ในทุกวันนี้ปัญหาด้านมลพิษกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ และในประเทศไทยปัญหาหนึ่งที่เด่นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้น มลพิษทางด้านอากาศ ซึ่งสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของการเกิดมลพิษทางด้านอากาศก็คือ ยานพาหนะ นั่นเอง
แล้วปัญหามลพิษอากาศและการใช้รถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วัน กฎหมายจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง
วันนี้ #TULAW จึงพาทุกคนไปหาคำตอบเหล่านั้น ผ่านงานวิจัยเรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะทางบก” โดย ศ. ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต กัน
กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะทางบกของประเทศไทยนั้น ได้มีการนำมาตรฐานมาจากกฎหมายของสหภาพยุโรปในอดีตมาปรับใช้ ซึ่งหลังจากที่กฎหมายสหภาพยุโรปได้พัฒนาและประกาศใช้มาตรฐานใหม่ ทำให้มาตรฐานของประเทศไทยมีความเข้มงวดน้อยกว่ามาตรฐานของสหภาพยุโรปในปัจจุบัน โดยกฎหมายดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ด้านการผลิต ด้านเชื้อเพลิง และด้านการใช้งาน
ด้านการผลิต
กฎหมายด้านการผลิต เป็นกฎหมายที่ควบคุมการออกแบบเครื่องยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การปล่อยอากาศเสียเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยทำการกำหนดมวลอ้างอิงของรถต่าง ๆ ให้สัมพันธ์กับปริมาณการปล่อยอากาศเสีย เพื่อให้ผู้ผลิตต้องผลิตยานพาหนะที่ไม่ปล่อยอากาศเสียเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้
สำหรับกฎหมายไทยนั้นได้มีการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวไว้ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมหลากหลายฉบับด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ได้ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในการกำหนดมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใด ๆ ได้นั่นเอง
โดยได้มีการควบคุมและกำหนดปริมาณการปล่อยชนิดของมลสาร อย่างคาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน นอน-มีเทนไฮโดรคาร์บอน ออกไซด์ของไนโตรเจน และสารมลพิษอนุภาคหรือฝุ่นละออง ในมาตรฐานที่คล้ายคลึงกับของสหภาพยุโรป
เพียงแต่เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายสหภาพยุโรปแล้ว จะพบว่า ปริมาณของการปล่อยสารมลพิษต่าง ๆ จากเครื่องยนต์ของสหภาพยุโรปที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกันนั้นมีความเข้มงวดกว่าของมาตรฐานของประเทศไทย รวมทั้งในบางประเภทยังมีจำนวนมลสารที่ถูกควบคุมมากกว่าประเทศไทยอีกด้วย อย่างเช่น ในกรณีของรถยนต์ที่มีมวลเต็มอัตราบรรทุกเกิน 3,500 กิโลกรัม มีการควบคุมในสารมลพิษเพียงแค่ 4 ชนิดเท่านั้น คือ คาร์บอนมอนอกไซด์ นอน-มีเทนไฮโดรคาร์บอน มีเทน และออกไซด์ของไนโตรเจน แตกต่างจากของสหภาพยุโรปที่มีการควบคุมมากถึง 7 ชนิด
ด้านเชื้อเพลิง
ในส่วนนี้กฎหมายได้มุ่งควบคุมไปที่คุณภาพของเชื้อเพลิงที่ใช้กับยานพาหนะ เพราะไอเสียจากเครื่องยนต์นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของเชื้อเพลิงด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมการผลิตเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพดี ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปล่อยอากาศเสียได้ทั้งหมด
โดยในกฎหมายไทยได้มีการควบคุมเรื่องดังกล่าวไว้ใน พระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 โดยได้มีการกำหนดคุณภาพของน้ำมันต่าง ๆ เอาไว้ ทั้ง น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันไบโอดีเซล ฯลฯ
ซึ่งมาตรฐานของน้ำมันเบนซินและดีเซลที่ใช้กับยานพาหนะเป็นหลักนั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานจากกฎหมายสหภาพยุโรปแล้ว สามารถเห็นได้ว่า มาตรฐานต่าง ๆ นั้นเป็นมาตรฐานเดียวกัน เว้นแต่ในส่วนมาตรฐานของกำมะถัน โดยมาตรฐานน้ำมันเบนซินและดีเซลของสหภาพยุโรปนั้นมีการกำหนดปริมาณกำมะถันในปริมาณที่เข้มงวดกว่า โดยสหภาพยุโรปกำหนดให้ปริมาณกำมะถันอยู่ที่ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ในส่วนของไทยนั้นกำหนดอยู่ที่ร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก
ด้านการใช้งาน
กฎหมายในส่วนนี้นั้นมุ่งควบคุมไปที่การปล่อยอากาศเสียจากยานพาหนะเมื่อมีการนำไปใช้จริง โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ การควบคุมด้วยการจดทะเบียน การตรวจสอบยานพาหนะตามกำหนดเวลา และการสุ่มตรวจข้างถนน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งในประเทศไทยและสหภาพยุโรป เพียงแต่ของประเทศไทยนั้นจะแทรกอยู่ในกฎหมายหลากหลายฉบับมากกว่า โดยอาจแยกได้เป็นดังนี้
พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 โดยทั้งสองกฎหมายดังกล่าว มีวิธีในการควบคุมที่มีลักษณะคล้ายกันเพียงแต่พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 จะใช้บังคับกับรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ แต่ในส่วนของพระราชบัญญัติรถยนต์จะใช้บังคับ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ ฯลฯ นั่นเอง
