เมื่อเทคโนโลยี ‘รถยนต์แบบไร้คนขับ’ ที่พัฒนาเต็มรูปแบบ
ทำให้สถานะของ ‘ผู้ขับขี่’ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเพียง ‘ผู้โดยสาร’
เพราะรถยนต์ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดย ‘ผู้ขับขี่’ อย่างเดียวแต่มี AI หรือปัญญาประดิษฐ์และซอฟแวร์ต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นช่วยขับเคลื่อนรถยนต์ด้วย
หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะมีผลทางกฎหมายในการพิจารณาเกี่ยวกับ “ความรับผิด” และ “การพิสูจน์ถึงความประมาทเลินเล่อ” แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปหรือไม่?
? สมมติฐานอุบัติเหตุจากรถยนต์ไร้คนขับ
รายงาน A common EU approach to liability rules and insurance for connected and autonomous vehicles จัดทำโดย European Parliament ระบุสมมติฐานเบื้องต้นของอุบัติเหตุจากรถยนต์ไร้คนขับไว้ 6 ประเภท ดังนี้
- อุปกรณ์ไม่ทำงาน
- ซอฟต์แวร์ไม่ทำงาน
- ระบบสื่อสารไร้สายล่ม
- ความผิดโดยส่วนตัวของผู้ใช้งาน
- บุคคลภายนอกทำการจารกรรมโปรแกรม
- การตั้งโปรแกรมสำหรับการตัดสินใจล่วงหน้า “ตัวเลือกที่ถูกกำหนดไว้แล้ว”
ประเด็นท้าทายทางกฎหมาย
? ประเด็นที่ 1 : ความรับผิด
อุบัติเหตุของ ‘รถยนต์แบบไร้คนขับ’ อาจเกิดได้จากทั้งความบกพร่อง หรือผิดพลาดของระบบประมวลผลข้อมูลที่มาจากผู้ผลิต หรือมาจากผู้ขับขี่รถยนต์ที่ไม่ทำตามคู่มือการขับขี่ หรือมาจากตัวรถยนต์เองที่ประมวลผลสภาพของถนนผิดพลาด เป็นต้น
ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กล่าวคือ เจ้าของรถยนต์ ผู้ที่นั่งในรถยนต์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ (หากเกิดจากการทำซอฟต์แวร์ผิดพลาด) หรือโรงงานที่ผลิตรถยนต์ที่มีความบกพร่องในขั้นตอนการผลิต หรือแม้แต่การโดนแฮกโดยแฮกเกอร์
นอกจากนี้ ในการจะเลือกรูปแบบความรับผิด ที่จะนํามาปรับใช้กับรถยนต์ไร้คนขับนั้น เป็นเรื่องทางนโยบายที่ควรประเมินอย่างรอบด้าน ทั้งในมิติของการค้า การลงทุน การวิจัยและพัฒนา การคุ้มครองผู้เสียหายจากอุบัติเหตุ
ประกอบกับการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสําหรับความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไร้คนขับด้วย
? ประเด็นที่ 2 : การพิสูจน์ถึงความประมาทเลินเล่อ
จากประเด็นที่ 1 หาก ‘รถยนต์แบบไร้คนขับ’ เกิดอุบัติเหตุมีผู้เกี่ยวข้องที่อาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบมากมาย ตามแต่ว่าอุบัติเหตุเกิดจากอะไร การพิสูจน์ความผิดจึงเป็นสิ่งจำเป็น
โดยประเภทความผิดที่อาจเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ความประมาทเลินเล่อ การบกพร่องเนื่องจากการผลิต ความบกพร่องเนื่องจากการออกแบบ ความบกพร่องเนื่องจากไม่มีคำเตือนที่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม การพิสูจน์ความผิดเพื่อหาสาเหตุของอุบัติเหตุนั้น ต้องพิจารณาถึงด้านอื่น ๆ เช่น
– ต้นทุนในการพิสูจน์ความผิด ถ้าหากมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป บริษัทประกันภัยที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการพิสูจน์ความผิดอาจต้องแบกรับต้นทุนที่สูงเกินไป
– ไทยที่เป็นฐานผลิตรถยนต์คุณภาพหลายยี่ห้อ จึงควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำผู้ผลิตรถยนต์เข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิด (จากเดิมที่ผู้ผลิตรถยนต์ไม่ได้ต้องรับผิดในส่วนนี้) ทั้งยังมีผู้ผลิตซอฟแวร์ ที่เป็นผู้ออกแบบซอฟแวร์ในการใช้งานเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มเติม หากจะต้องมีการพิสูจน์ความผิดที่เกี่ยวกับโปรแกรมที่ขับเคลื่อนรถยนต์
✏️ ข้อเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมในการปรับแก้กฎหมายให้รองรับเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ
- ควรกำหนดให้ ‘รถยนต์ไร้คนขับ’ ต้องจัดทำประกันภัย ตาม ‘พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535’ ด้วย
ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 รถทุกคันในไทย ต้องจัดให้มีการประกันภัยอย่างน้อยที่สุด คือ การทำประกันภัย (สำหรับบุคคลที่สาม) เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพราะเหตุประสบภัยจากรถ ทั้งกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะได้รับเงินช่วยเหลือตามพ.ร.บ.ฉบับนี้
และนิยามคำว่า ‘รถ’ ในพ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็อาจตีความรวมถึง ‘รถยนต์ไร้คนขับ’ ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ระบุถึง ‘รถยนต์ไร้คนขับ’ ในพ.ร.บ.ดังกล่าวเลย ก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- ควรบัญญัติให้ชัดเจนว่ากรณีที่เกิดเหตุที่บริษัทประกันภัยต้องรับผิด ให้รวมถึงกรณีที่ซอฟต์แวร์มีความบกพร่อง หรือรวมถึงการแฮก (Hack) จากแฮกเกอร์ (Hacker) ด้วย
- ควรกำหนดให้ ‘บริษัทประกันภัย’ มีสิทธิไล่เบี้ยต่อ ‘ผู้ประกอบการรายอื่น’ อาทิ ผู้ผลิตตัวรถยนต์ไร้คนขับ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถยนต์ไร้คนขับ หรือแม้แต่ผู้โดยสาร (ตามแต่กรณี) เพื่อป้องกันปัญหาการปฏิเสธความรับผิด
- การกำหนดสิทธิไล่เบี้ยในข้อ 3. ควรคำนึงถึง ‘ภาระการพิสูจน์’ ที่อาจเป็นภาระแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกินสมควร อาทิ ความซับซ้อนทางเทคนิค หรือต้นทุนที่สูงในการพิสูจน์ความผิด เป็นต้น
ดังนั้น บางกรณีควรกำหนดให้การพิสูจน์ความผิดเป็นหน้าที่ของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งที่ถูกไล่เบี้ยจากบริษัทประกันภัย มิเช่นนั้นแล้วเมื่อบริษัทประกันภัยมีภาระหน้าที่ต้องรับภาระเพิ่มมากขึ้นในการพิสูจน์ความรับผิด
ผู้บริโภคอาจจะต้องรับภาระจากค่าเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ที่มา : ประเด็นท้าทายทางด้านกฎหมายในยุค IOTS : ศึกษากรณีความรับผิดจากการใช้งาน Smart Car.; รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์.
อ่านงานวิจัยเต็มได้ที่ https://bit.ly/TuLawInfographic02