หากผู้กระทำความผิดเป็นผู้ป่วยจิตเวชกฎหมายจะมีกระบวนการรับมืออย่างไร?
หรือที่เขาว่ากันว่า “บ้าแล้วไม่ต้องรับผิด” จะเป็นเรื่องจริง
กฎหมายจะเข้ามากำกับและควบคุมเรื่องดังกล่าวอย่างไร
#TULAW พาทุกคนไปหาคำตอบเหล่านั้นผ่านสัมมนาวิชาการเรื่อง “บ้าแล้วไง?: กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช”
คำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน” แม้จะปรากฏในประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่มีการกำหนดนิยามอย่างชัดเจน จึงต้องพิจารณานิยามความหมายตามตำราการแพทย์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า คำว่า “จิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน” คือ โรคทางจิตเวชที่มีความหมายอย่างกว้าง เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชประเภทใด
ประเด็นเรื่องผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน เพราะกฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์เพื่อการลงโทษผู้กระทำความผิดและรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย แต่หากผู้กระทำความผิดเป็นผู้ป่วยจิตเวช จึงอาจเกิดคำถามขึ้นว่า สมควรแล้วหรือไม่ที่จะลงโทษผู้ป่วยจิตเวชนั้น
ดังนั้นกฎหมายจึงต้องมีมาตรการในการรองรับเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชเอาไว้ โดยกฎหมายที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มีทั้งหมด 4 ฉบับด้วยกัน ได้แก่
- พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- ประมวลกฎหมายอาญา
- พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
โดยกฎหมายในเรื่องของการจัดการผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชนั้น สามารถแบ่งได้เป็นหลากหลายประเด็น ดังนี้
– ประเด็นในแง่การจัดการผู้กระทำความผิด
หากในขณะจับกุมตัวผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดมีอาการทางจิต พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ในการคุมตัวผู้กระทำความผิดไปสถานพยาบาลเพื่อวินิจฉัยและรักษาพยาบาลได้ หรือหากเป็นกรณียังไม่ได้กระทำความผิด แต่เป็นผู้ที่มีภาวะอันตราย พนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถคุมตัวไปสถานพยาบาลได้เช่นเดียวกัน
-ประเด็นในแง่ของกระบวนการสอบสวนและการพิจารณาคดี
หากขณะจับตัวผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดไม่ได้แสดงอาการทางจิต แต่เมื่ออยู่ในชั้นสอบสวนหรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณากลับแสดงอาการออกมา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 กับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 35 กำหนดเอาไว้ว่า ต้องพักการสอบสวน พักการพิจารณาคดี หรืองดการไต่สวนมูลฟ้องเอาไว้ตามแต่ละกรณี และส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปให้แพทย์วินิจฉัย
ท้ังนี้เป็นเพราะหากดำเนินการในขณะที่ผู้กระทำความผิดมีอาการทางจิต อาจเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ จึงต้องมีการกำหนดให้ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคก่อนเท่านั้น ซึ่งหากมีอาการทางจิตจริงและไม่สามารถสอบสวนหรือต่อสู้คดีได้ ก็ต้องรักษาให้หายก่อน จึงจะดำเนินคดีต่อไปได้
– ประเด็นในเรื่องของการต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา
หากจำเลยยกเรื่องวิกลจริตขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ขึ้นต่อสู้ จำเลยก็ย่อมต้องพิสูจน์ด้วยการสืบพยาน โดยอาศัยพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นแพทย์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นบุคคลที่มีจิตบกพร่องตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ และขณะกระทำความผิดจำเลยเกิดอาการทางจิตจริงหรือไม่
หากพิสูจน์ได้ว่าขณะกระทำความผิดจำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือมีจิตบกพร่อง ผลคือจำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่ง แต่หากพิสูจน์ได้ว่าขณะกระทำความผิด จำเลยรู้ผิดชอบหรือสามารถบังคับตนเองได้อยู่บ้างเพราะมีจิตบกพร่อง จำเลยจะได้รับเพียงการลดโทษตามดุลพินิจของศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสองเท่านั้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงของคดีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผลทางกฎหมายที่จำเลยได้รับนั้นจะมีความแตกต่างกัน
แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอนตายตัวว่าศาลจะพิจารณาเป็นแบบใด เพราะพฤติการณ์ในแต่ละคดีย่อมมีความแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือแพทย์ต้องได้ประวัติการรักษาตั้งแต่ผู้กระทำความผิดเพื่อดูอาการทางจิตก่อนก่อคดี โดยยังคงมีประเด็นที่ต้องคำนึงว่าบุคคลที่ให้ข้อมูลมีส่วนได้เสียกับผู้กระทำความผิดที่อ้างว่าตนมีอาการทางจิตหรือไม่ หรือบุคคลที่ให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เช่นกัน
– ประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ ในระหว่างการพิจารณาคดี หากจำเลยสามารถให้การได้อย่างปกติจะสามารถตีความได้หรือไม่ว่า ในขณะที่จำเลยกระทำความผิดจำเลยมีสติครบถ้วน
