เคยรู้สึกกันไหมว่าระบบกฎหมายอาญาของไทย ทำไมถึงมีความผิดมากมายเหลือเกิน
ทั้งที่อยู่ภายในประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติอื่น ๆ อีกไม่รู้กี่ฉบับ
ในปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติที่มีการกำหนดความผิดอาญากว่า 500 ฉบับ และในบางฉบับยังมีความทับซ้อนกันในเรื่องของเนื้อหากฎหมายในประมวลอาญาและพระราชบัญญัติด้วยกันเองอีกด้วย
กฎหมายที่มีจำนวนมากเกินไปแสดงให้เห็นถึงปัญหาในระบบกฎหมายอาญาของไทยหรือไม่? แล้วควรจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร?
วันนี้ #TULAW พาทุกคนไปดูปัญหารูปแบบการกำหนดความผิดอาญาของไทยผ่านงานวิจัย “รูปแบบการกำหนดความผิดอาญา : ศึกษากรณีของประเทศไทย” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล
ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบกฎหมายอาญาของประเทศไทยในขณะนี้ ได้แก่
– ปัญหาการกำหนดให้การกระทำเป็นความผิดอาญา
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 77 วรรคท้าย บัญญัติเอาไว้ว่า “รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง”
แต่เมื่อดูพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาต่าง ๆ จะพบว่ามีกฎหมายที่กำหนดโทษทางอาญาเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ใช่ในเรื่องความผิดร้ายแรงก็ตาม อย่างเช่น มาตรา 39/2 แห่ง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ที่กำหนดให้การขายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เป็นความผิดอาญา เป็นต้น
โดยได้มีการออกกฎหมายหลายฉบับภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 77 แล้วด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมากเท่าที่ควรอีกด้วย
– ปัญหากฎหมายอาญาเฟ้อ
ปัญหาในข้อนี้เกิดจากปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาแรก ทำให้มีบทบัญญัติความผิดต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยในกฎหมายไทยได้มีการกำหนดความผิดอาญาจำนวนมากที่ไม่ค่อยมีการบังคับใช้ เช่น พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493, พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
ซึ่งหากรัฐมุ่งแต่จะควบคุมประชาชนโดยใช้กฎหมายอาญามากจนเกินไป โดยไม่พิจารณาถึงประสิทธิภาพและความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย จะส่งผลให้กฎหมายที่ออกมานั้นไร้ความหมายและขาดความศักด์สิทธิ์ รวมทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบจากกฎหมายเหล่านั้นได้อีกด้วย
นอกจากนี้การที่มีกฎหมายอาญาเฟ้อยังทำให้เกิดกรณีที่การกระทำกรรมเดียวนั้นผิดกฎหมายหลายบท ทำให้บางครั้งมีการทับซ้อนของกฎหมายเกิดขึ้นได้ โดยอาจเกิดกรณีที่ความผิดไม่ระงับไปแม้จะมีการดำเนินคดีกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากยังมีความผิดตามกฎหมายอีกบทหนึ่งอยู่
– ปัญหารูปแบบการกำหนดความผิดอาญา
ด้วยความที่ประเทศไทยใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์เป็นหลัก การตรากฎหมายจึงควรจัดทำเป็นประมวลกฎหมายขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยมีประมวลกฎหมายต่าง ๆ เพียงแค่ 8 ฉบับเท่านั้น แต่กลับมีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติมากถึง 1,074 ฉบับ ทั้งนี้เป็นเพราะการบัญญัติกฎหมายในเรื่องต่าง ๆ ของประเทศไทยมักทำออกมาในรูปแบบของพระราชบัญญัติเสียมากกว่า จนทำให้เกิดปัญหาความสับสนและความไม่เป็นระบบตามมา
จากปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำให้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น การออก “พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซับซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. 2558” มา เพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นและไม่มีการบังคับใช้ในปัจจุบัน หรือ “พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558” เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของกฎหมายอยู่เสมอ
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหาการมีกฎหมายกำหนดความผิดอาญาเป็นจำนวนมากไว้ดังนี้
– ควรดำเนินการเพื่อลดปริมาณความผิดอาญาลงโดยการยกเลิกความผิดต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น ซึ่งหากยังคงเห็นว่าควรมีการบังคับในเรื่องนั้น ๆ อยู่ ก็ควรที่จะเปลี่ยนสภาพจากการบังคับทางอาญาเป็นการบังคับทางปกครองหรือเป็นโทษปรับทางปกครองแทน
– ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฏหมายเป็นหลัก ดังนั้นการกำหนดความผิดอาญาจึงควรกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเป็นหลัก เพราะประมวลกฎหมายจะเป็นการรวบรวมกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันเป็นหมวดหมู่เอาไว้อย่างเป็นระบบ
รวมทั้งอาจทำเหมือนประเทศฝรั่งเศสที่มีการจัดทำประมวลกฎหมายแบบสมัยใหม่ โดยรวมเอากฎหมายที่มีลักษณะเดียวกันมาอยู่ในประมวลกฎหมายเดียวกัน อย่างเช่น ประมวลกฎหมายแรงงาน ประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นต้น ดังที่ประเทศไทยได้มีการจัดทำ “(ร่าง) ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564” และได้มีการประกาศใช้แล้วนั่นเอง
– ในกรณีที่ยังไม่สามารถรวบรวมกฎหมายที่ยังกระจัดกระจายอยู่ในพระราชบัญญัติต่าง ๆ ได้ ก็ควรนำระบบของประเทศอังกฤษมาใช้ นั่นคือการจัดทำ “ตารางแสดงฐานความผิด” ที่นำความผิดฐานต่าง ๆ มาแจกแจงทำเป็นตารางอย่างง่ายมาใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกฎหมายได้ โดยอาจแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงการมีอยู่ของฐานความผิดแต่ละประเภทได้
จากวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวอาจสามารถแบ่งเป็น 3 ระยะได้ดังนี้
ในระยะแรก ควรดำเนินการเพื่อลดปริมาณความผิดอาญาลงโดยการยกเลิกความผิดต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่มีหน่วยงานตามกฎหมายรับผิดชอบดูแลอยู่แล้วและเป็นกระบวนการที่ไม่มีความยุ่งยาก
ระยะต่อมาหรือระยะกลาง คือการกำหนดความผิดอาญาต่าง ๆ ให้อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาเป็นหลัก รวมทั้งจัดรูปแบบความผิดอาญาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันขึ้นเป็นประมวลกฎหมาย อย่างเช่น ประมวลกฎหมายยาเสพติด เป็นต้น
และระยะยาวคือการจัดทำตารางแสดงฐานความผิดเพื่อรวบรวมกฎหมาย และทำให้ประชาชนเข้าใจและรับรู้ถึงความผิดฐานต่าง ๆ ได้สะดวกและง่ายดายมากขึ้นนั่นเอง
ที่มา : ปัญหาในระบบกฎหมายอาญาไทยผ่านงานวิจัย “รูปแบบการกำหนดความผิดอาญา : ศึกษากรณีของประเทศไทย” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล
อ่านงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ที่ : https://bit.ly/TuLawInfographic06