การตั้งครรภ์แทนหรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘อุ้มบุญ’ นั้น
เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่?
มีเงื่อนไขในการพิจารณาและข้อจำกัดเช่นไร?
แล้วเด็กที่เกิดมานั้นจะถือว่าเป็นบุตรของใคร และถือสัญชาติอย่างไร?
วันนี้ #TULAW พาทุกคนไปหาคำตอบเหล่านั้นผ่านงานวิจัยเรื่อง “ปัญหาการกำหนดสัญชาติของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนในประเทศไทย” โดย อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์
การตั้งครรภ์แทน คือ การที่หญิงคนหนี่งตั้งครรภ์และให้กำเนิดทารกเพื่อบุคคลอื่น หรือ
คู่สามีภริยาอื่น ซึ่งประสงค์จะรับทารกนั้นไว้ ถึงแม้จะไม่ได้มีการตีความความหมายเอาไว้อย่างชัดเจน
แต่ความหมายนี้ก็ได้รับความยอมรับจากหลากหลายประเทศให้เป็นมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นการอธิบายตามการคิดค้นของกลุ่มวิชาการทางการแพทย์
สำหรับประเทศไทยได้มีการรองรับเรื่องดังกล่าวไว้ใน พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน และกำหนดมาตรฐานกระบวนการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่ตอบสนองต่อการคุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้อง
โดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการให้ความหมายของการตั้งครรภ์แทนเอาไว้ว่าเป็น
การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้กับสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนตั้งครรภ์ว่า จะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์นั้น ครอบคลุมถึงวิธีการใด ๆ ก็ตามทางวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่นำอสุจิและไข่ออกจากร่างกายมนุษย์เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้งการผสมเทียมด้วย
สำหรับคุณสมบัติและเงื่อนไขการตั้งครรภ์แทนเพื่อให้การตั้งครรภ์แทนนั้นถูกรับรองตามกฎหมาย และเพื่อให้เด็กที่เกิดมามีสถานะเป็นบุตรของผู้ประสงค์จะมีบุตร สามารถสรุปสาระสำคัญตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เป็น 4 ส่วนด้วยกัน
1. คุณสมบัติของสามีภริยาผู้ประสงค์จะมีบุตรจากการตั้งครรภ์แทน มีได้ 2 กรณีด้วยกันคือ
– กรณีที่ 1 สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ โดยทั้งสองมีสัญชาติไทย หรือ
– กรณีที่ 2 สามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทยโดยต้องเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายและจดทะเบียนมาไม่น้อยกว่าสามปี
แต่ทั้งนี้คำว่าสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ถูกให้นิยามในรายละเอียด จึงต้องพิจารณาตามความหมายทั่วไป คือ ชายและหญิงที่เป็นคู่สมรสตามกฎหมาย ไม่ว่าจะทำการสมรสในไทยหรือต่างประเทศที่ประเทศไทยให้การรับรอง
ทำให้คู่สามีภริยาโดยข้อเท็จจริง คู่รัก คู่สมรสเพศเดียวกัน รวมถึงชายโสดหรือหญิงโสดที่ประสงค์จะมีบุตร ไม่มีคุณสมบัติที่จะจัดเตรียมการตั้งครรภ์แทนได้ตามกฎหมายดังกล่าว
2. คุณสมบัติของหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทน กำหนดให้ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
– เคยมีบุตรมาก่อน
– ถ้ามีสามีหรือชายที่อยู่กินฉันสามีภริยาจะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวก่อนด้วย
– ต้องไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีภริยาที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน
– ต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีการตั้งครรภ์แทน
