีรูปแบบต่าง ๆ ที่แทบจะเหมือนกันทุกหน่วยงานของรัฐ”
“ส่วนสุดท้ายเลยคือการร่างกฎหมาย ไม่ว่าจะระดับ พ.ร.บ. หรือลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่า เช่น กฎ ประกาศ ระเบียบ หนังสือเวียน พวกนี้ก็จะมีรูปแบบของมัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ต้องดูว่า ถ้าเกิดเป็นการร่างใหม่เลย เราจะขึ้นยังไง การร่างกฎหมายจะมีคู่มือเฉพาะ จริง ๆ ประเด็นนี้ อาจจะอยู่นอกเหนือขอบเขตของหัวข้ออบรม Presentation แต่ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอผลงาน คือการใช้คำศัพท์กฎหมายต่าง ๆ”
วิทยากรในหัวข้ออบรม “การนำเสนอผลงานทางกฎหมาย”
อ.ศุภวิช : “วิทยากรในหัวคือคุณศุภกานต์ ท่านเป็นนิติกรปฏิบัติการอยู่ที่กรมคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน โดยในช่วงนี้ท่านได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษ คือช่วงโควิดที่ผ่านมา จะมีปัญหาลูกจ้างถูกเลิกจ้างงานเยอะกว่าปกติ บางครั้งจำนวนเป็นร้อยหรือเกือบพันคน คุณศุภกานต์ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่พิเศษในการเป็นโฆษกของกรมคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน ในการรายงานเกี่ยวกับข้อมูลอัตราการว่างงาน ว่าประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกฎหมายแรงงานที่เกิดขึ้นในช่วงที่โควิดระบาดว่าคนที่อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการถูกเลิกจ้าง หรือว่าการตกงานด้วยรูปแบบอื่นแล้วมาขอให้กรมคุ้มครองแรงงานเนี่ยช่วยเหลือ คือให้ข้อมูลว่าทางกรมคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานได้มีการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง หรือว่ามีมาตรการทางกฎหมายใด ๆ ที่จะมาเยียวยาในกรณีเช่นนี้ ออกสู่สาธารณะ จึงเป็นผู้ที่มีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับการนำเสนอผลงานทางกฎหมาย”
สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับจากการเข้าอบรม
อ.ศุภวิช: “อย่างที่บอกว่า วิทยากรในหัวข้ออบรมมาจากกระทรวงแรงงาน มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน ที่เป็นหน่วยงานราชการ นักศึกษาก็จะได้รับวิธีคิดจากคนที่ทำงานราชการว่า การเรียบเรียง การอธิบายควรจะลำดับ ดำเนินการยังไง ผมคิดว่า มันจะแตกต่างกับ Session ครั้งก่อน ๆ ที่ศูนย์นิติศาสตร์เคยจัดในแง่ที่ว่า ก่อน ๆ เราจะเน้นไปในแง่เอกชนมากกว่า แต่เทอมนี้มันจะเปลี่ยนไปในทางราชการมากขึ้น ซึ่งผมว่าดีนะ เพราะว่าเอกชนเราเพิ่งจัดไปเมื่อปีที่แล้ว อันนี้เราก็เปลี่ยนบ้าง ความต่างหรือว่าประโยชน์ที่จะได้ก็คือ สมมุตินักศึกษาหลายท่านได้ไปทำงานราชการ อันนี้นักศึกษาได้ตรงแน่ ๆ จะได้รู้ลำดับความคิด วิธีการคิด กระบวนการคิดว่ามันคิดยังไง ก่อนที่จะกลั่นกรองแล้วก็นำเสนอ ตลอดจนรวมไปถึงกระบวนการในการนำเสนอด้วย หรือว่าวิธีการพูดกับผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลภายนอก ซึ่งอันนี้สำคัญมาก จริง ๆ จากสถิติ นักศึกษาเราก็สำเร็จการศึกษาไป ก็ทำงานในหน่วยงานราชการเยอะ และหลาย ๆ ท่านอาจจะอยากเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการซึ่งก็ตรงเลยเพราะว่าผู้พิพากษาต้องเขียนคำพิพากษาหรืออัยการต้องมีการทำสำนวนเป็นคำฟ้องหรือคำให้การ ก็มีหนังสือราชการที่ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างในหน่วยงานหรือนอกหน่วยงานด้วย หรืออาจจะต้องบรรยายให้หน่วยงานอื่นหรือเอกชนฟังด้วยในบางกรณี แต่ผู้พิพากษาจะน้อยหน่อย แต่ในหน่วยงานราชการอื่นก็มีศิษย์เก่าจบไปทำเยอะ อันนี้ก็ได้ตรง”
“ส่วนที่สอง ผมคิดว่า แม้ว่านักศึกษาจะยังไม่อยากทำงานในส่วนราชการหรือไม่อยากเป็นผู้พิพากษาอัยการ แต่ประโยชน์ที่นักสึกษาจะได้ก็คือ อย่างน้อยนักศึกษาจะได้รู้นะครับว่า หน่วยงานราชการเขามีวิธีการคิดแบบนี้ บางทีอาจจะเปลี่ยนใจอยากมาทำด้านนี้ หรือสองจะได้รู้เลยว่า โอเค ถ้ามันมีขั้นตอนการทำอย่างโน้นอย่างนี้ หรือวิธีการคิดที่มันดูไม่ใช่เรา อาจจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมา อันนี้อาจจะไม่ใช่อาชีพของเรานะครับ อย่างไรก็ดี ผมคิดว่านอกจากตัวช่วยสองตัวนี้แล้วนะที่นักศึกษาจะได้โดยอ้อม ตรง ๆ เลยก็คือ แม้ว่านักศึกษาอยากจะทำเอกชน แต่ว่านักศึกษามาฟังตรงนี้ วิทยากรท่านก็คงพูดถึงภาพรวมก่อนว่าเป็นยังไง ซึ่งจริง ๆ หลักการก็เหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่รายละเอียดที่ลงไปในรายละเอียดจากประสบการณ์ของวิทยากรอาจจะแตกต่างกันอย่างที่อธิบายไปแล้ว เพราะฉะนั้น นักศึกษาที่ไม่ได้เข้าปีที่แล้ว ปีนี้ปีแรก ก็แนะนำว่าอย่างน้อยมาดูก่อนว่า วิธีการ Presentation งานต่าง ๆ ทางกฎหมายควรจะเป็นยังไง ให้เห็นภาพรวมไปก่อน แล้วเราก็มีแนวโน้มที่อาจจะจัดทางเอกชนอีก เวียนไปเรื่อย ๆ นักศึกษาจะได้เก็บได้ครบนะครับ จะได้เห็นภาพรวมทั้งหมด อันนี้ผมก็คิดว่า น่าจะเป็นประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้ แล้วก็จริง ๆ ก็เป็นความคาดหวังของกิจกรรมที่เราจัดขึ้นว่านักศึกษาอยากได้ประโยชน์ตรงนี้ ถ้ามีปัญหาอะไร นักศึกษาก็อาจจะมีคำถามฝากไว้ก่อนหรือจะมาถามทีหลัง วิทยากรหรือว่าอาจารย์เองก็ยินดีที่จะให้คำตอบครับ”
เรียบเรียง KK