“เด็ก” ถือว่าเป็นอนาคตของชาติ
เป็นความหวังในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต
เหล่าเด็ก ๆ จึงเป็นสิ่งที่ประเทศควรรักษาและให้การดูแลเป็นอย่างดี
แล้วกฎหมายมีส่วนช่วยในการคุ้มครองเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง
วันนี้ #TULAW พาทุกคนไปดูงานวิจัย “หลักการคุ้มครองสิทธิเด็กภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับประโยชน์สูงสุดของเด็ก” โดย รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล กัน
การคุ้มครองเหล่าเด็ก ๆ ในทางกฎหมายนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 ซึ่งถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรก ที่มีผลบังคับให้รัฐภาคีจะต้องปฏิบัติตามในการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมเด็กในขั้นพื้นฐานได้อย่างแท้จริง โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมและทำการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1992
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 มีเนื้อหาในการยกระดับการให้ความคุ้มครองแก่เด็กในฐานะเป็น “สิทธิเด็ดขาด” อันไม่สามารถจำกัด เพื่อละเมิดสิทธิของเด็กได้ โดยวางหลักให้การกระทำใดอันเกี่ยวข้องกับเด็กนั้น จะต้องพิจารณาประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นพื้นฐานเบื้องต้น
รวมทั้งยังกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำให้แก่รัฐภาคีในการจัดมาตรการคุ้มครองเด็กให้มีมาตรฐานเทียบเท่าหรือดีกว่าอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานให้แก่เด็ก และให้การกระทำต่าง ๆ ของรัฐสมาชิกสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ อีกด้วย
โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการคุ้มครองสิทธิเด็ก 4 ประการ ดังนี้
สิทธิในการมีชีวิตและการอยู่รอด
– รัฐต้องทำให้เด็กทุกคนสามารถอยู่รอดและมีการพัฒนาต่อไปได้ โดยเด็กต้องได้รับการเลี้ยงดูเพื่อให้เจริญเติบโตและมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่เพียงพอตามฐานะ ซึ่งถ้าหากครอบครัวไม่สามารถทำได้ รัฐก็ต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือแทน รวมถึงช่วยให้เด็กสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขอนามัยได้อีกด้วย
สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง
– เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการกระทำทุกรูปแบบที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก โดยรัฐจะต้องให้การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ เด็กทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
สิทธิในการพัฒนา
– โดยเน้นทั้งในด้านการพัฒนาร่างกายและสติปัญญา เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาอันเป็นพื้นฐานและมาตราการที่จำเป็นต่อการพัฒนาของเด็ก เพื่อให้เด็กได้พัฒนาบุคลิกภาพ ความสามารถพิเศษ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กให้เต็มศักยภาพ และเตรียมให้เด็กสามารถใช้ชีวิตและพัฒนาสังคมได้ต่อไป
สิทธิในการมีส่วนร่วม
– เน้นถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็กโดยเสรีในทุกเรื่องที่ผลกระทบต่อเด็ก โดยรัฐต้องดำเนินมาตรการให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นและต้องให้น้ำหนักต่อความคิดเห็นนั้นตามควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็ก และเด็กยังมีสิทธิในการแสวงหา ได้รับหรือส่งต่อข้อมูลและความคิด ในทุกรูปแบบและในสื่อทุกประเภทอีกด้วย
นอกจากนี้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 นั้น ยังประกอบไปด้วยหลักการที่สำคัญ 2 ประการ นั่นคือ
– สิทธิของเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องที่รัฐหรือใครให้กับเด็ก แต่เป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น เด็กจึงเป็นผู้มีสิทธิที่ไม่มีผู้ใดสามารถไปตัดทอนหรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็กหรือละเมิดสิทธิของเด็กได้
– ในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเด็กจะต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กและที่สำคัญที่สุดคือต้องยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นข้อพิจารณาในการดำเนินการ
