Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อีกหนึ่งปัญหาที่พบเจอมาเป็นระยะเวลานาน
ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญปัญหาดังกล่าว แต่ทุกประเทศทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน และ Climate Change นั้นเป็นปัญหาที่กระทบถึงสิทธิมนุษยชนของพวกเราทุกคน
“การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ” และ “สิทธิมนุษยชน” เกี่ยวข้องกันอย่างไร วันนี้ #TULAW จะพาทุกคนไปดูคำตอบเหล่านั้นผ่านเสวนาเรื่อง “Climate Change ภาวะโลกรวน ปัญหาที่ถูกลืม..?”
จุดเริ่มต้นของการให้ความสนใจในความสัมพันธ์ของสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้น เริ่มต้นเมื่อประมาณ ค.ศ. 2005 เนื่องจากในปีนั้นชนเผ่าอินูอิตได้ยื่นคำร้องต่อ Inter-American Commission on Human Rights เพื่อฟ้องประเทศสหรัฐอเมริกาให้รับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้เป็นเพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นภาวะโลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งละลายและทำให้ที่อยู่ของชนเผ่าได้รับผลกระทบ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าอินูอิตเป็นอย่างมาก
แต่เนื่องจากในขณะนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของพันธกรณีระหว่างประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้ Inter-American Commission on Human Rights ไม่รับคำร้องดังกล่าว แต่ก็ได้มีการเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ มาให้ข้อมูล เหตุการณ์ครั้งนี้จึงถือเป็นกรณีแรกที่ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและถูกพูดถึงในระดับระหว่างประเทศ
ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 ในระดับประเทศได้มีการพูดถึง The Male’ Declaration ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับเรื่อง Climate Change เป็นครั้งแรก โดยส่วนใหญ่ประเทศที่รับรู้ถึงผลกระทบดังกล่าวนั้นคือประเทศหมู่เกาะต่าง ๆ เนื่องจากโลกร้อนทำให้น้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนอาจทำให้ประเทศดังกล่าวได้รับความเสียหายจนถึงขั้นกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาติ
ประเทศหมู่เกาะ อย่างเช่น ตูวาลู มัลดีฟส์ จึงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเข้ามาจัดการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในฐานะที่เป็นเรื่องเร่งด่วนโดยทันที
ในปี ค.ศ.2008 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจึงได้มีการรับรองข้อมติ ซึ่งเป็นการรับรองครั้งแรกว่า Climate Change นั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของบุคคลทั่วโลก และให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทำรายงานฉบับสมบูรณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้นส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในมิติใดบ้าง
รายงานฉบับดังกล่าวได้จัดทำเสร็จสมบูรณ์ในปีต่อมา โดยได้ทำการรับรองว่า Climate Change นั้นกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ ต่อไปนี้
– สิทธิในชีวิตร่างกาย (right to life) เนื่องจากการเกิดขึ้นของมหันตภัยธรรมชาติ ซึ่งถ้าเป็นกรณีร้ายแรงย่อมก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรือถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทบต่อสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์
– สิทธิในการที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (right to a healthy environment) หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือถึงขนาด 2 องศาเซลเซียส ย่อมส่งผลให้ระบบนิเวศของโลก ณ ปัจจุบันล่มสลาย และไม่สามารถกลับคืนสู่สถานะเดิมได้อีก
– สิทธิในสุขภาพ (right to health) เช่นเดียวกันกับสิทธิในชีวิตและร่างกาย การเกิดภัยธรรมชาติต่าง ๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นกัน อย่างเช่น มลภาวะต่าง ๆ และโรคที่มีสัตว์เป็นพาหะ อย่างกรณีของโรคระบาด Covid-19 เป็นต้น
สำหรับในเรื่องของโรคที่มีสัตว์เป็นพาหะนั้น โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้มีการออกรายงานเตือนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ว่า Climate Change เป็นตัวการสำคัญในการก่อให้เกิดสภาวะที่ไวรัสจากสัตว์ป่าสามารถเข้ามาสู่มนุษย์ได้ทันที เนื่องจากเกิดการสูญเสียเกราะป้องกันของธรรมชาติที่กั้นระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า
– สิทธิในน้ำและสุขาภิบาล (right to water and sanitation) Climate Change ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่งผลให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติและแหล่งน้ำบริสุทธิ์เกิดความขาดแคลน ซึ่งในหลาย ๆ พื้นที่การขาดแคลนน้ำได้นำไปสู่การแย่งชิงทรัพยากร จนท้ายที่สุดเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้น อย่างเช่น ประเทศแอฟริกา เป็นต้น