โดยทั้งสองพระราชบัญญัตินั้นได้เข้ามาควบคุมในเรื่องการจดทะเบียนของรถยนต์ โดยกำหนดให้รถที่จะนำมาจดทะเบียนได้นั้นต้องผ่านการตรวจสภาพจากนายทะเบียนหรือสถานตรวจสภาพที่ได้รับอนุญาตก่อนว่าค่าการปล่อยสารพิษต่าง ๆ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการตรวจสภาพรถก่อนที่จะเสียภาษีประจำปี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการตรวจสอบยานพาหนะตามกำหนดเวลาที่ใช้ในสหภาพยุโรปอีกด้วย รวมทั้งยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการกับรถที่มีลักษณะดูอันตรายได้เมื่อพบเห็น ซึ่งเปรียบเสมือนการสุ่มตรวจข้างถนนนั่นเอง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อมาคือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยทั้งสองกฎหมายนั้นมีส่วนช่วยในการควบคุมการปล่อยอากาศเสียจากยานพาหนะทางบกได้ โดยเน้นไปที่การสุ่มตรวจข้างถนนเป็นหลัก
โดยในส่วนของพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 นั้นเป็นการกำหนดห้ามไม่ให้นำรถที่ก่อให้เกิดก๊าซ ฝุ่น ควัน ละอองเคมี หรือเสียงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดมาใช้ ซึ่งถ้าหากใครฝ่าฝืนก็จะมีการดำเนินคดีอาญาทันที และในส่วนของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 นั้น ได้มีการออกมาตรฐานในการควบคุมมลพิษออกมาเช่นกัน โดยเมื่อมีการตรวจพบว่ายานพาหนะคันใดปล่อยอากาศเสียไม่ตรงตามมาตรฐาน พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจในการสั่งห้ามใช้ยานพาหนะนั้นได้จนกว่าจะทำการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งถ้าหากฝ่าฝีนคำสั่งห้ามดังกล่าว ผู้ใช้จะได้รับโทษปรับทางอาญาอีกด้วย
แต่กฎหมายไทยนั้นได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบการปล่อยสารพิษแค่บางชนิดเท่านั้น คือ การตรวจก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดรคาร์บอน ไม่ได้มีการตรวจค่าออกไซด์ไนโตรเจนและสารมลพิษอนุภาคเหมือนเช่นในสหภาพยุโรป ซึ่งทั้งสองสารนี้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารมลพิษอนุภาค ขนาด PM10 และ PM 2.5
นอกจากนี้กฎหมายทั้งหมดยังเป็นการจัดทำกฎหมายคนละฉบับที่มีลักษณะเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน และในบางฉบับมีการซ้ำซ้อนกันของเนื้อหา รวมทั้งยังมีการบังคับใช้กฎหมายจากหลากหลายหน่วยงาน ทำให้การควบคุมการใช้ยานพาหนะทางบกในทางกฎหมายนั้นยังขาดความเป็นเอกภาพทั้งในด้านการตรวจสอบและการบังคับใช้ รวมทั้งยังอาจสร้างภาระที่มากเกินไปสำหรับเจ้าของยานพาหนะได้ ในกรณีที่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายหลายบทอีกด้วย
จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นมีกฎหมายหลายฉบับที่นำมาใช้ควบคุมการปล่อยอากาศเสียจากยานพาหนะทางบก เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตเครื่องยนต์ ไปจนถึงการนำยานพาหนะมาใช้จริงบนท้องถนน แต่ทั้งนี้กฎหมายไทยก็ยังคงไม่ครอบคลุมและไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับกฎหมายของสหภาพยุโรปที่มีการพัฒนาขึ้นแล้ว
โดยจากงานวิจัย ศ. ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต ได้สรุปปัญหาและให้ข้อเสนอแนะไว้ด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
- ควรออกกฎหมายลำดับรองภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดอัตราการปล่อยมลพิษแต่ละประเภทให้มีความเข้มงวดเช่นเดียวกับมาตรฐานของสหภาพยุโรป รวมถึงการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยให้เท่าเทียมกับมาตรฐานของสหภาพยุโรปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของปริมาณกำมะถันในเชื้อเพลิง
- ควรออกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลำดับรองภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อให้มีการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะให้เทียบเท่ากับประเภทที่อยู่ในมาตรฐานของกฎหมายสหภาพยุโรป เช่น การควบคุมการปล่อยสารมลพิษอนุภาค เป็นต้น
- ควรปรับปรุงมาตรฐานการควบคุมมลพิษจากยานพาหนะที่ออกมาโดยกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากสับสนแก่ผู้ผลิตและเจ้าของยานพาหนะ รวมถึงควรมีการทำข้อตกลงประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น
โดยมองว่าหากจัดการแก้ไขและปรับปรุงปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว กฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางอากาศจากยาพาหนะทางบกของประเทศไทยจะมีประสิทธิภาพและสามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา : มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะทางบก.; ศ. ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต.(2562)
อ่านงานวิจัยเต็มได้ที่ https://bit.ly/TuLawInfographic01