ปัจจุบันการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Commerce เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย การซื้อขายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น
ข้อดีคือความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายรวมทั้งประหยัดเวลา แต่ก็มีข้อเสียที่ตามมาเช่นกัน นั่นคือการโฆษณาชวนเชื่อที่แอบแฝงมาด้วยอันก่อให้เกิดการเข้าใจผิด เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถทราบเกี่ยวกับคุณภาพและสินค้าได้ จึงก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิและการเอาเปรียบผู้บริโภคตามมานั่นเอง
ปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะมาก แต่กฎหมายของประเทศไทยกลับยังไม่มีมาตรการการรับมือที่ดีเท่าที่ควร
วันนี้ #TULAW จึงพาทุกคนไปดู “ปัญหากฎหมายไทยกับการฉ้อโกงออนไลน์” ผ่านงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “ฉ้อโกง ขายของทางออนไลน์”
สิทธิผู้บริโภคนั้นได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งกำหนดสิทธิเอาไว้ 5 ประการ ดังนี้
– สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
– สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
– สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ
– สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
– สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เช่น พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.ยา ในฐานะกฎหมายเฉพาะอีกด้วย
แต่ทั้งนี้ปัญหาของประเทศไทยคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงออนไลน์นั้นไม่มีการลงโทษที่รุนแรงและในขณะเดียวกันกระบวนการและวิธีการการเยียวยาผู้เสียหายก็ไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ซึ่งการที่กฎหมายมีลักษณะอย่างนี้นอกจากจะทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมแล้วยังเป็นการเปิดช่องทางให้มีการฉ้อโกงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
โดยมีประเด็นที่ควรกล่าวถึงอยู่ 3 ประเด็นดังนี้
ประเด็นแรกคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 และมาตรา 343 นั้น มีโทษที่เบาจนเกินไป โดยกรณีฉ้อโกงธรรมดาตามมาตรา 341 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 343 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ไม่สามารถลงโทษเกิน “เพดานโทษ” ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การโกงทัวร์ที่มีการซื้อตั๋วทางออนไลน์ล่วงหน้า เป็นกรณีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่เมื่อฟ้องศาลมาแบบเรียงกระทง และศาลตัดสินว่ามีความผิดเรียงกันไปทุกกระทงที่ฟ้องมานั้น แม้โทษทั้งหมดที่รวมกันจะมากแค่ไหน ศาลก็จะลงโทษจำคุกเกิน 20 ปีไม่ได้ ด้วยผลของเพดานโทษที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) นั่นเอง
เมื่อกฎหมายมีการลงโทษที่เบาจนเกินไป ยิ่งทำให้เหล่าอาชญากรไม่เกรงกลัวและกล้าที่จะทำความผิดกันมากขึ้น รวมทั้งยังอาจมีกรณีอาชญากรจากต่างประเทศเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายนี้ด้วยเช่นกัน
ประเด็นต่อมาคือ กระบวนการการเยียวยาที่เป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เหมาะสม การเรียกค่าเสียหายในกรณีการฉ้อโกงน้ันเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากกระบวนการต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้า ยิ่งเมื่อมีผู้เสียหายจำนวนมากแล้ว กระบวนการการเยียวยายิ่งเกิดความล่าช้ามากขึ้นไปอีก
ทรัพย์ที่เสียหายไปหากตำรวจไม่สามารถยึดคืนมาได้ ผู้เสียหายต้องไปออกหมายบังคับคดีเพื่อเอาหมายไปหาทรัพย์เพื่อการบังคับคดีด้วยตัวเอง ซึ่งกลับกลายเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้เสียหาย ทั้ง ๆ ที่กฎหมายไม่ควรจะถูกออกแบบให้เป็นอย่างนั้น
หากเปรียบเทียบกับกรณี Call Centre แล้วสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) สามารถที่จะยึดเงินแล้วคืนแก่ผู้เสียหายได้โดยทันที แต่ทำไมกรณีซื้อสินค้าออนไลน์ถึงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
ประเด็นสุดท้ายคือ ประเทศไทยควรมีหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะเหมือนอย่างในต่างประเทศ ทั้งนี้ก็เพราะปัญหาความล่าช้าของระบบยุติธรรมของไทยนั่นเอง รวมทั้งการที่หลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไป จนบางครั้งสร้างความสับสนให้แก่ภาคประชาชน โดยมักเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกโกงแต่ไม่รู้ว่าตนจะต้องไปแจ้งต่อหน่วยงานไหน
ดังนั้นประเทศไทยจึงควรสร้างหน่วยงานที่เข้ามาควบคุมดูแลเรื่องการฉ้อโกงออนไลน์โดยเฉพาะเพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ และการเยียวยาผู้เสียหายเป็นไปได้อย่างเหมาะสม อย่างเช่น ประเทศจีน ที่เมื่อมีการฉ้อโกงออนไลน์เกิดขึ้นนั้น หากมีการยึดทรัพย์ที่ถูกโกงไปมาได้จะคืนให้แก่ประชาชนในทันที ไม่เหมือนประเทศไทยที่ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ อีกมากมาย
ทั้ง 3 ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการฉ้อโกงทางออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายได้นั่นเอง แต่ทั้งนี้ผู้บริโภคก็ต้องป้องกันตัวเองและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้ตนเองถูกฉ้อโกงเช่นกัน
คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคคือ ในการซื้อของทางออนไลน์แนะนำให้ซื้อผ่านทางเว็บไซต์เพราะว่าเว็บไซต์ในระบบตะกร้าจะต้องมีการจดทะเบียนเข้าสู่ระบบ โดยที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค
นอกจากนี้ ในการตรวจสอบเว็บไซต์สามารถสังเกตเครื่องหมายรับรองจากหน่วยงานรัฐได้เบื้องต้น รวมทั้งสามารถสังเกตจากการคอมเมนต์หรือ ยอดจำนวนสั่งซื้อ เพราะว่าจะสื่อว่ามีการขายและส่งสินค้าซึ่งสร้างน่าเชื่อถือได้มากขึ้น
ความน่าเชื่อถือของผู้ขายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ดังนั้นก่อนทำการซื้อขายออนไลน์ผ่านทาง Facebook หรือ IG จึงควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อน เพื่อป้องกันปัญหาการโกงที่อาจตามมา
แต่ทั้งนี้ กรณีลักษณะการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ที่มีบริษัทในไทยเป็นตัวแทนในการส่งของแต่บริษัทจริงอยู่ที่ประเทศจีนนั้น กรณีเช่นว่านี้การดำเนินการยังคงเป็นปัญหาอยู่เช่นกัน เนื่องจากการดำเนินคดีจะเป็นเรื่องยาก
สิ่งสุดท้ายคือ ผู้บริโภคควรจะต้องเก็บหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเอาไว้ เพื่อสามารถใช้ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้หากเกิดกรณีการโกงขึ้นมา
ดังนั้นการจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้จึงจะต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นและการระมัดระวังจากภาคประชาชนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ให้หมดไปได้นั่นเอง
ที่มา: สัมมนาวิชาการ เรื่อง “ฉ้อโกง ขายของทางออนไลน์”
อ่านสรุปสาระสำคัญจากสัมมนาวิชาการเต็มได้ที่ : https://bit.ly/3J7Uw37