หลักคิดเรื่องความสามารถในการต่อสู้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 และข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 มีความแตกต่างและสามารถแยกการใช้บทบัญญัติกันได้
เนื่องจากข้อต่อสู้เรื่องวิกลจริตตามมาตรา 65 นั้น เป็นการพิจารณาย้อนกลับไปในช่วงเวลาขณะกระทำความผิด ดังนั้นแม้ในชั้นพิจารณาผู้ป่วยสามารถโต้ตอบตอบคำถามต่าง ๆ ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าขณะกระทำความผิดผู้ป่วยจะไม่มีอาการทางจิตเกิดขึ้นเลย
– ประเด็นภายหลังจากการพิจารณา
โดยทั่วไปหากศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิด จำเลยก็ต้องจำคุกตามคำพิพากษา แต่หากพบว่าจำเลยควรได้รับการรักษา ก็สามารถคุมตัวจำเลยไว้ในสถานพยาบาลและรายงานผลทุก ๆ 180 วันได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48 ประกอบพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 39
ซึ่งในสมัยที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติสุขภาพจิต กฎหมายไทยมีเพียงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 48 มาตราเดียวเท่านั้นที่ใช้สำหรับการรักษาจำเลยที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด ทำให้เกิดช่องว่างของกฎหมายอาญาขึ้น
เนื่องจากการบังคับใช้มาตรา 48 จำเลยต้องยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 65 ก่อน มิเช่นนั้นศาลจะสั่งให้จำเลยเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลไม่ได้ ดังนั้น จึงมีมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ขึ้นเพื่อแก้ไขช่องว่างดังกล่าวให้จำเลยสามารถเข้ารับการรักษาได้แม้จำเลยไม่ได้ยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลกฎหมายอาญาขึ้นในชั้นพิจารณา แต่ต้องเป็นกรณีที่ศาลตัดสินให้มีการรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษ (รอลงอาญา) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคสอง และศาลได้มีการกำหนดให้รับการรักษาพยาบาล ในฐานะที่เป็นเงื่อนไขของการคุมประพฤติ
กรณีที่จำเลยเป็นผู้ต้องขังแล้วมีอาการวิกลจริต หากผู้ต้องขังจะทำอันตรายต่อชีวิตร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น ผู้ต้องขังอาจถูกพันธนาการได้ตามมาตรา 21(2) แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ดีผู้ต้องขังสามารถเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อส่งตัวไปบำบัดรักษานอกเรือนจำได้ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
สำหรับกรณีที่จำเลยถูกตัดสินโทษประหารชีวิตและมีอาการวิกลจริตอยู่ก่อนถูกประหารชีวิต ให้ศาลงดการประหารชีวิตไว้จนกว่าจำเลยจะหาย หากหายภายหลัง 1 ปีนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ให้ศาลลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 248
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การติดตามผลการรักษาภายหลังจากที่ผู้ป่วยออกจากเรือนจำ เพราะบางครั้งผู้ป่วยไม่ได้กินยาตามแผนการรักษา ซึ่งแนวทางการแก้ไขคือต้องให้สถานพยาบาลหรือสถานอนามัยในพื้นที่คอยหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วย ดังต่อไปนี้
1. คอยดูว่าผู้ป่วยกินยาครบตามที่กำหนดไว้หรือไม่ หรือมีการใช้ยาเสพติดหรือไม่
2. คอยสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการทางจิตอย่างไร มีความทุกข์ มีความสุขหรือไม่อย่างไร
3. สังเกตว่าผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองหรือไม่ เนื่องจากหากผู้ป่วยมีอาการทางจิตดี ผู้ป่วยก็จะประกอบกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้นด้วย
4. คอยสังเกตเมื่อผู้ป่วยกลับเข้าสู่สังคมว่า ผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้หรือไม่ มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหรือไม่
5. หมั่นสังเกตอาการเตือนก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการก้าวร้าวรุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ เดินไปเดินมา ดังนั้น ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการก้าวร้าวรุนแรง จึงควรรีบนำตัวผู้ป่วยมาที่สถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงวันนัดกับทางสถานพยาบาลในคราวถัดไป
ซึ่งจากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวไปจะทำให้เห็นได้ว่า ผู้มีอาการทางจิตนั้นก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เหมือนกับคนทั่วไปที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หากเขากระทำความผิดโดยรู้สำนึกก็ต้องถูกดำเนินคดีและรับการลงโทษอย่างคนทั่วไป แต่หากขณะกระทำความผิดเขามีจิตบกพร่อง ไม่รู้สำนึกหรือการรู้สำนึกนั้นลดลงไม่เท่าคนปกติ การลงโทษผู้กระทำความผิด อาจเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์การลงโทษและวัตถุประสงค์ของกฎหมายอาญา เช่นนี้ ระบบกฎหมายจึงได้สร้างมาตรการต่าง ๆ เอาไว้อย่างมากมายเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมนั่นเอง
อ่านสรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการเต็มได้ที่ : https://www.law.tu.ac.th/seminar-summary-criminal-procedure-in-case-of-unsound-mind-person/