การขายสินค้าหรือการให้บริการที่ผู้ประกอบธุรกิจทำต่อผู้บริโภคมีลักษณะเป็นสัญญาผู้บริโภค การฟ้องคดีอันเนื่องมาจากข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาตามสัญญาเช่นว่านั้นย่อมจัดเป็นคดีผู้บริโภคซึ่งมีกฎหมายกำหนดกลไกและมาตรการให้การคุ้มครองสิทธิแก่ผู้บริโภคยิ่งกว่าผู้ประกอบธุรกิจเป็นอย่างมาก
แม้ในด้านหนึ่ง ดูเหมือนปริมาณคดีผู้บริโภคที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว คดีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยนำมาซึ่ง “คำถาม” หรือ “ข้อสงสัย” ว่ามีลักษณะเป็นคดีผู้บริโภคโดยแท้จริงหรือไม่ หรือเป็น “คดีผู้บริโภคเทียม” (“spurious consumer cases”) กันแน่
สัญญาผู้บริโภคก็ดี คดีผู้บริโภคก็ดี มีลักษณะอย่างไร และ “คดีผู้บริโภคเทียม” เกิดขึ้นได้อย่างไร และนำมาซึ่งปัญหาประการใดบ้าง และที่สำคัญจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรได้บ้าง
#TULAW พาไปดูคำตอบผ่านงานวิจัย “การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคตามสัญญาผู้บริโภค (Consumer Contracts): กรณีศึกษาปัญหา คดีผู้บริโภคเทียม” โดย ศาสตราจารย์ ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์
สัญญาต่าง ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคเพื่อจัดหาสินค้าหรือจัดทำบริการให้แก่ผู้บริโภคในทางการค้าย่อมเป็น “ธุรกรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภค” (b-2-c transactions) หรือ “สัญญาผู้บริโภค” (consumer contracts)
แม้สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคจะเป็นสัญญาทางแพ่งหรือเอกเทศสัญญาลักษณะหนึ่งก็ตาม หากแต่สัญญาในกรณีนี้มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเองซึ่งทำให้แตกต่างไปจากสัญญาทางแพ่งทั่วไป และส่งผลให้หลักคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองคู่สัญญาจึงแตกต่างไปจากสัญญาทางแพ่งโดยทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว
สัญญาผู้บริโภคมีลักษณะเฉพาะทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับฐานะของคู่สัญญา วัตถุแห่งสัญญา และวัตถุประสงค์ของคู่สัญญา (เหตุแห่งการทำสัญญา)
ฐานะของคู่สัญญา : คู่สัญญาในสัญญาผู้บริโภคฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจ และอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้บริโภค กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบุคคลสองฝ่ายที่อยู่ในฐานะที่ไม่เท่าเทียมกัน (imbalances) ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าผู้ประกอบธุรกิจทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการของผู้ประกอบธุรกิจ และอำนาจต่อรอง และอาจถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจได้
วัตถุแห่งสัญญา : สัญญาผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคจะต้องเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคได้รับจากผู้ประกอบธุรกิจ สินค้า ย่อมได้แก่ สิ่งของที่ผู้ประกอบธุรกิจผลิต นำเข้า หรือมีไว้เพื่อขายเป็นหลักแก่บุคคลทั่วไปเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในขณะที่บริการ ย่อมได้แก่ การทำการงานใด ๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำหรือจัดหาให้แก่ผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจหรือทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
วัตถุประสงค์ของคู่สัญญาหรือเหตุแห่งการทำสัญญาของคู่สัญญา : การที่ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้บริโภคเป็นการทำการทางการค้าโดยมุ่งหวังได้รับค่าตอบแทนโดยตรงทางธุรกิจหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้าม ผู้บริโภคย่อมซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ของตนหรือของสมาชิกในครอบครัวของผู้บริโภคหรือการใช้สอยในครัวเรือนของผู้บริโภคเป็นสำคัญ และมิใช่เพื่อนำสินค้าหรือบริการนั้นไปใช้ประโยชน์ในการแสวงหารายได้หรือค่าตอบแทนในการประกอบกิจการค้าของตน หรือใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตสินค้าหรือการให้บริการในทางการค้าของตนอีกทอดหนึ่ง
