เมื่อจ่ายเงินค่า Netflix รายเดือน, บูสโฆษณา Facebook หรือซื้อบริการออนไลน์ต่าง ๆ จากต่างประเทศ จะต้องมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่? ใครเป็นผู้เสียภาษี ผู้ซื้อหรือผู้ให้บริการ? มาหาคำตอบกันกับ #TULawinfographic ความรู้กฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย โดย #TULAW
ตามปกติแล้ว การนำเข้าบริการมาให้บริการในราชอาณาจักรไทยจะต้องมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และเดิมทีผู้ซื้อ/ผู้รับบริการในสหราชอาณาจักร จึงต้องเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทน ตามมาตรา 83/6
เพื่อให้การบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จากต่างประเทศ มีการเสียภาษีเช่นเดียวกับผู้ให้บริการในประเทศไทย จึงได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564
E-Service คืออะไร?
นิยามของบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Service) (1) ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 คือ บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ
ซึ่งแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เรารู้จักกันดี เช่น Netflix, Youtube, Microsoft, Spotify, Facebook, Shutterstock, Zoom เป็นต้น ก็เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบการ E-Service เช่นกัน
ใช้ E-Service จากต่างประเทศ มีภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วใครต้องจ่าย?
ภาระการเสีย VAT เหล่านี้จะตกอยู่ที่ใคร สามารถอธิบายได้ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564
กรณีที่ 1 ผู้รับบริการไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย
ภาระ VAT อยู่ที่ใคร? :
- ผู้ให้บริการต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชี (กรณีนิติบุคคล) หรือ 1 ปีปฏิทิน (กรณีบุคคลธรรมดา)
- ผู้ให้บริการต้องคำนวณภาษีขายตามกฎหมายของประเทศไทยและไม่ให้หักภาษีซื้อ แต่ไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี
- ผู้ให้บริการต้องจัดทำรายงานภาษีขายตามแบบที่กรมสรรพากรกำหนด การลงรายงานในรายงานภาษีขายให้ลงภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ได้ให้บริการ และเก็บรักษารายงานภาษีขายพร้อมทั้งเอกสารประกอบไม่น้อยกว่า 5 ปี
- ผู้ให้บริการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภพ.30.9) พร้อมกับเสียภาษีเป็นรายเดือน บนระบบ SVE บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ในวันที่ 1-23 ของเดือนภาษีถัดไป
————————————————————-
กรณีที่ 2 ผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย
ภาระ VAT อยู่ที่ใคร?: ผู้รับบริการเป็นคนนำส่ง VAT แต่สามารถนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีซื้อได้
- ผู้รับบริการมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าวตามแบบ ภ.พ.36 ให้แก่กรมสรรพากร
- ผู้รับบริการสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
—————————————————
ที่มา : สัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (VAT on E-Service)” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร
- ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ ศิริคุณโชติ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายภาษี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อาจารย์กำธร สิริชูติวงศ์ อดีตนิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร
- คุณจิตรา ณีศะนันท์ ผู้อำนวยการกองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ กรมสรรพากร
เอกสารอ้างอิง :
(1) พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564
(2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239 และ 240)