รวมทั้งยังกำหนดให้รัฐสมาชิกต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิของเด็กทุกคนที่อยู่ภายในเขตอำนาจของตนโดยไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ปัญหานั้นเกิดขึ้นจากการที่อนุสัญญาฯ นั้นไม่ได้กำหนดความหมายนิยามของคำว่า “ประโยชน์สูงสุดของเด็ก” เอาไว้เป็นการเฉพาะ เนื่องจากต้องการให้รัฐสมาชิกทำการพิจารณาหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กโดยปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์ บริบท หรือปัจจัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละกรณีตามแต่ละรัฐ
ซึ่งข้อดีของการกำหนดไว้เช่นนี้นั่นก็คือ การทำให้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กมีความยืดหยุ่นและสามารถนำไปปรับใช้กับกฎหมายในแต่ละประเทศได้อย่างง่ายดาย ซึ่งแลกมากับข้อเสียอย่างการขาดแนวทางที่ชัดเจน ความเป็นเอกภาพ และประสิทธิภาพในหลักการดังกล่าวเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ได้มีนักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์และนักจิตวิทยาสังคมทั้งต่างประเทศและประเทศไทยได้ให้คำจำกัดความแก่คำว่า “ประโยชน์สูงสุดของเด็ก” เอาไว้อย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่นั้นมีความเห็นต่อขอบเขตของ “ประโยชน์สูงสุด” ไปในทางเดียวกันว่า ประโยชน์สูงสุดคือเด็กต้องมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาการของเด็กอันจะเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป
นอกจากนี้ รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ยังมีความเห็นว่า นอกจากจะมีคำจำกัดความดังกล่าวแล้ว เมื่อพิจารณาถึงข้อความในอนุสัญญาฯ คำว่า “ประโยชน์สูงสุด” ควรหมายความรวมถึง การพิจารณาให้กระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ จะต้องไม่ขัดต่อหลักพื้นฐานในการคุ้มครองเด็กที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญาฯ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นประโยชน์แก่เด็กมากกว่า ด้วยเช่นกัน
ซึ่งเนื่องจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 นั้นไม่ได้ทำการกำหนดนิยามเอาไว้โดยเฉพาะ ประเทศไทยจึงได้กำหนดนิยามคำดังกล่าวที่จะนำมาบังคับใช้ในกฎหมายไทยเอาไว้ในกฎกระทรวงกำหนดแนวทางการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อเด็ก พ.ศ. 2549 โดยมีสิ่งที่ต้องพิจารณาถึง 17 ข้อด้วยกัน ได้แก่
- ลักษณะเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน
- ความเหมาะสมความต้องการและความจำเป็นของเด็ก
- ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับในด้านร่างกายสุขภาพอนามัยการเจริญเติบโต การออกกำลังกาย การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพอย่างเหมาะสม การพักผ่อนและนันทนาการ
- ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับในด้านการพัฒนาทางสติปัญญา โดยให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การทดลองปฏิบัติตามความเหมาะสมและการได้รับข้อมูลสารสนเทศที่เหมาะสมจากแหล่งต่าง ๆ
- ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับในด้านการพัฒนาทางจิตใจและอารมณ์ โดยได้รับการอบรมเลี้ยงดูด้วยความรักความเข้าใจความเอาใจใส่ให้มีความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเจตคติที่ดีต่อครอบครัวสังคมและการดำเนินชีวิต มีความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองอย่างถูกต้อง
- ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับในด้านสังคมและสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพกายสุขภาพจิต ทั้งนี้ให้เหมาะสมตามวัยและเอื้อต่อการพัฒนาและการเรียนรู้ของเด็ก
- ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับในด้านการศึกษา โดยได้รับการศึกษา ขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงักและเป็นการศึกษาตามความสามารถของเด็ก
- ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับในด้านวัฒนธรรมศีลธรรมและศาสนา
- ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับในด้านการเตรียมความพร้อม เพื่อการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับความถนัดความสามารถเพศและวัย
- การประสานงานกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
- การคุ้มครองเด็กให้พ้นจากการใช้ความรุนแรงการถูกทำร้ายการล่วงเกินทางเพศ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการถูกทอดทิ้ง