สัญญาผู้บริโภคจึงนำมาซึ่งความจำเป็นที่รัฐจะต้องกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจ อันเป็นที่มาของการประกาศใช้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในความเกี่ยวพันกับ ผู้ประกอบธุรกิจ โดยการกำหนดหน้าที่และความรับผิดแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และการกำหนดบทบัญญัติซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหลักกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้บังคับกับสัญญาทางแพ่งทั่วไปเพื่อไม่นำมาใช้บังคับแก่สัญญาผู้บริโภค
เมื่อเกิดข้อพิพาทผู้บริโภคจากสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจและนำข้อพิพาทนั้นมาฟ้องร้องต่อศาล คดีเช่นนั้นย่อมจัดเป็นคดีผู้บริโภคซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการฟ้องและดำเนินคดีประเภทนี้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้นและกล้าที่จะปกป้องสิทธิของตนผ่านกระบวนการยุติธรรม
คดีผู้บริโภค จึงได้แก่ คดีที่ฟ้องร้องกันระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากสัญญาผู้บริโภคเป็นหลัก คดีผู้บริโภคที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนแล้ว คดีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยนำมาซึ่งข้อสงสัยว่าเป็นคดีผู้บริโภคจริงหรือไม่ อย่างไร หรือเป็น “คดีผู้บริโภคเทียม” กันแน่
การวินิจฉัยว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นเงื่อนไขประการพื้นฐานที่ศาลจะสามารถนำกลไกและมาตรการตามกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความฝ่ายผู้บริโภคยิ่งกว่าคู่ความฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจได้
ปัญหา “คดีผู้บริโภคเทียม” ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากการใช้การตีความกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในการวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับปัญหาว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ และอีกส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นจากบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ยังขาดความชัดเจนซึ่งนำไปสู่การตีความกฎหมายที่คลาดเคลื่อนและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ในหลาย ๆ คดี ในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ กัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการวินิจฉัย โดยยึดถ้อยคำตามตัวอักษรของนิยามตามบทบัญญัติของกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว และมิได้พิจารณาข้อเท็จจริงแวดล้อมที่เกี่ยวข้องประกอบแต่อย่างใด
การวินิจฉัยที่ความคลาดเคลื่อนก่อให้เกิดผลกระทบในหลาย ๆ มิติ ทั้งผลกระทบในเชิงมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของคำวินิจฉัย ผลกระทบในเชิงปริมาณคดีผู้บริโภคที่แท้จริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสิทธิและความเป็นธรรมของคู่ความ
หากการวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาถึงเจตนารมณ์และขอบเขตการใช้บังคับกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องใช้บังคับโดยเคร่งครัดแก่สัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคอย่างแท้จริงประกอบการให้เหตุผลประกอบหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว ย่อมจะทำให้ปัญหา “คดีผู้บริโภคเทียม” ลดน้อยลงไปอย่างมากเลยทีเดียว
สำหรับบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่อาจทำให้เกิดปัญหา “คดีผู้บริโภคเทียม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยามคำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจ” และ “ผู้บริโภค” การปรับปรุงนิยามของถ้อยคำดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์สากลระหว่างประเทศและกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ย่อมจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถาวร
สำหรับนิยามของ “คดีผู้บริโภค” ควรปรับปรุงนิยามกรณีคดีเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ให้จำกัดเฉพาะกรณีผู้เสียหายเป็นผู้บริโภคเท่านั้น
ที่มา : การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคตามสัญญาผู้บริโภค (Consumer Contracts): กรณีศึกษาปัญหา คดีผู้บริโภคเทียม;ศาสตราจารย์ ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์. (2564)
อ่านงานวิจัยเต็มได้ที่ : https://bit.ly/TuLawInfographic14