แต่ถ้าไม่มีญาติสืบสายโลหิตที่จะมาช่วยการตั้งครรภ์แทนได้ หญิงอื่นก็สามารถรับตั้งครรภ์แทนได้ ถ้าหากมีสัญชาติเดียวกันกับสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะมีบุตร และต้องระบุความสัมพันธ์ในทางสังคมกับสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายเอาไว้
3. การได้มาของตัวอ่อนที่จะใช้สำหรับการตั้งครรภ์ มีที่มาได้ 3 รูปแบบ
– ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภริยาที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน
– ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนและใช้ไข่ของหญิงผู้บริจาค โดยต้องไม่ใช่ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน
– ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากไข่ของภริยาที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน และใช้อสุจิของชายผู้บริจาค
4. คุณสมบัติของผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยจะต้องเป็นไปตามที่แพทยสภาพประกาศกำหนด รวมทั้งเมื่อครบคุณสมบัติสามข้อที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วนั้น ยังต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพท.) อีกด้วย ผู้ให้บริการจึงจะสามารถลงมือได้
เมื่อครบเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว การตั้งครรภ์แทนจึงจะถูกรับรองตามกฎหมายไทย และส่งผลให้เด็กที่เกิดมาย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาหรือสามีภริยาซึ่งมีสถานะเป็น “ผู้ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน”
ปัญหาต่อมาคือ “ปัญหาการกำหนดสัญชาติของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน” เพราะการเกิดจากการตั้งครรภ์แทนย่อมมีบุคคลเกี่ยวข้องหลายฝ่ายมากกว่าการเกิดตามรูปแบบธรรมชาติ โดยมีทั้งหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทน บุคคลที่เป็นเจ้าของไข่และอสุจิ (เจ้าของพันธุกรรม) และผู้ประสงค์จะมีบุตร โดยทั้งหมดอาจเป็นคนละคนกัน จนกลายเป็นความสัมพันธ์สามฝ่ายที่ก่อให้เกิดเด็ก
ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประสงค์จะมีบุตรและทำหน้าที่บิดามารดาอาจไม่มีพันธุกรรมเดียวกับเด็กที่เกิดมา จึงเป็นประเด็นว่า การกำหนดสัญชาติโดยหลักบุคคลหรือหลักสืบสายโลหิตจากบิดามารดาของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน ควรถือเอาสภาพข้อเท็จจริงอย่างไร ระหว่างการคลอดจากครรภ์ (Gestarion) ความประสงค์จะมีบุตร (Intention) หรือความเชื่อมโยงทางพันธุกรรม (Genetic link)
ปัญหาทางกฎหมายสัญชาติดังกล่าวเกิดกับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนในประเทศไทยได้ 3 ลักษณะ คือ
1. เด็กที่เกิดและมีสถานะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ
2. เด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
3. เด็กที่เกิดจากกรณีผู้ประสงค์จะมีบุตรเป็นคู่สามีภริยาที่ประสงค์จะมีบุตรเป็นคู่สามีภริยาโดยข้อเท็จจริง คู่รัก คู่สมรสเพศเดียวกัน รวมถึงชายโสดหรือหญิงโสดที่ประสงค์จะมีบุตร ซึ่งไม่มีคุณสมบัติที่จะจัดเตรียมการตั้งครรภ์แทนได้ตามกฎหมายดังกล่าว
นอกจากนั้นถ้าการตั้งครรภ์แทนทำโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ถือสัญชาติเดียวกันย่อมไม่เกิดปัญหามากนัก เพียงแต่ในความเป็นจริงการตั้งครรภ์แทนมีลักษณะระหว่างประเทศและต่างสัญชาติเสียมากกว่า จึงทำให้เกิดปัญหาในหลักดังกล่าวขึ้นทันที
ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดสัญชาติของเด็กจะมีความซับซ้อนขึ้นในกรณี “การตั้งครรภ์แทนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ” เพราะมิใช่ทุกประเทศจะยอมรับการตั้งครรภ์แทน ทำให้สถานะบุตรของบิดามารดาที่เด็กได้รับในประเทศเกิด อาจไม่ถูกยอมรับในประเทศต้นทางของบิดามารดาหรือประเทศอื่นที่เด็กเดินทางไป เมื่อสถานะความเป็นบิดามารดาบุตรไม่แน่นอน ย่อมส่งผลต่อปัญหาสถานะสัญชาติของเด็ก จนบางกรณีเด็กเสี่ยงที่จะตกเป็นคนไร้สัญชาติได้
สำหรับหลักกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของรัฐต่าง ๆ รวมถึงรัฐไทยมีพื้นฐานตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศในการใช้จุดเกาะเกี่ยวแท้จริงเกี่ยวกับการเกิด (Genuine link by birth) ระหว่างบุคคลกับรัฐ เป็นเงื่อนไขกำหนดสัญชาติจาก 2 หลัก คือ
– ใช้ข้อเท็จจริง เกิดในดินแดนของรัฐ เพื่อได้มาซึ่งสัญชาติโดยหลักดินแดน
– ใช้ข้อเท็จจริง เกิดจากบิดาหรือมารดาที่เป็นคนสัญชาติของรัฐ เพื่อได้มาซึ่งสัญชาติโดยหลักบุคคลหรือหลักสืบสายโลหิต
ทั้งนี้ ปัญหาการได้รับสัญชาติของแต่ละรัฐ ย่อมต้องพิจารณาตามกฎหมายภายในของรัฐนั้น ๆ ประกอบด้วย เพราะอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แต่จะมีองค์ประกอบร่วมกันภายใต้แนวคิด คือ
1. ความเป็นเอกภาพของสมาชิกครอบครัวเดียวกันให้ถือสัญชาติเดียวกัน
2. บุคคลไม่ควรไร้สัญชาติ
3. สัญชาติต้องกำหนดจากจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับรัฐ
สำหรับการพิจารณาว่าเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนจะได้สัญชาติโดยหลักดินแดนหรือไม่ มักไม่ใช่ปัญหาซับซ้อนเนื่องจากเงื่อนไขทางข้อเท็จจริงของการเกิดภายในดินแดนของรัฐ อาศัยสถานที่เกิด เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่และพิสูจน์ได้ด้วยเกณฑ์เดียวกับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนธรรมชาติ ทำให้เด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนนั้นอาจได้สัญชาติโดยหลักดินแดนจากรัฐเจ้าของถิ่นที่เกิดได้เช่นกัน
แต่การได้สัญชาติโดยการเกิดตามหลักบุคคลหรือหลักสืบสายโลหิตของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนยังมีปัญหาในแง่ว่า กฎหมายภายในถือเอาบิดาของเด็กหรือมารดาของเด็ก ผู้เป็นคนสัญชาติของรัฐ เป็นหลักในการที่เด็กจะได้รับสัญชาติตามบิดามารดา ดังนั้นจึงต้องพิจารณาก่อนว่า บิดามารดาของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนคือใคร
ในกรณีเด็กเกิดตามธรรมชาติแนวคิดพื้นฐานในกฎหมายสัญชาติไทย คือ การยอมรับความสัมพันธ์ทางชีววิทยา เด็กผู้ที่เกิดจากหญิงใดย่อมมีหญิงนั้นเป็นมารดา และสันนิษฐานว่าเป็นบุตรของชายผู้เป็นสามีของมารดา เพราะเด็กย่อมจะมีพันธุกรรมตามชายหญิงดังกล่าว
โดยกฎหมายสัญชาติก็จะรับข้อสรุปสถานะบิดามารดาตามกฎหมายครอบครัวมาปรับใช้ควบคู่ไปกับการพิสูจน์บิดามารดาโดยข้อเท็จจริงด้วยความเหมือนกันทางพันธุกรรมที่ตกทอดสู่เด็ก เพื่อกำหนดสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตนั่นเอง
แต่ในกรณีเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนจะมีปัญหาในการได้สัญชาติโดยหลักบุคคลเป็นอย่างมาก เพราะหากยึดถึงตามหลักพันธุกรรม ก็อาจขัดต่อสภาพข้อเท็จจริงของสถานะความเป็นบิดามารดาที่อาจมิได้มีพันธุกรรมเดียวกับเด็กที่เกิดมาเพราะเป็นกรณีการใช้ไข่หรืออสุจิบริจาค
สำหรับประเทศไทยในประเด็นดังกล่าว จึงมีปัญหาสำคัญ 2 ประการด้วยกัน ได้แก่