- การสงเคราะห์ช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ด้อยโอกาสเด็กถูกทอดทิ้งเด็กพิการ หรือเด็กที่อยู่ในสภาวะที่จะต้องได้รับการสงเคราะห์
- การคุ้มครองเด็กให้พ้นจากการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ในทางเศรษฐกิจและการทำงาน หรือกิจการใดที่น่าจะเป็นการเสี่ยงอันตราย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือเป็นการขัดขวางการศึกษาของเด็ก หรือขัดขวาง การพัฒนาทางร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรมและสังคมของเด็ก
- การคุ้มครองเด็กจากการโฆษณาเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือ สิทธิประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดของเด็ก
- การให้เด็กได้รับโอกาสเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ในสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน
- การให้เด็กได้รับความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์พื้นฐาน รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือในเวลาที่ประสบปัญหาทางด้านต่าง ๆ ให้สามารถแก้ปัญหาและอยู่ในสังคมได้โดยปกติสุข
- การเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจหน้าที่และการปฏิบัติที่มีผลกระทบต่อเด็ก
ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากฎหมายไทยได้มีการพยายามในการบัญญัติแนวทางในการปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดเอาไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่แนวทางดังกล่าวก็ยังขาดรายละเอียดในการนำไปปรับใช้กับกรณีต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เป็นเพียงการบัญญัติแบบกว้าง ๆ เท่านั้น นำไปสู่ปัญหา 2 ประการ ได้แก่
– ส่งผลให้ผู้บังคับใช้กฎหมายประสบกับความยากลำบากในการปรับใช้หลักการสำคัญดังกล่าวนอกจากนี้ ยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางของหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กอีกด้วย เพราะไม่ปรากฎคำอธิบายในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและแพร่หลาย ทำให้การตีความหลักการดังกล่าวขาดความเป็นเอกภาพตามไปด้วย
– เกิดข้อจำกัดเกี่ยวกับความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการที่ศาลเยาวชนและครอบครัวไทยยังขาดผู้พิพากษาชำนาญการพิเศษในศาล ประกอบเข้ากับปัญหาความละเอียดอ่อนในการตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กแล้ว ทำให้กลายเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก
จากปัญหาดังกล่าว รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล จึงมีข้อเสนอแนะว่า รัฐควรกำหนดกระบวนการซึ่งเป็นประกันในการปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กเอาไว้ โดยรัฐควรดำเนินการเพื่อกำหนดตัวบุคคล ที่มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับเด็กในเรื่องต่าง ๆ ให้เกิดความชัดเจน โดยรัฐต้องกำหนดขั้นตอนอย่างเป็นทางการ ให้มีกระบวนการคุ้มครองที่เคร่งครัด
รวมทั้งยังต้องพัฒนาความโปร่งใสและวัตถุประสงค์ในแต่ละขั้นตอนสำหรับการใช้ดุลยพินิจของบุคคลดังกล่าวเอาไว้อย่างเป็นระบบและชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่การใช้ดุลยพินิจนั้นอาจส่งผลกระทบต่อเด็กได้โดยตรง รัฐต้องกำหนดหลักในการถ่วงดุลอำนาจในการตัดสินใจเอาไว้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ยังควรกำหนดในเรื่องของการอุทธรณ์หรือแก้ไขการตัดสินใจหรือการใช้ดุลยพินิจที่เกี่ยวข้องกับเด็กไว้ในกรณีที่การตัดสินใจใด ๆ ไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมกับกระบวนการการกำหนดคุณค่าของประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กเอาไว้ด้วยเช่นกัน
การกำหนดกระบวนการดังกล่าวอาจสามารถช่วยให้การปรับใช้หลักประโยชน์สูงสุดของเด็กในกฎหมายไทยเป็นไปในแนวทางเดียวกันได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้เนื่องจากหลักดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องศึกษาเข้าไปในเชิงที่ลึกซึ้ง ข้อเสนอแนะดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่ควรนำมาปรับใช้เท่านั้น
ที่มา: หลักการคุ้มครองสิทธิเด็กภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับประโยชน์สูงสุดของเด็ก.; รศ. ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล.(2562)
อ่านงานวิจัยเต็มได้ที่ : https://bit.ly/TuLawInfographic08