– สิทธิในอาหาร (right to food) เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและการเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
– กลุ่มคนที่อยู่ในภาวะเปราะบางต่าง ๆ (vulnerable populations) ซึ่งในปี ค.ศ. 2019 ผู้รายงานพิเศษด้านความยากจนและสิทธิมนุษยชนได้ออกรายงานว่าด้วยเรื่อง Climate Change กับความยากจน โดยระบุว่า มีเฉพาะคนรวยเท่านั้นที่สามารถรอดพ้นจาก Climate Change ได้ ส่วนคนที่อยู่ในภาวะยากจนนั้นจะยิ่งจนขึ้นไปอีก ทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสเสียชีวิตก่อนอีกด้วย
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐมีหน้าที่หลายประการตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนที่ได้ลงนามหรือให้สัตยาบันไว้ โดยสามารถแบ่งได้เป็นในเชิงกระบวนการ เชิงเนื้อหา และพันธกรณีที่มีต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง
ในเชิงกระบวนการ รัฐมีหน้าที่หรือพันธกรณี 3 ประการด้วยกัน
1. รัฐควรทำการประเมิน วิเคราะห์ และให้ข้อมูลกับประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น 3 กรณี ดังนี้
– รัฐต้องจัดให้มีการศึกษา หรือจัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน
– รัฐต้องวิเคราะห์ผลกระทบของ Climate Change โดยต้องลงลึกไปถึงระดับที่สามารถรู้ได้ว่า คนกลุ่มใดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หรือคนกลุ่มใดที่ถูกละเลย และเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวสู่สาธารณะ
– รัฐจะต้องวิเคราะห์และประเมินว่า Climate Change เกิดมาจากกิจกรรมใดเป็นหลัก
2. รัฐต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change โดยเน้นให้ภาคประชาชนหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด โดยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมตัวจะต้องได้รับการประกันด้วย
3. รัฐต้องจัดให้มีการเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ โดยรัฐต้องให้การรับรองว่าระบบกฎหมายภายในมีช่องทางรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change
สำหรับในเชิงเนื้อหานั้น รัฐสมาชิกต่าง ๆ ควรทำการตรากฎหมายภายใน หรือสร้างข้อตกลงร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการของ The Paris Agreement ยกตัวอย่างเช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลง, การเตรียมแผนรองรับสำหรับภัยพิบัติ หรือการจัดตั้งหน่วยงานหรือโครงการที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติโดยเฉพาะ เป็นต้น
ในส่วนสุดท้ายคือ พันธกรณีที่มีต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง รัฐจะต้องมองให้เห็นว่า กลุ่มบุคคลใดที่ถูกละเลยหรือกลุ่มใดที่เปราะบางต่อเรื่อง Climate Change มากที่สุด เช่น คนชรา เด็ก คนพิการ รัฐต้องดูว่ากลุ่มคนเหล่านั้นจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้างในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ หรือดูว่าสามารถเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงการออกแบบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตนเองได้อย่างไรบ้าง
การนำเอาพันธกรณีหรือกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับ Climate Change นั้นทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นมาด้วยกัน 3 ประการ ประการแรกคือ การนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในมิติของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว
ประการต่อมาคือ พันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนนั้นจะกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่ารัฐจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างไร และประการสุดท้ายคือ กลไกทางด้านสิทธิมนุษยชน สามารถสนับสนุนรัฐสมาชิกเกี่ยวกับนโยบายทางด้าน Climate Change ได้ รวมทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่เป็นเรื่องเร่งด่วนกันได้อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อสรุปว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของพวกเราทุกคนโดยตรง ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องหันมาร่วมกันใส่ใจและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้สิทธิของพวกเราไม่ถูกกระทบอีกต่อไปนั่นเอง
ที่มา: สัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “Climate Change ภาวะโลกรวน ปัญหาที่ถูกลืม” คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ่านสรุปสาระสำคัญจากสัมมนาทางวิชาการเต็มได้ที่ : https://www.law.tu.ac.th/seminar-summary-climate-change-forgotten-crisis/