– ปัญหาการตีความบิดาและมารดาสัญชาติไทยตามหลักกฎหมายสัญชาติโดยสืบสายโลหิตในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ในกรณีทั่วไปเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์ธรรมชาติ การพิจารณามารดาสัญชาติไทยขณะเด็กเกิด จะหมายถึง หญิงผู้มีสถานะเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. เท่านั้น กล่าวคือ หญิงผู้ให้กำเนิดและมีพันธุกรรมเดียวกับเด็ก
ในขณะที่บิดาสัญชาติไทยขณะเด็กเกิดนั้นหมายถึง บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. อันได้แก่ ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีของมารดา บิดาผู้จดทะเบียนรับรองบุตร บิดาโดยคำสั่งศาล หรือบิดาโดยข้อเท็จจริง ซึ่งหมายถึง ชายผู้มีความเหมือนทางพันธุกรรมกับเด็ก
ซึ่งถ้าหากนำหลักเหล่านี้มาปรับใช้กับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนแล้วย่อมทำให้เกิดผลที่หลากหลายและเกิดความสับสน เพราะสถานะบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายกับความเหมือนกันทางพันธุกรรม อาจปรากฏในตัวชายสองคนและหญิงสองคนได้ อันทำให้เกิดปัญหาตามมาว่าสัญชาติไทยโดยสืบสายโลหิตจากบิดาหรือมารดาจะถือเอาฐานทางข้อเท็จจริงใดเป็นหลัก
– ปัญหาการกำหนดสถานะบุตรของบิดามารดาในกรณีที่เด็กเกิดจากการตั้งครรภ์แทนซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ฯ
เพราะนิยามในกฎหมายไม่ครอบคลุมถึง การยอมให้คู่รักร่วมเพศ คนโสด สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามีภริยาชาวต่างชาติ ตัดสินใจทำการตั้งครรภ์แทน และห้ามการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ ดังนั้น เมื่อผู้ที่มีข้อเท็จจริงดังกล่าวจัดเตรียมให้มีการตั้งครรภ์แทนจนเด็กคลอดออกมา บุคคลดังกล่าวก็จะไม่ได้รับสถานะบิดามารดาตามกฎหมาย
รวมทั้งกฎหมายก็ไม่ได้วางหลักเกณฑ์การพิจารณาสถานะของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนที่ไม่ครบเงื่อนไขเอาไว้ด้วยว่า ต้องทำอย่างไรกับเหตุการณ์เช่นนั้น จึงนำไปซึ่งปัญหาการกำหนดสัญชาติของเด็กที่เกิดมาต่อไป
จากปัญหาดังกล่าว อาจารย์ พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ จึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
1. การตีความคำว่า บิดามารดา ในหลักสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต มาตรา 7 พ.ร.บ.สัญชาติ ในกรณีเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนที่กฎหมายยอมรับ ต้องพิจารณาตาม “ความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย” เป็นสำคัญ มิใช่ยึดตามความเหมือนกันทางพันธุกรรม เพราะเจ้าของไข่หรืออสุจิที่ก่อตั้งพันธุกรรมนั้นอาจเป็นผู้บริจาค มิใช่คู่สามีภริยาชอบด้วยกฎหมายที่มีสถานะ จึงขัดต่อความเป็นเอกภาพที่สมาชิกในครอบครัวจะถือสัญชาติเดียวกัน
ในทางปฏิบัติการรับรองสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน เจ้าหน้าที่ควรเรียกเพียงแค่เอกสารรับรองการเกิด พยานหลักฐานการอนุมัติการตั้งครรภ์แทน หรือคำสั่งศาลตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยฯ เท่านั้น ไม่ควรเรียกพยานหลักฐานทางพันธุกรรม เพราะสัญชาติไทยดังกล่าวจะต้องพิจารณาผ่านบิดาและมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กเท่านั้น
2. เนื่องจากคู่สามีภริยาโดยข้อเท็จจริง สามีภริยาชาวต่างชาติทั้งคู่ คู่รักหรือคู่สมรสเพศเดียวกัน ชายโสดหรือหญิงโสดที่ประสงค์จะมีบุตร ย่อมไม่มีคุณสมบัติที่กฎหมายรับรองให้เตรียมการตั้งครรภ์แทนในประเทศไทย โดยหลักจึงมิใช่บิดามารดาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ ที่จะเป็นฐานที่เด็กสืบสิทธิในสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิต
กรณีนี้จึงเป็นช่องว่างที่เกิดกรณีการเลี่ยงกฎหมายไปใช้การตรวจหาความเหมือนทางพันธุกรรมเพื่อรับรองสัญชาติ หากในกรณีที่เลี่ยงใช้วิธีดังกล่าวไม่ได้ เด็กก็จะเสี่ยงไร้สัญชาติเพราะอยู่ในช่องว่างการกำหนดว่าใครเป็นบิดามารดา จึงเสนอให้นำมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติฯ มาปรับใช้เพื่อป้องกันมิให้เด็กตกอยู่ในความไร้สัญชาติ
โดยบทบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้การรับรองสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนต้องทำตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเป็นนโยบายโดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรี และนำมาให้กระทรวงมหาดไทยนำมาสร้างเกณฑ์ในรายละเอียดก่อนเท่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงจะพิจารณาอนุมัติสิทธิในสัญชาติไทยให้
อาจารย์ผู้วิจัยจึงเสนอให้ประเทศไทยจัดทำกฎเกณฑ์ว่าด้วยการใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนแบบมีเงื่อนไขในมาตราดังกล่าว เพื่อรับรองสถานการณ์เด็กซึ่งเกิดจากการตั้งครรภ์แทนในประเทศไทยที่ไม่ได้รับรองตามกฎหมาย เพื่อป้องกันสภาวะไร้สัญชาติของเด็ก
รวมถึงกรณีเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนที่มีลักษณะระหว่างประเทศซึ่งไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดามารดาต่างด้าวได้ด้วย ในกรณีที่สถานะบุตรของบิดามารดาถูกรับรองภายในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองในประเทศต้นทาง
3. อาจารย์เห็นว่าไม่ควรปล่อยให้เด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนที่ไม่ครบเงื่อนไขตามกฎหมาย อยู่ในช่องว่างการกำหนดสถานะของบุตรโดยเด็ดขาด ประเทศไทยไม่ควรหลีกเลี่ยงการกำหนดสถานะของเด็ก และควรกำหนดสถานะโดยพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กประกอบไปด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงเสนอให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยฯ ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาการไร้สัญชาติของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน เพราะการตั้งครรภ์แทนที่จะทำขึ้นในประเทศไทยนั้นต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการดังกล่าว
คณะกรรมการจึงอาจใช้กลไกตรวจสอบล่วงหน้าถึงสถานะครอบครัวและสัญชาติของเด็กได้ รวมทั้งในกรณีที่เด็กต้องไปอาศัยในประเทศต้นทาง คณะกรรมการอาจทำการศึกษากฎหมายของประเทศนั้น ๆ หรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ได้
4. นอกจากนั้นในประชาคมระหว่างประเทศได้มีแนวทางสนับสนุนให้เกิดการรับรองคำสั่งศาลเรื่องความเป็นบิดามารดาของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนโดยรัฐหนึ่งให้มีผลในอีกรัฐที่เด็กเข้าไปอาศัยอยู่ ซึ่งจะทำให้สถานะของเด็กมีความแน่นอนและการกำหนดสัญชาติโดยหลักสืบสายโลหิตจากข้อเท็จจริงดังกล่าวก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจึงควรยึดหลักการดังกล่าวและควรมีท่าทีในการสนับสนุนการทำความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน
ที่มา : ปัญหาการกำหนดสัญชาติของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนในประเทศไทย.; อ.พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์
อ่านงานวิจัยเต็มได้ที่ https://bit.ly/TuLawInfographic03